ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อประชากรมีแนวโน้มอ้วนขึ้น หุ่นทดสอบรถยนต์จึงต้องอ้วนตาม

เมื่อประชากรมีแนวโน้มอ้วนขึ้น หุ่นทดสอบรถยนต์จึงต้องอ้วนตาม

24 ธันวาคม 2018


รายงาน สุนิสา กาญจนกุล

หุ่นทดสอบการชนรุ่นที่ถูกปรับขนาดให้อ้วนขึ้นของบริษัทฮิวแมเนติกส์
ที่มาภาพ: http://www.humaneticsatd.com/sites/default/files/Humanetics%20Bloomberg%20Article.pdf

ภาวะน้ำหนักเกินเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ผู้ใหญ่ที่น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนทวีจำนวนขึ้นเกือบ 3 เท่านับแต่ปี 1975 เป็นต้นมา โดยองค์การอนามัยโลกรายงานว่าในปี 2016 ประชากรที่อายุเกิน 18 ปี ทั่วโลกเกือบ 2 พันล้านคน หรือ 39% จัดว่าน้ำหนักเกิน และ 650 ล้านคน หรือ 13% ในกลุ่มนี้ จัดว่าเป็นโรคอ้วน ทั้งที่ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้

วิกฤติเรื่องความอ้วนส่งผลต่อธุรกิจต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย บางธุรกิจเติบโตขึ้น เช่น เสื้อผ้าสำหรับสาวร่างใหญ่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลดน้ำหนัก แต่หลายๆ ธุรกิจก็ต้องปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ในหลายๆ รูปแบบอย่างที่เราคาดไม่ถึง แม้กระทั่งอุตสาหกรรมที่เฉพาะทางอย่างยิ่ง เช่น การผลิตหุ่นยนต์ทดสอบการชน ก็ยังต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับแนวโน้มเรื่องความอ้วนเช่นกัน

จากมนุษย์สู่หุ่นทดสอบ

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ปี 1869 ที่พาร์สันส์ทาวน์ ประเทศไอร์แลนด์ แมรี วอร์ด ถูกเหวี่ยงกระเด็นจากที่นั่งผู้โดยสารในรถยนต์ที่หักเลี้ยวกระทันหัน วอร์ดเสียชีวิตในทันที และถูกจัดว่าเป็นเหยื่อรายแรกที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ และความกังวลเรื่องความปลอดภัยของผู้ขับขี่รถยนต์ก็เริ่มทวีขึ้นนับแต่นั้นมา

ในช่วงทศวรรษ 1930 เริ่มมีการวิจัยเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์อย่างจริงจัง ในยุคแรกๆ นั้น มีการใช้ซากศพจริงเพื่อทดสอบผล กระทบที่อาจเกิดขึ้นกับมนุษย์เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ ควบคู่ไปกับการใช้อาสาสมัครที่ใจกล้าบ้าบิ่นไม่กลัวตาย

จนถึงปี 1949 จึงเริ่มมีการประดิษฐ์หุ่นทดสอบการชนขึ้นมาใช้เป็นครั้งแรก และมีวิวัฒนาการมาหลายรุ่น โดยเริ่มต้นมีเพียงหุ่นทดสอบเพศชาย แต่ต่อมาก็มีการเพิ่มหุ่นทดสอบที่เป็นตัวแทนของเพศหญิงและเด็กเพิ่มเข้าไป

ที่ผ่านมา หุ่นทดสอบการชนแบบมาตรฐานของบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการหุ่นทดสอบการชนจะมีความสูง 5 ฟุต 9 นิ้ว (ประมาณ 175 ซม.) และน้ำหนัก 170 ปอนด์ (ประมาณ 77 กิโล) โดยคิดคำนวณค่าเฉลี่ยจากชาวอเมริกันเพศชาย เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วผู้อยู่หลังพวงมาลัยก็คือเพศชาย

เทคนาวิโอ บริษัทวิจัยการตลาดในสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า ขณะที่รถยนต์และผู้ขับขี่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างมาก แต่หุ่นทดสอบการชนที่รัฐบาลของหลายประเทศกำหนดให้ใช้ในการทดสอบยังคงเป็นหุ่นรุ่นเดิมที่ใช้กันมานานราว 40 ปีแล้ว โดยรายได้รวมจากการขายหุ่นทดสอบการชนทั่วโลกในปี 2016 มีมูลค่าประมาณ 111 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ยิ่งอ้วนยิ่งเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่ประชากรทั่วโลกมีน้ำหนักตัวมากขึ้น เป็นข้อเท็จจริงที่ชัดเจนจนบริษัทผู้ผลิตหุ่นทดสอบการชนไม่สามารถละเลยได้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตหุ่นทดสอบจึงต้องริเริ่มผลิตหุ่นที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม

หุ่นทดสอบการชนรุ่นใหม่ที่บริษัทผลิตออกมา จึงเป็นรุ่นที่ถูกปรับให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีก 100 ปอนด์ (ประมาณ 45 กิโลกรัม) เพื่อให้สอดคล้องกับขนาดตัวของผู้ขับขี่รถยนต์ที่ดูจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลให้การทดสอบความปลอดภัยสะท้อนความเป็นจริงได้ดียิ่งขึ้นและสามารถช่วยรักษาชีวิตผู้ขับขี่รถยนต์ได้มากขึ้น เนื่องจากเมื่อน้ำหนักตัวมากขึ้น การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถยนต์ก็มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเช่นกัน

งานศึกษาวิจัยของโทมัส ไรซ์ และโมทาโอะ ชู ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ฉุกเฉินระบุว่า ผู้ขับขี่รถยนต์ที่เป็นโรคอ้วนมีแนวโน้มจะเสียชีวิตในอุบัติเหตุรถยนต์มากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวปกติถึง 78% ยิ่งค่าดัชนีมวลกายสูงขึ้นเท่าใด ความน่าจะเป็นในการเสียชีวิตก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น โดยผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย 30-34.9 ความน่าจะเป็นในการเสียชีวิตจะสูงขึ้น 21 % ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย 35-39.9 ความน่าจะเป็นในการเสียชีวิตจะสูงขึ้น 51% และผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายเกิน 40 ความน่าจะเป็นในการเสียชีวิตจะสูงขึ้น 81%

การมีน้ำหนักตัวมากเกินยังส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ซึ่งมีผลต่อการรับมือและการฟื้นตัวจากการบาดเจ็บทางกาย น้ำหนักและขนาดตัวยังอาจเป็นอุปสรรคในการกู้ชีพและการช่วยเหลือด้านการแพทย์ได้ด้วย เช่น การเคลื่อนย้ายออกจากรถ การสแกนภาพร่างกายและการผ่าตัด

ขนาดร่างกายยังส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงด้านพลศาสตร์ขณะเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ด้วย การวิจัยโดยใช้ซากศพมนุษย์แสดงให้เห็นว่าซากศพที่น้ำหนักเกินจะเคลื่อนไปด้านหน้ามากกว่าซากศพที่น้ำหนักปกติ ก่อนจะถูกรั้งไว้ด้วยสายรัดนิรภัยทำให้เกิดความเคลื่อนไหวที่สะโพกมากกว่า ทำให้มีโอกาสเกิดบาดเจ็บที่หน้าอกสูงกว่า

นอกจากนั้น อุปกรณ์นิรภัยต่างๆ ในรถยนต์ที่ออกแบบมาเพื่อผู้มีขนาดร่างกายปกติก็อาจจะมีประสิทธิภาพด้อยลงเมื่อผู้ขับขี่มีขนาดและรูปร่างที่ผิดแผกไป ตัวอย่างเช่น ผู้ขับขี่ที่น้ำหนักเกินอาจจะเปลี่ยนตำแหน่งที่สายรัดนิรภัยพาดกับลำตัว หรือที่ว่างที่น้อยลงระหว่างพวงมาลัยกับร่างกาย ฯลฯ หุ่นทดสอบรถยนต์รุ่นใหม่จึงมีความจำเป็นที่ต้องถือกำเนิดขึ้นเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้

อนาคตคือทดสอบเฉพาะบุคคล

นอกจากการใช้หุ่นทดสอบการชนแล้ว การใช้โปรแกรมจำลองเพื่อทดสอบความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีการใช้ควบคู่กันไป และนับวันจะมีประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อยๆ สถาบันวิจัยการคมนาคมแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนริเริ่มพัฒนามนุษย์เสมือนจริงมานานหลายปี ด้วยความหวังที่จะนำมาใช้แทนหุ่นทดสอบการชน

โดยจุดเด่นของมนุษย์เสมือนจริงที่ใช้กับโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นอยู่ที่ความสามารถในการจำลองกระดูก เนื้อเยื่อ และอวัยวะภายในทุกอย่างของมนุษย์ได้ รวมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนรูปร่าง เพศ วัย น้ำหนัก ความสูง หรือคุณลักษณะพิเศษของผู้ขับขี่ได้อย่างสะดวก เพื่อให้ได้ผลทดสอบที่ชัดเจน ถูกต้องและครอบคลุมทุกด้าน

ยิ่งประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้นเท่าใด ความถูกต้องแม่นยำของการทดสอบเสมือนจริงก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ในอนาคต เราจึงอาจได้เห็นการล่มสลายของธุรกิจผลิตหุ่นทดสอบการชน ขณะที่ความเป็นไปได้ของการทดสอบความปลอดภัยเป็นการเฉพาะสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์แต่ละคนด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็อาจไม่ใช่สิ่งเกินคาดเช่นกัน

แหล่งข้อมูล:

1. https://www.bloomberg.com/news/features/2018-10-25/even-the-crash-test-dummies-are-putting-on-weight

2.http://www.bbc.com/future/story/20150107-fat-models-that-could-save-lives

3.https://www.forbes.com/sites/brucelee/2017/04/28/crash-test-dummies-heres-what-the-obesity-epidemic-is-doing-to-them/#33cf1a6926ec

4.https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/obesity-and-overweight

5.https://emj.bmj.com/content/31/1/9