เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 ระบุว่า …สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้ไว้ ณ วันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 และมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
-
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562”
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไป
มาตรา 4 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 267 (1) (2) (3) และ (4) มีผลใช้บังคับแล้ว สมควรกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
ในวันเดียวกันนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการกกต.ว่า ขณะนี้พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป มีผลบังคับใช้แล้ว กกต.จึงประชุมและมีมติเสียงข้างมากกำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค. เป็นวันเลือกตั้ง และในวันที่ 28 ม.ค.-19 ก.พ. เป็นวันเปิดให้ผู้ที่ประสงค์จะใช้สิทธิล่วงหน้าในและนอกเขตเลือกตั้ง รวมถึงการใช้สิทธินอกราชอาณาจักร ได้ลงทะเบียน โดยสามารถยื่นคำขอผ่านนายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่น สถานเอกอัครราชทูต ผ่านช่องทางไปรษณีย์หรืออินเตอร์เน็ต
วันที่ 4 -8 ก.พ. เป็นวันรับสมัครส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ พร้อมบัญชีผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี โดยแบบแบ่งเขตเลือกตั้งผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขต จะเป็นผู้ประกาศกำหนดภายใน 3 วัน ภายหลังกกต.ประกาศวันเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษาหรือในวันพรุ่งนี้ (24 ม.ค.) ส่วนสถานที่รับสมัครแบบบัญชีรายชื่อให้ยื่นได้ที่สำนักงานกกต. จากนั้นในวันที่ 4-16 มี.ค.จะเป็นวันออกเสียงเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร วันที่ 17 มี.ค. เป็นวันออกเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าในและนอกเขตจังหวัด รวมถึงการออกเสียงเลือกตั้งในสถานเลือกตั้งกลางของผู้ทุพลภาพ และผู้สูงอายุ
นายอิทธิพร กล่าวถึงเหตุผลในการกำหนดวันที่ 24 มี.ค.เป็นวันเลือกตั้งว่า กกต.มองทุกปัจจัยที่จะเกิดขึ้นหลังมีพ.ร.ฎ.ฯ โดยเฉพาะการต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า การหาเสียง ซึ่งเดิมเรากำหนดระยะเวลาไว้ 52 วัน ก็อยากให้ประโยชน์ตกแก่ประชาชนและพรรคการเมือง เพราะถ้าจะเลือกวันที่ 10 มี.ค. ก็จะกระชั้นเกินไปหรือไม่ อีกทั้งการกำหนดวันที่ 24 มี.ค. ยังทำให้พรรคการเมืองที่ยังตั้งสาขาและตัวแทนประจำจังหวัดไม่ครบ ๆ มีเวลาดำเนินการ เท่ากันได้ผ่อนคลายได้มากกว่าวันอื่นๆ
ประธานกกต. กล่าวถึงการตีความกรอบเวลา 150 วันรวมถึงการประกาศรับรองผลเลือกตั้งหรือไม่ ว่า กกต.เคยคุยกันแล้ว ถ้ามีความจำเป็นกกต.ต้องคุยกันและมีมติที่ชัดเจน แต่ขณะนี้เรามุ่งเน้นในเรื่องเตรียมการเลือกตั้งให้เรียบร้อย และประกาศผลให้เร็ว แม้กฎหมายจะกำหนดให้ประกาศรับรองผลภายใน 60 วัน แต่ถ้าเราทำได้การเลือกตั้งให้เรียบร้อย ก็ประกาศผลได้ก่อน ไม่จำเป็นต้องรอถึง 60 วัน
เมื่อถามว่ากรณีว่าที่ผู้สมัครติดป้ายหาเสียงก่อนมีพ.ร.ฎ.ฯ สามารถทำได้หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ไม่ควรจะติดเพราะยังไม่ใช่เวลา ตอนนี้ยังติดไม่ได้เพราะกกต.ต้องหาสถานที่สำหรับติดป้ายหาเสียงก่อน ดังนั้นการติดป้ายก่อนจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
มีรายงานว่าในการประชุมของ กกต.วันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาความเหมาะสมของการกำหนดวันเลือกตั้ง โดยมีการเสนอวันที่เหมาะสม 2 วัน คือวันที่ 10 มี.ค. และ 24 มี.ค. โดยเสียงข้างน้อยเห็นว่า หากกำหนดให้เลือกตั้งในวันที่ 10 มี.ค.จะสามารถรับรองผลการเลือกตั้งได้ภายในกำหนด 60 วัน พอดี แต่ฝ่ายเสียงข้างมากเห็นว่าถ้าเลือกวันที่ 10 มี.ค.ระยะเวลาในการหาเสียงจะเหลือแค่ 46 วัน และฉุกละหุกเกินไป โดยในสัปดาห์หน้า กกต. ต้องเปิดรับสมัคร จึงเห็นว่าควรจะให้เวลาในการจัดการและให้พรรคการเมืองหาเสียงให้มาก รวมประมาณ 60 วัน เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง