ThaiPublica > คอลัมน์ > คำสอนจากท่านทะไลลามะ

คำสอนจากท่านทะไลลามะ

20 ตุลาคม 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

องค์ทะไลลามะ ที่มาภาพ : https://www.dalailama.com/news/2018/final-day-of-teachings-for-taiwanese-group

มนุษย์ปัจจุบันแสวงหาคำสอนเกี่ยวกับการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขกันมากกว่าเดิม โดยเฉพาะที่ต่างจากที่ได้ยินกันอย่างคุ้นหูอยู่ในบ้านเรา ท่านทะไลลามะองค์ที่ 14 ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพใน ค.ศ. 1989 ให้คำสอนที่น่าสนใจมาก ขอนำคำสอนบางส่วนของท่านมาเล่าสู่กันฟัง

ดาไลลามะ เป็นชื่อที่มักเรียกกัน บางครั้งก็นิยมออกเสียงว่า “ทะไลลามะ” ซึ่งเป็นภาษามองโกเลีย Dalai แปลว่ามหาสมุทร ส่วนในภาษาทิเบตแปลว่าพระชั้นสูง “ทะไลลามะ” เป็นชื่อตำแหน่งประมุขหัวหน้าคณะสงฆ์ในพุทธศาสนานิกายมหายานแบบทิเบตเกลุก เป็นผู้นำจิตวิญญาณสูงสุดของชาวทิเบต

ตามความเชื่อของชาวทิเบต องค์ทะไลลามะเป็นอวตารในร่างมนุษย์ของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (พระโพธิสัตว์องค์สำคัญของพระพุทธศาสนามหายาน เป็นบุคลาธิษฐานซึ่งหมายถึงบุคคลอันเป็นที่ตั้งแห่งมหากรุณาคุณของพระพุทธเจ้าทั้งปวง) เมื่อองค์ทะไลลามะองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์ไปก็จะกลับชาติมาประสูติใหม่เป็นองค์ทะไลลามะองค์ต่อไป

ปัจจุบันองค์ทะไลลามะ เป็นองค์ที่ 14 มีชื่อว่า เทนซิน เกียตโซ (Tenzin Gyatso) โดยมีชื่อดั้งเดิมว่าลาโม ทอนดุป คณะค้นหาองค์ทะไลลามะองค์ใหม่หลังจากองค์ที่ 13 สิ้นพระชนม์ได้พบเด็กน้อยอายุ 3 ขวบ ผู้มีลักษณะพิเศษหลายอย่างที่มั่นใจได้ว่าเป็นองค์ที่ 13 ที่กลับชาติมาประสูติ เช่น จำและทักชื่อของพระที่มากับคณะได้ สามารถเลือกสิ่งของเครื่องใช้ขององค์ที่แล้วที่เคยใช้ได้ถูกต้องทั้งหมด ดังนั้นจึงจัดขบวนใหญ่โตมาต้อนรับกลับไปเมืองหลวง

องค์ทะไลลามะองค์ที่ 14 เกิด ค.ศ. 1937 ที่หมู่บ้านเล็กๆ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีพี่น้อง 8 คน ท่านมีลักษณะของความเมตตาสูง ฉลาดหลักแหลม ชอบช่วยเหลือผู้คนตั้งแต่ยังเล็ก ท่านต้องเติบโตในวังตั้งแต่ยังเล็ก มีพระผู้ใหญ่สอนหนังสืออย่างเข้มข้นในศาสตร์ต่างๆ และได้รับการสถาปนาใน ค.ศ. 1940

เหตุการณ์สำคัญในชีวิตก็คือการบุกยึดดินแดนทิเบตของจีน ใน ค.ศ. 1950 จนท่านต้องลี้ภัยไปอยู่ในอินเดียตั้งแต่ปี 1959 เป็นต้นมา

ท่านเขียนหนังสือและเผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้าไปทั่วโลก เดินทางตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา เขียนหนังสือมากกว่า 50 เล่ม หลายเล่มมียอดขายเป็นล้าน เป็นที่รู้จักอย่างดีจากคนทั่วโลกที่เลื่อมใสในวัตรปฏิบัติอันงดงาม เป็นกันเองกับทุกผู้ทุกนาม มีความเมตตาสูงยิ่ง

ต่อไปนี้เป็นคำสอนส่วนหนึ่งของท่านเกี่ยวกับคุณค่าของตัวเอง และการใช้ชีวิต (ขอย่อและต่อเติมจากที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ตซึ่งไม่ทราบผู้เขียน)

(1) จุดประสงค์สูงสุดในชีวิตของคนเราคือการมีความสุข เราไม่สามารถรู้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตบ้าง แต่อย่างไรหัวใจของเราก็ต้องการความหวัง เพราะมันจะทำให้เราสามารถก้าวต่อไปได้

(2) ความขัดแย้งเกิดขึ้นเมื่อเรายึดติดกับความแตกต่างระหว่างกันทั้งเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา การศึกษา ฐานะ แต่จริงๆ แล้วสิ่งสำคัญยิ่งกว่าที่เราต้องจำไว้ก็คือ เราล้วนเป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน

(3) มิตรภาพ มิได้ขึ้นอยู่กับชื่อเสียง เงินทอง หรือความแข็งแกร่งกำยำของร่างกาย แต่ขึ้นอยู่กับความเชื่อใจกันและความรัก

(4) ทุกๆ คนต้องเรียนรู้ที่จะสร้างสิ่งดีๆ ที่ไม่เพียงแต่ดีต่อตัวเอง หรือดีต่อครอบครัวเท่านั้น แต่ต้องเป็นผลดีต่อมนุษยชาติด้วย เพราะความรับผิดชอบร่วมกันคือแนวคิดที่ทำให้มวลมนุษย์อยู่รอดต่อไปได้

(5) ถ้าอยากมีชีวิตที่มีความสุขจงเปิดใจกว้างยอมรับและมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เพราะนี่คือพื้นฐานของมิตรภาพ

(6) ถ้ามนุษย์ฆ่าสัตว์มันเป็นเรื่องที่เศร้า แต่ถ้ามนุษย์ฆ่ามนุษย์ด้วยกันเองมันจะเป็นเรื่องที่เศร้าสลดยิ่งกว่า

(7) ข้าพเจ้าต้องการเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นเหมือนกับเด็ก นั่นก็คือเปิดใจและยอมรับผู้อื่นในสิ่งที่พวกเขาเป็น

(8) ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่สามารถลดความกลัว รวมถึงสร้างความมั่นใจในตัวเราให้มากขึ้นได้เมื่อเราเชื่อใจผู้อื่นและเปิดใจยอมรับพวกเขา เราจะไม่รู้สึกเหมือนกับอยู่ตัวคนเดียวอีกต่อไป

(9) ข้าพเจ้าเป็นปรมาจารย์ด้านการหัวเราะ แม้ว่าข้าพเจ้าจะเคยพบเจอปัญหาใหญ่ๆ มากมายในชีวิต หรือประเทศของข้าพเจ้ากำลังเจอช่วงเวลาที่โหดร้าย แต่ข้าพเจ้าก็มักจะหัวเราะออกมาบ่อยๆ การหัวเราะเป็นเหมือนโรคติดต่อที่สามารถแพร่ไปได้ง่ายมากๆ และเมื่อมีคนถามว่า ข้าพเจ้าทำอย่างไรถึงมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะหัวเราะในช่วงเวลาที่ยากลำบากได้ ข้าพเจ้าก็ตอบไปอย่างง่ายๆ ว่า ‘ก็ข้าพเจ้าเป็นปรมาจารย์ด้านการหัวเราะนี่’

(10) ความสุขที่ยั่งยืนเกิดจากปัจจัยภายในซึ่งได้แก่สภาพจิตใจที่ฝึกหัดให้เห็นอกเห็นใจผู้อื่นอย่างมีความเมตตากรุณา (compassion) ซึ่งหมายถึงสภาพจิตใจอันไม่มีความก้าวร้าว กล่าวคือ มีสภาพจิตที่ต้องการให้ผู้อื่นหลุดพ้นจากความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ศัตรู หรือแม้แต่สัตว์

(11) จงมองว่าความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ความทุกข์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้ามัวแต่จะโทษสิ่งต่างๆ เมื่อเกิดความทุกข์ และมองว่าเป็นสิ่งผิดธรรมชาติและไม่เป็นธรรมแล้ว เราก็จะหาความสุขไม่ได้

คำสอนใดที่เพียงแต่ผ่านหูย่อมไม่เกิดผล การคิดวิเคราะห์และนำไปปฏิบัติจริงเท่านั้นจึงจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ อังคาร 16 ต.ค. 2561