ThaiPublica > คอลัมน์ > อาเซียนบนบกกับเศรษฐกิจแห่งขุนเขา (Mountain Economy)

อาเซียนบนบกกับเศรษฐกิจแห่งขุนเขา (Mountain Economy)

19 มกราคม 2019


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผมเพิ่งจะเดินทางกลับจากการไปประชุม BIMSTEC Network of Policy Think Tanks ที่ประเทศภูฏานครับ BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) คือความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาครอบอ่าวเบงกอลซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย เมียนมา บังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา เนปาล และภูฏานครับ อ่าวเบงกอลคือประตูบ้านของอาเซียนทางทิศตะวันตกครับ และ BIMSTEC ก็คือความร่วมมือที่เชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือประชาคมอาเซียนของเราเข้ากับเอเซียใต้ ภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ประชากรจำนวนมหาศาลที่มีทั้งกำลังซื้อ และทรัพยากรมนุษย์วัยทำงานที่มีคุณภาพ และมี ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

หนึ่งในความร่วมมือของ BIMSTEC และผมคิดว่าอาเซียนเราพูดเรื่องนี้กันน้อยจนเกินไป คือความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งขุนเขา (Mountain Economy) ซึ่งในอาเซียนเอง โดยเฉพาะในพื้นที่ผมนิยมเรียกว่า อาเซียนบนบก หรืออาจจะเรียกอย่างเป็นทางการว่า Mainland ASEAN หรืออาเซียนภาคพื้นทวีป อันประกอบไปด้วย ไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ก็มีหลายๆ พื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนเหนือที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นภูเขาสูงชัน สลับกับหุบเขาที่เป็นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำที่มีกำเนิดมาจากเทือกเขาเหล่านี้ โดยเทือกเขาในบริเวณอาเซียนบนบกนี้เป็นส่วนหางตอนปลายของเทือกเขาหิมาลัย ปราการทางธรรมชาติที่สูงที่สุดจนหลายครั้งถูกเรียกกันว่าหลังคาของโลก

เศรษฐกิจแห่งขุนเขามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหิมะที่ละลายจะไหลจากเทือกเขาสูงชันเหล่านี้ รวมกันกับน้ำจากแหล่งต้นน้ำต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้จนกลายเป็นแม่น้ำสายสำคัญๆ ที่หล่อเลี้ยงทวีปเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น แม่น้ำคงคา (Ganges) พรหมบุตร (Brahmaputra) ในประเทศอินเดีย แม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze) และแม่น้ำจูเจียง (Zhujiang หรือ Pearl River) ในประเทศจีน รวมทั้งแม่น้ำโขง (Mekong) หรือแม่น้ำล้านช้าง (Lancang) ที่ไหลต่อเนื่องจากจีนตอนใต้จนกลายเป็นแม่น้ำนานาชาติแห่งประชาคมอาเซียนของเรา รวมทั้งแม่น้ำอิรวดี (Irrawaddy) และแม่น้ำสาละวิน (Salween) ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของเมียนมาและไทย

ในขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยาของไทยก็เกิดขึ้นจากการรวมของแม่น้ำ 4 สาย ปิง วัง ยม และน่าน ซึ่งเกิดขึ้นจากเทือกเขาถนนธงชัย เทือกเขาผีปันน้ำ เทือกเขาแดนลาว และเทือกเขาหลวงพระบาง ขุนเขาจึงเป็นแหล่งกำเนิดของสายน้ำแห่งชีวิตเหล่านี้ ซึ่งประชากรมากกว่า 250 ล้านคนในอนุภูมิภาคอาเซียนภาคพื้นทวีปอาศัยอุปโภคบริโภค ใช้ในกระบวนการผลิตทั้งในภาคเกษตรกรรมที่ดูดซับกำลังแรงงานส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในทุกกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรม

แม่น้ำจากขุนเขาเหล่านี้คือปัจจัยส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในฐานะเส้นทางคมนาคมสำคัญที่เชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์จากท่าเรือริมชายฝั่งมหาสมุทรสู่ที่ราบสูงทางตอนบนของอาเซียนบนบก ในขณะเดียวกัน กระแสน้ำจากเทือกเขาสูงเหล่านี้ก็เป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของเมียนมาและ สปป.ลาว จากการขายพลังงานสะอาดที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้ ควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมป่าไม้และเหมืองแร่ซึ่งมีถิ่นกำเนิดจากขุนเขา

ขุนเขายังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของประชากรจำนวนมากในภูมิภาค ทรัพยากรที่สำคัญของป่าไม้บนขุนเขาอีกประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งแน่นอนว่านอกจากจะมีคุณประโยชน์ในด้านการบริหารจัดการสภาพแวดล้อม ลดการสะสมของก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดภัยธรรมชาติ ทั้งภัยจากความแห้งแล้ง และอุทกภัยแล้ว ความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้ยังมีส่วนสำคัญยิ่งในอุตสาหกรรมยาและบริการทางการแพทย์ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิต

และในมิติทางสังคม-วัฒนธรรม เทือกเขาสูงชันสลับหุบเขาที่เป็นแหล่งต้นน้ำเหล่านี้ทำให้เกิดการกระจายตัวของชุมชนที่ทำให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งนำไปสู่การขยายโอกาสในภาคบริการการท่องเที่ยว ที่ทำให้พื้นที่เหล่านี้มีความสมบูรณ์ของแหล่งท่องเที่ยวทั้งความสวยงามตามธรรมชาติ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ และความหลากหลายของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ขุนเขาเหล่านี้เองก็มีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อภัยธรรมชาติ ภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกิดจากภาคอุตสาหกรรมและมลพิษจากเมืองใหญ่ในพื้นที่ราบ หลายๆ ครั้งชุมชนบนขุนเขากลายเป็นผู้รับผลกระทบจากปัญหาเหล่านี้ ในทางตรงกันข้าม เมืองใหญ่ในที่ราบทางตอนล่างกลับเรียกร้องให้ชุมชนบนขุนเขาต้องยอมที่จะลดโอกาสของตนเองในการจะพัฒนาให้มีความทันสมัย โดยใช้ข้ออ้างในเรื่องของการอนุรักษ์

ในขณะเดียวกัน ด้วยข้อจำกัดทางสภาพภูมิศาสตร์ทำให้ขุนเขากลายเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก และมีต้นทุนโลจิสติกส์สูง จนทำให้ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ขุนเขาเหล่านี้มีโอกาสทางเศรษฐกิจที่น้อยลงมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนบนพื้นราบ หรือชุมชนบริเวณชายฝั่ง หากพิจารณาจากตัวเลขของธนาคารโลกในรายงาน Doing Business เราจะพบว่าประเทศที่ไม่มีชายฝั่งทะเล (landlocked countries) มีแนวโน้มที่จะมีต้นทุนในการทำการค้าระหว่างประเทศที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งยังต้องมีการใช้เอกสารในการส่งออกและนำเข้าจำนวนมากกว่าประเทศที่มีชายฝั่งอย่างยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากต้องมีการข้ามแดนและผ่านแดนหลายครั้งกว่าสินค้าจะเดินทางไปถึงท่าเรือ และแน่นอน ทำให้ต้องใช้เวลาในการขนส่งนานมากกว่าประเทศที่มีชายฝั่ง

เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าประเทศในภาคพื้นทวีป โดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นขุนเขา มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในมิติเศรษฐกิจ ความมั่นคงของมนุษย์ สังคม-วัฒนธรรม และระบบนิเวศในระดับโลก แต่ในขณะเดียวกัน พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่ที่ห่างไกล มีแนวโน้มด้อยพัฒนา ต้นทุนสูง และเสียโอกาส ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่กรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาคอย่างเช่นประชาคมอาเซียนต้องมองเห็นความสำคัญ เรียนรู้ และวางแนวนโยบายเพื่อให้แต้มต่อกับประเทศที่มีลักษณะเช่นนี้

ในกรณีของ BIMSTEC เศรษฐกิจแห่งขุนเขาและเศรษฐกิจแห่งมหาสมุทร (Blue Economy) ถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในมิติที่สำคัญที่ประเทศสมาชิกจะต้องสร้างความร่วมมือและให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ และนี่คือสิ่งที่ประชาคมอาเซียนควรเรียนรู้จาก BIMSTEC

สำหรับอาเซียนเอง กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือ กลุ่ม CLMV ถือเป็นประเทศสมาชิกใหม่ที่อาเซียนให้แต้มต่อ และมีความร่วมมือที่เรียกว่า Initiative for ASEAN Integration (IAI) and Narrowing the Development Gap (NDG) ซึ่งปัจจุบันมีการวางแผนและดำเนินการลดช่องว่างในการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกเดิมของอาเซียนและประเทศสมาชิกใหม่ โดยปัจจุบันอยู่ในแผนปฏิบัติการฉบับที่ 3 ที่จะครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี 2016 ถึง 2020

ดังนั้น ในฐานะที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ปี 2019 การวางแผนปฏิบัติการฉบับที่ 4 ของ IAI จึงมีความสำคัญ โดยเน้นความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนบนบก หรือประเทศสมาชิกอาเซียนบนภาคพื้นทวีปที่มีจุดเด่นด้านเศรษฐกิจแห่งขุนเขา เข้ากับอาเซียนในน้ำ หรือประเทศสมาชิกอาเซียนภาคพื้นมหาสมุทรที่มีจุดเด่นด้านเศรษฐกิจสีน้ำเงิน