ณัฐเมธี สัยเวช
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2560 สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดการประชุมตามโครงการส่งเสริมพลังอำนาจ “ผู้ตัดสิน” และ “ผู้ถูกตัดสิน” ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งวิทยากรท่านหนึ่งในการประชุมดังกล่าวนั้นก็คือ คุณพัทธ์อิทธิ์ จินต์วุฒิ อดีตผู้ต้องขังที่เคยต้องโทษประหารชีวิต
พ.ศ. 2545 คุณพัทธ์อิทธิ์เป็นคนหนุ่มอนาคตไกลทายาทกิจการโรงแรมในจังหวัดพิษณุโลกผู้ตกเป็นผู้กล่าวหาในคดีจ้างวานฆ่า ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความผิดจริง จึงตัดสินให้ประหารชีวิต ทำให้คุณพัทธ์อิทธิ์ต้องเดินทางเข้าสู่โลกอีกใบในทันที จากหนุ่มนักเรียนนอกที่กลับมากอบกู้กิจการทางบ้านให้ฟื้นคืนจากพิษวิกฤติต้มยำกุ้ง เพลย์บอยเลือดร้อนผู้ work hard, play hard คำพิพากษาครั้งนั้นทำให้อิสรภาพของเขากลายเป็นเพียงความทรงจำกึ่งความฝัน ทั้งที่เขามั่นใจในความบริสุทธิ์ของตัวเองอย่างเต็มที่ ถึงขนาดยืนยันกับทางครอบครัวอย่างเต็มที่ว่าอย่าทำการ “วิ่งเต้น” ในรูปแบบใดๆ ทั้งที่ทางบ้านนั้นสามารถทำได้ด้วยกำลังทรัพย์สินและสายสัมพันธ์ที่มี
หลังจากมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจนต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ คุณพัทธ์อิทธิ์ยังคงยืนยันจะสู้ต่อเพราะเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตัวเอง แต่ศาลอุทธรณ์ก็ทำลายความเชื่อมั่นของเขาอีกครั้ง รวมทั้งบ่อนเซาะกัดกินศรัทธาอันโลกนี้บอกให้คนมีต่อความดียิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการพิพากษายืนตามการตัดสินของศาลชั้นต้น
แต่แม้จะต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำนานถึงสี่ปี หนึ่งเดือน ยี่สิบเจ็ดวัน และมีโซ่ตรวนล่ามข้อเท้าตลอดเวลาเช่นเดียวกับนักโทษประหารคนอื่นๆ ในสมัยนั้น ในที่สุด ศาลฎีกาก็กลับคำพิพากษา ตัดสินว่าคุณพัทธ์อิทธิ์ไม่มีความผิด ทำให้เขาได้กลับมาสัมผัสกับอิสรภาพอีกครั้ง
ทว่า แม้การตกเป็นผู้ต้องขังได้ทำให้ทัศนคติชีวิตของคุณพัทธ์อิทธิ์เปลี่ยนแปลงไป แต่มันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะแบบที่สังคมเชื่อว่าการให้คนเราเข้าไปใช้ชีวิตแย่ๆ อยู่ในเรือนจำจะทำให้คนเรากลับตัวกลับใจ คุณพัทธ์อิทธิ์บอกในรายการเจาะใจว่าสำหรับเขาในตอนนั้น การเข้าไปอยู่ในเรือนจำทำให้มีสภาพเหมือน “พยัคฆ์ติดปีก” ความใจร้อนของตนยังคงเดิม เพิ่มเติมคือใจร้อนอย่างไรให้รอดพ้นเงื้อมมือของกฎหมาย ตัวอย่างของ “ปีก” ที่คุณพัทธ์อิทธิ์ยกมาในรายการเดียวกันนั้นคือความรู้ว่าจะฆ่าคนอย่างไรไม่ให้กฎหมายเอาเรื่องได้ และในการประชุม เขายังเปิดเผยถึงความคิดเมื่อตอนที่ได้รับอิสรภาพว่ายังมีความต้องการจะไป “เอาคืน” คนอีกสี่คนที่ทำให้เขาต้องเข้าไปเผชิญชีวิตในเรือนจำ ซึ่งเมื่อได้ฟังเช่นนี้แล้ว ก็คงไม่เกินไปนักหากจะสรุปว่า วิธีคิดแบบที่เราใช้ในการดำเนินงานในคุกแบบที่เป็นที่อยู่ ไม่ได้ให้ผลดังที่เราเชื่อมั่นและคาดหวังกัน ทั้งยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้หนักหนากว่าเดิมด้วย
บางคนอาจรู้สึกเห็นแย้งว่า ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะคุณพัทอิทธิ์นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดี นั่นก็คงเป็นส่วนหนึ่ง แต่จากการที่ได้ฟังเขาเล่าทั้งหมดในการประชุมนั้น คุณพัทธ์อิทธิ์ยืนยันว่าการปฏิบัติกับผู้ต้องขังในเรือนจำเหมือน “เป็นของเหลือจากสังคม” ดังที่ใช้กันอยู่นั้นไม่มีทางจะทำให้คนกลับตัวกลับใจได้ มิหนำซ้ำจะยิ่งทำให้คนมีความโกรธแค้นมากขึ้นไปอีก
คุณพัทธ์อิทธิ์เห็นในสิ่งที่เราอาจสรุปเป็นคำพูดได้ว่าในเรือนจำนั้นไม่มีกระบวนการทางจิตใจและความคิดที่จะทำให้ผู้ต้องขังได้เข้าใจว่าที่ตนเองทำนั้นผิดจริงๆ ทั้งยังมีลักษณะการอยู่กันอย่างกดขี่เป็นลำดับขั้น จนเขาต้องตั้งคำถามว่าแล้วผู้ต้องขังที่ตกอยู่ในสภาพแบบนั้นจะกลับคืนสู่สังคมด้วยความรู้สึกอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องการจ้างงานภายในเรือนจำ โดยคุณพัทธ์อิทธิ์ ยกตัวอย่างเรื่องการตัดผ้าเย็บผ้า ที่ผู้ต้องขังจะได้รับค่าตอบแทนวันละ 3-5 บาท หรือแม้การอบรมฝึกอาชีพต่างๆ ที่แม้จะมีอยู่จริงแต่เมื่อพ้นโทษออกมาแล้วสังคมก็ยังคงไม่ให้โอกาสกับอดีตผู้ต้องขัง ก็ทำให้ต้องวนเวียนกลับไปอยู่ในวงจรของการกระทำผิดซ้ำในที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เรือนจำไม่สามารถคืนคนดีสู่สังคมได้ดังที่มักกล่าวกัน เพราะยิ่งปฏิบัติเหมือนผู้ต้องขัง “ไม่ใช่คน” เขาก็ยิ่งไม่เห็นคุณค่าของการเป็นคนดี
“ในทางกฎหมายแล้ว
การถูกส่งไปอยู่ในคุกนั้นเป็นคนละเรื่องกับการให้ไปอยู่ในคุกแย่ๆ เพื่อให้คุณทุกข์ทรมาน
การลงโทษก็คือการที่คุณต้องสูญเสียอิสรภาพ
ถ้าเราปฏิบัติต่อผู้คนในตอนที่อยู่ในคุกเยี่ยงสัตว์ พวกเขาก็จะประพฤติตนอย่างสัตว์
แต่ที่นี่เราให้ความใส่ใจแก่คุณในฐานะสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน”อาร์น ควาร์นวิก นีลเซน (Arne Kvernvik Nilsen)
ผู้ปกครองแห่งคุกบาสเตย (Bastøy) ประเทศนอร์เวย์
ที่มา: https://goo.gl/XTnxbg
นอกจากนี้ จากกรณีของตนเอง คุณพัทธ์อิทธิ์ยังได้แสดงความเห็นใจผู้พิพากษา ทว่าก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงข้อจำกัด หรือกระทั่งจุดอ่อนที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม นั่นก็คือการที่ผู้พิพากษานั้นจะพิพากษาโดยตัดสินจากสำนวนคดีที่ได้รับมาเป็นหลักใหญ่ จนทำให้เกิดผลเป็นการพิพากษาที่ผิดพลาดไม่ตรงกับความเป็นจริงได้
ในตอนหนึ่ง คุณพัทธ์อิทธิ์บอกว่าตนนั้นโชคดีกว่าผู้ต้องขังหลายๆ คน เพราะตนนั้นพ้นโทษออกมาแล้วก็ยังมีที่ไป มีบ้านอยู่ มีงานทำ ยังคงมีครอบครัว ในขณะที่ผู้ต้องขังบางราย เช่น ชาวเขารายหนึ่งที่คุณพัทอิทธิ์ยกตัวอย่างนั้น ครอบครัวแตกสลายกระจัดกระจายกันไปตั้งแต่ตอนที่ตนเองยังต้องโทษ และเมื่อพ้นโทษไปแล้วก็ไม่รู้ว่าชีวิตของเขาจะเป็นเช่นไรต่อไป
ซึ่งจากเรื่องราวดังกล่าว สามารถสรุปประเด็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่มีปลายทางเป็นเรือนจำได้ดังนี้
- ก่อนการคุมขัง: ในขั้นตอนของกระบวนการพิจารณาเพื่อพิพากษาตัดสินว่ามีความผิดจริงหรือไม่นั้น ยังมีช่องว่างระหว่างผู้พิพากษากับหลักฐานและพยานในคดีอยู่มาก กล่าวคือยังเป็นการทำงานอย่างแยกส่วนกันระหว่างผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ที่ทำการสืบสวนสอบสวนสำนวนคดี และช่องว่างนี้สามารถทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการพิจารณาพิพากษาจนอาจนำไปสู่ผลการตัดสินที่ผิดพลาดได้ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ นางพิมลรัตน์ วรรธนะหทัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ได้ยกตัวอย่างแนวทางของประเทศฝรั่งเศส ที่ผู้พิพากษาสามารถลงไปสืบคดีเองได้ และมีการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ในภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในคดีอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะสามารถช่วยอุดช่องว่างดังกล่าวได้
- ระหว่างการคุมขัง: แม้ไม่ได้กล่าวออกมาโดยชัดเจน แต่เห็นได้ว่าทุกสิ่งที่คุณพัทธ์อิทธิ์กล่าวนั้นล้วนมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ “สิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขัง” ซึ่งเรื่องราวของคุณพัทธ์อิทธิ์นั้นเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างอันเป็นรูปธรรม ที่แสดงถึงปัญหาความไร้ประสิทธิภาพในการฟื้นฟูผู้กระทำผิดกลับคืนสู่สังคม โดยเป็นผลจากการที่มุ่งใช้การลดทอนความเป็นมนุษย์ให้เกิดความหลาบจำ มากกว่าจะส่งเสริมความเป็นมนุษย์เพื่อให้เห็นคุณค่าทั้งต่อชีวิตตนเองและผู้อื่น ดังที่คุณพัทธ์อิทธิ์บอกว่าการทำเช่นนั้นก็ยิ่งทำให้คนไม่เห็นคุณค่าของการเป็นคนดี
- หลังพ้นจากการคุมขัง: ปัญหาสำคัญของที่ผู้ต้องขังซึ่งพ้นโทษไปแล้วต้องเผชิญก็คือ “การขาดโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่” ซึ่งการขาดโอกาสนี้อาจสรุปสาเหตุได้ 3 ประการ คือ 1. สังคมไม่ยอมรับ 2. ทักษะที่ได้รับการฝึกอบรมมาจากในเรือนจำนั้นไม่เพียงพอต่อการนำไปตั้งต้นชีวิตใหม่ หรือไม่ตรงกับความต้องการของตลาด 3. ไม่มีหนทาง ไม่มีความรู้ ว่าตนเองควรจะต้องไปเริ่มต้นที่ไหน ซึ่งสาเหตุ 3 ประการนี้นั้นมักทำงานผสมปนเปกันไปมา ในกรณีเช่นนี้นั้น มีตัวอย่างที่น่าสนใจในประเทศญี่ปุ่น ที่นายอิซาโอะ โซเอจิมะ ได้ร่วมกับอดีตผู้ต้องขังอย่างอาสึชิ ทาคายามะ ก่อตั้ง Human Harbor Corporationก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2545 Human Harbor Corporation เป็นกิจการเพื่อสังคมที่ทำหน้าที่รวบรวมและกำจัดขยะจากอุตสาหกรรม เกิดจากความปรารถนาของนายโซเอจิมะที่ต้องการจะแก้ไขปัญหาให้เหล่าอดีตผู้ต้องขัง ที่ต้องประสบปัญหาความยากลำบากในการหางานทำหลังจากพ้นโทษออกมาจากเรือนจำ
สำหรับคุณพัทธ์อิทธิ์นั้น สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ทำให้ตนเองคิดได้ จนนำมาสู่การให้อภัย และเปลี่ยนตัวเองจากหนุ่มเพลย์บอยเลือดร้อนไปเป็นผู้ก่อตั้งสถานปฏิบัติธรรม ก็คือธรรมะ แต่คุณพัทธ์อิทธิ์ก็บอกว่าธรรมะนั้นมีลักษณะ 360 องศา คือไม่ใช่เรื่องที่พูดกับทุกคนแบบเดียวกันแล้วทุกคนจะเข้าใจไปในทางเดียวกัน ส่วนตัวของคุณพัทธ์อิทธิ์นั้นเห็นว่าตนเองนั้นพบกับธรรมะอย่างถูกจังหวะเวลาจึงสามารถเปลี่ยนแปลงมาเป็นเช่นนี้ได้ ซึ่งนัยตรงนี้นั้นเราสามารถมองต่อไปได้ว่า การจะนำธรรมะมาเป็นหลักในการแก้ไขปัญหาใดๆ หรือในกรณีนี้คือการแก้ปัญหาเกี่ยวกับผู้ต้องขังล้นคุกนั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องที่จะทำกว้างๆ
ในภาพรวมอย่างการนำเสื้อไซส์เดียวไปสวมให้แก่คนทุกคน หากแต่เป็นเรื่องของการตัดเสื้อให้พอดีกับขนาดตัวของผู้สวมใส่ หรือก็คือนอกจากจะใช้ธรรมะให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลแล้ว เรายังจะใช้ธรรมะแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ หากแต่ต้องทำร่วมกันไปกับมาตรการอื่นๆ ด้วย ซึ่งในกรณีนี้ มาตรการอื่นๆ ที่ว่าก็คงเป็นการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวไปแล้วนั่นเอง