เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 กรมประมงได้จัดงานพบสื่อมวลชน (Meet The Press) “ประมง…เปิดใจหลังปลดใบเหลืองไอยูยู” ภายหลังกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง (European Commissioner for Environment, Maritime Affairs, and Fisheries) ของสหภาพยุโรป หรืออียู ประกาศแถลงการณ์ผลการพิจารณาปลดใบเหลืองประมง IUU ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562
อียู ปลด “ใบเหลือง” ประมงไทย “ฉัตรชัย” เตรียมเสนอนโยบายประมง IUU เข้าที่ประชุมอาเซียน เม.ย. นี้
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดี กรมประมง กล่าวว่า การปลดธงเหลืองภาพรวมเป็นเรื่องที่น่ายินดี แม้ว่าอาจจะมีประเด็นที่หลายคนมองว่ารัฐบาลมีเป้าหมายและพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อปลดธงเหลือง แต่ในความเป็นจริงใบเหลืองเป็นการแจ้งเตือนที่ให้ไทยปรับปรุงแก้ไขปัญหาการประมงที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่การลงโทษแต่อย่างใด ดังนั้นเป้าหมายที่แท้จริงของรัฐบาลจึงเป็นการสร้างอุตสาหกรรมการประมงอย่างยั่งยืนในประเทศไทยมากกว่าการเน้นทำทุกอย่างเพื่อปลดใบเหลือง อย่างไรก็ตาม การปลดใบเหลืองได้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาถือเป็นการยืนยันว่าไทยดำเนินนโยบายมาถูกทางแล้ว
นอกจากนี้ การทำงานในช่วงที่ผ่านเรียกว่ากรมฯ ได้หารือและทำงานรวมกับชาวประมงและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมงอย่างใกล้ชิด ซึ่งแน่นอนว่าหลายมาตรการอาจจะส่งผลกระทบและเป็นต้นทุนต่อบางกลุ่มที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ได้มาตรฐาน แต่หากดูข้อมูลและเสียงของชาวประมงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าทรัพยากรทางทะเลลดลงไปค่อนข้างมาก แต่เมื่อเริ่มดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างจริงจัง เช่น การควบคุมและตรวจสอบปริมาณการจับปลา กลับพบว่าวันนี้ทรัพยากรทางทะเลได้เริ่มฟื้นฟูกลับมา ปลาที่จับได้มีขนาดใหญ่ขึ้น พันธุ์ปลาบางชนิดที่หายไปเริ่มทยอยกลับมาอีกครั้ง ซึ่งสะท้อนถึงความยั่งยืนของอุตสาหกรรมประมงของไทยที่กลับมาอีกครั้ง และในระยะยาวจะสามารถรักษาไว้สำหรับลูกหลานในอนาคตได้
“ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเห็นในอนาคต เราเริ่มเห็นทรัพยากรทางทะเลฟื้นฟูกลับมามากขึ้น ปลาใหญ่ขึ้น หลากหลายขึ้น แล้วพอธงเหลืองถูกปลดไปการส่งออกสัตว์น้ำก็น่าจะเพิ่มขึ้น แม้ว่าธงเหลืองจะไม่ได้เป็นการแบนการนำเข้าสินค้าของเรา แต่ทำให้ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมประมงไทยไม่ค่อยดี ในหลายประเทศที่ใส่ใจเรื่องเหล่านี้ก็มีการกดดันบริษัทเอกชนจากทางผู้บริโภคหรือผู้ถือหุ้นว่าทำไมถึงสนับสนุนเรื่องแบบนี้ แต่พอธงถูกปลดออกไปภาพลักษณ์เครดิตก็จะดีมากขึ้น แต่ถามว่าจะเพิ่มแค่ไหนคงตอบยาก เพราะการค้ามันก็มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ธงเหลืองเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น”
ส่วนแนวทางในระยะต่อไป กรมฯ พิจารณาว่าอาจจะต้องปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่มีอยู่ให้ยืดหยุ่นมากขึ้นตามสถานการณ์ โดยอาศัยหลักวิชาการและเหตุผลเป็นตัวรองรับ เช่น เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ผิดกฎหมายก็ต้องควบคุมไม่ให้ใช้อย่างเข้มงวด หากมีเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาก็ต้องทดสอบผลกระทบจากการใช้ในด้านต่างๆ หรือปริมาณการจับปลาหากบางมีมากขึ้นจากเดิม กรมฯ ก็จะพิจารณาเพิ่มปริมาณการจับได้ เป็นต้น นอกจากนี้ กรมฯมีแนวคิดจะพิจารณาเจรจากับประเทศปาปัวนิวกินีและเมียนมา เพื่อส่งเสริมให้มีการเข้าไปจับสัตว์น้ำนอกน่านน้ำไทย หลังจากช่วงที่ผ่านมาได้ยกเลิกไป
ขณะที่การขึ้นทะเบียนประมงพื้นบ้าน เบื้องต้นกำลังหารือถึงแนวทางที่เป็นไปได้และสร้างต้นทุนให้กับชาวประมงให้น้อยที่สุด เนื่องจากมีจำนวนมากถึงประมาณ 27,000 ลำ และหลายลำอยู่ห่างไกลจากท่าเรือหลักหรือตัวจังหวัด อย่างไรก็ตาม ประมงพื้นบ้านในปัจจุบันถือว่าอยู่ในกลุ่มที่ไม่ต้องกำกับดูแลเข้มงวดนัก และมีอิสระในการทำประมงพอสมควร เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีผลกระทบน้อยเมื่อเทียบกับเรือประมงประสิทธิภาพสูง และสุดท้าย กรมฯ มีแนวคิดจะจัดตั้งกองทุนพัฒนาการประมง เพื่อสนับสนุนดูและหรือเยียวยาชาวประมงจากสถานการณ์ต่างๆ ในทุกกลุ่มของอุตสาหกรรม ตั้งแต่ประมงพื้นฐาน ประมงเชิงพาณิชย์ และการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปช่วงสิ้นเดือนมกราคมนี้ก่อนนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบ
นอกจากนี้ กรมฯ จะทยอยปรับปรุงการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชน เช่น ของเดิมที่ต้องใช้เอกสารการขึ้นทะเบียนหรือขออนุญาตค่อนข้างมากอาจจะลดลงเหลือเพียงเอกสารขออนุญาตแจ้งเข้าออก และเลิกเรียกขอเอกสารที่มีอยู่แล้ว ยกเว้นจะมีการเปลี่ยนแปลงจึงค่อยแจ้งมาอีกครั้ง และการยื่นเอกสารจะพัฒนาให้เป็นระบบดิจิทัล จากเดิมที่ต้องมายื่นเอกสารเป็นกระดาษ ซึ่งบางครั้งต้องใช้เอกสารจำนวนมาก