ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ แย้มรู้ที่อยู่ “ยิ่งลักษณ์” แล้ว ขอตอบหลัง 27 ก.ย. – มติ ครม.อนุมัติงบรัฐวิสาหกิจ 1.97 ล้านล้านบาท – งบลงทุน 8.4 แสนล้านบาท

นายกฯ แย้มรู้ที่อยู่ “ยิ่งลักษณ์” แล้ว ขอตอบหลัง 27 ก.ย. – มติ ครม.อนุมัติงบรัฐวิสาหกิจ 1.97 ล้านล้านบาท – งบลงทุน 8.4 แสนล้านบาท

26 กันยายน 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวภายหลังตอบคำถามถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เห็นใจผมบ้าง ตั้งแต่เช้าปวดหัวหลายเรื่อง วันนี้มีมติ ครม. ที่ต้องพิจารณาถึง 29 เรื่อง และต่อไปต้องประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 1/2560 ต่ออีก”

“นี่คืออดีต เป็นเรื่องที่เกิดในอดีต กำลังแก้ปัญหาอยู่ แต่กำลังจะไปประชุมอนาคต 20 ปียุทธศาสตร์อีก นายกฯ ต้องปรับเปลี่ยนธรรมดา แต่ไม่ต้องมาเห็นใจเราหรอก ใช้มันให้ตายไปเลย” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว พร้อมปฏิเสธเรื่องการลงเล่นการเมืองก่อนเดินทางไปประชุมต่อ

ปัดเยือนสหรัฐฯ “เลือกข้าง”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการเดินทางเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาตามคำเชิญนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม 2560 ว่า ช่วงเวลานี้ขออย่ามองว่ารัฐบาลเลือกข้างหรือไม่เลือกข้าง เพราะตนพบปะกับทุกคนและทุกประเทศที่เชิญ หากพบได้ก็พบ เพราะเราดำเนินนโยบายต่างประเทศให้สมดุลกับทุกมหาอำนาจ

“เรื่องความขัดแย้งในโลกเป็นเรื่องของมติองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างเป็นไปตามคำเชิญของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเราจะหารือกันในประเด็นความสำคัญแบบทวิภาคีทุกด้าน เช่น ความมั่นคง การค้าการลงทุน และการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นภูมิภาค เพราะในคำเชิญได้ระบุมาว่าในฐานะที่ไทยเป็นมิตรที่เก่าแก่ที่สุดในอาเซียนที่มีความสัมพันธ์ยาวนานกว่า 200 ปี และยังพูดถึงความสัมพันธ์ในแถบอินโดแปซิฟิก เพราะฉะนั้นถือเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสองภูมิภาคที่เราจะหารือกันเรื่องนี้ เราได้เตรียมกาคทุกอย่างไว้แล้ว ขอให้มั่นใจ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ การเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้มีผู้บริหารระดับสูงของไทยร่วมเดินทางด้วย เช่น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี  นายดอน  ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ  พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะมีการพบปะหารือกับผู้แทนภาคเอกชนไทยและร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ ซึ่งคณะนักธุรกิจจากหอการค้าสหรัฐอเมริกาและสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและคณะ และจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ของภาคเอกชนระหว่างบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี กับภาคเอกชนสหรัฐฯ

ชี้ 27 ก.ย. ก็เหมือนทุกวัน-ไม่มีใครรู้คำตัดสินล่วงหน้า

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงสถานการณ์ในวันที่ 27 กันยายน 2560 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองจะอ่านคำพิพากษาคดีรับจำนำข้าว ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ตนไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก วันพรุ่งนี้ก็เหมือนกับวันอื่นๆ ที่มีการตัดสินคดีอยู่ทุกวัน ทั้งคดีเล็กและคดีใหญ่ เราไปให้ความสำคัญมากเกินไปหรือไม่ คดีนี้ก็เป็นการพิจารณาคดีตามกระบวนการยุติธรรมปกติ และทุกคนก็ทราบดีถึงความเป็นมา ขอให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งมีผู้พิพากษาตั้งหลายท่าน และการตัดสินก็ยังไม่รู้ล่วงหน้า เพราะผู้พิพากษาทั้งหมดจะมาเจอกันในตอนเช้าเพื่อเรียบเรียงคำตัดสินใหม่ เพื่อรวบรวมสรุปเป็นคำตัดสินของคณะผู้พิพากษา

“อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคดีนี้ ที่ทุกคนซักถามทั้งรองนายกฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องมาตลอด ผมคิดว่าเรื่องเส้นทางอะไรต่างๆ ก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่าเอามาพันกัน เรื่องนั้นเป็นกระบวนการสอบสวนสืบสวนจะดำเนินการ ผมยังไม่อาจกล่าวว่าใครผิดใครถูก จะบอกว่าผิดหรือไม่ก็ไม่ใช่ หรือจะบอกว่าถูกก็ไม่ใช่ ทั้งนี้ทุกอย่างจะชัดเจนขึ้นหลังวันที่ 27 กันยายน 2560 ไปแล้ว ผมมีข้อมูลแต่ยังพูดอะไรไม่ได้ ฉะนั้นอย่าไปถามท่านอีกเลย เห็นใจบ้าง บางทีก็อึดอัด แต่ก็ไม่อยากให้ทุกอย่างออกมามะรุมมะตุ้มก่อนวันที่ 27 กันยายน” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า หลังวันที่ 27 กันยายน รัฐบาลเตรียมความพร้อมในการดำเนินการเรื่องเหล่านี้อย่างไร พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ต้องเตรียมอะไร เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เตรียมพร้อมตามคำร้องขอของศาลอยู่แล้ว และก็เป็นพื้นที่ของศาล จะต้องคุ้มครองศาลอย่างไร เขาเตรียมมาตรการและมีแผน มีการตัดสินคดีมากี่ครั้ง ครั้งก่อนก็เตรียมเก้อไปรอบหนึ่ง

แย้มรู้ที่อยู่ “ยิ่งลักษณ์” แล้ว ขอตอบหลัง 27 ก.ย.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีสังคมสงสัยตำรวจที่พา น.ส.ยิ่งลักษณ์หนี เหตุใดจึงไม่มีความผิดว่า ต้องดู 2 กรณี เขาอาจจะพูดเหมารวมหรือไม่ ตนไม่รู้และไม่ได้แก้ตัว ประเด็นแรก คือ การใช้รถผิดมันผิดหรือไม่ เขาก็ชี้แจงมาว่ารถได้ทีหลัง ทางกล้องเห็นชัดเจน แต่ไม่เห็นหน้า ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญที่เขียนไปในเรื่องกฎหมาย ป.วิอาญา เขียนไว้ว่าหากตรวจสอบแล้วรถคันนี้ผิดกฎหมาย คราวนี้จะผิดในเรื่องของการใช้รถ แต่หากหลักฐานยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งมาตรา 29 เขียนไว้มองทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน ไม่ใช่ว่าจะไปช่วย มันช่วยไม่ได้หรอก ประเด็นที่สองคือการพาออก ต้องดูว่าผิดตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตรงไหน ถ้าพาออกไปจริง พาออกไปตั้งแต่เมื่อไร มีหมายจับเมื่อไร ซึ่งโทษทางวินัยก็มีอยู่ หากมีการช่วยเหลือจริงก็จะมีคดีอาญาด้วย ขอเวลาหน่อย เดี๋ยวถ้ารู้ว่าเขาไปอยู่ที่ไหน ตอนนี้ก็พอรู้ แต่ยังพูดไม่ได้ ขอให้พ้นวันที่ 27 กันยายนไปก่อน

เมื่อถามว่า ต้องดูที่เจตนาของตำรวจที่พา น.ส.ยิ่งลักษณ์หนีด้วยหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องดูด้วย เจตนาถ้าไปจริงก็ช่วยเขาแน่นอน เจตนามันไม่ต้องแปลอย่างอื่น กรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ติดคำสั่งศาล ห้ามออกนอกประเทศ ก็ต้องดูกันอีกที แต่ตนขออย่าเพิ่งเอากฎหมายมาสู้กัน เพราะเราไม่ได้รู้กฎหมายกันทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นเดี๋ยวจะกลายเป็นเอาความรู้สึกไปตัดสินคนทั้งหมด ก็จะวุ่นวายไปกันใหญ่ อีกหน่อยจะเป็นตัวอย่างให้คดีอื่น แล้วจะทำอะไรกันไม่ได้

เมื่อถามว่า ทราบแล้วหรือไม่ว่าใครเป็นผู้สั่งการ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า สื่อนำเสนอนาย ก. นาย ข. แล้วมันใครกัน คงไม่เรียกว่าสั่ง แต่คงรู้จักใครก็ไปฝากคนนี้คนนั้นช่วยกัน อาจเป็นลูกน้องเก่าหรือเปล่าที่เขามาขอให้ทำ มันก็แค่นั้น ทั้งนี้ประเทศปลายทางหากพบอะไรเขาจะแจ้งมา ซึ่งสายลับตนก็มี พร้อมปฏิเสธเรื่องการขอลี้ภัยของ นางสาวยิ่งลักษณ์

“จะไปลี้ภัยเรื่องอะไร คดีอยู่ในศาล ตอนนี้ยังไม่รู้ เพราะเขายังไม่ได้ลี้ภัยเลย สื่อก็เขียนกันเองว่าเขาจะลี้ภัย จะลี้ได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ตอนนี้พอรู้ว่าพำนักอยู่ประเทศไหน แต่ต้องขอให้เขายืนยันอีกสักหน่อย อย่าเพิ่งไปพูดก่อนเลย เรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนก็ต้องดูด้วยว่ามีสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ แล้วเขาเลยส่งหรือไม่ และเราเคยขอไปกี่คนแล้ว ซึ่งประเทศที่เราเคยขอตัวก็มีสัญญาทุกประเทศ ขณะเดียวกันต่างประเทศเขาก็มีกับเรา แต่บางคนเราให้เขาไม่ได้ เพราะเราต้องดำเนินคดีในประเทศของเรา ซึ่งเป็นเรื่องแต่ละประเทศเขา จะไปบังคับอะไรเขาได้มากมาย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามว่า จะซ้ำรอยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่รู้ คนไปไม่ค่อยมีปัญหา ไอ้คนอยู่ซวยทั้งปี วันนี้ทุกอย่างมันก็ชัดเจน คดีความเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มันไม่ดีกว่าไม่มีอะไรหรือ ต้องการแบบนั้นหรือ วันนี้ทุกคดีก็ออกมาหมด ขึ้นอยู่กับศาลที่จะตัดสิน

เมื่อถามว่า ในแง่การดำเนินการเรื่องพาสปอร์ตจะมีแนวทางอย่างไร พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ต้องดูว่าผิดถูกหรือไม่ก่อน ศาลตัดสินว่าอย่างไร ถ้าตัดสินผิดก็เป็นผู้ต้องหา ถ้าเป็นผู้ต้องหาก็ทำได้ ซึ่งเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ของกระทรวงการต่างประเทศ ทุกอย่างมีกติกาหมด อย่าไปผลีผลามทำส่งเดชตามใจชอบ มันไม่ได้ นี่คือการให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ถ้าทำเร็วไปก็บอกว่าใจร้าย อีกพวกก็บอกว่ารัฐบาลซ้ำเติม ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง มันมีคนอยู่หลายประเภท ต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องชี้วัดว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป

กลับลำ โยก “พงศ์พร” นั่ง ผอ.พศ. ตามเดิม – ตั้ง “ธนะศักดิ์” คุม พศ.

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีการทุจริตเงินอุดหนุนวัดว่า แม้ พ.ต.ท. พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ไม่อยู่ช่วงหนึ่ง แต่กระบวนการสืบสวนสอบสวนก็เข้ามาในวงจรตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องทำต่อไปเรื่อยๆ ต้องไปสอบสวนตามกฎหมาย ไม่มียกเว้น เพราะยกเว้นอะไรไม่ได้อยู่แล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อถึงกรณีให้ พ.ต.ท. พงศ์พร กลับมาดำรงตำแหน่ง ผอ.พศ. ซึ่งมีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาตนจำเป็นต้องเอาออกมาชั่วคราว เพื่อมาคุยกัน มาจัดระบบกัน ว่าเราจะทำเรื่องพระพุทธศาสนาอย่างไร ก็มาวางแผนแม่บทกัน เสร็จแล้วตนจะให้กลับไปทำหน้าที่เดิม ไม่มีความผิดอะไรทั้งสิ้น และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) อยู่ภายใต้กำกับดูแลของ พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลกรมการศาสนาและกระทรวงวัฒนธรรม

“อย่าว่ารัฐบาลโลเลกลับไปกลับมา ไม่ใช่อย่างนั้น เพียงแต่ในช่วงนั้นมีปัญหาอยู่ก็เอาออกมาเสียก่อน เพื่อทำให้เกิดความสงบก่อน และเดี๋ยวเอากลับเข้าไปทำใหม่ก็จบแค่นั้น ก็ต้องแก้ปัญหาแบบนี้ ไม่มีวิธีอื่น ขออย่าไปขยายความกันอีกต่อไปเลย ท่านเป็นคนดีอยู่แล้ว ส่วนพระท่านก็ส่งข่าวว่าพร้อมจะร่วมมือทุกอย่าง ผิดก็ว่าไปตามผิด เพราะฉะนั้นไม่มีประโยชน์ว่ากันไปว่ากันมา เพราะเป็นเรื่องเฉพาะคน เฉพาะราย เฉพาะพื้นที่ เราต้องรู้จักทำให้บ้านเมืองสงบบ้าง ไม่อย่างนั้นจะไปไหนไม่ได้” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ด้าน พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน ครม. ได้เห็นชอบให้ พ.ต.ท. พงศ์พร ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ และอนุมัติรับโอนนายมานัส ทารัตน์ใจ อธิบดีกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ไปปฎิบัติหน้าที่แทนนั้น คำสั่งดังกล่าวอยู่ในระหว่างกระบวนการนำขึ้นกราบบังคมทูลแต่ยังไม่ได้กราบบังคมทูล ดังนั้น นายกรัฐมนตรีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าแก้ไขไปได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ ประกอบกับ พ.ต.ท. พงศ์พร ไม่ได้มีความผิดแต่อย่างใด ซึ่งมติ ครม. ให้ทั้งคู่กลับไปดำรงตำแหน่งเดิม ซึ่งไม่มีผู้ใดทักท้วง เพราะทุกคนมีความมั่นใจว่าผู้บังคับบัญชาทั้งหมดได้พิจารณาทุกอย่างละเอียดถี่ถ้วน เรียบร้อยแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งการปฏิบัติราชการ

ยัน 5 ธ.พาณิชย์ไทยยังแข็งแกร่ง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศคุมเข้มธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ ว่า ยืนยันว่าทั้ง 5 ธนาคารของเรามีความมั่นคงมาก เงินสำรองมีมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด แต่สิ่งที่ทำก็คือตามหลักการสากล คือการออกข้อกำหนดความเข้มงวดมากขึ้น ก็จะสอดคล้องกับหลักสากลมากขึ้น อย่าไปวิตกกังวลว่าธนาคารมีปัญหา หรือมีความเสี่ยงสูง ยืนยันไม่มี ธนาคารเราเข้มแข็งตั้งแต่เหตุการณ์ต้มย้ำกุ้งมาแล้ว  ซึ่งการกระทำลักษณะนี้ต่างประเทศก็มีการดำเนินการเช่นกัน เราก็ทำให้สอดรับกันเท่านั้นเอง

สั่ง รง. ตรวจสอบ ปมลัดคิวตรวจสัญชาติแรงงานเมียนมาแล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการเรียกรับเงินเพื่อลัดคิวในการตรวจสัญชาติแรงงานต่างด้าวผ่านนายหน้าคนไทยที่ร่วมมือเจ้าหน้าที่เมียนมาว่า กรณีดังกล่าวตนมอบหมายให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบ ซึ่งได้รับรายงานแล้ว ส่วนกรณีนายหน้าคนไทยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของเมียนมาหรือไม่นั้น วันนี้ทราบแล้ว จึงได้สั่งการไปแล้วว่าต้องหาข้อเท็จจริงรวมถึงตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายให้ได้

ยันโทษหนัก ทุจริตโครงการ 9101

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกระแสข่าวพบการทุจริตในโครงการ 9101 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า กรณีดังกล่าวต้องสอบสวนในหลายประเด็น ประเด็นแรก ในบางพื้นที่มีความพร้อมหรือไม่ เป็นการใช้จ่ายงบประมาณและเป็นการที่รัฐบาลให้โดยเป็นการจัดกลุ่มกำหนดความต้องการถึง 8 กลุ่มด้วยกันและให้ประชาชนสมัครใจเข้ามาทำกันเอง โดยได้โอนงบให้กับผู้ที่มาร่วมทำ บางคนอาจจะเข้าไม่ได้เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ ประเด็นที่สอง คือ ความพร้อมของส่วนราชการที่อยู่ในพื้นที่ ถ้าเขาไม่พร้อมจะแก้ปัญหาอย่างไร ตนคิดว่าเรื่องเจตนาการทุจริต ตนยังไม่ค่อยเชื่อตรงนี้เพราะโครงการนี้เป็นโครงการทำถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพราะฉะนั้น ใครจะกล้าโกงก็ต้องลงโทษสถานหนัก ต้องไปสอบสวนดู

“ตอนนี้ได้สั่งการให้ คสช. เจ้าหน้าที่ตำรวจ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ ลงไปเดี๋ยวเขาจะสรุปขึ้นมาให้ทราบ ยืนยันว่าตรงไหนผิดว่าไปตามผิด ถูกว่าไปตามถูกเท่านั้น เพราะทุกอย่างมีกลไกอยู่แล้ว ประเด็นสำคัญคือวันนี้โซเชียลมีเดียและสื่อมวลชนมีการวิพากษ์วิจารณ์การเยอะมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดความไขว้เขวในเรื่องความเข้าใจเรื่องข้อกฎหมาย ฉะนั้น คิดว่าให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงดีกว่า ถ้าชัดเจนขึ้นมาอย่างอื่นก็ทำต่อได้ แต่ถ้ายังไม่ชัดเจนก็อย่าเพิ่งไปถามเขาเลย จนกว่าอะไรจะชัดเจนขึ้นถึงจะตอบได้ ซึ่งข้อมูลต่างๆ ก็มีอยู่ แต่บางอย่างก็ไม่มีผลดีในช่วงเวลานี้” นายกรัฐมนตรี กล่าว

เผยไม่สบายใจ หลังอ่านจดหมายอำลา “จเร”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีนายจเร พันธุ์เปรื่อง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เขียนบทอำลาตำแหน่ง “สัจธรรมชีวิตราชการ” ระบุคนซื่อสัตย์อยู่ไม่ได้ รัฐสภาเต็มไปด้วยพวกขี้โกงว่า เรื่องจดหมายอำลาดังกล่าว เป็นสิ่งที่ตนฟังแล้วตนไม่ค่อยสบายใจ วันนี้ตนจึงได้ส่งเรื่องให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

มติ ครม. มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

แจกเอสเอ็มอี 500 ล้านบาท ซื้อตราสารกันความเสี่ยงค่าเงิน พร้อมอบรมความรู้

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยจะเริ่มต้นจากการจัดโครงการสัญจรลงพื้นที่ต่างๆ โดยสมาคมธนาคารไทย เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ตราสารการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยง ขณะเดียวกัน เอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวรัฐบาลจะให้วงเงินรายละ 30,000 บาทสำหรับซื้อตราสารทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงอย่าง options กับธนาคารพาณิชย์ในราคาตลาด (โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายดำเนินการ) จำนวน 17,000 ราย รวมวงเงินทั้งสิ้น 500 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะช่วยป้องกันความเสี่ยงได้รายละ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3 ล้านบาท

ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้ร่วมโครงการจะต้องเป็นเอสเอ็มอีที่มียอดขายน้อยกว่า 400 ล้านบาท โดยจะคัดเลือกเอสเอ็มอีที่มียอดขายน้อยกว่า 100 ล้านบาทเข้าร่วมโครงการก่อนเป็นลำดับแรก จำนวน 5,000 ราย วงเงิน 150 ล้านบาท เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้ประกอบการมากกว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 – เดือนมิถุนายน 2561 หลังจากนั้นจะประเมินผลของโครงการก่อนจะทยอยคัดเลือกเอสเอ็มอีที่เหลือต่อไป

“นโยบายการเพิ่มความขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี นอกจากจะสนับสนุนเทคโนโลยีสมัยใหม่แล้ว อีกด้านหนึ่งต้องดูแลเรื่องบริหารการเงินด้วย นโยบายครั้งนี้จึงเป็นการบริหารความเสี่ยงค่าเงินโดยตรง จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย เอ็กซิมแบงก์และ สสว. พบว่าเอสเอ็มอีไทยเติบโต มีความสามารถในการส่งออกได้มากขึ้นปัจจุบันนับ 20,000 ราย แต่อีกด้านยังมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนน้อย ซึ่งคาดว่าอาจจะเกิดจากการขาดข้อมูลหรือช่องทางการเข้าถึง รัฐบาลจึงมีนโยบายเพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงเครื่องมือรวมทั้งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานเครื่องมือดังกล่าว”

อนุมัติงบรัฐวิสาหกิจ 1.97 ล้านล้านบาท – งบลงทุน 8.4 แสนล้านบาท

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 1,975,414 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 846,337 ล้านบาท สำหรับโครงการที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. และการลงทุนที่ใช้เงินตามงบประมาณประจำปี 2561 ให้ดำเนินการเมื่อได้รับอนุมัติตามขั้นตอนแล้ว โดยให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เป็นผู้พิจารณาการเปลี่ยนแปลงงบลงทุนระหว่างปี โดยกรณีปรับลดเป้าหมายต้องเป็นเหตุจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้เท่านั้น และต้องแล้วเสร็จก่อนไตรมาสแรกของปีงบประมาณ รวมทั้งให้บูรณาการการลงทุนไม่ให้เกิดการดำเนินที่ซ้ำซ้อนหลายรอบ โดยเบื้องต้นตั้งเป้าหมายให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายได้ 95% ของวงเงินลงทุนที่อนุมัติ อนึ่ง ให้รัฐวิสาหกิจรายงานผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานและการลงทุนให้สภาพัฒน์ทราบภายในวันที่ 5 ทุกเดือนอย่างเคร่งคร่ด้วย

ทั้งนี้ วงเงินลงทุนมียุทธศาสตร์ 8 ด้าน คือ 1) การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ 1,140 ล้านบาท 2) การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 9,462 ล้านบาท 3) การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน 11,437 ล้านบาท 4) การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 1,957 ล้านบาท 5) การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ 926 ล้านบาท 6) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ 796,182 ล้านบาท 7) การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม 1,673 ล้านบาท 8) การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ 560 ล้านบาท

นอกจากนี้ ครม. ยังรับทราบประมาณการงบทำการ โดยคาดว่าในปี 2561 จะมีกำไรสุทธิ 125,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนห้นา 9.9% โดยมีรายได้รวม 2,081,253 ล้านบาท ขณะที่แนวโน้มการดำเนินงานในปี 2562-2564 คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายลงทุน 2,091,317 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 697,106 ล้านบาท และคาดว่าจะมีกำไรรวม 445,996 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 148,665 ล้านบาท

ยกระดับ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก – ลดขั้นตอน แบบฟอร์ม

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. เห็นชอบแผนการยกระดับการบริการภาครัฐ ระยะที่ 2 ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 จำนวน 5 แผนงาน ได้แก่

    1) ปรับปรุงคู่มือประชาชนระยะที่ 2 โดยลดเอกสารที่ประกอบการติดต่อ รวมไปถึงระยะเวลาการให้ดำเนินการให้ได้ประมาณ 30-50%
    2) การจัดทำแบบฟอร์มเอกสาร 2 ภาษา จำนวน 7,467 ฉบับ ปัจจุบันทำไปแล้ว 707 ฉบับ และคาดว่าในปีนี้จะทำได้อีก 2,711 ฉบับ และจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 5 ปี
    3) การพัฒนาระบบติดตามการให้บริการ หรือ Tracking System โดยร่วมกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์พัฒนาระบบเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่าการติดต่อราชการอยู่ที่ขั้นตอนไหน รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลประเมินการทำงานของราชการว่าติดขัดหรือล่าช้าที่หน่วยงานใด
    4) พัฒนาระบบการของคิวกลาง การให้ข้อมูลย้อนกลับ หรือ Citizen Feedback Survey รวมไปถึงระบบแจ้งเตือนผ่านมือถือและการให้คะแนนการให้บริการของราชการ
    5) ทบทวนใบอนุญาตที่เกิดความจำเป็น โดยเริ่มต้นจากคู่มือประชาชนที่หน่วยงานต่างๆ ได้จัดทำตามกฎหมายกว่า 727,007 คู่มือ โดยจะเปลี่ยนมาใช้ระบบคู่มือกลางเพียง 5,624 คู่มือ เพื่อให้การให้บริการทั้งหมดเป็นมาตรฐานเดียวกัน และในอนาคตจะลดลงจนเหลือ 1,000 คู่มือ

อนุมัติ 3,500 ล้านบาทตั้งกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติวงเงิน 3,500 ล้านบาท จัดตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนากิจการวิสาหกิจชุมชน เพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนด้านเงินทุนและยกระดับการพัฒนากิจการ เนื่องจากปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ทำให้เข้าถึงสินเชื่อของธนาคารได้ไม่ง่ายนัก พร้อมทั้งอนุมัติเงิน 25 ล้านบาทจัดงาน “วิสาหกิจชุมชนแฟร์ 2018” เป็นระยะเวลา 5 วันในช่วงเดือนมกราคม-เดือนกุมภาพันธ์

ขยายรถเมล์-รถไฟฟรี 1 เดือน เหตุผลิตบัตรคนจนล่าช้า

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติขยายเวลามาตรการรถเมล์รถไฟฟรีอีก 1 เดือน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 – 31 ตุลาคม 2560 เนื่องจากความล่าช้าของการผลิตบัตรผู้มีรายได้น้อย โดยคาดว่าจะแจกจ่ายได้วันที่ 17 ตุลาคม 2560 รวมทั้งในช่วงเดือนดังกล่าวจะมีงานพระราชพิธีถวายพระเพลิง จึงทำให้อาจจะมีประชาชนเดินทางเข้ามาจำนวนมาก โดยคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 409 บาท เป็นรถเมล์ 322 ล้านบาทและรถไฟ 86 ล้านบาท

อนุมัติกรมชลประทานเบื้องตัน 77 ล้านบาท โครงการอีอีซี

นายณัฐพร กล่าวว่า ครม. เห็นชอบโครงการภายใต้แผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในส่วนของกรมชลประทาน รายการงบกลางปี 2560 จำนวน 77.5 ล้านบาท ทั้งนี้ เดิมเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 ครม. มีมติอนุมัติในหลักการให้กรมชลประทานดำเนินโครงการด้านระบบน้ำจำนวน 8 โครงการ มูลค่ารวม 785 ล้านบาท ได้แก่ โครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก, โครงการปรับปรุงคลองชลประทานพานทองเพื่อรองรับระบบการผันน้ำจากคลองชลประทานไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ, โครงการระบบสูบผันน้ำคลองสะพานอ่างเก็บน้ำประแสร์, โครงการอาคารอัดน้ำท้ายอ่างเก็บน้ำประแสร์, โครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำดอกกราย, อาคารบังคับน้ำในแม่น้ำระยอง, โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล, โครงการปรับปรุงระบายน้ำหน้าพระธาตุ ระยะที่ 2

อนุมัติ 1,400 ล้านบาท หนุนเกษตรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. อนุมัติให้ดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังหน้านาปี 2560/61 ภายใต้มาตรการรักษาเสถียรภาพสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร เนื่องจากปัจจุบันข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยผลผลิต 95% ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ขณะที่มีความต้องการใช้อยู่ที่ประมาณ 6-8 ล้านตันต่อปี แต่สามารถผลิตได้เพียง 4-5 ล้านตันต่อปี โดยโครงการดังกล่าวตั้งใจจะปรับสัดส่วนการผลิตระหว่างช่วงต้นฝน ปลายฝน และแล้ง จากเดิมประมาณ 72% 23% และ 5% ตามลำดับ ให้เป็นต้นฝน 30% ปลายฝน 20% และช่วงแล้งมากขึ้นเป็น 50% ซึ่งช่วยแก้ปัญหาผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกในช่วงต้นฝนเยอะ ราคาไม่ดี เกินกำลังของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์สามารถรับซื้อได้ และช่วยพัฒนาตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ การสนับสนุนให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ช่วงหลังนาปีก็จะช่วยลดปริมาณการผลิตข้าว ซึ่งมีผลผลิตเกินความต้องการเช่นกัน

โครงการนี้มีเป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการรวมทั้งหมด 700,000 ไร่ เกษตรกร 47,000 ราย จะดำเนินการในพื้นที่ที่เหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลางในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูแล้งในพื้นที่ 31 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 16 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด ภาคกลาง 4 จังหวัด ภาคตะวันออก 1 จังหวัด และภาคตะวันตก 1 จังหวัด โดยเกษตรกรที่จะร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร และมีความสมัครใจที่จะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการปลูกข้าวรอบที่ 2 ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์และเหมาะสมกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายละไม่เกิน 15 ไร่

ทางรัฐบาลจะสนับสนุนปัจจัยการผลิตส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกษตรกรไร่ละ 2,000 บาท ใช้งบประมาณทั้งหมด 1,421.96 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินอุดหนุน 1,400 ล้านบาท และงบดำเนินการ 21.96 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 – มิถุนายน 2561 โดยจะเปิดรับสมัครตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 เป็นต้นไป

เห็นชอบ ร่างกฎกระทรวง กิจการพลังงาน-ทรัพยากรธรรมชาติ ใช้ที่ ส.ป.ก.

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและยินยอม หรืออนุญาต ให้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรรม และประโยชน์สาธารณะของประเทศ พ.ศ. …. เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน ตามคำสั่ง คสช. ที่ 31/2560

โดยกฎกระทรวงดังกล่าวมีหลักการสำคัญ เช่น ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรม (คปก.) มีอำนาจยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินสำหรับกิจการที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ได้แก่ 1. กิจการด้านพลังงาน 2. กิจการด้านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ไม่อาจหาได้จากแหล่งอื่น นอกจากที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน และ 3. กิจการอันเป็นประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

อย่างไรก็ตาม การจะขอใช้ที่ดิน ส.ป.ก. นั้นต้องไม่ใช่ที่ดินพระราชทาน หรือได้รับบริจาค เพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินในโครงการพระราชดำริ หรือที่ดินในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยทำการยื่นขอใช้ที่ดินเพื่อ 3 กรณีข้างต้นได้ที่ ส.ป.ก. จังหวัด

ในกรณีขอใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. พื้นที่เกิน 500 ไร่ หรือมีระยะเวลาขอใช้ที่ดินเกิน 30 ปี หรือเป็นที่ดินที่หน่วยงานรัฐได้เข้าไปปรับปรุงเพื่อดำเนินการให้เป็นแปลงเกษตรกรรม มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไว้แล้ว จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม. รวมทั้งได้รับความยินยอมจากเกษตรกรที่ได้รับสิทธิในพื้นที่ดังกล่าว (เกษตรกรสละสิทธิ์) และพื้นที่ดังกล่าวต้องไม่เป็นที่ดินที่มีศักยภาพในการทำการเกษตร

“หากการใช้ประโยชน์ที่ดินกระทบกระเทือนถึงสิทธิของประชาชนที่ใช้ประโยชน์ในที่ ส.ป.ก. นั้นด้วย จะต้องมีการชดเชย หรือเยียวยา ซึ่งจะมีระเบียบข้อกำหนดในเรื่องดังกล่าวตามมาภายหลัง สำหรับผู้เคยใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. ก่อนหน้าร่างกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ บทเฉพาะกาลกำหนดให้ทำการยื่นขอใช้พื้นที่กับ ส.ป.ก. ภายใน 60 วันนับแต่กฎกระทรวงนี้ประกาศใช้” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ขยายเวลาไว้ทุกข์ถึง 27 ต.ค. – ไม่มีหยุดเพิ่ม

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบให้ขยายเวลาไว้ทุกข์ในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากเดิม 1 ปี คือตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 – 12 ตุลาคม 2560 ไปอีก 15 วัน คือตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม – 27 ตุลาคม 2560 ซึ่งจะออกทุกข์ในวันที่ 28 ตุลาคม 2560

“เนื่องจากยังมีงานพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ที่จะต้องต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 25 – 29 ตุลาคม 2560 จึงให้ขยายระยะเวลาการประกาศไว้ทุกข์ต่อไปอีก 15 วัน ขณะเดียวกัน ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ องค์กรรัฐวิสาหกิจ เก็บผ้าที่แสดงความเศร้า ทั้งผ้าขาวดำ ป้ายต่างๆ ในวันที่ 28 ตุลาคม 2560 และ ครม. ยังคงยืนยันวันหยุดในช่วงพระราชพิธี คือวันที่ 26 ตุลาคม 2560 เพียงวันเดียวเท่านั้น ส่วนวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี รัฐบาลได้มีการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการไปแล้ว” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกำหนดการปรับลดธงครึ่งเสา ในหน่วยงานทุกหน่วยในประเทศไทย รวมทั้งสถานทูตของไทยในต่างประเทศ กำหนดให้อยู่ระหว่างวันที่ 13 ตลาคม – 27 ตุลาคม 2560 ส่วนการจัดงานรื่นเริงของประชาชนได้ขอความร่วมมือ หากยังไม่มีการเตรียมงานรื่นเริงไว้ล่วงหน้า ในช่วงเดือนตุลาคมขอให้งดไว้ก่อน พร้อมทั้งเชิญชวน ข้าราชการร่วมสมัครทำงานจิตอาสาในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ทั้งนี้ ในวันที่ 4 ตุลาคม 2560 ฝ่ายประชาสัมพันธ์จะมีการจัดแถลงข่าวที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ถึงการปฏิบัติตัวในช่วงพระราชพิธี รวมทั้งการปฏิบัติตัวของสื่อมวลชนทั้งสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ