ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ที่ประชุม COP 24 กำหนดมาตรฐานวัดก๊าซเรือนกระจก – โลกห่างเป้าลดการเพิ่มอุณหภูมิ 2 องศาเซลเซียส – ก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้นครั้งแรกรอบ 4 ปี

ที่ประชุม COP 24 กำหนดมาตรฐานวัดก๊าซเรือนกระจก – โลกห่างเป้าลดการเพิ่มอุณหภูมิ 2 องศาเซลเซียส – ก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้นครั้งแรกรอบ 4 ปี

17 ธันวาคม 2018


นายมีเคล กูร์ตีกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมโปแลนด์ ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม COP24 รวมกับนางแพททริเซีย เอสพิโนซา เลขาธิการ UNFCCC ปิดการประชุม ที่มาภาพ: https://cop24.gov.pl/news/news-details/news/success-of-cop24-in-katowice-we-have-a-global-climate-agreement/

การประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24 (24th Conference of the Parties of United Nations Framework Climate Change Convention) หรือ COP 24 ซึ่งมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2562 ที่เมืองคาโตวีตเซ ประเทศโปแลนด์ ได้สิ้นสุดไปแล้วหลังจากที่ต้องยืดเวลาปิดการประชุมออกไป 2 วัน เพื่อขยายระยะเวลาในการเจรจา แต่ในที่สุดก็บรรลุเป้าหมายสามารถกำหนดแนวทางปฏิบัติหลักเกณฑ์ใหม่ตามข้อตกลงปารีสที่ได้ลงนามกันตั้งแต่ปี 2558 ที่ทุกประเทศให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง เพื่อลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส หรือไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ท่ามกลางการประท้วงของกลุ่มต่างๆ เป็นระยะๆ หน้าสถานที่จัดประชุม

นางแพททรีเซีย เอสพิโนซา เลขาธิการ UNFCCC กล่าวว่า ความสำเร็จของการประชุมที่โปแลนด์แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของข้อตกลงปารีส ซึ่งเป็นโรดแมปนำไปสู่การแก้ไขปัญหา Climate Change รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงการกระจายความรับชอบของประเทศต่างๆ ในโลก จากข้อเท็จจริงที่ว่า แต่ละประเทศมีกำลังและความสามารถ รวมทั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน และเป็นการวางพื้นฐานให้เพิ่มความมุ่งมั่นได้มากขึ้นเมื่อมีความสามารถมากขึ้น แม้ยังมีบางส่วนที่ต้องทำงานในรายละเอียดอีกต่อไป แต่นับว่ามีการวางแนวทางการดำเนินงานให้เป็นระบบ

แนวทางปฏิบัติที่การประชุม COP24 ตกลงร่วมกัน ซึ่งบางประเทศเรียกว่า ประมวลกฎเกณฑ์ (Rulebook) นี้เพื่อสนับสนุนให้ภาคีสมาชิกเร่งความพยายามมากขึ้นในการช่วยกันลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ซึ่งมีผลต่อประชากรโลกทุกระดับ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

นายมีเคล กูร์ตีกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมโปแลนด์ ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม COP24 กล่าวว่า ความสนใจของผู้เข้าประชุมทุกกลุ่มนำมาสู่ แผน Katowice Package ที่อยู่บนแนวทางความยั่งยืน แต่ที่สำคัญคือมีผลดีต่อโลก นับว่าเรามีก้าวย่างสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส

กฎเกณฑ์หลักๆของKatowice Packageได้แก่ กรอบการปฏิบัติที่โปร่งใส เพื่อส่งเสริมความไว้วางใจระหว่างประเทศภาคีสมาชิก ในการดำเนินการแก้ไขปัญหา Climate Change โดยกำหนดแนวทางของประเทศภาคีในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนปฏิบัติ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมาตรการในการลดผลกระทบ

ทั้งนี้ ประเทศภาคีสมาชิกจะใช้แนวทางเดียวกันในการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดทำรายงาน และการยืนยันความคืบหน้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เนื่องจากเป็นแนวทางที่มั่นใจได้ว่าทุกประเทศมีการดำเนินการตามมาตรฐานและไม่มีการเบี้ยวข้อตกลง นอกจากนี้ยังเป็นแนวทางที่เปิดให้ประเทศยากจนสามารถให้เหตุผลและนำเสนอแผนให้สอดคล้องกับกำลังความสามารถได้ หากไม่มั่นใจว่าจะทำได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

นอกจากนี้ ได้กำหนดแนวทางเพื่อเป้าหมายใหม่ของการระดมเงิน โดยเริ่มจากปี 2025 จะระดมเงินมากขึ้นจากที่วางไว้ว่าจะระดมเงินปีละ 100 พันล้านดอลลาร์ ไปจนถึงปี 2020

ที่ประชุมยังตกลงที่จะให้ทุกประเทศประเมินผลและประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา Climate Change ร่วมกันในปี 2023 รวมถึงแนวทางการติดตามและการรายงานความคืบหน้าของการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี

แม้ประสบความสำเร็จในการกำหนดกรอบการปฏิบัติขึ้น แต่ที่ประชุมไม่ประสบความสำเร็จในการขอให้ภาคีสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุม ให้การยอมรับ (welcome) ผลงานวิจัย ชื่อว่า Global Warming of 1.5°C ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ด้วยการสนับสนุนของสหประชาชาติได้ เนื่องจากมีประเทศใหญ่ 4 ประเทศคัดค้าน

ประธานาธิบดี Andrzej Duda แห่งโปแลนด์เปิดการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24 หรือ COP 24 ที่มาภาพ: https://cop24.gov.pl/news/news-details/news/driving-change-together0/#prettyPhoto

4 ประเทศค้านไม่ยอมรับรายงาน IPCC

ก่อนการประชุมเริ่มขึ้น สหประชาชาติได้เผยแพร่รายงาน Emissions Gap Report 2018 ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งเป็นรายงานที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจน เพื่อกระตุ้นเตือนให้กับรัฐบาลและนักการเมืองของทุกประเทศเห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือที่จะดำเนินการตามข้อตกลงให้บรรลุเป้าหมาย

สหประชาชาติตั้งใจที่จะนำรายงาน Emissions Gap Report 2018 และรายงาน Global Warming of 1.5°C ของ IPCC ซึ่งเผยแพร่ไปในเดือนตุลาคม มานำเสนอร่วมในการประชุม COP 24 ครั้งนี้ด้วย เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจที่เข้าร่วมประชุมนำไปปรับใช้ และเพื่อเตรียมส่งต่อไปยังการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2019
สำนักข่าวบีบีซี รายงานเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2561 ว่า ความตั้งใจที่จะนำรายงานของ IPCC เข้าสู่ที่ประชุมไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีหลายประเทศคัดค้าน ทั้งสหรัฐอเมริกา ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และคูเวต

รายงาน IPCC ได้เปิดตัวมาแล้วที่เกาหลีใต้ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้สร้างความตระหนักให้ผู้นำและฝ่ายการเมืองของปลายประเทศ เนื่องจากรายงาน Global Warming of 1.5°C มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบ ความเสี่ยงที่จะเกิดในอนาคต และทางเลือกในการแก้ไข

สหรัฐอเมริกา ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และคูเวต คัดค้านไม่ให้ที่ประชุมยอมรับรายงานฉบับนี้ ตามที่มัลดีฟซึ่งเป็นประธานกลุ่มพันธมิตรประเทศที่เป็นเกาะได้เสนอ จากแรงสนับสนุนของ 47 ประเทศในสหภาพยุโรป แอฟริกา ลาตินอเมริกา และอเมริกาใต้ โดยทั้ง 4 ประเทศให้ที่ประชุมเพียงแค่บันทึก (take note of) ไว้ว่ามีรายงานฉบับนี้เท่านั้น โดยก่อนหน้านี้ซาอุดีอาระเบียยืนความเห็นคัดค้านจนวินาทีสุดท้ายในการเปิดรายงานฉบับนี้ที่เกาหลี เพื่อให้จำกัดบทสรุปของรายงาน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในครั้งนั้น จึงได้มาคัดค้านอีกครั้งในการประชุม COP 24

การคัดค้านของทั้ง 4 ประเทศซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเจรจาหารือเพื่อที่จะสรรหาคำที่ทุกฝ่ายเห็นพ้อง แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปจากที่ประชุม ส่งผลให้ต้องถอนคำว่ายอมรับออกไปตามกฎของสหประชาชาติ เนื่องจากที่ประชุมไม่สามารถลงฉันทามติได้ ทำให้หลายประเทศสมาชิกแสดงความไม่พอใจและผิดหวังกับผลที่ออกมา

Ruenna Haynes จากประเทศเซนต์คิตส์และเนวิส (Saint Kitts and Nevis) กล่าวว่า ไม่ใช่ประเด็นที่ว่า “จะใช้คำนี้หรือคำไหน แต่เป็นเรื่องที่ว่าเรา หรือ UNFCCC อยู่ในสถานะที่จะยอมรับรายงานที่เราเป็นฝ่ายขอให้จัดทำขึ้นและเชิญนักวิทยาศาสตร์มาร่วมตั้งแต่แรก หากจะมีอะไรที่ทำให้การถกเถียงนี้เป็นสิ่งน่าอาย ก็คือการที่เราไม่ยอมรับรายงานฉบับนี้”

คำพูดของ Haynes เรียกเสียงปรบมือกึกก้องจากที่ประชุม ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์และผู้ร่วมรณรงค์ต่างผิดหวังอย่างมากกับผลที่ออกมาก โดย Yamide Dagnet จาก World Resources Institute ให้ความเห็นว่า “เราโกรธมาก เพราะเป็นสิ่งที่เลวร้ายมากที่บางประเทศยกเลิกข้อความและละเลยต่อผลที่จะตามมา ด้วยการไม่ยอมรับในสิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนและไม่ดำเนินการใดๆ ” แต่ก็หวังว่าประเทศอื่นๆ จะร่วมกันผลักดัน ซึ่งจะให้มีการตัดสินใจที่ตอบสนองต่อรายงาน และไม่ทำให้ COP 24 เป็นการประชุมที่เสียเปล่า

ผู้เข้าร่วมประชุมหลายคนให้ข้อมูลว่า ในการเปิดตัวรายงานที่เกาหลีเดือนตุลาคม ทั้งซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนรายงาน Global Warming of 1.5°C ซึ่งซาอุดีอาระเบียไม่สามารถปฏิเสธข้อมูลทางกายภาพได้ว่า สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง

เอกสารกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะบันทึกว่ามีรายงาน และขอชื่นชมนักวิทยาศาสตร์ที่ได้จัดทำรายงานชิ้นนี้ขึ้น หากยอมรับก็เป็นการรับรองรายงานฉบับนี้ เพราะนั่นหมายถึงว่า การรับรองรายงานฉบับนี้ และที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้แสดงความชัดเจนต่อ IPCC และองค์กรอื่นแล้วว่า สหรัฐฯ จะไม่รับรองผลการศึกษาของรายงานนี้

การที่ที่ประชุมไม่สามารถให้ความเห็นยอมรับรายงาน Global Warming of 1.5°C ก็จะทำให้หลายประเทศละเลยผลการศึกษาของรายงาน IPCC มากขึ้น ทั้งๆ ที่รายงานระบุว่า การจำกัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินระดับ 1.5 องศาเซลเซียสนั้น ต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนและต้องทำในสิ่งไม่เคยทำมาก่อนในทุกแง่มุมของสังคม

อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าประชุมก็หวังว่าการประชุมในสัปดาห์ที่สองซึ่งจะมีผู้นำระดับรัฐมนตรีของหลายประเทศที่จะมาเข้าร่วมประชุมในวันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม จะให้ความสำคัญและพยายามมากขึ้นที่จะนำรายงานนี้กลับเข้าสู่ที่ประชุมอีกครั้ง

ประเทศส่วนใหญ่ยังห่างเป้าลดอุณหภูมิ

สำหรับรายงานEmissions Gap Report 2018 ที่เปิดเผยก่อนการประชุม COP 24 นั้นจัดทำบนพื้นฐานรายงาน Global Warming of 1.5°C ของ IPCC ที่ประเมินผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ครั้งที่ 9 เพื่อเปรียบเทียบระดับการปล่อยก๊าซภายใต้การดำเนินการอย่างเต็มที่และไม่มีเงื่อนไข ระดับการปล่อยก๊าซภายใต้การดำเนินการอย่างเต็มที่แต่มีเงื่อนไขเทียบกับการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDC) ซึ่งเป็นพันธสัญญาของแต่ละประเทศ เพื่อทบทวนและติดตามผล รวมทั้งความสม่ำเสมอ เพื่อลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส หรือไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

NDC เป็นพันธสัญญาของแต่ละประเทศ เพื่อทบทวนและติดตามผลการดำเนินงานตามกรอบ UNFCCC

ผลการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่ยังห่างไกลจากเป้าหมาย (emission gap) ตามที่ข้อตกลงปารีสได้วางไว้ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่ดำเนินการในขณะนี้ และเป้าหมายที่จะต้องไปให้ถึง และการมีส่วนร่วมของประเทศที่ให้ไว้ ไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายในปี 2030 แม้ในทางเทคนิคมีความเป็นไปได้ที่จะลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสตามเป้าหมาย แต่โอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายไม่ให้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียสนั้นน้อยมาก หากประเทศที่กำหนด NDC ไม่เพิ่มความมุ่งมั่นให้ได้ก่อนปี 2030

ดร.กุนนาร์ ลุดเดอเรอร์ จาก Potsdam Institute หนึ่งในผู้เขียนรายงานฉบับนี้กล่าวว่า “ยังมีช่องว่างกันมากระหว่างคำพูดกับการกระทำ ระหว่างเป้าหมายที่ตกลงกันของรัฐบาลทั่วโลกในการที่จะรักษาสภาพภูมิอากาศและมาตรการที่จะบรรลุเป้าหมาย”

ประเทศภาคีต้องเพิ่มความตั้งใจและมุ่งมั่น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายของชาติเพื่อลดการเพิ่มอุณหภูมิตามเป้าหมายของข้อตกลงปารีส เพราะนโยบายแห่งชาติมีความสำคัญในการที่จะแปลงความมุ่งมั่นเป็นการกระทำ และทุกประเทศจะต้องเพิ่มความพยายามความมุ่งมั่นให้มากขึ้นถึง 5 เท่า เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพราะขณะนี้โลกกำลังอยู่บนเส้นทางที่จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 3.2 องศาเซลเซียสเมื่อสิ้นศตวรรษนี้

การเพิ่มความมุ่งมั่นในบริบทนี้ อาจเป็นการผสมผสานระหว่างการตั้งเป้าหมาย การเตรียมพร้อมที่ปฏิบัติ และเพิ่มความสามารถที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ต่อเนื่อง

รายงาน Emissions Gap 2018 ระบุว่า จากการประเมินกลุ่มประเทศ G-20 ส่วนใหญ่กำลังดำเนินการไปสู่เป้าหมายปี 2020 ที่ให้ไว้ แต่มีหลายประเทศยังไม่ได้เริ่มดำเนินการตามคำมั่นที่ให้ไว้เพื่อบรรลุเป้าหมายปี 2030 แต่มีบางประเทศที่ดำเนินการไปแล้วและยังห่างไกลจากเป้าหมาย NDC ของปี 2030 เช่น อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย แคนาดา สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา มีเพียง บราซิล จีน และญี่ปุ่นเท่านั้นที่การดำเนินการเป็นไปตามแผน ขณะที่ อินเดีย รัสเซีย และตุรกี มีทีท่าว่าจะทำได้สำเร็จก่อนกำหนด อย่างไรก็ตามรายงานเชื่อว่าประเทศที่บรรลุเป้าหมายนั้น เป็นเพราะวางเป้าไว้ต่ำ

ที่มาภาพ: Emissions Gap Report 2018

ปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้น 1.2% ในรอบ 4 ปี

รายงาน Emissions Gap 2018 เปิดเผยว่า ความพยายามของโลกที่จะแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังพลาดเป้า เพราะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยในช่วงปี 2014-2016 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมและการผลิตพลังงานอยู่ในสภาวะทรงตัว ขณะที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวน้อย แต่ปี 2017 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 1.2% ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้ดูเหมือนว่าเพิ่มขึ้นน้อย แต่เป็นระดับสูงสุดใหม่ และต้องเทียบกับความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่กำหนดแนวทางไว้ในรายงานของ IPCC

การศึกษายังพบว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ 57 ประเทศที่มีสัดส่วนรวม 60% เป็นไปตามเป้าหมาย โดยจะแตะระดับสูงสุดภายในปี 2030

การที่จะลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 จะต้องต่ำกว่าระดับปัจจุบันถึง 25% เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส หรือราว 19 กิกะตัน และต้องต่ำกว่าระดับปัจจุบันถึง 55% เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นแนวทางที่มีผลต่อต้นทุนน้อยที่สุดอีกด้วย ที่สำคัญการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกจะต้องแตะระดับสูงสุดภายในปี 2020 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่กำหนดไว้

“หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ลดลงภายในปี 2030 การที่จะลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสก็ไม่บรรลุผล”

ที่มาภาพ: Emissions Gap Report 2018

โปแลนด์เสนอร่างปฏิญญา E-mobility

ก่อนหน้านี้เว็บไซต์การประชุม COP24 ได้รายงานสรุปผลการประชุมสัปดาห์แรกจากการแถลงข่าวของนายมีเคล กูร์ตีกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมโปแลนด์ ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม COP24 รวมกับนางแพททริเซีย เอสพิโนซา เลขาธิการ UNFCCC

การแถลงข่าวของนาย มีเคล กูร์ตีกา ประธานการประชุม COP24
รวมกับนางแพททรีเซีย เอสพิโนซา เลขาธิการ UNFCCC ที่มาภาพ: https://cop24.gov.pl/news/news-details/news/president-of-cop24-we-are-closing-the-week-of-technical-negotiations/

นายกูร์ตีกากล่าวว่า การประชุม COP 24 มาได้ครึ่งทางแล้ว ซึ่งเป็นสัปดาห์แห่งการเจรจาด้านเทคนิค แต่มีความคืบหน้าเพราะตระหนักถึงความเร่งด่วน โดยที่ประชุมให้การยอมรับร่างปฏิญญาซิเลเซียว่าด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Solidarity and Just Transition Silesia Declaration) และความริเริ่ม Driving Change Together – Katowice Partnership for E-mobility ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศ

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังได้ประกาศเพิ่มเงินสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2 เท่าเป็น 200 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการประชุม COP 24 ที่ถกเถียงในประเด็นปัญหาการขาดเงินทุนสนับสนุน

เลขาธิการ UNFCCC กล่าวว่า การประชุมมีสัญญานที่ดีหลายด้าน โดยได้เห็นอย่างชัดเจนถึงการสนับสนุนทางการเงินต่อกองทุน Green Climate Fund เช่น เยอรมนีเพิ่มเงินสมทบเป็น 2 เท่า ขณะที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาหลายแห่งประกาศที่จะปรับแนวทางการลงทุนให้สอดคล้องกับข้อตกลงปารีสมากขึ้น

ในสัปดาห์แรกของการประชุม โปแลนด์ประเทศเจ้าภาพกับสหราชอาณาจักร ร่วมกันเสนอร่างปฏิญญา Driving Change Together – Katowice Partnership for E-mobility เพื่อส่งเสริมการขนส่งที่ใช้พลังงานฟ้า ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ได้รับการตอบสนองทางบวกจากผู้เข้าร่วมประชุมหลายประเทศ โดยมี 40 ประเทศลงนามรับความริเริ่มนี้

ร่างปฏิญญา Driving Change Together ยังมีเป้าหมายที่จะเป็นหัวข้อของการหารือในการประชุม COP ครั้งต่อไป รวมทั้งเป็นการสร้างพันธมิตรนานาชาติทั้งระดับองค์กร รัฐบาลท้องถิ่น และระดับเมืองในการทำงานด้านรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยกระแสไฟฟ้า และตั้งเป้าที่จะประชุมร่วมกันทุกปี

โปแลนด์เองประกาศว่าจะใช้เงินราว 3-4 พันล้านยูโร หรือราว 3.4-4.5 พันล้านดอลลาร์ ลงทุนกับการขนส่งสาธารณที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ รวมทั้งซื้อรถเมล์ไฟฟ้าจำนวน 1,000 คัน

นอกจากนี้โปแลนด์ยังได้ตกลงเข้าร่วมเป็นภาคี UN Global Compact ซึ่งเป็นประเทศแรกในยุโรปกลางที่เข้าร่วม

นายมีเคล กูร์ตีกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมโปแลนด์ กับรถยนต์ไฟฟ้าที่นำมาโชว์ในพาวิเลียนด้านหน้าที่ประชุม ที่มาภาพ: https://cop24.gov.pl/news/news-details/news/driving-change-together0/#prettyPhoto

ภาคการขนส่งเป็นภาคที่มีส่วนต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกอย่างมาก จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องผลักดันการขนส่งที่ใช้พลังงงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้ รายงานภาคการขนส่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในสัดส่วน 1 ใน 4 ของปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งโลก หรือราว 8 กิกะตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 70% จาก 30 ปีก่อน ซึ่งรายงาน Global Warming of 1.5°C ของ IPCC ประเมินว่าปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ใช้รถยนต์โดยสารจำนวนกว่า 1 พันล้านคันบนท้องถนน และหากไม่ดำเนินการเร่งด่วนภายในปี 2040 จำนวนรถยนต์จะเพิ่มขึ้น 2 เท่า

เลขาธิการสหประชาชาติ นายอันโตนิโอ กัวเตอร์เรส สนับสนุนร่างปฏิญญา Driving Change Together โดยกล่าวว่า เป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่ระบบการขนส่งที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนสนับสนุน การเพิ่มจำนวนรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าจะกระตุ้นความต้องการการใช้กระแสไฟฟ้า ซึ่งก็จะมีผลต่อเนื่องไปยังทุกส่วนของระบบพลังงาน โดยเฉพาะในช่วงที่ความต้องการใช้สูงสุด และหากระบบขนส่งใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ก็จะยิ่งสร้างปัญหามากขึ้นแทนที่จะแก้ปัญหา

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ขึ้น การลงทุนผลิตไฟฟ้าต้องมุ่งไปที่พลังงานทางเลือก ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งต้องมีระบบซัพพลายเชนที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าก็มีโอกาสอย่างมาก เพียงต้องจัดการกับช่วงเปลี่ยนผ่านให้ดี เพื่อให้ได้ผลสูงสุดตามที่วางไว้

นายกัวเตอร์เรสกล่าวว่า หลายประเทศกำลังวางกรอบนโยบายเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขนส่งที่ยั่งยืน จำนวนประเทศที่ประกาศแผนลดการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันลดลง และหันไปสู่รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

อียูเพิ่มการใช้พลังงานทางเลือกแต่ถ่านหินยังอยู่

นอกจากการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) ได้ลงนามในคำสั่งแนวปฏิบัติเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกและการใช้พลังงานอย่างเต็มประสิทธิภาพที่ปรับปรุงใหม่ โดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2030 พลังงานทางเลือกจะมีสัดส่วน 32% ของการใช้พลังงานโดยรวมในสหภายุโรป ซึ่งเป็นการปรับขึ้นจาก 27% เป้าหมายเดิม

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหม่ที่ปรับขึ้น คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปจะลดอัตราค่าบริการและค่าธรรมเนียมของการผลิตกระแสไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปและจะสนับสนุนให้มากขึ้น และเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างเต็มประสิทธิภาพจะประหยัดการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 0.8% ต่อปีช่วงปี 2021-2030 จนแตะเป้าหมาย 32.5% ในปี 2030 รวมทั้งจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือกกับภาคการขนส่งเป็น 14%

การดำเนินการครั้งนี้ของสหภาพยุโรปอาจจะเป็นสิ่งท้าทายประเทศอื่นๆ ที่ต้องทบทวนและเพิ่มความตั้งใจมุ่งมั่นให้ได้ตามข้อตกลงปารีสก่อนปี 2020 แม้มีหลายประเทศ เช่น แคนาดา ที่เปิดเผยว่าได้ดำเนินการแล้ว

การประชุมในสัปดาห์แรกหัวข้อที่เกี่ยวกับถ่านหินมีจำนวนมาก โดยมีบางกลุ่มสนับสนุนการใช้ถ่านหินต่อไป เช่น Heartland Institute and Solidarity สหภาพการค้าของโปแลนด์ ประกาศไม่ยอมรับความเห็นที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและไม่สนับสนุนให้ยกเลิกการใช้ถ่านหินในฐานะแหล่งพลังงาน

ประธานาธิบดี Andrzej Duda แห่งโปแลนด์กล่าวในการเปิดประชุม COP24 ว่า ตราบใดที่ยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบจะไม่ยอมให้ใครมาทำลายเหมืองถ่านหิน

ขณะเดียวกันสหรัฐฯ เองก็สนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยให้เหตุผลว่าสามารถใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างสะอาดและใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้

เรียกร้องธุรกิจตั้งเป้าเพิ่ม

Lise Kingo เลขาธิการ UN Global Compact กล่าวเรียกร้องให้ภาคธุรกิจตั้งเป้าหมายบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเพิ่มความมุ่งมั่นในการลดการเพิ่มอุณหภูมิโลกมากขึ้น เพราะเป็นแนวทางเดียวที่จะบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสและเป้าหมายความยั่งยืนในปี 2030 ได้ ทั้งนี้ UN Global Compact มีภาคีเครือข่ายว่า 9,500 รายทั้งธุรกิจเอกชนขนาดเล็กและขนาดใหญ่

UN Global Compact มีข้อมูลว่า เกือบครึ่งหนึ่งของบริษัทใน Fortune 500 ตั้งเป้าลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในปี 2016 มี 190 บริษัทในกลุ่มนี้สามารถประหยัดเงินได้ 3.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง

ระหว่างการประชุม มีบริษัทแฟชั่นชั้นนำจำนวน 24 แห่ง เช่น Adidas Esprit Guess Gap Hugo Boss H&M Levi Strauss&CO., Puma เป็นต้น ได้ร่วมลงนามใน Fashion Industry Charter for Climate Action ซึ่งสอดคล้องกับข้อตกลงปารีส โดยมีเป้าหมายที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับศูนย์ในปี 2050 พร้อมระบุประเด็นที่ต้องจัดการในทุกขั้นของการผลิต ที่รวมไปถึงการใช้วัสดุที่สร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ขนส่งด้วยระบบขนส่งที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ การสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภค

ทางด้านกลุ่มธุรกิจอื่นนั้น บริษัท โรยัล ดัทช์ เชลล์ ยกเลิกการประกาศแผนความตั้งใจใหม่ แต่ให้คำมั่นว่าจะกำหนดเป้าหมายระยะสั้นแทน โดยผูกเป้าหมายไปกับผลตอบแทนของผู้บริหาร เพราะเชื่อว่าการตั้งเป้านี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ทั้งนี้ เชลล์เป็นบริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดเป็นอันดับ 9 ของโลกในปี 2015

สำหรับบริษัทใหญ่รายอื่นกำลังเข้าไปสู่การใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เช่น นิวโมชั่น จีไอเอ็นเนอร์จี้

แนวคิดและความมุ่งมั่นของหลายประเทศ

ธนาคารโลกเผยแพร่รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ รวบรวมแนวคิดและความตั้งใจของหลายประเทศและเมืองในการหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ได้แก่

  • สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส วางแผนที่จะห้ามการจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินหรือดีเซลในปี 2040 และขณะนี้กำลังหารือร่วมกันในประเทศจีน
  • เกาหลีใต้วางเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 5% จากภาคการขนส่งภายในปี 2050 และวางแผนที่จะป้อนรถยนต์ไฟฟ้าสู่ระบบจำนวน 1 ล้านคันภายใน 2 ปี
  • กรุงกีโต เมืองหลวงของเอกวาดอร์ กำลังหันมาใช้รถเมล์ไฟฟ้า

  • อินเดียกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะมีรถยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วน 15% ของรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2023

    รถยนต์ไฟฟ้าคันแรกของโลกเผยโฉมมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1900 และยอดขายสูงสุดปี 1910 แต่ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีไม่ก้าวหน้ามาก ประกอบกับมีการขุดพบน้ำมันจำนวนมหาศาล ทำให้มีการผลิตรถยนต์ที่ใช้ระบบสันดาปเครื่องยนต์มากกว่า

  • WHO เปิดข้อมูลอากาศเสียคร่าชีวิตคน 7 ล้านต่อปี

    ทางด้านองค์กรอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) นำเสนอรายงานผลของการใช้พลังงานฟอสซิลต่อสุขอนามัยของคนในที่ประชุมว่า เมื่อเกิดการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลในรถยนต์ ทั้งน้ำมันถ่านหินและก๊าซ จะทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ และกระทบต่อสุขอนามัยของคน

    มลภาวะทางอากาศคือสาเหตุสำคัญอันดับสี่ที่มีผลต่อการเสียชีวิตของคนทั่วโลก โดยมีคนเสียชีวิตจากสาเหตุนี้ราว 7 ล้านคนต่อปี ซึ่งมีผลต่องบประมาณด้านสวัสดิการ 5.11 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วโลก และในประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด 15 อันดับแรก ผลจากมลภาวะทางอากาศต่อสุขภาพคิดเป็นราว 4% ของจีดีพี แต่หากมีการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ลดการเพิ่มอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียล ก็จะรักษาชีวิตคนได้หลายล้านคน และกระทบจีดีพีเพียง 1%

    Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus เลขาธิการ WHO กล่าวว่า ข้อตกลงปารีสคือข้อตกลงด้านสุขอนามัยที่เข้มแข็งที่สุดในศตวรรษนี้ และมีข้อมูลหลักฐานชัดเจนแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อชีวิตผู้คนมากแค่ไหน โดยพื้นฐานการดำรงชีวิตและมีสุขอนามัยที่ดี มนุษย์ต้องการอากาศสะอาด น้ำดื่มปลอดภัย อาหารที่เพียงพอ และที่พักอาศัย

    รายงาน COP24 Special Report Health&Climate Change ของ WHO มีข้อมูลว่า การมีสุขภาพที่ดีมีผลดีต่อเศรษฐกิจถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับต้นทุนที่ในการลดภาวะโลกร้อนและการแก้ไขมลภาวะทางอากาศ รวมทั้งผลตอบแทนจากการลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็สูงขึ้น ดังจะเห็นจากจีนและอินเดีย

    WHO เสนอแนะให้หันมาใช้พลังงานที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น เพราะไม่เพียงลดมลภาวะทางอากาศ แต่เป็นโอกาสที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพให้ดีขึ้น เช่น การหันมาใช้จักรยาน ซึ่งต้องมีการดำเนินการในระดับนโยบาย ส่งเสริมให้ผู้นำระดับเมืองตระหนักถึงความสำคัญ รวมทั้งมีการลงทุน และใช้พลังชุมชน พลังประชาชนให้เป็นแบบอย่างในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    ที่มาภาพ: https://news.un.org/en/story/2018/12/1027661

    15 องค์กรระหว่างประเทศประกาศจุดยืนปล่อยก๊าซเท่ากับศูนย์

    เว็บไซต์ cleantechnica รายงานว่า องค์กรระหว่างประเทศ 15 แห่งซึ่งรวมถึงธนาคารเพื่อการพัฒนา 6 แห่งด้วย ได้ใช้เวทีการประชุม COP24 ประกาศจุดยืนว่า ในการปฏิบัติของทุกองค์กรจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับศูนย์ (carbon neutrality) โดยในทุกกิจกรรมขององค์กรจะมีวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเท่าที่จะทำได้ และหากหลีกเลี่ยงไม่ได้จะชดเชยด้วยมาตรการคาร์บอนเครดิต

    ทั้ง 15 องค์กรมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์รวมกัน 2 ล้านตันต่อปีจากการปฏิบัติงานของพนักงานที่มีร่วมกันกว่า 5,000 คน ซึ่งในบรรดา 15 องค์กรนี้มีบางแห่งประสบความสำเร็จในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ และบางองค์กรได้เพิ่มความมุ่งมั่นเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น และหวังว่าจะเป็นตัวอย่างกระตุ้นให้องค์กรอื่นๆ ทำตาม

    องค์กรทั้ง 15 แห่งนี้จะนำกลไกหลายอย่างมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เช่น การติดตั้งแผงวงจรโซลาร์ ยกระดับระบบการกันความร้อนของอาคาร และระบบไฟ ลดการใช้กระดาษ ติดตั้งระบบปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพ และมาตรการอื่นที่มีผลต่อสังคม เช่น การเดินทางด้วยรถยนต์ การเดินทางโดยเครื่องบิน

    การประกาศจุดยืนขององค์กรระหว่างประเทศนี้ส่วนหนึ่งได้รับบันดาลใจจากหน่วยงานของ UN ที่ครึ่งหนึ่งได้เริ่มใช้แนวทาง Carbon Neutrality มาตั้งแต่ปี 2007 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายปี 2020 ปัจจุบันหน่วยงานของ UN มากกว่าครึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์หรือราว 39% ของการปล่อยก๊าซของ UN ทั้งหมด ที่รวมถึงสำนักงานใหญ่ของ UN ที่ประสบความสำเร็จในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในปีนี้

    โดยทั้ง 15 องค์กร ได้แก่ สำนักเลขานุการ OECD (Organization for Economic Cooperation and Development Secretariat), สำนักเลขานุการ ตลาดร่วมแห่งภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ (Common Market of Eastern and Southern Africa: COMESA), ธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกาตะวันออก (Eastern Africa Development Bank: EADB), ธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกาตะวันตก (Western Africa Development Bank: BOAD), ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB), Pacific Community, ICLEI-Local Governments for Sustainability, ธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป (European Investment Bank: EIB), ธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนายุโรป (European Bank for Reconstruction and Development: EBRD), สำนักเลขานุการประชาคมเพื่อการพัฒนาแอฟริกาใต้ (Southern African Development Community: SADC), Inter-American Development Bank (IDB), คณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (International Paralympic Committee: IPC), Latin American Energy Organization (OLADE), สภาการเดินทางและท่องเที่ยวโลก (World Travel & Tourism Council: WTTC)

    เรียบเรียงจาก cleantechnica,new.un.org,lifegate,independent