ThaiPublica > เกาะกระแส > “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการ ก.พ.ร. ถก Doing Business ต้องปรับทัศนคติระบบกฎหมาย จากเน้น “ควบคุมเข้มงวด” เป็น “กำกับดูแล”

“ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการ ก.พ.ร. ถก Doing Business ต้องปรับทัศนคติระบบกฎหมาย จากเน้น “ควบคุมเข้มงวด” เป็น “กำกับดูแล”

3 มกราคม 2019


นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

ภายใต้การบริหารราชการของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่รัฐประหารเข้ามาในปี 2557 งานที่ถูกยกระดับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆของรัฐบาลและดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายหลังการเปลี่ยนตัวหัวหน้าทีมเศรษฐกิจมาเป็น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในปี 2558 คือการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและลดระเบียบกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจต่างๆ เพื่อลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นและเพิ่มความสามารถในการแข่งของประเทศ ซึ่งเป็นความท้าทายที่สำคัญของประเทศสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะถัดไป

ดัชนีหนึ่งที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญในมิติของภาคธุรกิจ คือรายงาน Doing Bussiness ของธนาคารโลก ซึ่งสะท้อนวัฎจักรของการดำเนินธุรกิจตั้งแต่เริ่มตั้งธุรกิจไปจนถึงการเลิกกิจการว่าผู้ประกอบการในแต่ละประเทศต้องเผชิญกับอุปสรรคอะไรบ้าง โดยประกอบด้วย 10 ตัวชี้วัด เริ่มจากการเริ่มต้นธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การขอใช้ไฟฟ้า การจดทะเบียนทรัพย์สิน การได้รับสินเชื่อ การคุ้มครองผู้ลงทุน การชำระภาษี การค้าระหว่างประเทศ การบังคับให้เป็นไปตามสัญญา และการแก้ไขปัญหาล้มละลาย

ขณะที่ในมิติการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ในปี 2558 รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบ “พระราชบัญญติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558” โดยมีสาระสำคัญคือจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน เพื่อให้รายละเอียดและให้ประชาชนสามารถเตรียมตัวล่วงหน้าเวลาติดต่อราชการ บังคับให้ส่วนราชการกำหนดระยะเวลาการดำเนินการแต่ละขั้นตอนที่แน่นอน รวมไปถึงเอกสารที่ต้องใช้ที่ชัดเจนโดยห้ามเรียกเอกสารเพิ่มเติม ลดขั้นตอนการต่อใบอนุญาตต่างๆเหลือเพียงการชำระค่าธรรมเนียม ตั้งศูนย์รับคำขออนุญาตเบ็ดเสร็จ และการทบทวนกฎหมายและระเบียบต่างๆที่ไม่จำเป็นหรือต้องแก้ไขทุก 5 ปี

สำหรับผลงานในช่วงที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยทยอยมีอันดับดีขึ้นตามลำดับ โดยในปี 2559 อยู่ที่อันดับ 46 เพิ่มขึ้น 3 อันดับจากปีก่อนหน้า ก่อนที่ปีต่อมาจะก้าวกระโดดอีก 20 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 26 และล่าสุดในปี 2561 ประเทศไทยอับดับตกลงเล็กน้อย 1 อันดับ โดยที่คะแนนในปี 2561 เรียกว่าแทบจะไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

  • ธนาคารโลกเปิดรายงาน “Doing Business 2017” เผยไทยทำธุรกิจ “ง่ายขึ้น” จากอันดับ 49 เป็น 46 – แก้ปัญหาล้มละลายดีสุดในอาเซียน
  • ธนาคารโลกเปิดรายงาน “Doing Business 2018” ไทยพุ่งมาอยู่ที่ 26 เพิ่มขึ้น 20 อันดับ – เผยติดที่ 2 ของโลกประเทศที่พัฒนามากที่สุด
  • เปิดรายงาน Doing Business 2019 ธนาคารโลก – ไทยอันดับหล่นมาที่ 27- การขอใช้ไฟ-การชำระภาษีอันดับดีขึ้น
  • อุปสรรคหลักโครงสร้าง “ระบบกฎหมายไทย” ล้าหลัง

    นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบงาน กล่าวว่าสาเหตุหนึ่งที่ตัวชี้วัดในปี 2561 ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เป็นผลจากระบบกฎหมายของประเทศไทยโดยตรงที่เน้นการควบคุมจัดการจากภาครัฐในทุกมิติหรือ Control System ซึ่งเป็นระบบที่มีภาระต้นทุนทางเศรษฐกิจของประเทศค่อนข้างมาก แต่ที่คะแนนของประเทศในช่วงปี 2560 ที่อันดับเพิ่มขึ้นมาได้มากขนาดนั้น ความจริงเป็นมีสาเหตุจากการใช้มาตรา 44 ของพล.อ.ประยุทธ์ ที่แก้ไขกระบวนการขั้นตอนกฎหมายหลายฉบับในครั้งเดียว แล้วการที่อันดับเพิ่มขึ้นมาก ช่วยสะท้อนว่าระบบกฎหมายไทยมีปัญหาจริงๆ จะแก้ได้เป็นครั้งคราว แล้วต่อไปเมื่อไม่มีมาตรา 44 ถ้าระบบกฎหมายยังไม่เปลี่ยนยังคงเป็นระบบควบคุมอยู่ การปรับเปลี่ยนต่างๆมันจะช้า ไม่ไปข้างหน้า ไม่ได้แก้ปัญหาที่โครงสร้าง

    อีกอุปสรรคที่สำคัญคือการออกกฎหมายของไทยยังสนใจรูปแบบมากกว่าเนื้อหาด้วยการลอกกฎหมายเก่า ซึ่งสวนทางกับโลกที่เดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ

    นอกจากนี้ แนวทางการเขียนกฎหมายไทยก็ควรปรับเปลี่ยนถ้อยคำในกฎหมายที่ควรมุ่งเน้นให้ประชาชนทั่วไปอ่านรู้เรื่อง แต่ปัจจุบันกฎหมายไทยยังติดอยู่กับแบบที่เขียนกฎหมายให้นักกฎหมายอ่าน ประเทศไทยถึงยังติดอยู่กับระบบกฎหมายเดิมๆอยู่ เทียบกับ common laws เขาจะใช้ภาษาง่ายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจ จะเขียนยาวเขียนสั้นก็ได้ แต่ขอให้เนื้อหาครบ เป้าประสงค์เป็นไปตามต้องการ มีเหตุผลรองรับ มีการรับฟังผู้ที่เกี่ยวข้อง

    “ถ้ากลับไปดูระบบกฎหมายทั่วโลกจะพบว่าประเทศไทยยังอยู่ในยุคประมาณปลายทศวรรษที่ 1930 คือระบบควบคุม กฎหมายประเภทที่ออกมาจะต้องมีการอนุมัติ อนุญาตจากรัฐ แล้วตอนนี้ระบบกฎหมายไทยแทบไม่ได้เปลี่ยนเลย แม้กระทั้งในสนช.ปัจจุบัน นี่คือมรดกของระบบควบคุม แล้วถ้าไปดูของประเทศอื่น เดิมเขาก็ใช้ระบบควบคุมเพราะเป็นช่วงสงครามเย็น เขาต้องเก็บความลับต่างๆ แต่พอมาช่วงทศวรรษ 1980 จีนเริ่มเปิดประเทศ มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ อังกฤษกับสหรัฐอเมริกาไหวตัวทันว่าต้องเป็นรัฐบาลเปิดมากขึ้น เป็น Open Government คือปรับโครงสร้างกฎหมายใหม่ ต่อมาก็เริ่มลดการกำกับดูแลลงเป็นระบบ Dereguation ให้อุตสาหกรรมกำกับดูแลกันเอง รัฐบาลไม่วุ่นวายมาก รัฐบาลเข้าไปยุ่งมากมันมีต้นทุนแก่เศรษฐกิจ มันจะแข่งกับจีนไม่ได้เอา เพราะจีนปล่อยหมดเลย ค่าแรงก็ถูกกว่า พอมาช่วงใกล้ปัจจุบัน เขาก็ไปเจอพวกเรื่องฉ้อโกงธุรกิจต่างๆ ตกแต่งบัญชี คือพอดูแลกันเองก็มีปัญหา เขาก็เลิก บอกว่าไม่ได้แล้วต้องกลับมาหาสมดุลระหว่างการกำกับดูแลกับต้นทุน เป็น Better regulation เรื่องไหนสำคัญต้องดู ก็ดู เรื่องไหนปล่อยไปได้ก็ให้ดูกันเอง แต่ทำให้โปร่งใสมีธรรมมาภิบาลขึ้นด้วย โลกไปถึงจุดนั้นแล้ว แต่ของไทยถอยไป 70-80 ปีในทัศนะผม คุณไปลองเปิดดูกฎหมายไทยได้ เรามีแต่คณะกรรมการกับอนุญาต” นายปกรณ์กล่าว

    ราชการขาด “ความรู้ – โครงสร้างพื้นฐาน” ด้านดิจิทัล

    นายปกรณ์ กล่าวต่อไปว่านอกจากระบบกฎหมายที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานแล้วในมิติอื่นๆ ระบบราชการไทยยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการบริหารงานที่เป็นแท่งๆไม่เชื่อมโยงกัน แม้ว่าจะมีหลายหน่วยงานพยายามลดอุปสรรคเหล่านี้ เช่น กระทรวงการคลังที่กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร และกระทรวงยุติธรรม อย่าง กรมบังคับคดีที่ทำงานร่วมกันและให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาให้บริการประชาชนมากขึ้น แต่โดยรวมหลายหน่วยงานยังไม่สามารถเชื่อมโยงและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

    นอกจากนี้ ข้าราชการบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งไม่ใช่เพียงการจัดทำแอพลิเคชั่นหรือมือถือเท่านั้น แต่รวมไปถึงการเก็บข้อมูล การเชื่อมโยงข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลที่มี รวมไปถึงทัศนคติของข้าราชการที่มักจะอยู่ใน “พื้นที่ปลอดภัย” หรือ Comfort Zone ของตนเอง และไม่ได้มีใครอยากจะปรับเปลี่ยนการทำงาน ซึ่งแต่เดิมยังสามารถใช้ได้อยู่ และบางส่วนยังคิดว่าต้องใช้ระบบเดิมอยู่ เช่นต้องใช้สำเนาบัตรประชาชน รวมไปถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานของราชการที่ยังไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้

    “งานของก.พ.ร.ในระยะต่อไปคือต้องเชื่อมโยงข้อมูลผ่าน platform กลาง ซึ่งสำนักงานรัฐบาลดิจิทัลกำลังดำเนินการอยู่ แล้วต่อ platform ค่อยทยอยนำข้อมูลต่างๆมาชนกันให้เรียบร้อย ไม่ซ้ำซ้อน อยู่ในรูปแบบที่นำไปใช้งานได้” นายปกรณ์ กล่าว