ThaiPublica > เกาะกระแส > อียู ปลด “ใบเหลือง” ประมงไทย “ฉัตรชัย” เตรียมเสนอนโยบายประมง IUU เข้าที่ประชุมอาเซียน เม.ย. นี้

อียู ปลด “ใบเหลือง” ประมงไทย “ฉัตรชัย” เตรียมเสนอนโยบายประมง IUU เข้าที่ประชุมอาเซียน เม.ย. นี้

9 มกราคม 2019


พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และนายเคอเมนู เวลลา (Mr.Karmenu Vella) กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง (European Commissioner for Environment, Maritime Affairs, and Fisheries)

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ณ สำนักงานใหญ่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังนายเคอเมนู เวลลา (Mr.Karmenu Vella) กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง (European Commissioner for Environment, Maritime Affairs, and Fisheries) ประกาศแถลงการณ์ผลการพิจารณาปลดใบเหลืองประมง IUU ของประเทศไทย ซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้รับการพิจารณาในครั้งนี้หลังจากถูกแจ้งเตือนและติดใบเหลืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558

  • เบื้องหลังใบเหลืองประมงไทย “ข้อชี้แจงเดิมๆปัญหาการขึ้นทะเบียนเรือ – หน่วยงานลับอียูตรวจพบไทย”ผักชีโรยหน้า”
  • พล.อ. ฉัตรชัย กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและความสำเร็จที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันพยายามแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU มาโดยตลอด เนื่องจากตลอดช่วงเวลาเกือบ 4 ปี นับตั้งแต่ไทยได้ใบเหลืองเมื่อเดือนเมษายน 2558 ไทยได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU จนมีผลเป็นรูปธรรมอย่างครอบคลุมทั้งในด้านกรอบกฎหมาย การบริหารจัดการประมง การบริหารจัดการกองเรือ การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) การตรวจสอบย้อนกลับ และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งทำให้ไทยสามารถแสดงความรับผิดชอบและบทบาททั้งในฐานะรัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่ง รัฐเจ้าของท่า และรัฐตลาด ในระดับของมาตรฐานสากล ส่งผลให้สหภาพยุโรปปลดใบเหลืองให้ไทย ซึ่งสะท้อนความสำเร็จที่ไทยได้ยกระดับของการทำประมงเชิงพาณิชย์ ทั้งในและนอกน่านน้ำเข้าสู่มาตรฐานสากล และพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค

    “จากนี้ไปรัฐบาลไทยก็ยังมีความมุ่งมั่นทางการเมืองที่แน่วแน่และชัดเจน ที่จะขจัดปัญหาการทำประมง IUU เพราะตระหนักดีถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่ออนุชนรุ่นหลัง มิใช่เฉพาะแต่ของไทยแต่ของโลกโดยรวม ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาประมง IUU ได้ถูกกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ผมมากำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และเชื่อมั่นว่าไทยได้วางรากฐานระบบป้องกันการทำประมง IUU ไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว ประกอบด้วย 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. ด้านกฎหมาย 2. ด้านการบริหารจัดการประมง 3. ด้านการบริหารจัดการกองเรือ 4 ด้านการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) 5. ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ และ 6. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย” พล.อ. ฉัตรชัย กล่าว

    มาตรการของสหภาพยุโรปในการควบคุมการนำเข้า-ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์ประมงที่เกิดจากการทำประมง IUU ที่มา: สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

    อย่างไรก็ตาม การดำเนินการระยะต่อไปหลังการเจรจาระดับทวิภาคีร่วมกับนายเคอเมนู เวลลา ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันเกี่ยวกับแผนงานความร่วมมือในอนาคตกับสหภาพยุโรป เพื่อให้ไทยบรรลุการเป็นประเทศปลอดประมง IUU หรือ IUU-free ได้โดยสมบูรณ์ต่อไป รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU ร่วมกันด้วย ประกอบด้วย 3 แผนหลัก ได้แก่

    • การจัดตั้งคณะทำงานไทย-สหภาพยุโรปเรื่องการต่อต้านการทำประมง IUU โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้การมีจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเป็นกลไกร่วมมือในการส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง
    • การจัดตั้งคณะทำงานร่วมอาเซียนเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมง IUU หรือ ASEAN IUU Task Force เนื่องจากประสบการณ์การแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU ที่ไทยสั่งสมเกือบตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ไทยพร้อมที่จะร่วมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศอื่นๆ ที่ประสบปัญหาเดียวกัน โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน

    “ในโอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ จึงมีแนวคิดหลักที่จะส่งเสริมหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืนด้วย โดยไทยได้เสนอที่จะผลักดันการจัดทำนโยบายประมงอาเซียน (ASEAN General Fisheries Policy) ให้มีผลเป็นรูปธรรม รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานร่วมอาเซียน เพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมง IUU และเป็นกลไกการป้องกันการทำประมง IUU ของภูมิภาคด้วย โดยนายกรัฐมนตรีก็ได้แถลงให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทราบถึงความมุ่งมั่นของไทยในเรื่องนี้แล้ว ในการประชุมสุดอาเซียนครั้งที่ 33 เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งไทยกำลังเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ASEAN IUU Workshop ในช่วงเดือนเมษายน 2562 เพื่อผลักดันการจัดตั้ง ASEAN IUU Task Force และขอขอบคุณสหภาพยุโรปที่พร้อมจะสนับสนุนด้านงบประมาณสำหรับการจัดประชุมฯ ด้วย” พล.อ. ฉัตรชัย กล่าว

    • การส่งเสริมการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมง IUU หรือ IUU-free Thailand ตามที่ไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมง IUU และได้เชิญผู้แทนอียูเข้าร่วมประชุม เมื่อเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งทางอียูได้มอบหมายให้นายโรแบร์โต เซซารี (Roberto Cesari) หัวหน้าฝ่ายนโยบาย IUU ของกระทรวงกิจการทางทะเลและประมง (DG MARE) เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพื่อนำเสนอการดำเนินงานด้านการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของสหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นหนึ่งในแนวทางที่ไทยจะศึกษาเพื่อใช้ในการพัฒนาแผนงานการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของไทย และนำไปสู่ IUU-freeThailand ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นต่อไป

    “ความร่วมมือระหว่างไทย-สหภาพยุโรปที่ผ่านมา โดยเฉพาะข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีของการทำประมงที่ยั่งยืนที่ให้แก่ไทยมาโดยตลอด และส่งผลต่อความสำเร็จของไทยในวันนี้ สะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปต่อไป ขณะเดียวกัน ยังแสดงถึงความพร้อมของไทยที่จะมีบทบาทนำในการส่งเสริมความยั่งยืนทางทะเลในทุกมิติในระดับภูมิภาคและในเวทีระหว่างประเทศ ด้วยความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับสหภาพยุโรปด้วย” พล.อ. ฉัตรชัย กล่าว

    ด้านนายนายเคอเมนูระบุว่า “เป็นความยินดีของผมที่เป็นเจ้าภาพต้อนรับ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เรามาที่นี่ ณ วันนี้ เพื่อหารือความสัมพันธ์ด้านประมงระหว่างไทยและสหภาพยุโรป ความสัมพันธ์นี้แน่นอนว่าอยู่ในบริบทของการต่อต้านการทำประมง IUU ประเด็นแรกที่ผมจะกล่าวถึงคือ ความสัมพันธ์ของเรามีระยะยาวนาน สหภาพยุโรปเป็นผู้นำในระดับสากลในการต่อต้านการทำประมง IUU และระบบของเราเป็นตัวอย่างที่ทันสมัยในการใช้การเข้าถึงตลาดเป็นข้อต่อรองเพื่อนำมาสู่มาตรฐานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น หากการทำประมงผิดกฎหมายเป็นสิ่งที่แพร่หลายในประเทศต่างๆ จะมีการออกใบเหลือง โดยจะให้เวลาในการพัฒนามาตรฐานเพื่อหลีกเลี่ยงใบแดง ซึ่งจะเป็นการหยุดการเข้าถึงตลาดสหภาพยุโรป

    ในเดือนเมษายน 2558 สหภาพยุโรปได้เตือนไทยว่า ไทยมิได้ดำเนินการเพียงพอสำหรับการต่อต้านการทำประมง IUU ไทยได้รับใบเหลือง ผมยินดีที่จะประกาศวันนี้ว่า สหภาพยุโรปได้ตัดสินใจที่ปลดใบเหลืองนั้น และผมยินดีที่จะมอบผลการตัดสินใจนั้นโดยตรงต่อรองนายกรัฐมนตรี เราได้ตัดสินใจปลดใบเหลือง เพราะไทยได้ดำเนินการด้านกฎหมายและด้านปกครอง ตรงตามข้อบังคับสากลในการต่อต้านการทำประมง IUU

    “นี่อาจจะฟังดูไม่น่าสนใจ แต่ผมยืนยันว่า นี่เป็นผลของการทำงานอย่างหนักและตรงไปตรงมา อย่างที่ทุกท่านทราบ นโยบายด้าน IUU ไม่ได้เกี่ยวกับการลงโทษประเทศต่างๆ แต่เกี่ยวกับความร่วมมือ โดยในระยะสามปีครึ่งที่ผ่านมา เราได้ทำงานร่วมกันอย่างหนักร่วมกับเจ้าหน้าที่ของไทย เพื่อทำให้การปฏิรูปการประมงของไทยเสร็จสมบูรณ์ รวมถึงการยกเครื่องกรอบกฎหมาย การยกเครื่องนี้นำไปสู่การพัฒนากติกาด้านการตรวจสอบย้อนกลับและเครื่องมือการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง รวมถึงการจัดการกองเรือ”

    นอกจากนี้ ไทยยังได้พัฒนาความเข้มแข็งด้านการควบคุมเรือประมงต่างชาติที่เข้ามาที่ท่าเรือของไทย โดยได้พัฒนาความร่วมมือกับรัฐเจ้าของธงในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก และได้ปฏิบัติตามระเบียบแห่งรัฐเจ้าท่า ของ FAO ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อต้านการทำประมง IUU ในระดับสากล ซึ่งสหภาพยุโรปและไทยได้ร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้นในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และสภาพการทำงานของแรงงานภาคประมง

    “ผมขอเน้นย้ำถึงความก้าวหน้าในประเด็นนี้ โดยเฉพาะการเข้าเป็นภาคี ILO Convention C188 และขอแสดงความยินดีกับท่านรองนายกรัฐมนตรี สำหรับความเป็นผู้นำและความมุ่งมั่นของท่านในการทำให้การปฏิรูปนี้เป็นไปได้”

    ทั้งนี้ สหภาพยุโรปและไทยได้ทำหลายอย่างสำเร็จด้วยกันและการทำงานร่วมกันมิได้จบเท่านี้ เราจะจัดตั้งคณะทำงานที่จะช่วยเราฝ่าฟันความท้าทายอื่นๆ ในการต่อต้านการทำประมง IUU ซึ่งเรายังมีแผนอันท้าทายที่จะลดช่องว่างในการต่อต้านการทำประมง IUU ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามีความมั่นใจในประเทศไทยซึ่งจะเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ว่าจะแสดงบทบาทเป็นผู้นำในการทำให้ประเทศเพื่อนบ้านของไทยเข้าสู่การปฏิรูปในลักษณะเดียวกัน

    การตัดสินใจในวันนี้แสดงถึงความสำคัญของความร่วมมือที่จะนำมาสู่ความสำเร็จ เมื่อจำเป็นต้องบริหารจัดการทรัพยากรส่วนรวมและฝ่าฟันความท้าทายระดับสากล นี่คือเหตุผลว่าทำไมการต่อต้านการทำประมง IUU ยังจะเป็นวาระสำคัญด้านสมุทรภิบาลที่สหภาพยุโรปได้ประกาศไปเมื่อสองปีก่อน

    “ผมขอแสดงความยินดีกับประเทศไทยและเชิญให้ทุกท่านเข้าร่วมการต่อต้านการทำประมง IUU ในระดับสากล ผมขอขอบคุณรองนายกรัฐมนตรี พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ สำหรับการ เยี่ยมเยือนบรัสเซลส์ เราจะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ในการต่อต้านการทำประมง IUU”