ThaiPublica > คอลัมน์ > ใช้ความคิดสร้างความสุข

ใช้ความคิดสร้างความสุข

6 ธันวาคม 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

ในอินเตอร์เน็ตมีเรื่องดี ๆ ให้อ่านเสมอผู้เขียนได้พบข้อเขียนหนึ่งที่เตือนใจให้นึกถึงการไม่ด่วนตัดสินคนอื่น ทึกทักว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และโยงไปถึงการเห็นอกเห็นใจคนอื่นด้วยอย่างมีความเมตตา ข้อเขียนมีดังต่อไปนี้

“พ่อลูกและหญิงชายคู่หนึ่งนั่งรถไฟไปด้วยกัน หญิงสาวเห็นเด็กผู้ลูกทำอะไรแปลก ๆ ก็นึกในใจว่า ‘อะไรกัน โตขนาดนี้แล้ว ยังทำตัวเหมือนเด็ก สงสัยจะมีปัญหาทางจิต ดูซิ แม้แต่ พ่อเค้ายังไม่สนใจเลย’/ ทันใดนั้น เด็กหนุ่มอุทานเสียงดังขึ้นมาอีก/ พ่อ ดู โน่นสิ “ก้อนเมฆมันวิ่งมากับพวกเราด้วย” / คู่สามี-ภรรยาอดใจไม่ไหว จึงพูดกับผู้เป็นพ่อว่า / ทำไมคุณไม่พาลูกชายไปหาหมอดี ๆ เช่น จิตแพทย์ ก็น่าจะดีนะ? / ชายชราผู้เป็นพ่อยิ้มและตอบว่าผมเพิ่งพาไปครับ / เราเพิ่งพบแพทย์กันมาแต่ไม่ใช่จิตแพทย์หรอครับ / เราเพิ่งออกมาจากโรงพยาบาลกันครับ / ลูกชายผม ตาบอดมาแต่กำเนิด / เค้าเพิ่งจะมองเห็นวันนี้เป็นครั้งแรก / พฤติกรรมของเค้าอาจจะดูงี่เง่าสำหรับพวกคุณ แต่มันคือปาฏิหาริย์สำหรับผมครับ/ คู่สามี-ภรรยา ต่างนั่งอึ้ง พูดไม่ออก / น้ำตาเอ่อท้น และรู้สึกเสียใจ-อับอายเป็นอย่างยิ่ง / ทุกคนบนโลกใบนี้ต่างมีเรื่องราว / อย่าตัดสินผู้อื่นเร็วเกินไป อย่าด่วนสรุปสิ่งที่คุณไม่รู้จริงในเรื่องที่เป็นส่วนตัวของเขา / คุณไม่มีทางทราบหรอกว่าพวกเขามีความเป็นมาอย่างไร หรือเขาต้องเผชิญกับอะไรบ้าง / เมื่อความจริงเบื้องหลังเรื่องราวของเขาถูกเปิดเผยคุณอาจจะ แปลกใจ / จงใช้ชีวิตสบาย ๆ ไม่ยุ่งและกังวลกับเรื่องคนอื่นแม้ว่าคุณจะมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบก็ตาม / โปรดช่วยกันทำสิ่งดี ๆ ต่อกัน / เรื่องราวนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับฉันและขอส่งเรื่องนี้มาให้คุณเพื่อสร้างแรงบันดาลใจด้วย”

ทุกคนที่ซื่อสัตย์กับตนเองคงยอมรับว่าหลายครั้งในชีวิตเราด่วนตัดสินคนอื่นดังสามีภรรยาคู่นี้ เรื่องนี้เตือนใจให้เราต้องคิดรอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจหรือพูด เหตุการณ์ทุกอย่างล้วนมีเหตุมีผลของการเกิดขึ้นทั้งสิ้น แม้แต่เรื่องที่ไม่มีเหตุไม่มีผล ไม่มีเรื่องใดที่เกิดขึ้นโดยไม่มีบริบทของมัน

คนขับรถปาดหน้ารถเรา เขาอาจมีเหตุผลจำเป็นอย่างมากก็ได้ เช่น จะตกเครื่องบิน ไปรับพ่อแม่ไปโรงพยาบาล ไปหาหมอ ฯลฯ หรือเขาคิดกวน ๆ ขึ้นมา หรือตั้งใจเกเรกับเรา เราก็ไม่มีทางรู้ได้ สิ่งสำคัญมิใช่การรู้เหตุของมัน แต่เป็นปฏิกิริยาของเราที่มีต่อการกระทำของเขาต่างหาก

ถ้าเราคิดไปในแง่ลบที่เขาคิดเกเรกับเราและเราขับรถไล่ตามไปมีเรื่องกับเขา ก็อาจเป็นเรื่องต่อไปยาวให้เดือดเนื้อร้อนใจหรือเสียทรัพย์ เสียเวลา แต่ถ้าเราพยายามคิดไปว่าเป็นความจำเป็นของเขาที่ต้องปาดหน้าเรา เราก็จะรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ไม่ถือโทษโกรธเคืองได้ ใจเราก็สบาย และไม่มีเรื่องอะไรกับใครด้วย

การเห็นอกเห็นใจคนอื่นอย่างมีความเมตตา หรือ compassion นี้ เป็นประโยชน์เพราะไม่ทำให้สังคมวุ่นวาย และไม่ทำให้เราต้องมีเรื่องทุกข์ใจ การมีชีวิตให้ปกติสุขในปัจจุบันที่สังคมเปราะบางก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว แล้วเราจะยังทำให้มันอยู่ยากยิ่งขึ้นด้วยการขาด compassion ขึ้นมาด้วยเหตุใด

compassion นี้แหละคือสิ่งที่ทำให้เราสุขใจเพราะได้ทำสิ่งที่ดี สร้างสันติสุขแก่สังคม และสามารถเป็นเครื่องมือทำให้เรามีความสุขใจอย่างปราศจากความเดือดเนื้อร้อนใจอีกด้วย

นอกจากการมี compassion ผ่านการมีความคิดดังว่าซึ่งทำให้เรามีความสุขแล้ว การมีความคิดอีกอย่างว่า “ความเป็นปกติคือความวิเศษ” ก็สามารถเสริมให้เรามีความสุขยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องใช้ปาฏิหาริย์มาเป็นตัวช่วย

ท่าน Thích Nhất Hạnh (ทิก เญิ้ต หั่ญ) พระภิกษุชาวเวียดนามในวัย 92 ปี แห่งนิกายเซนของมหายาน ผู้เป็นที่นับถือย่างสูงของชาวโลก ได้กล่าวไว้ว่า “ความเป็นปกติคือความวิเศษ” ดังนี้

“ปาฏิหาริย์ไม่ใช่การเดินบนน้ำหรือบินอยู่บนอากาศ แต่ปาฏิหาริย์ของชีวิตคือการเดินอยู่บนผืนดินและมีความสุขในทุกย่างก้าว”

ชีวิตเราเต็มไปด้วยเรื่อง “ธรรมดา” เช่น ตื่นมาอาบน้ำ แปรงฟัน ขับรถไปทำงาน กินอาหารเที่ยงกับเพื่อนในที่เดิม ๆ ตอนเย็นกลับบ้านก็เห็นหน้าภรรยา หรือสามีคนเดิม ใส่ชุดธรรมดา หน้าตาเราหรือก็ธรรมดา ๆ….. เราส่วนใหญ่แล้วก็เป็นคนธรรมดา ๆ มีชีวิตธรรมดา ๆ กันทั้งนั้น

แต่ถ้าความ “ธรรมดา” นี้หมดไปล่ะ เช่น อยู่ดี ๆ ลูกเราเกิดเป็นมะเร็ง ไปมีเรื่องนอกบ้าน ไปติดยา ไปคบเพื่อนไม่ดี หรือสามี หรือภรรยาเราตาย ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม หรือเราถูกไล่ออกจากงาน เราประสบอุบัติเหตุร้ายแรง เป็นอัมพาต

เรื่องที่เคยธรรมดาก็จะ “ไม่ธรรมดา” ไปในทันที และในเวลานั้นเองเราจะหวนมาคิดเสียดายความเป็น “ธรรมดา” จนใจแทบจะขาด…..

สิ่งธรรมดา คือ สิ่งพิเศษ ขอให้เรารีบชื่นชมกับความ “ธรรมดา” ที่เรามี และใช้ชีวิตกับ สิ่งรอบตัวของเรา ประหนึ่งว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งมหัศจรรย์ของจักรวาล เพราะสิ่งธรรมดา ๆ แท้จริงแล้วคือสิ่งที่พิเศษที่สุดแล้วสำหรับมนุษย์อย่างเรา…….”

ทุกคนที่เราพานพบในแต่ละวันนั้น ต่างก็มีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันออกไป สิ่งที่เขาขาดหรือเกินไปบ้างจึงเป็นเรื่องที่อภัยให้กันได้ สังคมที่สมาชิกปราศจากปัญหาชีวิตนั้นไม่มีทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 4 ธ.ค. 2561