ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > ผู้ว่าแบงก์ชาติมองการธนาคารเพื่อความยั่งยืน…กับการปฏิบัติดีต่อสังคม

ผู้ว่าแบงก์ชาติมองการธนาคารเพื่อความยั่งยืน…กับการปฏิบัติดีต่อสังคม

12 พฤศจิกายน 2018


นิตยสาร BOT พระสยาม MAGAZINE ของธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับเดือนกันยายน-ตุลาคม 2561 คอลัมน์ Conversation with the Governor “ดร.วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ให้สัมภาษณ์ ว่าด้วยความยั่งยืนกับภาคธุรกิจ พร้อมทั้งฉายภาพพัฒนาการของแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคสถาบันการเงินของไทย ผ่านหัวข้อ “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” โดย นางสาวเพ็ญศรี สุธีรศานต์ ผู้อำนวยการสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าขอนำรายละเอียดมานำเสนออีกครั้งดังนี้

ภาคธุรกิจกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เพ็ญศรี: เมื่อพูดถึงความยั่งยืน คนส่วนใหญ่อาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกี่ยวกับบทบาทภาคธุรกิจ ไม่ทราบว่าท่านผู้ว่าฯ มีความเห็นเกี่ยวกับภาคธุรกิจกับความยั่งยืนอย่างไร?

ดร.วิรไท: เราได้ยินเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนบ่อยขึ้น สหประชาชาติ (UN) ก็ประกาศเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ที่ประเทศทั่วโลกให้ความสนใจและสมัครเข้าร่วมเป็นภาคี สำหรับประเทศไทยการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ผมคิดว่าคนไทยโชคดีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงงานเป็นตัวอย่างในหลายมิติมากที่เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ถ้าดูหลักคิดสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลักคิดใหญ่ของสหประชาชาติ ก็คือการพัฒนาที่ต้องไม่ไปก้าวล่วงเอาทรัพยากร เอาความอยู่ดีกินดีของคนรุ่นต่อไปมาใช้ประโยชน์ คือเป็นการพัฒนาที่จะต้องมองไกล และไม่เบียดเบียนคนรุ่นต่อไป ซึ่งตรงกับ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานให้คนไทยมาหลายสิบปีแล้ว

ทำอย่างไรที่การพัฒนาหรือการใช้ชีวิตของพวกเราทุกคน จะเป็นการใช้ชีวิตและพัฒนาที่อยู่บนหลักของความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล มีภูมิคุ้มกันที่ดี ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการพัฒนาที่ไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น รวมถึงการไม่เบียดเบียนตัวเองด้วย

แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่สำคัญมากในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ปัญหาโลกร้อน ภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาภูมิอากาศที่ร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาที่เป็นผลข้างเคียงจากการพัฒนาที่คำนึงถึงแต่ผลตอบแทนระยะสั้น พยายามทำให้ตัวเลขผลกำไรของบริษัทดีขึ้นในช่วงสั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงผลข้างเคียงในระยะยาว

เพ็ญศรี: ผู้ว่าฯ พูดให้เห็นภาพว่าจริงๆ แล้วเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ใช่เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะภาคธุรกิจเป็นหนึ่งในส่วนที่ใช้ทรัพยากรเยอะ ใช้ทุนก็เยอะ พอพูดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน บทบาทภาคธุรกิจ ณ วันนี้ มันน่าจะมาจากจิตใต้สำนึกค่อนข้างเยอะใช่ไหม

ดร.วิรไท: ใช่ครับ เพราะภาคธุรกิจเป็นกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ผลข้างเคียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการทำธุรกิจ เพราะฉะนั้นภาคธุรกิจก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่จะต้องมาสนใจเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ การแก้ปัญหาเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อจะให้ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระยะยาว เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยทักษะการบริหารจัดการ ต้องมีทรัพยากรทุน ทรัพยากรความรู้ ซึ่งชัดเจนมากว่าภาคธุรกิจเป็นกลุ่มคนที่มีทักษะและความพร้อมในเรื่องเหล่านี้

แต่เดิมภาคธุรกิจมีแนวคิดแบบดั้งเดิมคือการปฏิบัติดีต่อสังคม เราได้ยินเรื่อง Corporate Social Responsibility หรือ CSR ต้องจ่ายงบประมาณไปช่วยเรื่อง CSR ในรูปแบบของการบริจาคหรือทำการกุศล แต่การดำเนินธุรกิจยังสร้างผลข้างเคียงให้กับสังคม เพราะฉะนั้นการทำ CSR อาจจะเป็นพื้นฐานขั้นอนุบาลหรือประถมของการที่บอกว่าภาคธุรกิจจะมีบทบาทในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเรื่องสำคัญคือจะต้องมาอยู่ในวิธีการทำธุรกิจของภาคธุรกิจ มาอยู่ใน DNA ของการทำธุรกิจ ในวัฒนธรรมองค์กร

ในทางกลับกัน ถ้าภาคธุรกิจไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ จะเจอปัญหาอะไรบ้าง อย่างแรกเลยคือปัญหาความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ขององค์กร (Strategic Risk) หรือความเสี่ยงในการปฏิบัติการขององค์กร (Operational Risk) ด้วยก็ได้ ยิ่งในโลกปัจจุบันที่คนตื่นตัวกันมากขึ้นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม การทำดีต่อสังคม มาตรฐานการทำธุรกิจก็จะสูงขึ้นจากความคาดหวังของสังคม ไม่ใช่แค่มาตรฐานตามกฎเกณฑ์หรือกฎหมายจากภาครัฐ แต่มาจากการยอมรับของสังคม

เพราะฉะนั้น เรื่องการบริหารจัดการ เรื่องกลยุทธ์องค์กร เรื่องกระบวนการปฏิบัติงานขององค์กร จะต้องให้ความสำคัญกับการนำเรื่องการปฏิบัติดีต่อสังคมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ ซึ่งธุรกิจไหนที่ตระหนักก่อน ปรับตัวก่อน ก็จะได้เปรียบและเป็น “ผู้นำ” และจะกลายเป็นคนกำหนดมาตรฐานใหม่ด้วย แต่ธุรกิจไหนก็ตามที่ยังไม่สนใจ ยังสนใจการทำธุรกิจแบบเดิม มองเป็นเรื่องไกลตัว อีกนานกว่าจะมาถึง เมื่อถึงการเปลี่ยนกฎเกณฑ์หรือพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ก็จะตกอยู่ในฝ่ายตั้งรับ จะปรับตัวไม่ทัน และจะสร้างปัญหา

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ธุรกิจชนะ สังคมก็วัฒนา

เพ็ญศรี: เมื่อพูดถึงการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน หลายคนคิดว่าอาจจะทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น ท่านผู้ว่าฯ มีความเห็นอย่างไร มันจะคุ้มกันไหม?

ดร.วิรไท: ต้องตั้งคำถามอีกด้านหนึ่งว่า ถ้าไม่ทำ มันก็มีต้นทุนแฝงที่ธุรกิจต้องเผชิญอยู่ เพราะฉะนั้นเรื่องความยั่งยืนต้องเริ่มจากการมองไกล มองให้ยาว และมองแบบเข้าใจองค์รวม ว่าทุกอย่างที่เราทำมันมีความเชื่อมโยงไปสู่เรื่องอื่นๆ ในปัจจุบัน และเชื่อมโยงไปสู่เรื่องของเราเองในอนาคตด้วย ถ้าเรามองไกลจะเห็นเลยว่าสิ่งที่เรามองว่าเป็นต้นทุนที่สูงขึ้น ณ ขณะนี้ ถ้าเราไม่บริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ มันก็จะกลายเป็นต้นทุนของเราในอนาคต ซึ่งอาจจะเพิ่มมากขึ้นอีก

อีกมิติหนึ่งที่เห็นประโยชน์ของการที่ธุรกิจจะมาให้ความสนใจเรื่องความยั่งยืนก็คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ประเทศไทยอาจจะอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น แต่ทั่วโลกจะมีกองทุนที่ลงทุนเฉพาะในธุรกิจที่ให้ความสนใจกับเรื่องความยั่งยืน หรือปฏิบัติตามหลักการความยั่งยืน เช่น กองทุนที่สอดคล้องกับ Sustainability Practices กองทุนที่ทำเรื่อง Corporate Governance หรือกองทุนที่เป็นเรื่อง Environmental Concern สนใจสิ่งแวดล้อม

เพราะฉะนั้น ถ้าไปดูการจัดสรรทุนในระบบการเงินโลก จะมีเงินกองทุนที่ถูกกำหนดว่าจะไปลงทุนได้ หรือไปซื้อตราสารได้เฉพาะบริษัทที่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาเหล่านี้เท่านั้น และหลายบริษัทในต่างประเทศกึ่งออกกฎบังคับด้วยซ้ำไปว่า นอกจากจะเปิดเผยข้อมูลเรื่องการเงินแล้ว จะต้องเปิดเผยข้อมูลของการทำธุรกิจที่มีผลกระทบกับสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งเป็นแนวทางที่จะออกมาเรื่อยๆ

มุมมองของนักลงทุน มุมมองของลูกค้าในระบบเศรษฐกิจโลก เขาก้าวนำไปแล้ว เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ธุรกิจไทยต้องตระหนักเรื่องเหล่านี้ ถ้าไม่ตระหนัก ต้นทุนของทุนเราก็จะแพงขึ้น เวลาที่จำเป็นต้องระดมทุนใหม่ ก็จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประโยชน์สำคัญมากๆ ซึ่งเป็นข้อคิดที่ได้จากการคุยกับบริษัทใหญ่ๆ ในต่างประเทศ และเริ่มมีผลกับบริษัทไทยบ้างแล้ว คือเขาบอกว่าเวลาที่เราอยากจะรับสมัครผู้บริหารคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงาน เขาไม่ได้คาดหวังแค่ว่าบริษัทมีผลประกอบการอย่างไร แต่คนจะให้ความสำคัญมากขึ้นว่าบริษัทที่เขาจะไปทำงานมีวิธีการทำธุรกิจที่จะมีผลบวกและผลลบต่อสังคมอย่างไรบ้าง สำหรับคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากขึ้น

เพราะถ้าเป็นคนเก่ง จบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยดีๆ แต่ละบริษัทที่จะเสนอผลตอบแทนให้ไม่ค่อยต่างกัน เงินเดือนก็จะใกล้เคียงกัน ผลตอบแทนใกล้เคียงกัน แต่มันจะไปเฉือนตัดสินกันตรงที่เขาจะเป็นคนเลือกว่าบริษัทที่เขาอยากทำงานด้วยเป็นบริษัทที่มีแนวปฏิบัติที่ดีกับสังคมมั้ย สอดคล้องกับหลักการเรื่องความยั่งยืนหรือเปล่า

ถ้าคิดแบบนี้ได้จะไม่ได้มองว่าเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หรือเป็นเรื่องที่ต้องทำตามกฎหมายเท่านั้น แต่เป็นเรื่อง “ชนะด้วยกัน” (Win-Win) สังคมก็ชนะ ธุรกิจก็จะชนะ ผมพยายามคิดคำภาษาไทยที่สะท้อนแนวคิดเรื่อง Sustainability ในภาคธุรกิจ ซึ่งผมคิดว่าเรื่องสำคัญมันกลับมาอยู่ที่ว่าเป็น Win-Win “ธุรกิจก็ชนะ สังคมก็วัฒนา”

ธปท. กับการขับเคลื่อนการธนาคารเพื่อความยั่งยืน

เพ็ญศรี: ตอนนี้อีกคำที่พูดกันเยอะคือ “Responsible Business” ธปท. ในฐานะธนาคารกลางที่กำกับดูแลภาคการธนาคาร มีแนวทางในการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างไร?

ดร.วิรไท: เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดงาน “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” (Sustainable Banking) เพราะเราตระหนักว่าธนาคารไทย ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย สถาบันการเงินในประเทศไทย อาจจะยังไม่ได้คุ้นกับหลักคิดเรื่องพวกนี้มากนัก และยังไม่ได้นำมารวมอยู่ในวิธีการทำธุรกิจมากนัก

ยกตัวอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม ธนาคารพาณิชย์เป็นคนจัดสรรเงินทุน ธุรกิจอะไรก็ตามที่ทำโครงการใหญ่ๆ ก็ต้องมาขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ เพราะฉะนั้นธนาคารพาณิชย์สามารถจะมีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานที่ควรจะเป็นในเรื่องการทำธุรกิจของลูกหนี้ที่ไม่ไปส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เพราะเราเห็นหลายโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่คำนึงถึงเรื่องพวกนี้เท่าที่ควร พอเริ่มทำ เริ่มก่อสร้าง เริ่มดำเนินการผลิต แล้วสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โครงการเหล่านี้จะถูกหยุด ไม่ว่าจะถูกหยุดโดยหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานทางกฎหมาย หรือประชาชนที่อยู่รอบข้างไม่ประสงค์ให้โครงการเหล่านี้ดำเนินงานต่อได้ ก็กลายเป็นความเสี่ยงด้านสินเชื่อกลับมาที่สถาบันการเงิน

เพราะฉะนั้น ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ในโลกที่มาตรฐานของสังคม มาตรฐานด้านกฎเกณฑ์กติกาที่จะปรับสูงขึ้น ทำยังไงที่สถาบันการเงินจะต้อง Internalize เรื่องพวกนี้เข้ามาอยู่ในวิธีการทำงานของสถาบันการเงิน จะต้องเอาเข้ามาอยู่ในหลักคิด วิธีคิด มาอยู่ในเรื่องการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน

จะเห็นได้ชัดว่าในสถาบันการเงินชั้นนำของโลกหลายแห่ง มีการจ้างวิศกรสิ่งแวดล้อมมาเป็นพนักงานของสถาบันการเงิน มีท่านหนึ่งมาจากธนาคารพาณิชย์ใหญ่ของโลกที่เราเชิญมาพูดให้ฟัง เขาบอกว่าไม่ได้เป็นนายธนาคาร แต่เป็นวิศกรที่มาทำงานให้ธนาคาร คอยกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสม มาดูความเสี่ยงในเรื่องสิ่งแวดล้อมของโครงการใหญ่ๆ ที่ขอกู้เงิน และหาทางทำงานร่วมกับลูกหนี้ว่าถ้าธนาคารจะปล่อยกู้แล้วมีความเสี่ยงเรื่องสิ่งแวดล้อม จะบริหารความเสี่ยงอย่างไร นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าธนาคารพาณิชย์ที่เป็นผู้จัดสรรทุนสามารถมีบทบาทที่จะช่วยให้ธุรกิจของลูกหนี้ดีขึ้น ธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ก็มีความเสี่ยงลดลง และสังคมก็ดีขึ้นด้วย

ส่วนเรื่อง Responsible Business ที่คุณเพ็ญศรีพูดถึง หรือการทำธุรกิจด้วยความรับผิดรับชอบ เมื่อดูในภาคการเงินก็จะมีอีกคำหนึ่งเรียกว่า “Responsible Lending” การปล่อยกู้ด้วยความรับผิดรับชอบ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเรื่องหนึ่งคือปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศไทย ที่คนไทยมีหนี้อยู่ในระดับสูง เป็นหนี้เร็วตั้งแต่เด็กหรือใกล้เกษียณอายุก็ยังมีหนี้สูง และมีอัตราการเป็นหนี้เสีย (NPL) ที่สูงด้วย

เรื่องนี้สะท้อนไปสู่ความยั่งยืนในระดับครัวเรือน ในระดับครอบครัว ถ้าเกิดคนรุ่นใหม่หรือคนวัยทำงานไม่มีความมั่นคงด้านการเงิน และเมื่อเขาต้องพึ่งตัวเองมากขึ้นในวัยเกษียณอายุ ในสังคมผู้สูงอายุ ก็จะสร้างปัญหาในระยะยาว

ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้หารือกับธนาคารพาณิชย์ว่าควรจะต้องกลับมาดูกฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลหรือสินเชื่อบัตรเครดิตที่เราแข่งขันกันจนเกินควร และบางครั้งไม่ได้ให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ผู้กู้เงินหรือผู้ใช้บัตรเครดิตไม่ทราบหน้าที่ความรับผิดชอบ ไม่ทราบวิธีการคิดดอกเบี้ย บางทีใช้ไปแล้วกลายเป็นดอกเบี้ยทบต้นไปเรื่อยๆ ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูง

เราก็เลยมานั่งทบทวนกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีรายได้น้อย คนที่เริ่มทำงานใหม่ๆ ที่จะต้องมีหลักคิดในเรื่องพวกนี้มากขึ้น สถาบันการเงินก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น ต้องโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งก็นำมาสู่การให้ความรู้ความเข้าใจทางการเงินที่ถูกต้อง โดยในส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ก็ทำหลายเรื่องที่จะส่งเสริมเรื่องความรู้ทางการเงิน และเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าสมาคมธนาคารไทยก็เห็นความสำคัญกับเรื่องนี้

อีกเรื่องหนึ่งสำคัญที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกเป็นไกด์ไลน์ไปคือเรื่อง “Market Conduct” คือวิธีการขายบริการทางการเงินหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ต้องให้แน่ใจว่าประชาชนจะได้รับการคุ้มครองและการดูแลอย่างเหมาะสม จากเมื่อก่อนที่เราเคยได้ยินเรื่องขายพ่วงบ้าง ขายแบบบอกไม่ครบบ้าง เรื่องพวกนี้เราถือเป็นเรื่องสำคัญ จึงมีการออกเกณฑ์กติกา ก็เป็นที่น่ายินดีว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เรื่องร้องเรียนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับ น้อยลงตามลำดับ

อีกเรื่องหนึ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมทำกับสมาคมธนาคารไทยคือตั้ง “คลินิกแก้หนี้” เพราะเราเห็นว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เป็นหนี้เสียกับหลายสถาบันการเงิน มันพอกพูนและไม่มีทางออก ก็เลยตั้งเป็นคลินิกแก้หนี้ขึ้นมา เป็นเรื่องที่หลายสถาบันการเงินมาตกลงร่วมกันตั้งแต่ต้น มีวิธีคำนวณที่ชัดเจน ดูความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย

โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มทำ และขอให้บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จํากัด (SAM) มาเป็นตัวกลางให้ ซึ่งวันนี้มีประชาชนกว่า 700 รายที่ผ่านการปรับโครงสร้างนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคลกับทุกธนาคารพาณิชย์ ก็ไปที่ SAM แล้วสามารถที่จะตกลงล่วงหน้า แล้วยืดหนี้ออกไป 5 ปี 7 ปี เพื่อแก้ปัญหาของคนที่มีหนี้เกินตัว เรื่องพวกนี้พอเรามาทำงานด้วยกันก็จะเห็นชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำให้เกิด Win-Win ชนะด้วยกันได้

ภาคการเงินกับการลดปัญหาคอร์รัปชัน

เพ็ญศรี: หนึ่งในปัญหาสำคัญที่สร้างความเสียหายกับสังคมไทยอย่างมากคือปัญหาคอร์รัปชัน ตรงนี้ สถาบันการเงินสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการลดหรือแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง

ดร.วิรไท: ปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่สะสมมานานในสังคมไทย และปฏิเสธไม่ได้ว่าเส้นทางการเงินของการคอร์รัปชันก็จ่ายผ่านระบบสถาบันการเงิน แต่ก็นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สถาบันการเงินไทยเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และพยายามจะยกระดับมาตรฐานเรื่องนี้ขึ้นมา

เมื่อสักครู่เราพูดถึงโครงการใหญ่ๆ แต่เรื่องเล็กๆ เราก็เห็นข่าวอยู่ เช่น การโกงเงินสวัสดิการที่ให้กับประชาชน ซึ่งเมื่อก่อนจะจ่ายเป็นเงินสด สามารถรั่วไหลได้ตลอดทาง ตรวจสอบไม่ได้ แต่การที่เราพัฒนาการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ อย่างพร้อมเพย์ (PromptPay) ขึ้นมา หรือการที่กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารบางแห่งเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำเรื่องกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ให้กับประชาชนฐานราก ทำให้สวัสดิการทั้งหมดสามารถวิ่งตรงไปเข้าบัญชีของประชาชนได้ทันที

นี่เป็นตัวอย่างที่สำคัญที่แสดงให้เห็นว่าสถาบันการเงินมีส่วนช่วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการเงินของประเทศที่เข้าถึงประชาชนรายย่อย ใช้เป็นกลไกสำคัญในการจ่ายเงินสวัสดิการจากภาครัฐลงไปสู่ประชาชน

เพ็ญศรี: อีกเรื่องหนึ่งของเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือ ปัจจุบันผลกระทบจากเทคโนโลยีมีบทบาทกับสถาบันการเงินค่อนข้างเยอะ สถาบันการเงินต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะใช่ไหม

ดร.วิรไท: ใช่ครับ อาจจะเรียกว่าเป็นทั้งความท้าทายและโอกาส เวลามีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา สถาบันการเงินก็สามารถใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ลดต้นทุนการดำเนินการได้ค่อนข้างมาก และช่วยลดปัญหาผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น ลดการใช้กระดาษ

เพ็ญศรี: ต้นทุนต่างๆ ที่ลดลงจะทำให้ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการทางการเงินได้ประโชน์ไปด้วยไหมคะ

ดร.วิรไท: ถ้ามองแค่ช่วงสั้นๆ สถาบันการเงินก็อาจมองว่าเขาสูญเสียรายได้ปีละเป็นหมื่นล้านบาทจากค่าธรรมเนียมที่หายไป แต่ถ้ามองไปในระยะยาวร่วมกันว่าวันนี้มันมีต้นทุนที่สูงมากสำหรับการทำธุรกิจกรรมที่เป็นเงินสด และเป็นต้นทุนสำหรับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะสถาบันการเงิน

ถ้าเราช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างต้นทุน ด้วยระบบบริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ มองไปให้ไกล มันจะสามารถต่อยอดบริการใหม่ๆ ได้อีกมากที่จะเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ถ้าเรามองไกลถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ค่าธรรมเนียมที่เสียไปแต่ละปีมันเป็นเรื่องเล็ก เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

เพราะฉะนั้นก็จะกลับมาเรื่องแรกที่เราคุยกันว่า การที่จะทำให้ธุรกิจตระหนักเรื่องของความยั่งยืน ต้องเริ่มจากการมองไกล มองไปให้ถึงสิ่งที่เราอยากจะให้เห็น ปัญหาสังคมที่เราอยากจะแก้ และความท้าทายของธุรกิจในระยะยาว รวมทั้งมองแบบเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ เพื่อจะทำให้เกิดพลังในการที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน

ที่เราคุยได้กันมาจะเห็นชัดเจนว่ามีอีกหลายเรื่องที่ธุรกิจไทยจะสามารถเป็นผู้นำได้ และสามารถทำงานร่วมกันได้ ถ้านำเรื่องธุรกิจเพื่อความยั่งยืนมาใช้ในประเทศไทย ก็จะทำให้ธุรกิจไทยเข้มแข็งมากขึ้น และทำให้สังคมไทยดีขึ้นด้วย ผมขอใช้คำที่ผมชอบอีกครั้งหนึ่งว่า เวลาพูดถึง Sustainable Business ก็คือ “ธุรกิจชนะ สังคมก็วัฒนา”