ThaiPublica > เกาะกระแส > กระแส “คอนมาริ” กลับมาอีกครั้ง คนแห่โละของ ศูนย์รับบริจาคปลื้ม

กระแส “คอนมาริ” กลับมาอีกครั้ง คนแห่โละของ ศูนย์รับบริจาคปลื้ม

24 มกราคม 2019


รายงานโดย สุนิสา กาญจนกุล

ภาพจากรายการ Tidying Up with Marie Kondo ของเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งกระตุ้นให้วิธีจัดบ้านแบบคอนมาริกลับสู่ความนิยมอีกครั้ง ที่มาภาพ: http://fortune.com/2019/01/18/marie-kondo-konmari-retail/

เมื่อปี 2011 หนังสือเกี่ยวกับการจัดบ้านของมาริเอะ คนโดะ นักเขียนชาวญี่ปุ่น จัดพิมพ์เป็นครั้งแรกในญี่ปุ่นและประสบความสำเร็จอย่างสูง จนมีการตีพิมพ์เผยแพร่ในประเทศอื่นๆ กว่า 30 ประเทศ และตีพิมพ์ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2014 โดยใช้ชื่อว่า The Life-Changing Magic of Tidying Up และกลายเป็นหนังสือขายดีติดอันดับ

เนื้อหาของหนังสืออธิบายวิธีจัดบ้านให้เป็นระเบียบ โดยมีหลักการง่ายๆ คือ

    1. ใช้วิธีจัดของตามหมวดหมู่ เช่น เสื้อผ้า หนังสือ ฯลฯ ไม่ใช่จัดทีละห้อง โดยรวบรวมของชนิดเดียวกันจากทั้งบ้านเพื่อจะได้เห็นชัดว่ามีของชนิดนั้นอยู่มากแค่ไหน
    2. พิจารณาสิ่งของทีละชิ้นว่ายังให้ความรู้สึกรื่นรมย์หรือไม่ ถ้าไม่ ให้กำจัดของนั้นตามความเหมาะสม อาจจะด้วยการทิ้ง แจก บริจาค หรืออื่นๆ โดยก่อนที่จะกำจัดของนั้นให้กล่าวขอบคุณที่ทำประโยชน์ให้เรา
    3. หาที่เก็บประจำให้กับสิ่งของที่เหลืออยู่

นอกจากหลักการสำคัญดังกล่าว คนโดะยังสอนเคล็ดลับปลีกย่อยอื่นๆ เช่น การพับเสื้อผ้าชนิดต่างๆ เพื่อให้สามารถเก็บใส่กล่องหรือลิ้นชักได้ในแนวตั้ง ซึ่งจะช่วยให้สะดวกในการเลือกใช้งานมากกว่าการวางซ้อนทับกันเป็นกองสูง การเลือกเอกสารทิ้ง การเลือกตำแหน่งที่เก็บของแต่ละชนิด ฯลฯ

เน็ตฟลิกซ์ช่วยจุดประกายอีกครั้ง

หลังจากที่หนังสือออกจำหน่าย ความนิยมจัดบ้านตามหลักการของมาริเอะ คนโดะ ได้รับความนิยมมากจนเกิดกระแสการจัดระเบียบบ้านแบบคอนมาริ (KonMari Method ย่อมาจากชื่อและนามสกุลของผู้เขียน) แม้กระทั่งนิตยสาร Time ยังเลือกให้คนโดะเป็นหนึ่งในบุคคล 100 ราย ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดประจำปี 2015

แต่เมื่อเวลาผ่านไป กระแสคอนมาริก็เริ่มเสื่อมมนต์ขลังและเงียบหายไป จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา เมื่อรายการชื่อ Tidying Up with Marie Kondo เริ่มออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์ กระแสคอนมาริก็เริ่มพุ่งทะยานสู่ความสนใจของผู้คนอีกครั้ง

หนังสือของคนโดะกลับมาขายดีอีกรอบหลังจากที่เคยขายดีมาแล้วเมื่อ 5 ปีก่อน จำนวนผู้ติดตามอินสตาแกรมของคนโดะเพิ่มจาก 710,000 ราย เมื่อปีที่แล้ว เป็น 1.8 ล้านรายในปัจจุบัน ตามหน้าโซเชียลมีเดียชื่อดังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอินสตาแกรม ทวิตเตอร์ หรือเฟซบุ๊ก ล้วนเต็มไปด้วยภาพการจัดลิ้นชักเสื้อผ้าด้วยวิธีคอนมาริ คำว่ามาริเอะ คนโดะ วิธีคอนมาริ วิธีพับเสื้อ กลายเป็นคำค้นยอดนิยม

คนแห่บริจาคเสื้อผ้า ธุรกิจแฟชั่นอาจได้รับผลกระทบ

ตู้รับบริจาคเพื่อการกุศลหลายแห่งในออสเตรเลียล้นไปด้วยข้าวของ ที่มาภาพ: https://www.news.com.au/lifestyle/home/interiors/why-decluttering-and-adopting-the-marie-kondo-method-isnt-always-a-good-thing/news-story/7cf95b170d261435d1f17deada319de5

ทันทีที่รายการของเน็ตฟลิกซ์ออกอากาศ ศูนย์รับบริจาคในหลายประเทศคือองค์กรที่ได้รับผลพลอยได้จากกระแสคอนมาริในทันที ทั้งในแคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ปริมาณข้าวของที่คนนำมาบริจาคหรือขายต่อเพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดฝัน ทำให้อาสาสมัครคัดแยกสิ่งของบริจาคถึงกับหัวหมุนกับงานที่ถาโถมเข้ามา

เดวิด โลเปซ ผู้จัดการของไฟนด์ ซึ่งเป็นศูนย์รับบริจาคในเอ็ดมันตัน แคนาดา กล่าวว่า ปริมาณการบริจาคเพิ่มขึ้นราว 20 % ในเดือนนี้ ที่เฟรเดอริกเคาน์ตี้และแครอลเคาน์ตี้ รัฐแมริแลนด์ สหรัฐฯ ร้านขายของมือสองของกู๊ดวิล ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีสาขาอยู่ทั่วสหรัฐฯ มีอัตราการบริจาคเพิ่มขึ้น 42 % ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม เป็นต้นมา ขณะที่สาขาในวอชิงตัน อัตราบริจาคทะยานสูงถึง 66% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

ธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่นหวั่นไหว หนอนหนังสือหงุดหงิด

ขณะที่ศูนย์รับบริจาคปลาบปลื้มกับข้าวของที่หลั่งไหลเข้ามา ซึ่งหมายความว่ารายได้เพื่อใช้ในงานการกุศลจะเพิ่มขึ้นหลังจากของเหล่านั้นแปรสภาพเป็นเงินแล้ว แต่บางธุรกิจอาจต้องรู้สึกหวั่นไหวกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่นตามกระแส อย่างเช่นเอชแอนด์เอ็ม ซาร่า และฟอเรฟเวอร์ 21 ที่นำเสื้อผ้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดบ่อยๆ เนื่องจากราคาไม่สูงเกินไป ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อของใหม่ได้ง่ายเมื่อเบื่อเสื้อผ้ารุ่นเก่า โดยผู้อยู่ในแวดวงธุรกิจมองว่าอิทธิพลของคนโดะอาจทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปซื้อเสื้อผ้าน้อยลง โดยเลือกซื้อสินค้าชั้นดีแม้จะราคาสูงกว่า

บรรดาหนอนหนังสือคืออีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นดีเห็นงามกับแนวคิดทิ้งข้าวของแบบคอนมาริ เมื่อเห็นฉากหนึ่งในรายการที่คนโดะช่วยนักเขียนจัดบ้านและกำจัดหนังสือกองโตทิ้งไป จนเกิดกระแสถกเถียงที่ฮือฮาไม่น้อยในทวิตเตอร์ โดยมีบางคนกล่าวเสียดสีว่า คนโดะยุให้คนทิ้งหนังสือ ทั้งที่ตัวเองขายหนังสือไปถึง 11 ล้านเล่ม

อย่างไรก็ตาม กระแสคอนมาริไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้แนวคิดน้อยคือดีงาม (minimalism) เฟื่องฟูขึ้นมาอย่างฉับพลัน แต่เป็นเพราะคอนมาริสอดคล้องกับแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านของชาวมิลเลนเนียล ที่หันมาให้ความสำคัญกับประสบการณ์ สิ่งแวดล้อม และประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมากขึ้นกว่าคนรุ่นก่อนหน้า ทำให้ผู้บริโภคยุคนี้ลดการจับจ่ายแบบบริโภคนิยมลงจากเดิม

แต่กระแสก็คือกระแส ที่มาแล้วก็จากไป เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าวิธีการแบบคอนมาริจะทรงอิทธิพลมากพอที่จะอยู่ยั้งยืนยงและส่งผลกระทบในวงกว้างได้อย่างต่อเนื่องจริงหรือไม่

แหล่งข้อมูล:
1. http://fortune.com/2019/01/18/marie-kondo-konmari-retail/

2.https://www.huffingtonpost.co.uk/entry/charity-shops-experiencing-the-marie-kondo-effect-after-netflix-show-goes-viral_uk_5c40c178e4b027c3bbbf2ce9

3.https://www.bbc.co.uk/bbcthree/article/52f3432b-ac48-4c0b-bc5a-708788e70e95

4.https://edition.cnn.com/2019/01/12/entertainment/marie-kondo-konmari-tidying-up-netflix-trnd/index.html

5.https://www.today.com/home/marie-kondo-effect-thrift-stores-nationwide-see-uptick-donations-t146810

6.https://www.ctvnews.ca/lifestyle/marie-kondo-s-new-series-sparks-joy-for-local-charities-1.4259186

7.https://economictimes.indiatimes.com/magazines/panache/lifestyle/how-latest-lifestyle-philosophies-creating-new-business-opportunities-in-india/articleshow/67604563.cms