ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกชี้แม้อันดับ “Doing Business 2020” ไทยดีขึ้น แต่ยังมีช่องว่างให้พัฒนาอีกมาก

ธนาคารโลกชี้แม้อันดับ “Doing Business 2020” ไทยดีขึ้น แต่ยังมีช่องว่างให้พัฒนาอีกมาก

25 ตุลาคม 2019


นางสาวจอยซ์ แอนโทเน อับบลาฮิม(ซ้าย) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาภาคเอกชน ธนาคารโลก และนายปกรณ์ นิลประพันธ์(ขวา) เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ธนาคารโลกแถลงภายหลังเปิดตัวรายงาน Doing Business 2020 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา และพบว่าประเทศไทยด้รับการจัดอันดับที่ 21 ดีขึ้น 6 อันดับ จากอันดับที่ 27 ในปีที่แล้ว โดยประเทศไทยได้รับคะแนน 80.10 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1.65 คะแนน นับเป็นอันดับที่ดีที่สุดของไทยในรอบ 6 ปี และมีคะแนนขึ้นมาใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งอยู่อันดับที่ 2 (86.20 คะแนน) และมาเลเซีย ซึ่งอยู่อันดับที่ 12 (81.50 คะแนน)

รายงานฉบับนี้สะท้อนถึงความสำเร็จของประเทศไทยในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจในรอบปีที่ผ่านมา โดยด้านที่ไทยได้รับอันดับดีขึ้นและคะแนนสูงขึ้นมีอยู่ 2 ด้าน ได้แก่

1. ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง (Dealing with Construction Permits) ที่ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นจากอันดับที่ 67 (71.86 คะแนน) ในปีที่แล้ว เป็นอันดับที่ 34 (77.30 คะแนน) ในปีนี้ เป็นผลมาจากการดำเนินการลดขั้นตอนในการขออนุญาตก่อสร้าง (Procedures) ลงจาก 19 ขั้นตอน เหลือ 14 ขั้นตอน และลดระยะเวลาดำเนินการ (Time) ลงจาก 118 วัน เหลือ 113 วัน

2. ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย (Protecting Minority Investors) โดยประเทศไทยมีอันดับที่ดีขึ้นจากอันดับที่ 15 (75.00 คะแนน) ในปีที่แล้ว เป็นอันดับที่ 3 (86.00 คะแนน) ในปีนี้ จากคะแนนด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้น (Ease of Shareholder Suits Index) ที่เพิ่มขึ้นจาก 8 คะแนนเป็น 9 คะแนน โดยมีคะแนนเต็มอยู่ที่ 10 คะแนน

  • ผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ไทยได้ที่ 21 ดีขึ้น 6 อันดับ จากอันดับที่ 27 ในปีที่แล้ว
  • นางสาวจอยซ์ แอนโทเน อับบลาฮิม ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาภาคเอกชน ธนาคารโลก กล่าวเพิ่มเติมว่าน่าประทับใจสำหรับประเทศไทยที่พัฒนาขึ้นมาอยู่กับกลุ่มผู้นำจากหลายประเทศในโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องว่างสำหรับการพัฒนาได้อีกมาก โดยเฉพาะเพื่อจะคงสามารถแข่งขันได้ทั้งในภูมิภาคและโลก อย่างที่ทราบกันว่าอันดับเป็นอันที่สัมพัทธ์กับผลงานที่ประเทศอื่นๆทำได้ ถ้าอยากจะพัฒนาอันดับแปลว่าต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่เช่นนั้น ประเทศอื่นๆจะเริ่มตามทัน

    “สิ่งหนึ่งที่อยากจะเน้นย้ำคือคะแนนเป็นอะไรที่สมบูรณ์มันขึ้นอยู่กับผลงานที่ประเทศไทยทำได้เท่านั้น อย่างไรก็ตามคุณอาจจะคิดว่าคะแนนเรื่องการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงดูแย่มาก แต่ความจริงพอไปดูอันดับจริงๆแล้วอันดับมันค่อนข้างดี นั้นแสดงให้เห็นว่าอันดับของประเทศมันมีความสัมพัทธ์กันอย่างไร คุณอาจจะคิดว่าทำผลงานได้แย่เมื่อเทียบกับตัวเองเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้อันดับแย่ เพราะนั้นอาจจะหมายถึงว่าประเทศอื่นๆก็ทำผลงานในด้านนั้นๆไม่ได้หรือแย่กว่า และในทางกลับกันก็เช่นเดียวกันคือเราอาจจะได้อันดับดี แต่คะแนนไม่ได้สะท้อนว่าเราทำผลงานได้ดีเลยก็ได้ ดังนั้นหลายประเทศมักจะสนใจเกี่ยวกับอันดับ แต่เรามักจะสนับสนุนให้รัฐบาลสนใจเรื่องคะแนนด้วย เพราะมันบอกได้ดีกว่าว่าคุณพัฒนาอะไรไปแล้วบ้าง หรือคุณอาจจะอันดับเพิ่มขึ้น ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรด้วยซ้ำ เพราะประเทศอื่นๆทำได้แย่ลงต่างหาก และในทางกลับกันด้วย” นางสาวจอยซ์ กล่าว

    สำหรับด้านการขออนุญาตก่อสร้างที่พัฒนาขึ้นอย่างชัดเจนนั้น ประเทศไทยได้พัฒนาระบบตรวจอาคารใหม่ (Phased Inspection System) จากเดิมที่ใช้วิธีให้เจ้าหน้าที่สุ่มตรวจระหว่างการก่อสร้าง ตอนนี้นอกจากจำนวนที่ต้องตรวจจะลดลงเหลือ 3 ครั้งแล้วความรับผิดชอบด้วยวิศวกรภายในแทน ทั้งหมดลดกระบวนลงไม่ได้ 5 กระบวนการและทำให้ได้คะแนนเพิ่มขึ้นมาถึง 5.4 คะแนน และเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคในด้านนี้ พบว่าประเทศไทยทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคในทั้ง 4 ตัวชี้วัดย่อย ไม่ว่าะจะเป็นจำนวนกระบวนการ ระยะเวลาที่ต้องขออนุญาต การควบคุมคุณภาพการก่อสร้าง และต้นทุนการก่อสร้าง

    อีกด้านที่ประเทศไทยสร้างผลงานค่อนข้างดีมากคือการขอใช้ไฟฟ้า มันไม่ได้สะท้อนอยู่ในรายงานเพราะว่าประเทศไทยเองก็ทำผลงานในด้านดีได้ดีมากอยู่แล้วและทำให้ผลกระทบต่อคะแนนและอันดับค่อนข้างน้อย แต่เราเห็นการพัฒนาที่ชัดเจนเหมือนกัน ตอนนี้ประเทศไทยมีเพียง 2 กระบวนการในการขอใช้ไฟ้ฟ้า และที่สำคัญที่สุดคือต้นทุนในการขอใช้ไฟ้ฟ้าที่ลดลงเหลือเพียง 3.9% ของจีดีพีต่อหัวจากปีที่แล้ว 40% ของจีดีพีต่อหัว ซึ่งก็ค่อนข้างต่ำแล้วเทียบกับหลายประเทศในโลก แต่การลดลงถึง 36% ถือว่าสูงมากจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมในการติดตั้ง และในมุมของภูมิภาคประเทศไทยถือว่าทำผลงานได้ดีกว่าในทุกตัวชี้วัดย่อย

    ขณะที่ด้านอื่นๆ อย่างการเริ่มต้นธุรกิจไทยก็สามารถทำผลงานได้ดีกว่า ทั้งในด้านเวลาและต้นทุน แต่ก็ยังมีช่องว่างให้พัฒนาได้อีก สำหรับการจดทะเบียนสินทรัพย์ยังมีช่องว่างให้พัฒนาได้อีก อย่างการลดขั้นตอน ลดระยะเวลา และเพิ่มคุณภาพการจัดการที่ดิน (Land Administration) และต้นทุนของการจดทะเบียน ซึ่งสองกรณีหลังค่อนข้างมีช่องว่างมาก สำหรับการเข้าถึงสินเชื่อยังมีประเด็นเรื่องความแข็งแกร่งของกฎหมาย ซึ่งหลายประเทศมักจะมีปัญหาเช่นเดียวกัน สำหรับการคุ้มครองผู้ลงทุน ประเทศไทยทำได้ดีมากในอันดับต้นๆของโลก สำหรับการชำระภาษียังลดจำนวนการจ่ายภาษีและระยะเวลาในการกรอกแบบยื่นภาษีที่สามารถพัฒนาได้อีกมาก สำหรับการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง ช่องว่างที่สำคัญคือการพัฒนาคุณภาพกระบวนการยุติธรรม และสุดท้ายคือด้านการแก้ไขปัญหาล้มละลายถือว่าไทยทำหน้าที่ได้ค่อนข้างดี

    ในมุมของภูมิภาคพบว่าโดยรวมมีพัฒนากระจายตัวไปในทุกตัวชี้วัด โดยด้านการขออนุญาตก่อสร้างถือเป็นประเด็นหลักที่ถูกพัฒนามากที่สุดในหลายประเทศของภูมิภาคในปีนี้ ในอดีตปกติเวลาจะเริ่มต้นธุรกิจเกือบทุกประเทศต้องพัฒนาในด้านนี้ก่อน ไม่ใช่แค่ในภูมิภาคแต่รวมไปถึงแนวโน้มของโลก และในปีนี้ก็น่าสนใจที่ได้เห็นอีกการมุ่งเป้ากลับมาที่ตัวชี้วัดนี้กันอีกครั้ง และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

    ขณะที่เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2548 จะเห็นว่าแต่ละประเทศในภูมิภาคได้พัฒนาคะแนนของตัวชี้วัดต่างๆขึ้นมากค่อนข้างมาก เริ่มจากจีนที่ตั้งใจทำงานมากจะเห็นว่าคะแนนในช่วง 17 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมากกว่า 35 คะแนน หรือประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นกว่า 20 คะแนน อย่างไรก็ตาม แน่นอนอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ ยิ่งประเทศพัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ มันก็ยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆที่จะพัฒนาต่อเพราะช่องว่างของการพัฒนาจะเริ่มเล็กลงเรื่อยๆ ตัวอย่างสิงคโปร์ที่อาจจะสงสัยกันว่าทำไมในช่วง 17 ปีที่ผ่านมาแทบจะไม่ได้พัฒนาคะแนนอะไรขึ้นมา นั้นเพราะว่าสิงคโปร์มีผลงานที่ดีมาโดยตลอดอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเริ่มจัดทำรายงานด้วยซ้ำและมีช่องว่างที่จะพัฒนาได้น้อยมากๆ

    อีกประเด็นที่น่าสนใจในรายงานปีนี้คือต้นทุน “เวลา” ที่ลดลงอย่างชัดเจนในปีนี้ ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยที่สามารถลดระยะเวลาการแก้ไขปัญหาล้มละลายจาก 2.7 ปี เหลือเพียง 1.5 ปี ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าตัวชี้วัดนี้เป็นหนึ่งใน หรือของอินโดนิเซียที่ลดระยะเวลาในการเริ่มต้นธุรกิจจาก 182 วันเหลือเพียง 12.6 วัน หรือฟิลิปปินส์ที่ลดระยะเวลาการยื่นแบบภาษีจาก 195 ชั่วโมงต่อปีเหลือเพียง 171 ชั่วโมง และมาเลเซียที่ลดระยะเวลาขอใบอนุญาตก่อสร้างจาก 285 ชั่วโมงเหลือเพียง 41 ชั่วโมง

    “การเห็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นอะไรที่สร้างแรงบันดาลในสำหรับเราที่เห็นว่ารัฐบาลมุ่งมั่นที่นำรายงานไปเป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของประเทศในภาพรวม ถ้าถามกลับไปว่าทำไมเราถึงวัดและจัดทำรายงานนี้ เพราะจากงานวิจัยที่ผ่านมาที่พบว่าประเทศที่มีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการกำกับดูแลที่เป็นมิตร ช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ มีธุรกิจเกิดขึ้นได้มากกว่า สร้างงานได้มากกว่า ถ้าเจาะจงกว่านั้นเราพบว่าคะแนนที่เพิ่มขึ้น 10 คะแนนจากรายยงานจะทำให้ประเทศมีธุรกิจเพิ่มมากขึ้น 1 แห่งต่อประชากร 2000 คน และนั้นมันสัมพันธ์โดยตรงกับการสร้างงานในประเทศและนั้นหมายถึงการนำไปสู่การลดความยากจนในที่สุด” นางสาวจอยซ์ กล่าว

    ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่าปี 2020 ธนาคารโลกจัดอันดับให้เป็นประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจ อยู่ในอันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศทั่วโลก อันดับดีขึ้น 6 อันดับ จากอันดับที่ 27 ในปีที่ผ่าน ใกล้เข้าสู่กลุ่ม Top 20 ของโลก และที่สำคัญมีคะแนนรวมทุกด้านสูงถึง 80.1 คะแนน เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยมีคะแนนห่างจากประเทศฟินแลนด์ที่มีอันดับสูงกว่า เพียง 0.1 คะแนนเท่านั้น ผลการจัดอันดับและคะแนนที่ดีขึ้นเป็นผลจากการที่รัฐบาลมีความมุ่งมั่นปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการบริหารจัดการภาครัฐอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 46 โดยมีการปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการให้รวดเร็วขึ้น นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้การประกอบธุรกิจง่ายขึ้น ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การบริการภาครัฐสะดวกขึ้น

    ในแง่ตัวชี้วัดที่มีอันดับสูงสุดซึ่งสะท้อนการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ จนติด10 อันดับแรกของโลก มี 2 ด้าน คือ ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย ได้อันดับ 3 ของโลก และด้านการขอใช้ไฟฟ้า ได้อันดับ 6 ของโลก แล้วยังมีด้านที่เป็นการปฏิรูปการบริการภาครัฐที่ทำให้การประกอบธุรกิจง่ายขึ้น คือ ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง

    สำหรับปีนี้มีการปฏิรูปที่สำคัญที่ส่งผลต่อการจัดอันดับของประเทศไทยใน 5 ด้าน ได้แก่

    • ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย 86 คะแนน เป็นผลจากดัชนีด้านความสะดวกในการฟ้องคดีของผู้ถือหุ้น (Ease of Shareholder Suits Index) ที่เพิ่มขึ้นจาก 8 คะแนนเป็น 9 คะแนนโดยมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน และดัชนีด้านความโปร่งใสของบริษัท (Corporate Transparency Index) ที่ได้รับการปรับคะแนนเพิ่มขึ้นในเรื่องสิทธิของผู้ถือหุ้นในการเสนอวาระการประชุมต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น
    • ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง 3 คะแนน ที่แก้ไขระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับ
      การขออนุญาต และการควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2525 เพื่อลดขั้นตอนการตรวจสอบอาคาร จากเดิม 8 ครั้ง เหลือ 3 ครั้ง และลดระยะเวลาขออนุญาตจากเดิม 118 วัน เหลือ 113 วัน
    • ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ 4 คะแนน สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อหัวลงจากร้อยละ 3.1 ของรายได้ประชาชาติต่อหัว เหลือเพียงร้อยละ 3.0 ของรายได้ประชาชาติต่อหัว
    • ด้านการขอใช้ไฟฟ้า 98.7 คะแนน มาจากการปรับลดอัตราค่าบริการการขอใช้ไฟฟ้า (200 แอมแปร์) จากเดิม 77,050 บาท เหลือ 0 บาท และลดขั้นตอนการขอใช้ไฟฟ้าจาก 3 ขั้นตอน เหลือ 2 ขั้นตอน
    • การแก้ไขปัญหาการล้มละลาย 76.8 คะแนน โดยแก้กฎหมายเพื่อปรับปรุงกระบวนการล้มละลายและฟื้นฟูกิจการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2561) มีผลทำให้อัตราเงินที่ได้คืน (cents on the dollar) สูงขึ้นจากเดิม 69.8 เซ็นต์ต่อดอลลาร์ เป็น 70.1 เซ็นต์ต่อดอลลาร์
    นางสาวจอยซ์ แอนโทเน อับบลาฮิม(ซ้าย) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาภาคเอกชน ธนาคารโลก และนายปกรณ์ นิลประพันธ์(ขวา) เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

    ทั้งนี้ แผนการดำเนินการต่อไป จะดำเนินการไม่เรียกสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้จากประชาชน และผลักดันการออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน โดยมีเป้าหมายจะยกเลิกการใช้กระดาษให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2563 พร้อมทั้งยกเลิกการออกบัตร โดยพัฒนาระบบทะเบียนให้สามารถตรวจสอบสิทธิของประชาชน เชื่อมโยงข้อมูลกับเลขประจำตัวประชาชนภายในปี 2563 รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและประชาชนใช้ระบบให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น