ThaiPublica > เกาะกระแส > “วิรไท สันติประภพ” กางโจทย์ความท้าทาย …ธนาคารกลางต้อง “transformation” แปลงกายให้เท่าทันกับโลก

“วิรไท สันติประภพ” กางโจทย์ความท้าทาย …ธนาคารกลางต้อง “transformation” แปลงกายให้เท่าทันกับโลก

27 พฤศจิกายน 2019


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายในงาน “BOT Press Trip 2019: สะบายดีหลวงพระบาง” มีการบรรยายในหัวข้อ “คุยกันกับผู้ว่าการและผู้บริหาร ธปท.” เพื่อเล่าถึงผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีระหว่างปี 2560-2562 รวมไปถึงความท้าทาย ทิศทางและแนวทางของการบริหารจัดการในปี 3 ปีถัดไป(2563-2565)

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ได้กล่าวถึงความท้าทายที่ธปท.ต้องเผชิญในอีก 3 ปีข้างหน้า (2563-2565) ว่าเมื่อมองสภาพแวดล้อมในอนาคตมีหลายเรื่องมากที่จะกระทบกับการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง อาทิ

ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะต่างประเทศจะเข้ามากระทบตลาดเงินตลาดทุนโลกมาก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการประท้วงทั่วโลกของชนชั้นกลาง ที่ถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ อาทิ การประท้วงในฮ่องกง ในชิลี ซึ่งเป็นอีกประเทศที่มีต้นแบบความสำเร็จในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่หลากหลาย แต่ตอนนี้เกิดการประท้วงขึ้นมา หรือเหตุการณ์ในฝรั่งเศสกับผู้ประท้วงเสื้อกั๊กเหลือง รวมทั้งกรณีโดรนทิ้งระเบิดในโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของซาอุดีอาระเบีย

นอกจากนี้ โลกยังมีพัฒนาการทางการเมืองที่เน้นผลระยะสั้นมากขึ้นและไปสู่ประชานิยมมากขึ้น อย่าง สหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักร ที่คนรู้สึกว่านโยบายแบบเดิมไม่ได้ตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ แล้วสิ่งนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่เฉพาะประเทศไทย ขณะที่บทบาทของธนาคารกลางจำเป็นต้องมองไกลในระยะยาว แต่หากบรรยากาศการเมืองทั่วโลกเป็นแบบนี้ ถือว่าเป็นความท้าทายในอนาคต

ปัญหาผู้สูงอายุ สังคมสูงวัยกระทบกับผลิตภาพของเศรษฐกิจ กระทบกับฐานะการคลังของรัฐบาล แม้ว่าจะยังมีพื้นที่นโยบายอีกมากในวันนี้ แต่อีก 20 ปีข้างหน้า งบประมาณการดูแลผู้สูงอายุส่วนนี้จะสูงมาก ค่าแรงในประเทศจะเปลี่ยนแปลงเพราะจำนวนแรงงานที่ลดลงเรื่อยๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย ตั้งแต่ความสามารถในการแข่งขันที่ต่ำ ตัวอย่างที่พูดกันมากเรื่องราคาสินค้าเกษตรในระดับต่ำและคิดว่าเป็นปัญหาของสภาพภูมิกอากาศ แต่กลับมองข้ามไปว่าประเทศคู่แข่งผลิตภาพต่อไร่สูงกว่าเรามาก แสดงว่าเขามีการพัฒนาผลิตภาพอย่างมาก ซึ่งโครงสร้างของไทยมีขีดสามารถในการแข่งขันที่ต่ำในหลายประเภทธุรกิจ

ปัญหาหนี้ครัวเรือน สร้างความเปราะบางทั้งในระบบเศรษฐกิจมหภาคและในระดับครัวเรือนด้วย ในระดับมหภาคคือคนรายได้ดีขึ้นจริงอาจจะมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่บริโภคมากขึ้นเพราะต้องไปใช้หนี้ก่อน ดังนั้นการส่งผ่านนโยบายการคลังหรือการเงินจะถูกลดทอนไป ในระดับครัวเรือนกันชนที่จะรองรับเหตุไม่คาดคิดจะลดลง และมองไปในอนาคตที่สังคมผู้สูงอายุกำลังเพิ่มขึ้นแปลว่าครัวเรือนไทยยังต้องการการออมมากขึ้นด้วย ยิ่งในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน คนไทยยิ่งไม่มีแรงจูงใจในการออม

ประเด็นที่ท้าทายในอนาคตคือการไม่ต้องพึ่งพาสถาบันตัวกลาง หรือ democratization อาจจะกระทบกับบทบาทหน้าที่ของธนาคารกลาง 2 ส่วน ส่วนแรกคือในโลกที่ความเป็นปัจเจกของบุคคลเป็นใหญ่มากขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรกลาง ระบบชำระเงินแทนที่จะต้องมีบัญชีกลางก็มีบลอกเชน หรือการสื่อสารที่ทุกคนเป็นผู้สื่อข่าวได้ด้วยตัวเอง บทบาทของสื่อมวลชนลดลง ในโลกแบบนี้ตัวกลางแบบนี้จะถูกกระทบมากที่สุด

“คงพอจะมองเห็นความท้าทายต่างๆ ที่เราต้องเผชิญ เราคิดว่า เราคิดแบบเดิมไม่ได้ ไม่เท่าทันกับการเปลี่ยนในโลกที่กำลังเกิดกระบวนการ Transformation จากโลกของ VUCA+(ย่อมาจาก Volatile, Uncertain, Complex และ Ambiguous) เหมือนเมื่อก่อนอยู่ประภาคารบนพื้น แต่ตอนนี้เราตั้งอยู่บนทุ่นลอยน้ำ มันมีความผันผวนสูง มีคนตัวเล็กตัวน้อยหรือคนในโลกเก่าที่ต้องดูแล แต่มีโลกใหม่ที่ต้องไปให้ทัน ดังนั้นเราคุยกันในหมู่ผู้บริหารว่าเราต้องปักหมุดให้ชัดเจนว่าแผนเราต้องการผลักดันหรือขับเคลื่อนอะไร เรื่องที่สำคัญที่สุดคือเรากำลังอยู่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนเร็วมาก ดังนั้นเราจึงใช้หัวข้อว่าจะเป็นธนาคารกลางท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง หรือ central banking in the transformative world เราเน้นมากกับคำว่า transformation แปลว่าต้องแปลงกาย เราคงไม่เป็นธนาคารกลางที่ทำดีกว่าเดิม หรือทำแบบเดิมแต่ทำให้เก่งขึ้นดีขึ้น ผมคิดว่าโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ธนาคารกลางต้องแปลงกายแปลงร่างตัวเองให้เท่าทันกับโลก เพื่อจะทำหน้าที่ตอบโจทย์วิสัยทัศน์เดิมได้ 3 ปีข้างหน้าจะเป็นปีที่โลกเปลี่ยนไวกว่า 3 ปีที่ผ่านมามาก”

ดร.วิรไทกล่าวต่อไปว่า สิ่งแรกที่คิดว่าต้องปรับเปลี่ยนการออกแบบยุทธศาสตร์ จากเดิมที่คิดแผนยุทธศาสตร์เมื่อ 3 ปีที่แล้วเป็นเสาหลักตามบทบาทหน้าที่ของ ธปท.เฉพาะด้าน แต่ในอนาคตยุทธศาสตร์จะต้องเอาความท้าทายเป็นจุดศูนย์กลาง และเนื่องจากความท้าทายโดยธรรมชาติจะมีความซ้ำซ้อนและเชื่อมโยงกัน ดังนั้นทุกสายงานใน ธปท.จะต้องมาร่วมมือกันทำงาน เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายแทน

ความท้าทายสำคัญมีอยู่ 7 เรื่อง ได้แก่

  1. ระบบการเงินเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลอย่างรวดเร็ว
  2. กรอบและกลไกการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงินต้องเท่าทันกับความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมใหม่
  3. นโยบายการเงินและนโยบายการคลังเผชิญขีดจำกัด โดยเฉพาะจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง
  4. อัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนสูงขึ้นและภาคเอกชนต้องสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดี
  5. ภัยคุกคามทางไซเบอร์และความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีจะเป็นความเสี่ยงหลักของระบบการเงิน
  6. การดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงความยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
  7. การรักษาความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลายขึ้น

ในรายละเอียด สำหรับประเด็นแรก เมื่อระบบการเงินเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ถามว่า ธปท.จะทำอะไรและจะวัดความสำเร็จอย่างไร การทำเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการให้ไทยเป็นผู้นำ หรือทำให้ธนาคารมีกำไรมากขึ้นหรือต้นทุนถูกลง แต่เรื่องนี้เป้าหมายความสำเร็จคือต้องให้การเข้าสู่โลกดิจิทัล สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและภาคธุรกิจได้

“คุณภาพชีวิตเห็นได้ชัดเจนว่าคนไทยยังเป็นหนี้เยอะมาก พึ่งพาหนี้นอกระบบเยอะมาก ตอนที่ยังไม่มีเทคโนโลยีก็อาจจะให้บริการไม่ทั่วถึง การบริหารความเสี่ยงก็ทำได้ยาก ข้อมูลต่างๆ ก็ไม่มี แต่โลกดิจิทัลสามารถเปลี่ยนเรื่องพวกนี้ได้ อันนี้คือตัวอย่างหนึ่งของเรื่องนี้”

อันต่อไปคือเราตั้งเป้าหมายว่าระบบการเงินไทยต้องแข่งขันกันสร้างนวัตกรรม ไม่ใช่แบบพร้อมเพย์ที่ทำแล้วหยุดนิ่ง ดังนั้นสิ่งสำคัญคือโครงสร้างพื้นฐานกลางทางการเงินของไทย ทำอย่างไรให้โครงสร้างพื้นฐานมั่นคง ปลอดภัย ได้มาตรฐาน หลังจากนี้จะมีอีกหลายเรื่องที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เช่น e-KYC, Digital ID เป็นต้น

หรือการเดินหน้าพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง จากตอนแรกที่คาดว่าจะมีเวลาคิดอีก 5-6 ปี แต่วันนี้พัฒนาการมันไปเร็วมากตั้งแต่เฟซบุ๊กประกาศเงินลิบราออกมา ฯลฯ เอกชนเริ่มพัฒนาบลอกเชนประยุกต์ใช้ในการให้บริการจริงๆ ดังนั้น ธปท.ต้องพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลขึ้นมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับธนาคารกลางประเทศอื่นๆ

สุดท้ายคือ ประชาชนต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูลรายธุรกรรมของตัวเองได้ เช่น การกู้เงิน เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ธปท.ทำระบบพร้อมเพย์ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างฐานข้อมูลเอาไว้ด้วย เวลาลูกค้าจะใช้ข้อมูลเหล่านี้ไปวางแผนธุรกิจ ไปขอสินเชื่อ มันเป็นข้อมูลที่รวบรวมอยู่บนฐานข้อมูลกลางอยู่ และในอนาคตจะใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลอย่างไร

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.

สำหรับประเด็นที่ 2 สืบเนื่องมาจากความท้าทายแรกที่เมื่อเข้าสู่โลกดิจิทัลผู้ให้บริการจะหลากหลายมากขึ้นและไม่ใช่ผู้เล่นหน้าเดิมๆ กรอบและกลไกการกำกับดูแลเสถียรภาพแบบเดิมๆ ที่ดูแลตามหน่วยงาน หรือ entity based regulation คือธนาคารพาณิชย์ก็ดูแลแบบหนึ่ง บริษัทเงินทุนก็แบบหนึ่ง บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคลก็อีกแบบหนึ่ง มันเกิดช่องโหว่ระหว่างกฎเกณฑ์ เพราะในโลกดิจิทัลจะเชื่อมโยงบริการทางการเงินกันมากขึ้นและไม่สามรถตีเส้นแบ่งกฎเกณฑ์แบบนั้นได้ ดังนั้น ธปท.ต้องลดช่องโหว่เหล่านี้เป็น activity based regulation คือยึดประเภทธุรกรรมที่บริษัทดำเนินงาน และต้องสอดคล้องกับความเสี่ยงที่มีต่อระบบการเงินด้วย

ขณะที่วัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงที่เข้มแข็ง หลายคนมักจะพูดกันว่าประเทศไม่เกิดวิกฤติตอนปี 2551 ส่วนหนึ่งเพราะเรามีบทเรียนจากวิกฤติปี 2540 แต่อีกไม่กี่ปีผู้บริหารที่ผ่านวิกฤติปี 2540 จะเกษียณหมดแล้ว ดังนั้นมุมมองความเสี่ยงเปลี่ยนไปจากเดิมมาก การสร้างความยั่งยืนจึงต้องมีวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญ

เรื่องต่อไปคือการปรับวิธีการตรวจสอบธนาคารเป็นรูปแบบ ongoing supervision จากเดิมที่ต้องเข้าไปขอดูแฟ้มสินเชื่อขอดูข้อมูลครั้งละ 60 วันก่อนจะเขียนรายงานกลับมา แต่ปัจจุบันมันไม่เท่าทันในโลกดิจิทัล และควรปรับไปใช้กลไกให้ข้อมูลไหลเข้ามาตลอดเวลาและเวลาจะไปตรวจสอบธนาคารไหนคือต้องระบุได้ว่าจะเข้าไปดูอะไรเป็นพิเศษ

ขณะเดียวกัน ต้องร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆอย่างบูรณาการในทุกขั้นตอนการดูแลและแก้ไขปัญหาเสถียรภาพระบบการเงิน เนื่องจากปัจจุบันความเสี่ยงของระบบการเงินไม่ได้อยู่ในภาคธนาคารพาณิชย์อีกต่อไปแล้ว ภายหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจนถูกยกเครื่องการกำกับดูแลใหม่หมดแล้ว

สำหรับประเด็นที่ 3 เรื่องขีดจำกัดของนโยบายการเงินและการคลัง อันแรกที่สำคัญสำหรับกรอบนโยบายการเงินแบบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นเป็นเป้าหมายหลัก ใช้มาจะครบ 20 ปีพอดีในปีหน้า แต่ด้วยปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค เงินเฟ้อไม่ได้เป็นความเสี่ยงที่รุนแรงมากเหมือนเดิม

นโยบายทุกนโยบายเราต้องชั่งน้ำหนัก เรื่องเงินเฟ้อไม่ได้เป็นความเสี่ยงใหญ่ แต่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินกลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การตัดสินใช้นโยบายจะต้องชั่งน้ำหนัก ทำอย่างไรให้มีกลไกการพิจารณามากขึ้น นโยบายทุกอย่างมีต้นทุนและต้องชั่งน้ำหนักทุกครั้ง ดังนั้นควรจะทำอย่างไรให้การดำเนินนโยบายมีความชัดเจนขึ้นและนำเรื่องเสถียรภาพระบบการเงินเข้ามาในกรอบการตัดสินใจได้ดีขึ้น รวมไปถึงการสื่อสารให้สาธารณชนเข้าใจได้ดีขึ้น เนื่องจากเราต้องการให้ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านกลไกส่งผ่านต่างๆ ซึ่งการส่งผ่านที่ดีที่สุด ประชาชนต้องเข้าใจทิศทางและสัญญาณของนโยบายได้อย่างเหมาะสม

“ดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ตอนนี้ต่ำที่สุดในประวัติการณ์และต่ำสุดในภูมิภาค ธปท.อาจจะไม่มีความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินแบบแรงๆ เหมือนตอนวิกฤติการเงินโลกได้ ซึ่งลดดอกเบี้ยจาก 3% เหลือ 1.25% แต่วันนี้เริ่มต้นจาก 1.25% จะลดลงไปได้อีกแค่ไหน และไม่คิดว่าไทยควรจะมีดอกเบี้ยนโยบายที่ติดลบ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะที่ควรทำ เพราะมันจะสร้างปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินตามมาค่อนข้างมาก ด้านนโยบายการคลังเผชิญขีดจำกัดค่อนข้างมาจากภาระทางการคลังที่ต้องใช้ในอนาคต อีกข้อจำกัดหนึ่งปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ทำให้การส่งผ่านนโยบายไปสู่เศรษฐกิจจริงไม่แรงเหมือนเดิม”

อีกเรื่องคือการวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ มีการตั้งสายงานใหม่ขึ้นมา โดยมีงานวิจัยเรื่องใหญ่ๆ แต่งานวิจัยยังไม่ได้นำมาสู่การปฏิบัติให้เกิดผลทางนโยบายเท่าไหร่นัก ดังนั้นในระยะ 3 ปีข้างหน้าจะได้ถูกนำไปใช้ปฏิบัติจริง ธปท.จะนำงานวิจัยต่างๆเพื่อปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่เพียงการวิจัยเพื่อองค์ความรู้เท่านั้น เป็นงานวิจัยที่หาทางออกหรือข้อเสนอแนะทางนโยบายด้วย

สำหรับประเด็นที่ 4 อัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนสูงขึ้น แน่นอนมักจะมีคำถามว่าบาทจะแข็งขึ้นหรืออ่อนลง ขอย้ำอีกครั้งว่าไม่สามารถตอบได้ เพราะค่าเงินบาทสามารถไปได้ทั้งสองทิศทาง โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่แข็งมากๆไม่สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ และไม่ได้สะท้อนกับปัจจัยพื้นฐานและภาวะเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทก็สามารถที่จะกลับทิศได้ หากเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ภูมิรัฐศาสตร์โลก สภาพคล่องในระบบการเงินโลก

สิ่งที่ตอบได้คือ ความผันผวนจะสูงขึ้นแน่นอน แต่ทิศทางอาจจะตอบไม่ได้ เพราะฉะนั้นภาคเอกชนต้องมีความทนทานที่จะต้องรับมือให้ได้ และรับมือให้ได้ดีขึ้น

บางประเทศในตลาดเกิดใหม่เหมือนเรา ธนาคารกลางเขาไม่แทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเลย ความผันผวนของเขาจะสูง แต่ภาคธุรกิจเอกชนที่เป็นคู่แข่งของเรา เขาสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างดี อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะภาคเอกชน แต่หมายถึงระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนต้องทำให้ดีขึ้นตอบโจทย์คนที่หลากหลาย ธนาคารต้องมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มากขึ้น มีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนจนต้นทุนถูกลง

“เรื่องนี้ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญในแผนยุทธศาสตร์เลยที่เราให้ความสนใจ เพราะในโลกที่สภาพคล่องส่วนเกิดอยู่ในระดับสูงความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนจะเพิ่มสูงมาก แล้วปัจจัยที่มีผลกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนมากจากภายนอกทั้งนั้น และคาดเดาไม่ได้เลย บางครั้งเราเห็นในข่าวว่าค่าเงินจะแข็งไป 29-28 บาท แต่มันสามารถเด้งกลับไปได้ตลอดเวลาตามสถานการณ์ต่างประเทศ โจทย์คือจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจและธุรกิจสามารถวางแผนได้”

อีกเรื่องคือการบริหารการไหลเข้าออกเงินทุนให้สมดุลมากขึ้น ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ธปท.พยายามออกมาตรการที่ช่วยเหลือเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะครั้งหลังสุดที่เปิดเสรีให้คนไทยเอาเงินต่างประเทศออกไปไว้นอกประเทศได้มากขึ้น เป็นแนวคิดที่มากจากโลกที่รวมศูนย์มาเป็นแบบกระจายมากขึ้น จากเดิมที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ใครที่ทำมาค้าขายได้เงินตราต่างประเทศมา ก็ต้องมาแลก ต้องมาอยู่ที่ธนาคารกลาง แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ วันนี้เรามีทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพียงพอ คนไทยจะทำมาค้าขายที่ไหนมีรายได้เงินตราต่างประเทศมา สามารถเก็บไว้ที่ไหนก็ได้ เงินดังกล่าวยังถือว่าเป็นทุนสำรองของระบบเศรษฐกิจไทย ถ้าเขาจำเป็นต้องใช้ก็สามารถเอาจากที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมาแลกจาก ธปท.

อีกเรื่องที่ ธปท.จะทบทวนเรื่องพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 ซึ่งอายุเท่ากับ ธปท. 77-78 ปี เขียนมาตั้งแต่ยุคที่ไม่มีทุนสำรองระหว่างประเทศ ก็ต้องเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง ทำให้สอดคล้องกับการทำธุรกิจใหม่ๆ

นอกจากนี้การบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ จากเดิมการลงทุนค่อนข้างอยู่ในโลกเก่าที่ลงทุนในตราสารเก่าๆบางประเภท แต่ด้วยโครงสร้างการเงินโลกจะเปลี่ยนไป ต้องคิดถึงกรอบการบริหารความเสี่ยง กรอบการบริหารผลตอบแทนที่เหมาะสมของทุนสำรองระหว่างประเทศให้ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับโครงสร้างการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างเช่น ถ้า “ลิบรา” เกิดขึ้นจริง จะมีสกุลเงินดิจิทัลใหม่ๆที่ใช้ทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ธปท.อาจจะต้องปรับทุนสำรองระหว่างประเทศใหม่ให้สอดคล้องเหมาะสมกับโลกการเงินที่เป็นไปในอนาคต

สำหรับประเด็นที่ 5 เรื่องภัยคุกคามทางไซเบอร์ ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี่ที่จะเป็นความเสี่ยงหลักของระบบสถาบันการเงิน ธปท.จะให้ความสำคัญมากกับการให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาจะได้พูดถึงการตรวจสอบต้องเร็ว และแก้ไขได้เร็ว เพราะโอกาสที่จะถูกโจมตีจะเกิดขึ้นตลอดเวลาและมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นต้องมีกลไกรองรับ ทำอย่างไรให้สามารถให้บริการต่อไปได้ ไม่สะดุด เพราะบริการการเงินเป็นบริการการเงินดิจิตอลเพิ่มมากขึ้น การจัดการข้อมูลของตนเองเป็นเรื่องสำคัญ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลจะมีผลบังคับใช้เดือนพฤษภาคม ปี 2563 ดังนั้นต้องทำระบบให้สามารถบริหารจัดการข้อมูลลูกค้าด้วยมาตรฐานที่สูงขึ้นมาก

“ภัยคุกคามทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นตลอดเวลา มาตรฐานสากลก็เข้มขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นมาตรฐานไซเบอร์ของเราต้องเท่าทันกับมาตรฐานสากลโลกตลอดเวลา และต้องไม่นำไปสู่ความเสี่ยงเชิงระบบ แต่ปัญหาคือบุคคลากรไม่พอ คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ มีแต่คนแย่งตัวกัน ไม่เฉพาะในภาคการเงินเท่านั้น ทุกภาคธุรกิจอื่นก็ต้องการคนที่มีความรู้ด้านไซเบอร์ เพราะฉะนั้น ธปท.ต้องช่วยสร้างบุคลากรร่วมกับสมาคมธนาคารไทยมากขึ้นให้เพียงพอ”

สำหรับประเด็นที่ 6 เรื่องความยั่งยืน เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องส่งเสริมให้ภาคธุรกิจทำ ESG มากขึ้น ธปท.ก็ต้องปรับวิธีการทำงานของเรา ตั้งแต่พลังงาน ไฟฟ้า ขยะ ที่จะตอบโจทย์ ESG และภาคการเงินจะเป็นเรื่องใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ผลกระทบที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน แต่น่ายินดีที่ธนาคารพาณิชย์ได้ลงนามในแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และ ธปท.จะไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เรื่องทางสังคมอย่างหนี้ครัวเรือน หรือธรรมาภิบาลอย่างการต่อต้านคอร์รัปชันที่จะกลับมาที่ระบบการเงินอยู่ดี ดังนั้นถ้าระบบการเงินสามารถตั้งป้อมดูแลเรื่องคอร์รัปชัน จะช่วยแก้ปัญหาที่สำคัญของสังคมได้ค่อนข้างมาก

“ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะเป็นปัญหาใหญ่ ความเปราะบางของฐานะครัวเรือน เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต เราต้องทำอีกเยอะมาก ตั้งแต่เรื่องการให้ความรู้ประชาชน การบริหารจัดการเงิน การกำกับดูแลสถาบันการเงิน ที่ไม่ไปเน้นเฉพาะการปล่อยสินเชื่อ โดยไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน การปรับโครงสร้างหนี้ เพราะมีคนติดอยู่ในกับดักหนี้เยอะมาก หากจะออกจากกับดักหนี้ได้ ต้องปรับโครงสร้างหนี้ได้ คลินิกแก้หนี้ที่ทำมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ต้องขยายผลอีกเยอะและตอบโจทย์ที่หลากหลายมากขึ้น”

“เรื่องความรู้ความเข้าใจทางการเงิน ไม่ใช่แค่ financial literacy แต่ financial technology literacy ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงินก็สำคัญ หากประชาชนไม่สามารถใช้บริการทางเงินดิจิตอลที่เหมาะสมได้ ก็มีความเสี่ยงประเภทใหม่ๆขึ้นมา และท้ายสุดเราต้องการให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินทั่วถึง เป็นธรรม มีภาระทางการเงินที่ลดลง”

งานด้าน market conduct ที่เราจะเข้าไปทำมากขึ้น ที่ผ่านมามีค่าธรรมเนียมหลายอย่างที่ไม่เหมาะสม ที่เรียกว่าเกินพอดี เป็นเรื่องที่จะดำเนินการต่อไป

“ที่ผ่านมาอาจจะทำเพราะอยากเป็นคนดี ให้คนรู้สึกว่าดี แต่ในมาตรฐานใหม่ๆ ในการทำธุรกิจจะบีบให้ธุรกิจหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานกฎเกณฑ์ของทางการ หรือความคาดหวังของลูกค้า ถ้าหากไม่ทำมันจะเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจที่สำคัญมาก อีกด้านคือมีคนให้ความสนใจกับธุรกิจแบบนี้มาก ใครที่ทำก่อนจะเป็นคนกำหนดมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมด้วย และคนที่ตามหลังจะมีต้นทุนแทน ธปท.เองต้องคิดถึงการทำงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่นกัน”

สำหรับประเด็นที่ 7การรักษาความอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง ในโลกที่เป็นประชานิยมมากขึ้น โลกที่องค์กรกลางมีความน่าเชื่อถือลดลง เรื่องสำคัญคือการสื่อสารของเรา การให้ความรู้กับประชาชน การทำงานร่วมกับประชาชน รวมทั้งภาคธุรกิจให้เข้าใจและเชื่อมั่นในบทบาทและเหตุผลในการดำเนินนโยบายของธปท.

“ทุกนโยบายที่เราทำ มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ เป็นเหรียญสองด้านเสมอ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายอัตราดอกเบี้ย นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน มีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ตลอดเวลา แต่ข่าวที่ออกไป คนจะเลือกพูดเฉพาะเรื่องที่เข้าทางตัวเอง ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นเหรียญสองด้าน ต้องชั่งน้ำหนัก และต้องมองประโยชน์โดยรวมเป็นหลัก ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นในโลกข้างหน้า การสื่อสารในยุคที่ทุกคนสนใจแต่พาดหัวข่าวสั้นๆ ไม่สนใจรายละเอียด ซึ่งการอธิบายเรื่องนโยบาย ไม่สามารถที่จะอธิบายผ่านแค่พาดหัวข่าวได้

เราหลายฝ่ายมองนโยบายระยะสั้นมากขึ้น ปัจเจกแต่ละคนมีบทบาทของตัวเองสูงขึ้น หรือกระบวนการ democratization ทำให้องค์กรกลางหรือสถาบันกลางของรัฐจะถูกท้าทายเรื่องความน่าเชื่อถือ เพราะเขาไม่ได้เชื่อองค์กรของภาครัฐมากอีกต่อไป ประชาชนมีข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายมากขึ้น ดังนั้นการรักษาความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางจะท้าทายขึ้นมาก

“ท้ายที่สุด ความเชื่อมั่นของ ธปท.จะดำรงอยู่ได้ถ้าได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลสูง เปิดกว้าง รับฟัง และเข้าถึงง่าย เรายังทำหน้าที่ไม่ค่อยดีตรงที่รับฟังและเข้าถึงง่าย เวลาที่สำรวจทุกปี จะได้รับคำแนะนำว่าเราลงมาจากฟ้ามากขึ้น แต่ยังเดินไม่ติดดิน เราอยู่บนอาคารอย่างไรก็ไม่รู้ ชั้นสี่ ชั้นห้า อาจจะลงมาจากหอคอยแล้ว ดังนั้นเราต้องลงมาติดดินมากขึ้น ต้องรับฟังอย่างเข้าใจมากขึ้น”

ดร.วิรไทกล่าวสรุปว่า 7 ความท้าทายนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้นเพื่อที่จะฝ่าความท้าทายดังกล่าวไปให้ได้ จะต้องเริ่มต้นจากการปรับตัวก่อน 3 เรื่อง

1) ปลดล็อกและเสริมสร้างศักยภาพของพนักงาน ที่ใช้คำว่าปลดล็อก เพราะเรามีคนเก่งเยอะมาก แต่วิธีการทำงานในองค์กร ยังไม่สามารถใช้ศักยภาพเขาได้เต็มที่ โครงสร้างมีความเป็น top down สูง ทำให้ทุกคนถูกล็อกด้วยกฏเกณฑ์ กติกาต่างๆ หลักง่ายๆ คือทำให้คนที่เข้ามาเก่งเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่สายงานไหนก็ตาม

2) วัฒนธรรมองค์กรที่ต้องมีกระบวนการคล่องตัวสูงมากขึ้น โดยเฉพาะวัฒนธรรม bottom up จากเดิมที่เป็น top down ที่เมื่อก่อนชีวิตขึ้นอยู่กับนาย ไม่ว่าจะสมัครเข้าฝึกอบรมต่างๆ หรือการเลื่อนตำแหน่งก็ตาม

3) ใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเป็นเครื่องมือหลักในทุกกระบวนการทำงาน หรือทำ digital transformation ซึ่งมีแผนที่จะทำหลายอย่าง

 3 ปีผ่านไป เหลียวหลังตรวจผลงาน “วิรไท สันติประภพ”

ดร.วิรไทกล่าวว่า มองย้อนกลับไปที่แผนยุทธศาสตร์เดิมจะแบ่งงานออกเป็น 3 เสาหลัก 1) การรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน (stability) ตั้งแต่การเงิน ระบบการเงิน สถาบันการเงิน และระบบชำระเงิน 2) การพัฒนาระบบการเงิน (development) รวมไปถึงการเชื่อมโยงกับต่างประเทศและการส่งเสริมการบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และ 3) การสร้างความเข้มแข็งขององค์กร (internal excellence) ไม่ว่าจะเป็นระบบข้อมูล งานวิจัย ศักยภาพของบุคลากร และการสร้างการมีส่วนร่วมกับพันธมิตรต่างๆ ในสังคม

“อันนี้เป็นหลักใหญ่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในตอนที่ทำแผนยุทธศาสตร์จะเขียนไว้ชัดเจนว่าเราจะวัดเป้าหมายความสำเร็จของแต่ละแผนอยางไร ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ก็จะสื่อสารให้คนที่เกี่ยวข้องรับทราบว่าจะเดินหน้าอย่างไร เร็วแค่ไหน จะให้เกิดผลลัพธ์อะไร เป้าหมายความสำเร็จคืออะไรไม่ใช่แค่บอกว่าต้องการทำอะไร เพื่อเป็นคำมั่นของ ธปท.กับสังคมไทยและผู้ร่วมตลาดในไทยและเพื่อนบ้านให้แน่ใจว่าการทำงานของเราตอบโจทย์อย่างไร”

เสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน

ดร.วิรไทกล่าวสรุปสั้นๆในช่วงที่ 3 ปีที่ผ่านมาในแต่ละประเด็นว่าเริ่มจากเสถียรภาพการเงินว่าการดำเนินนโยบายการเงินของไทยตั้งอยู่บนบทวิเคราะห์ข้อมูล หรือมีลักษณะ evidence-based policy มากขึ้น และไม่ใช่เพียงงานวิจัยในกระแสหลักอย่างเดียว เพราะความสัมพันธ์ที่คุ้นเคยอาจจะเปลี่ยนแปลงไป ข้อมูลที่ใช้ตัดสินใจลึกและครอบคลุมมากขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยจับชีพจรเศรษฐกิจที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้อย่างทันท่วงที

“อันที่เราทำแล้วยังรู้สึกว่ามันไม่ได้ดั่งใจอยู่บ้าง คือการตั้งเป้าหมายว่าจะช่วยเอกชนไทยให้ปรับตัวเท่าทันกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเราเห็นตั้งแต่ 3 ปีที่แล้วว่าเอกชนไทยบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างน้อย และความผันผวนของมันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่ได้ตามเป้าหมายที่อยากได้ อีกด้านที่เป็นโจทย์ใหญ่แต่ทำได้ไม่ดีคือปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทย แม้ว่าปัญหาด้านเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยจะไม่ค่อยมีปัญหาในวันนี้ แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข มันจะมีผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในอนาคตได้ 3 ปีที่แล้วเราก็ทำหลายเรื่องเพื่อเสนอมุมมองของนโยบายที่เป็นประโยชน์และมีงานวิจัยออกมาค่อนข้างมาก แต่ยังมีปัญหาอีกหลายเรื่องยังที่ยังเห็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ผลิตภาพต่ำ”

สำหรับเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท.ให้ความสำคัญเป็นพิเศษในช่วงที่ผ่านมาและได้ตั้งกลุ่มงานใหม่ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ เพื่อให้มองไกลไปกว่าธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากตอนนี้มีสถาบันการเงินใหม่ๆ เกิดขึ้นและเชื่อมโยงกันไปหมด ทำให้เงินที่เหมือนน้ำไหลไปตามสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะในยุคที่ดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องแบบนี้ จะทำให้เกิดกิจกรรมทางการเงินใหม่ๆ ในที่ต่างๆ มากขึ้นอย่างตลาดตราสารหนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นต้น

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธปท.พัฒนามาไกลมาก สามารถวิจัยและเข้าใจความเชื่อมโยงดังกล่าวได้ดีขึ้น ประกอบกับสามารถประสานความร่วมมือในการกำกับดูแลกับหน่วยงานอื่นๆ ได้ดีมากขึ้น จึงช่วยให้สามารถร่วมกันออกมาตรการต่างๆ ได้อย่างเท่าทัน และเป็นมาตรการที่เฉพาะเจาะจงมากกว่าจะเหวี่ยงแหแบบที่ผ่านมา อย่างเช่น มาตรการอัสงหาริมทรัพย์ที่มีการแบ่งประเภทผู้กู้ตามจำนวนสัญญาและราคา อันเป็นผลจากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า

สำหรับเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินคือธนาคารพาณิชย์ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธปท.ได้กำกับดูแลโดยให้ความสำคัญกับเรื่องของพฤติกรรมและวัฒนธรรมองค์กร เนื่องจากแม้ว่า ธปท.จะออกกฎเกณฑ์อย่างไร แต่หากวัฒนธรรมองค์กรยินดีที่จะรับความเสี่ยงมากเกินควร สุดท้ายแล้วสถาบันการเงินเหล่านี้จะหาทางเพิ่มความเสี่ยงได้อยู่ดี และด้วยขนาดที่ใหญ่ของสถาบันการเงิน แม้ว่าผู้บริหารทุกคนจะมีแนวนโยบายที่ชัดเจนว่าต้องบริหารความเสี่ยง แต่ในระดับปฏิบัติอาจจะยังแสวงหาความเสี่ยงเกินควรหากวัฒนธรรมองค์กรไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย

นอกจากนี้ ประเทศไทยได้เข้ารับการประเมิน FSAP คือการตรวจสุขภาพของระบบการเงินทั้งหมดตามมาตรฐานสากล ซึ่งไม่ได้ประเมินมา 10 ปีแล้ว โดยใช้เวลาเตรียมการกว่า 2 ปี และเป็นเรื่องน่ายินดีมากว่าผลการประเมินอยู่ในระดับสูงมาก อาจจะเป็นรองสิงคโปร์หรือฮ่องกงที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก อีกด้านหนึ่งที่ ธปท.ให้ความสำคัญมากคือความเสี่ยงไซเบอร์ที่ได้ตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา มีการเปลี่ยนวิธีการตรวจสอบความเสี่ยงและการป้องกันภัยของสถาบันการเงินใหม่หมด

สำหรับเสถียรภาพระบบการชำระเงิน ถือว่าเป็นเรื่องใหม่และขยายตัวอย่างรวดเร็วมากเทียบกับ 3 ปีที่แล้ว ในสมัยนั้นการกำกับดูแลของระบบการชำระเงินมีลักษณะของเบี้ยหัวแตกที่มีหลายหน่วยงานร่วมกันกำกับดูแล ในปัจจุบัน ธปท.ได้เสนอกฎหมายใหม่รวมศูนย์การกำกับดูแลเข้าไว้ด้วยกัน รวมไปถึงให้อำนาจที่จะเท่าทันกับระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ ด้วย นอกจากนี้ ธปท.ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกับผู้เล่นต่างๆ ใหม่ทั้งหมด รวมไปถึงรายย่อยที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ด้วย

ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ

ดร.วิรไทกล่าวต่อไปถึงเสาหลักเสาที่ 2 คือด้านการพัฒนาระบบการเงินว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธปท.ได้เอื้อการพัฒนาฟินเทค มีการพัฒนาระบบชำระเงินอย่างพร้อมเพย์ที่เป็นระบบชำระเงินที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก อาจจะยกเว้นอินเดียที่มีประชาชนมากกว่าไทยค่อนข้างมาก มีการพัฒนาระบบคิวอาร์โค้ดมาตรฐานเป็นประเทศแรก ซึ่งมีผลกว้างไกลมากที่ทำให้ระบบการชำระเงินไม่แตกเป็นชิ้นๆ แบบหลายประเทศและสามารถเชื่อมโยงกันได้ง่ายด้วยต้นทุนที่ถูก มีการใช้บล็อกเชนที่ช่วยทำธุรกรรมอย่างออกหนังสือค้ำประกัน

“หลายคนอาจจะบอกว่า ธปท.มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพอย่างเดียว แต่ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้วย สุดท้ายปัญหาหลายอย่างจะกลายเป็นปัญหาด้านเสถียรภาพของไทยอยู่ดี ตรงนี้เราเป็นต้นแบบในหลายเรื่องอย่างพร้อมเพย์ หรือคิวอาร์โค้ดมาตรฐาน หรือบล็อกเชนที่เอามาช่วยออกหนังสือค้ำประกัน ซึ่งเรียกว่าเป็นกิจกรรมแรกในโลกที่ธนาคารทั้งหมดมาร่วมกันทำ ประโยชน์ที่เห็นชัดเจนคือต้นทุนของผู้ใช้บริการสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง จากเดิมที่ค่าธรรมเนียมสูงต้นๆ ของภูมิภาค ตอนนี้ฟรีแล้ว แต่ด้านที่คิดว่าทำได้ไม่ค่อยดีคือการเข้าถึงเงินทุนของเอสเอ็มอี หลายแห่งยังใช้ไม่ได้หรือต้นทุนสูงอยู่ ซึ่งต้องให้น้ำหนักมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม เรื่องต้นทุนของการชำระเงินระหว่างประเทศยังเป็นปัญหาอยู่ เนื่องจากต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้มีต้นทุนที่ถูกลง ขณะที่การเชื่อมโยงกับต่างประเทศจะเห็นว่าบทบาทของธนาคารไทยที่เข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านมีมากขึ้นและหลากหลายมากขึ้น ช่วยตอบโจทย์ตามความถนัดของแต่ละแห่ง ธปท.ส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างคนมากขึ้นด้วยอย่างโครงการ CLMVT Banker Relationship Programme รวมไปถึงสนับสนุนทางวิชาการกับธนาคารกลางต่างๆ ตั้งแต่ให้ทุนการศึกษา การให้พนักงานของภูมิภาคมาฝึกงานที่ ธปท. เป็นต้น สุดท้ายคือการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นที่ค่อยๆ พัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งช่วยลดความผันผวนของค่าเงินได้มาก

สุดท้ายในการส่งเสริมการบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ธปท.ได้ผลักดันให้เกิดบัญชีเงินฝากขึ้นพื้นฐานที่ไม่มีค่าธรรมเนียม เพื่อตอบโจทย์ผู้สูงอายุและผู้มีรายได้น้อย ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการมากขึ้น นอกจากนี้ ธปท.ยังได้ทำเรื่องของธรรมาภิบาลของการประกอบการ หรือ market conduct จากเดิมที่หลายคนกลัวจะถูกธนาคารขายประกัน ปัจจุบันได้ยกเครื่องตรงนี้ขึ้นมา รวมไปถึงมีบทลงโทษต่อธนาคารพาณิชย์ที่ละเมิดธรรมาภิบาล พร้อมทั้งประกาศให้ประชาชนรับทราบ รวมไปถึงความโปร่งใสทางด้านข้อมูลการเงินที่เปรียบเทียบกันได้ หรือเปิดเผยข้อมูลการล่มระบบ mobile banking

“สิ่งที่ต้องทำต่อไปหรือไม่ค่อยได้ผลอย่างที่เราอยากได้คือหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาใหญ่ของระบบการเงินไทย ส่วนหนึ่งมาจากหลายสาเหตุตั้งแต่วิธีการทำธุรกิจของธนาคาร ธปท.ก็ออกมาตรการมาดูแล แต่พอดูแลอันหนึ่งความเสี่ยงมันก็ไหลไปอีกที่หนึ่ง ซึ่ง ธปท.ต้องหาทางดูแลมากขึ้น

อีกเรื่องที่ต้องความสำคัญคือการเงินที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน อันนี้เป็นปัญหาที่ไม่ใช่แค่จะเป็นปัญหากับสังคมเท่านั้น แต่เป็นความเสี่ยงของสถาบันการเงินด้วย ถ้าไม่ให้ความสำคัญ ตัวอย่างเช่น เรื่องเขื่อนไซยะบุรีที่กระทบจากแผ่นดินไหวมันกระทบความเสี่ยงของสถาบันการเงินชัดเจน เนื่องจากลูกหนี้ไม่สามารถทำธุรกิจได้

เสริมความเข้มแข็งองค์กร

ดร.วิรไทกล่าวต่อไปถึงเสาหลักสุดท้ายด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งในองค์กรว่า มีกลุ่มงานใหม่หนึ่งที่เกิดขึ้นคือการวิเคราะห์ข้อมูล หรือ data analytics ธปท.ถือว่าเป็นหน่วยงานชั้นนำของประเทศที่ใช้ข้อมูลและเทคนิคที่ลึกซึ้งมาก อย่างเรื่อง text mining ภาษาไทย นอกจากนี้ ธปท.ยังเริ่มนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล หรือ robotic processing ที่ช่วยลดเวลาลงจาก 2 อาทิตย์เหลือไม่กี่นาที และช่วยให้ ธปท.สามารถติดตามตัวชี้วัดได้เร็วขึ้นและมีหลักฐานประกอบการตัดสินใจมากขึ้น ด้านสถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รับการยอมรับในระดับโลกว่าผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงในประเทศไทย

สำหรับการยกระดับคุณภาพบุคลากรของ ธปท. ธปท.ได้พัฒนาในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น รวมไปถึงวางแผนการสืบทอดตำแหน่งที่รับสมัครผู้บริหารใหม่ๆ ทั้งในและนอกองค์กรมากขึ้น มีการเข้าถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการสื่อสารการตัดสินใจนโยบายที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางหลักของ ธปท. และไม่ได้เป็นทางเสริมแบบสมัยก่อนอีก