ThaiPublica > คอลัมน์ > Learn-Unlearn-Relearn – ผู้ต้องขัง: เด็กน้อยในอ้อมอกมารดาที่ชื่อว่าเรือนจำ (ตอนที่ 1)

Learn-Unlearn-Relearn – ผู้ต้องขัง: เด็กน้อยในอ้อมอกมารดาที่ชื่อว่าเรือนจำ (ตอนที่ 1)

31 มกราคม 2019


ณัฐเมธี สัยเวช

“กำลังใจ คำนี้เป็นคำไม่หรูหรา ไม่ยุ่งยาก แต่ลึกซึ้ง เป็นคำพูดที่พูดกับใครก็เข้าใจและรู้สึกดี ทุกคนจะต้องผ่านวันเวลาที่ยากลำบาก รู้สึกท้อ ห่อเหี่ยว ทำอะไรก็ไม่มีใครรัก ทำอะไรก็ไม่มีใครเห็นว่าดี

คิดว่าผู้ต้องขังที่ก้าวพลาดไปก็อยู่ในภาวะนี้ คือถูกตราหน้าว่าเป็นคนผิด ต้องอยู่ในที่ซึ่งถูกกำจัดเสรีภาพ ดูอย่างไรก็ไม่ดี ยิ่งผู้ต้องขังรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง รู้สึกในทางลบกับตัวเอง ก็จะรู้สึกในทางลบกับสังคมไปด้วย

การให้กำลังใจไม่ใช่การเข้าข้างตนเอง หรือลืมความผิดพลาดของตนเอง แต่ต้องนำความผิดพลาดนั้นกลับมาทบทวน เพื่อจะได้แก้ไข ไม่กลับไปทำผิดพลาดอีก ซึ่งต้องการกำลังใจที่เกิดขึ้นในตัวเองก่อน และถ้าสังคม ครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ให้โอกาส ให้กำลังใจ ก็สามารถต่อยอดไปสู่สิ่งที่ดีได้”

พระดำรัส พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา

ผู้ต้องขังเล่าให้ฟังว่า บนเสื้อนั้นจะมีการปักถ้อยคำต่างๆ เอาไว้เพื่อให้จำได้ว่าเสื้อตัวไหนเป็นของใคร และการปักนั้นก็จะมีตั้งแต่ชื่อของผู้ต้องขัง ไปจนถึงประโยคแสดงความรู้สึกดังในรูป
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

ครั้งหนึ่ง ผมเคยมีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณเพชร พัชรกัณญ์ สุขไกร ซึ่งเป็นผู้ที่คอยรับผู้ต้องขังหญิงที่เพิ่งพ้นโทษจากเรือนจำไปฝึกอาชีพเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการกลับคืนสู่สังคม คุณเพชรริเริ่มการทำเพื่อผู้ต้องขังตั้งแต่สมัยที่ตัวเธอเองก็เป็นผู้ต้องขังคนหนึ่ง และเมื่อเธอเป็นอดีตผู้ต้องขังแล้ว เธอก็ยังออกมาทำเพื่อผู้ต้องขังและอดีตผู้ต้องขังคนอื่นๆ ต่อ และเธอก็ได้ดูแลอดีตผู้ต้องขังที่เพิ่งพ้นโทษให้กลับสู่สังคมได้ไปหลายคนแล้ว

ในตอนนั้น ผมถามคุณเพชรว่า อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เธอทำสิ่งที่ทำอยู่นี้สำเร็จได้

“เราต้องกล้าที่จะผิดหวัง” คุณเพชรตอบ

นั่นเป็นคำตอบสั้นๆ ที่หากค้นลึกลงไปแล้ว เราจะพบว่าเป็นแก่นสารสำคัญที่ทำให้ทำไมการให้โอกาสคนที่เคยกระทำผิด โดยเฉพาะให้โอกาสกันตั้งแต่ยังรับโทษทัณฑ์ไม่ครบถ้วน จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง จนทำให้แม้ผู้ต้องขังหลายคนจะพ้นโทษจากเรือนจำจริงๆ มาแล้ว พวกเขาและเธอก็ยังต้องมาติดอยู่ในคุกอคติของสังคมอีกชั้นหนึ่ง

หากเราเป็นคนที่สนับสนุนการให้โอกาสแก่ผู้ต้องขัง โดยให้โอกาสกันตั้งแต่ตอนที่ยังรับโทษ เราก็ต้องเข้าใจว่าสำหรับคนอื่นๆ ที่ไม่ได้คิดแบบเรานั้น การให้โอกาสผู้ต้องขังคือการเสี่ยงต่อความผิดหวัง และหากพูดกันอย่างตรงไปตรงมา สำหรับพวกเขาแล้ว ปลายทางด้านร้ายของความผิดหวังที่เอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงนี้อาจไม่ใช่แค่ความเสียใจ แต่คือรุนแรงได้ถึงขั้นเสียชีวิต (ไม่ว่าจะทั้งชีวิตหรือเพียงบางส่วนของชีวิต) ซึ่งชีวิตที่ว่านั้นอาจเป็นของตนเอง คนที่ตนรัก หรือใครก็ตามในสังคม

ความกลัวเช่นนั้น เมื่อประกอบกับการมองไม่เห็นหนทางว่าคนที่เคยทำผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำผิดร้ายแรงทั้งตามกฎหมายและตามบรรทัดฐานของสังคม จะสามารถกลับมาเป็น “คนดี” ได้อย่างไร ทำให้หลายคนในสังคมปิดใจ ไม่อยากเสี่ยงที่จะผิดหวังในเรื่องนี้

ดังนั้น การทำให้สังคมมั่นใจได้ว่า ผู้กระทำผิดที่พ้นโทษออกมาจากเรือนจำนั้น จะสามารถกลับคืนสู่สังคมโดยไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก จึงเป็นหน้าที่สำคัญที่เรือนจำจะต้องทำให้ได้

ทีนี้ ไหนๆ ชุดคำอย่าง learn-unlearn-relearn ก็กำลังเป็นกระแสในโลกยุค disruption ที่อะไรต่อมิอะไรปั่นป่วนไปหมด จนการยึดติดอยู่กับโลกทัศน์แบบเดิมๆ อันนำไปสู่การปฏิบัติซ้ำๆ ซากๆ ไม่สามารถทำให้สังคมในหลายๆ ส่วนอยู่รอดได้ต่อไป การเรียนรู้ (learn) ที่จะไม่ยึดติดกับสิ่งเดิมๆ ที่รู้มา (unlearn) แล้วเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ (relearn) ก็น่าจะเป็นทางออกในเรื่องนี้ให้สังคมได้เหมือนกัน

ในบทความก่อนหน้านี้ ผมเปรียบเทียบผู้ต้องขังเป็นเหมือนวัยรุ่นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่เรียกว่าสังคม แต่มาถึงตอนนี้ ผมมองเขาและเธอทั้งหลายเป็นดั่งเด็กน้อยในอ้อมอกมารดาที่เรียกว่าเรือนจำ

(เขียนให้สวยๆ ไปอย่างนั้น จริงๆ ไม่ต้องมารดาก็ได้ครับ พ่อ แม่ พี่ป้าน้าอา ปู่ย่าตายาย อะไรก็ตามแต่ ที่เป็นผู้ปกครองน่ะ เพราะผู้ดูแลเด็กในสังคมจริงๆ นั้นหลากหลายเกินกว่าจะบอกว่าเป็นหน้าที่ของแม่อย่างเดียว แต่จะเปรียบเทียบเป็นแม่กับลูกต่อไปเพื่อความง่ายครับ ก็ขอให้เข้าใจว่าไม่ได้หมายถึงแค่แม่)

ครับ ผมกำลังชวนมาเรียนรู้ที่จะเลิกมองผู้ต้องขังว่าเป็นพวกเลวฝังรากแบบที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้ เลิกสนับสนุนเรือนจำให้เป็นนรกที่ลงทัณฑ์คนเหล่านี้ในทุกๆ ด้าน แล้วลองมาเรียนรู้วิธีการใหม่ๆ ที่ได้มีการริเริ่มไปแล้ว ได้ผลไปแล้ว และกำลังรอเวลาที่จะขยายผลออกไปให้กว้างขวางขึ้นกันดูบ้าง

ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

เริ่มกันด้วยการเปรียบเทียบแบบนามธรรมตามที่ยกตัวอย่างไป เราลองมามองกันแบบนี้ครับ เรือนจำคือมารดา กระบวนการยุติธรรมคือมดลูก ถ้ามองกันด้วยมุมมองแบบพุทธศาสนานี่คนเราก็ต้องไปทำกรรมอะไรสักอย่างใช่ไหมครับถึงต้องมาเกิดในครรภ์มารดาใดมารดาหนึ่ง ผู้ต้องขังก็แบบนั้นแหละครับ ทำกรรม ซึ่งกรรมที่ว่านี้คือกรรมตามหลักกฎหมาย ก็เลยต้องไปเกิดในมดลูกที่เรียกว่ากระบวนการยุติธรรม ทีนี้ ถ้าพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้วไม่ต้องโทษคุมขัง ก็ถือว่าแท้งไป (เป็นการแท้งแบบที่น่ายินดีใช่ไหมครับ) แต่ถ้าไม่ ก็คือต้องลืมตาดูโลกในอ้อมอกมารดาที่ชื่อว่าเรือนจำ

ทีนี้ ถ้ามีลูก หรือมีเด็กในปกครองที่ต้องดูแล โดยทั่วไปเราก็คงไม่หวังให้เด็กน้อยนั้นเติบโตไปเป็นองคุลีมาล 4.0 ที่ตัดนิ้วพระพุทธเจ้าแห่งยุค disruptive มาคล้องคอได้สำเร็จใช่ไหมครับ เราก็คงอยากให้เด็กน้อยเหล่านี้เติบโตไปเป็นคนที่ดูแลตัวเองได้ สามารถดำรงชีวิตได้โดยไม่เบียดเบียนใคร หรือก็คือหวังรวมๆ ว่าจะเติบโตไปเป็น “คนดี” ของสังคม

เวลาที่ต้องการแบบนั้นแล้วเราทำอย่างไรกับลูกหลานที่เป็นมนุษย์จริงๆ ของเราเอง รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตีนี่ล้าสมัยไปแล้วนะครับ การให้แรงเสริมทางลบหรือคือการลงโทษเพื่อให้ได้บทเรียนโดยใช้ความรุนแรงควรเป็นเรื่องสุดท้ายที่เราจะทำกับเรื่องแบบนี้ ท่องไว้ครับ นั่นลูก ไม่ใช่วัว กินข้าว ไม่ได้กินหญ้า จะมาตีๆ แล้วบอกว่าเจตนาดีเพื่อหวังให้เติบโตเป็นคนดีนี่รังแต่จะสร้างทั้งแผลกายและแผลใจ

เดี๋ยวนี้ก็เลยไม่ค่อยตีลูกให้ได้ดีกัน แต่เราก็ไปเน้นความสามารถในการอยู่ในสังคมใช่ไหมครับ ศีลธรรมจรรยาว่ากันไป แต่โดยรวมแล้วนั้น ทั้งหมดทั้งมวลที่เราให้กับเด็กคนหนึ่งที่อยู่ในความดูแลของเรานั้นก็คือภูมิคุ้มกันในด้านต่างๆ ใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มทางด้านสุขภาพ หรือภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิตก็ตาม ที่เราให้การศึกษา ให้การเลี้ยงดูที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ หรือต่อให้เกินความสามารถเราก็ยังพยายามทำให้ตัวเองสามารถให้ได้ ก็เพื่อให้เด็กๆ ในความดูแลของเราเติบโตไปอย่างมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงพอจะต้านทานโลกที่โหดร้ายนี้ได้ใช่หรือไม่

ดังนั้น หากเรามองเหล่าผู้ต้องขังทั้งหลายเป็นเด็กน้อยในอ้อมอกมารดาที่ชื่อว่าเรือนจำ เด็กน้อยเหล่านี้ก็ต้องการภูมิคุ้มกันต่างๆ เหมือนกัน ซึ่งก็เพื่อให้สามารถยืนหยัดได้ในวันที่ต้องออกไปเผชิญโลกอีกครั้งนั่นเอง

เพื่อการนั้น เด็กจริงๆ ตัวเป็นๆ ต้องการสิ่งใด เด็กน้อยๆ ในอุปมานี้ก็ต้องการสิ่งนั้นนั่นแหละครับ ความเคารพตนเองและผู้อื่น ความระลึกรู้ถึงคุณค่าชีวิตตัวเองและผู้อื่น การศึกษาที่เพียงพอ ทักษะอาชีพที่พอเพียง งานการที่มั่นคงพอจะเลี้ยงตัวเองรวมทั้งดูแลครอบครัวได้ ทั้งหลายทั้งปวงนี้นั้น จะเด็กจริงๆ หรือเด็กในอุปมานี้ก็ล้วนต้องการไม่ต่างกัน

และการจะทำเช่นนั้นได้ ผมคิดว่าทั้งผู้ต้องขัง เรือนจำ และสังคม ต้องเข้าสู่กระบวนการ learn-unlearn-relearn ไปด้วยกัน กล่าวคือ

ทั้งผู้ต้องขัง เรือนจำ และสังคม ต้องเรียนรู้สาเหตุของการกระทำผิดว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร มีปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดขึ้นบ้าง คือต้องเรียนรู้ร่วมกันว่าแม้สุดท้ายแล้วผู้ต้องขังจะเป็นผู้ตัดสินใจกระทำผิดกฎหมายในเรื่องต่างๆ แต่การกระทำผิดทั้งหลายนั้นมิได้อยู่ดีๆ ก็ปรากฏขึ้นจากความว่างเปล่า ทว่าล้วนมีสาเหตุที่มากกว่าแค่ความเป็นคนดีคนชั่ว เพราะแม้แต่การจะเป็นคนดีคนชั่วก็เป็นเรื่องที่มีเหตุปัจจัยต่างๆ เหนี่ยวนำมาเช่นกัน และบางครั้ง สาเหตุเหล่านั้นไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะหน้า แต่คือปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่สะสมมาตลอดชีวิต ครอบครัว การศึกษา ฐานะ ความสัมพันธ์กับสังคม เหล่านี้ล้วนมีผลกำหนดให้คนเราเป็นสิ่งต่างๆ ไปได้ในหลายทาง และการกลายเป็นผู้ต้องขังก็คือหนึ่งในหลายทางนั้น (learn)

เมื่อได้เรียนรู้เช่นนั้น ฝ่ายผู้ต้องขังก็ต้องเรียนรู้ต่อไปว่าที่ตัวเองทำลงไปนั้นผิด ไม่ว่าจะทำเพราะความจำเป็นเพียงใดก็เป็นสิ่งที่ผิด และต้องตั้งใจว่าจะไม่ทำเช่นนั้นอีก ไม่ว่าจำเป็นเพียงใดก็จะไม่ทำเช่นนั้น ขณะที่ฝั่งเรือนจำและสังคมจะต้องเรียนรู้ในแบบที่ต่างออกไปนิดหน่อย คือต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยต่างๆ ที่เป็นเหตุให้คนคนหนึ่งเดินทางมาสู่จุดที่กลายเป็นผู้ต้องขังได้ ต้องเข้าใจว่านี่เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้กับใครก็ตาม ให้วางเรื่องความดีความชั่วทั้งปวงไปเสีย มองผู้ต้องขังตรงหน้าเป็นคนพลั้งพลาดที่ควรได้รับโอกาสในการกลับตัว เลิกคิดว่าพวกเขาไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ เพราะความผิดที่พวกเขาก่อขึ้นอาจเกิดจากการระเบิดออกของความอดทนอดกลั้นตลอดชีวิตก็ได้ นอกจากนี้ เรือนจำและสังคมต้องเรียนรู้จากข้อมูลต่างๆ ที่มีการเผยแพร่กันอยู่เป็นการทั่วไปว่าการบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษที่รุนแรงนั้นไม่สามารถยับยั้งการเกิดขึ้นของอาชญากรรมได้ เรือนจำและสังคมต้องเลิกเชื่อว่าการยกระดับความรุนแรงของกฎหมายและบทลงโทษจะช่วยแก้ปัญหาอาชญากรรม เพราะที่ผ่านมาเราก็ทำเช่นนั้นมาตลอด แต่ก็ไม่เคยแก้ไขอะไรได้ (unlearn)

หลังจากนั้น ก็จะเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ใหม่ ที่ผู้ต้องขัง สังคม และเรือนจำ จะได้เรียนรู้ร่วมกันว่า คนที่ทำผิดจนต้องกลายมาเป็นผู้ต้องขังนั้นไม่จำเป็นจะต้องกลายเป็นผู้ที่อยู่ในห้วงของการกระทำผิดตลอดไป พวกเขาและเธอมีศักยภาพจะเป็นอะไรที่ดีกว่านี้ได้ หากได้รับการสนับสนุนส่งเสริมอย่างถูกต้อง (relearn)

ในกระบวนการ learn-unlearn-relearn ดังกล่าว ผมเห็นว่าขั้นตอนที่จะทำให้กระบวนการนี้สำเร็จเป็นรูปธรรมได้อย่างดีที่สุดก็คือขั้นตอนของการ relearn เพราะถ้าทำขั้นตอนนี้ไม่สำเร็จ การ learn และ relearn ที่ผ่านมาจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย

วางเรื่องทำดีอย่าหวังผลตอบแทนไปก่อนครับ ในกระบวนการเหล่านี้ เราต้องทำให้คนที่พลาดทำเรื่องไม่ดีมาเห็นว่า การทำดีก็ทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีได้เช่นกัน อันนี้คือการให้แรงเสริมทางบวกที่ธรรมดาที่สุด

ในการนี้ เรือนจำจึงกลายมาเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะดังที่อุปมาไว้ครับ บัดนี้เรือนจำไม่ใช่ที่คุมขังคนกระทำผิด แต่คือมารดาของทารกน้อยที่เรียกว่าผู้ต้องขัง ดังนั้น เรือนจำจึงจำเป็นต้องเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถออกไปเผชิญกับแรงปะทะของลมพายุที่โลกภายนอกได้ (ทางวัตถุนี่ก็ว่ากันตรงๆ ครับ ทำให้มีปัญญาหาเลี้ยงชีพอย่างสุจริตแล้วพอกินได้ คือถ้าคนเรารายได้ไม่พอกินไปนานๆ นี่ ผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าใจของท้องที่ต้องหิวอย่างต่อเนื่องยาวนานจะต้านทานแรงยั่วยวนของการกระทำผิดได้แค่ไหน)

(ทั้งหมดนี้คือกำลังผู้ถึงผู้ต้องขังที่กระทำผิดเพราะสภาพเศรษฐกิจบังคับเป็นหลักนะครับ หากกระทำด้วยสาเหตุอื่นๆ ก็คงต้องพูดแบบอื่น แต่ผมเชื่อว่ากระบวนการ learn-unlearn-relearn ก็น่าจะใช้ได้เช่นกัน)

ปัจจุบันมีเรือนจำหลายแห่งที่ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นก็เรียกได้ว่าผ่านกระบวนการ learn-unlearn-relearn มาแล้ว

ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือเรือนจำชั่วคราวดอยฮาง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรดอยฮาง โครงการกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา อันเป็นพื้นที่ในเรือนจำแห่งแรกที่ได้รับการเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

พูดง่ายๆ คือ เป็นเรือนจำที่คนทั่วไปเข้าไปเที่ยวได้นั่นแหละครับ โดยในเรือนจำชั่วคราวดอยฮางจะมีร้านกาแฟ Inspire by Princess ซึ่งเปิดให้บริการแก่ประชาชนเหมือนร้านแกแฟทั่วไป และให้บริการโดยผู้ต้องขังทั้งชายและหญิงของเรือนจำชั่วคราวดอยฮาง คือเป็นพื้นที่เรือนจำที่บุคคลภายนอกเข้ามาใช้บริการได้โดยไม่ต้องผ่านระเบียบขั้นตอนต่างๆ อย่างการเข้าเรือนจำตามปรกติ โดยเพียงผ่านประตูเรือนจำเข้ามาก็จะเห็นร้านกาแฟแห่งนี้เป็นอย่างแรกเลย ซึ่งนั่นหมายความว่า ณ ที่แห่งนี้ ผู้ต้องขังสามารถทำงานอย่างอิสระในพื้นที่ที่ใกล้กับการออกไปสู่โลกภายนอก และนั่นย่อมเป็นคนละเรื่องกับความรับรู้ (หรือจินตนาการ) โดยทั่วไปที่เรามีกันมาเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยในเรือนจำ

อนึ่ง จุดมุ่งหมายของร้านกาแฟในเรือนจำชั่วคราวดอยฮางนี้ไม่ใช่การขายกาแฟเป็นหลัก แต่คือการฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขัง และเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริง

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของเรือนจำที่เกิดกระบวนการ learn-unlearn-relearn ยังมีรายละเอียดอีกมาก แต่ผมจะขอยกยอดไปเล่าต่อในคราวหน้า หลังจากได้ไปเยี่ยมชมเรือนจำต่างๆ เพิ่มเติมในอีกไม่กี่วันนี้ครับ