ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > SET Sustainability Awards 2018: ภาพสะท้อนพัฒนาการ “ความยั่งยืน” บจ.สู่ยุคนวัตกรรม เน้นพลังงานทางเลือก – Circular Economy – AI

SET Sustainability Awards 2018: ภาพสะท้อนพัฒนาการ “ความยั่งยืน” บจ.สู่ยุคนวัตกรรม เน้นพลังงานทางเลือก – Circular Economy – AI

2 พฤศจิกายน 2018


29 บริษัทที่ได้รับรางวัล SET Sustainability Awards 2018 ประจำปีนี้ และ 79 บริษัทที่ได้รับการจัดอยู่ในรายชื่อหุ้นที่ยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment: THSI)

วันที่ 31 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศผลมอบรางวัล SET Sustainability Awards 2018 ให้กับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน ให้ความสำคัญกับสังคม สิ่งแวดล้อม เป็นบรรษัทภิบาลที่ดี (ESG)  โดยปีนี้จัดเป็นปีที่ 4 ภายใต้แนวคิด “sustainable consumption” มีบริษัทได้รับรางวัลทั้งสิ้น 29 บริษัท

สำหรับผลรางวัลมี 4 ประเภท ประกอบด้วย รางวัลเกียรติยศ สำหรับ บจ. ที่ได้รับรางวัลด้านความยอดเยี่ยมติดต่อกัน 3 ปีขึ้นไปมี 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท บ้านปู (BANPU), บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี (CFRESH), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC), บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT), บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (SCC), และบริษัท ไทยออยล์ (TOP)

รางวัล บจ. ด้านความยั่งยืนยอดเยี่ยม มี 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC), บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT), บริษัท ปตท. (PTT), บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP), และบริษัท ศูนย์บริการเหล็กสยาม (SSSC)

รางวัล บจ. ด้านความยั่งยืนดีเด่น มี 15 บริษัท จาก SET 13 บริษัท และ mai 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา (CPN), บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO), บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ (IVL), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (DELTA), บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH), บริษัท เอสซี แอสเซท คอร์ปอเรชั่น (SC), บริษัท เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ (S&J), บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ (SNC), บริษัท ทาทา สตีล (TSTH), บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI), และบริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส (PPS)

รางวัล บจ. Rising Star มี 3 บริษัท จาก SET 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA), และบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสตรี (STA) จาก mai  1 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี (AGE)  พร้อมกันนี้ ยังมีการทั้งมอบโล่รางวัลให้กับ บจ. ที่สร้างโอกาสการลงทุนด้วยหุ้นยั่งยืน Thailand  Sustainability Invesment (THSI) รวมทั้งสิ้น  79 บริษัท

นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมา มีโอกาสพูดคุยใกล้ชิดกับผู้บริหารและทีมทำงานด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง ทำให้ทราบถึงมุมมองความเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อการขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นไปในทิศทางที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้แก่สังคมและประเทศใน 4 ประเด็นที่สำคัญ คือ

ประการแรก คือการให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน สะท้อนมาจากพัฒนาการของบริษัทจดทะเบียนด้านการขับเคลื่อนธุรกิจ ที่ปัจจุบันไม่ได้มองว่าการพัฒนาความยั่งยืนเป็นเรื่องแยกจากการดำเนินธุรกิจปกติ แต่บริษัทสามารถนำเรื่องความยั่งยืนไปผสานได้อย่างสอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกันกับกลยุทธ์ธุรกิจ และยังถือว่าประเด็นความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงอยู่ตลอดในทุกกระบวนการและกิจกรรมต่างๆ ของการทำงาน

ประการที่ 2 ความสามารถในการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจตลอด supply chain คือบริษัทจดทะเบียนไม่เพียงแค่มุ่งพัฒนาความยั่งยืนให้กับตัวเอง แต่ยังให้ความสำคัญและขยายขอบเขตเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืนไปสู่คู่ค้าและผู้มีส่วนได้เสียตลอดทั้ง s upply chain เพราะเริ่มตระหนักแล้วว่าความยั่งยืนของการดำเนินธุรกิจไม่ได้เป็นผลมาจากการดำเนินงานของตัวเองเท่านั้น แต่ยังผูกพันและขึ้นอยู่กับ supply chain อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประการที่ 3 คือการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ซึ่งแน่นอนว่าเส้นทางการดำเนินธุรกิจต้องเผชิญกับปัจจัยความเสี่ยงมากมาย โดยเฉพาะความเสี่ยงที่ก่อนนี้เราอาจเคยละเลยและมองข้ามไป แต่วันนี้กลับพบว่ามีผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจ ได้แก่ ประเด็นด้านบรรษัทภิบาล สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงความเสี่ยงใหม่ๆ ที่นับวันจะมีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบริษัทจดทะเบียนมีความตระหนักและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบด้านมากขึ้น

ประการสุดท้าย คือการขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม  ซึ่งเป็นกลไกและเครื่องมืออีกชิ้นในการบริหารจัดการองค์กรสู่ความยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ ตลาดหลักทรัพย์เองก็ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเห็นความสำคัญเรื่องนวัตกรรมมาโดยตลอด และได้ทราบจากทีมงานที่คลุกคลีกับการประกวดนี้ว่าบริษัทจดทะเบียนเริ่มให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น จึงนับเป็นสัญญาณที่ดีของการใช้นวัตกรรมมาสร้างโอกาสทั้งในเชิงธุรกิจ และสังคม สิ่งแวดล้อม ควบคู่กันไป

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นอกจากท่านจะสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้แก่องค์กรของท่านแล้ว ท่านยังจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่สังคมและประเทศของเรา เพราะสิ่งที่ท่านได้ให้ความสำคัญและลงมือปฏิบัติจริงจนเห็นผลสำเร็จอย่างทุกวันนี้ จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดพลังภายในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนและแผ่ขยายสู่องค์กรและหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาประเทศ” นายชัยวัฒน์กล่าว

“บางจาก” กับรางวัลบริษัทยอดเยี่ยม หรือ BEST Sustainability Awards กับทิศทางธุรกิจ Greennovation หากได้รับรางวัลนี้อีกในปีหน้า บางจากจะเป็นอีกบริษัทที่ก้าวขึ้นสู่รางวัลเกียรติยศสูงสุด HONOR SET Sustainability Awards ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับบริษัทที่ได้รางวัลยอดเยี่ยมติดต่อกัน 3 ปี

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มีความภูมิใจที่ได้รับรางวัลนี้ ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนและกำลังใจให้บริษัทดำเนินงานอย่างมันคงและยั่งยืนต่อไป และการมอบรางวัลดังกล่าวยังจะช่วยส่งเสริมให้หลายบริษัทพัฒนาการทำงานอย่างยั่งยืนได้มากขึ้น

สำหรับบริษัทบางจากได้สร้างความสมดุลระหว่างการสร้างผลประกอบการกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น และจะรักษาความเป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานสีเขียวไว้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังได้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมให้ตอบโจทย์สังคมยุคปัจจุบันมากขึ้น เช่น เปลี่ยนแก้วกาแฟจากพลาสติกเป็นแก้วที่ย่อยสลายได้ หรือออกแบบ “ฝาใหม่ ไม่หลอด” ในร้านกาแฟอินทนิล เป็นต้น

“ในอนาคตพลังงานสีดำจะลดน้อยลง พลังงานสีเขียวจะเพิ่มขึ้น ซึ่งบางจากน่าจะเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานสีเขียวมานานพอสมควร เราจะรักษาโมเมนตัมนี้ไว้ ขณะเดียวก็จะรักษาความมั่นคงของบางจากไว้ด้วย เป็นการสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจสีเขียวกับธุรกิจดั้งเดิม”

หลายปีที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นในด้านความยั่งยืน ไม่ว่าในอดีตจะได้เป็นธนาคารแรกในไทยที่เป็นสมาชิก DJSI ภายใต้ความชัดเจนของกระบวนการทำงานในประเด็นเรื่องการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ภายใต้กรอบ “ธนาคารที่ยั่งยืน” นั้นเป็นจุดเด่นสำคัญที่ทำให้ได้รับรางวัลสำคัญในปีนี้

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รางวัลที่ได้รับเป็นการสะท้อนว่าสิ่งที่ธนาคารดำเนินการมานั้นถูกต้องแล้ว ขณะเดียวกันยังต้องพร้อมพัฒนาและปรับปรุงการทำงานให้ดียิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไป ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ทังนี้ บริษัทได้พยายามคิดค้นนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมาให้บริการสังคมเพื่อตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน ตัวอย่างล่าสุดคือบริการทางการเงินผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS ซึ่งจะช่วยลดการเดินทาง ลดการใช้กระดาษ ทั้งยังเอื้ออำนวยให้คู่ค้าและผู้เกี่ยวข้องค้าขายบน e-marketplace ช่วยสร้างความยั่งยืนในเรื่องเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังใช้ช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา หรือสนับสนุนการซื้อเครดิตคาร์บอน ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ผ่าน K PLUS

“เราพยายามสร้างนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับให้ยั่งยืนไม่ใช่แค่เฉพาะองค์กรของเรา แต่ยังรองรับความยั่งยืนทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมด้วย”

ปีนี้ถือเป็นปีแรกของ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บนเวที SET Sustainability Award ที่เพิ่งสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นครั้งแรก และกลายเป็นบริษัทดาวรุ่งด้านความยั่งยืนกับรางวัล Rising Star  โดยกลยุทธ์ธุรกิจสำคัญของบริษัทได้กำหนดแผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี (2560-2564) มุ่งสู่การเป็นผู้นำเมืองอัจฉริยะ (smart city) ระดับโลก พร้อมกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอมตะให้เป็นพื้นที่การลงทุนที่สมบูรณ์แบบในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การให้รางวัลเรื่องทำงานด้านความยั่งยืนถือเป็นการปลุกจิตสำนึกให้ตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ที่มนุษย์กำลังทำร้ายโลก และหันกลับมาทำสิ่งที่เกิดประโยชน์ให้กับคนรุ่นใหม่อยู่ได้ต่อไป โดยเฉพาะปัญหาสภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ บริษัทมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนความยั่งยืนด้วยการคิดค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะสร้างเมืองอัจฉริยะ หรือ smart city ซึ่งเสมือนเป็นนวัตกรรม ทำให้เมืองเกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีค่าใช้จ่ายน้อย ได้ผลผลิตจำนวนมาก มีความเป็นอยู่ที่ดี ไม่สร้างมลภาวะ ประหยัดพลังงาน ฯลฯ

“ผมเชื่อว่าการทำธุรกิจในปัจจุบัน หากไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ จะอยู่ไม่รอด ซึ่งในโลกปัจจุบันและอนาคตจะมีการพัฒนานวัตกรรมขึ้นไปเรื่อยๆ เช่น ด้านพลังงาน แทนที่จะเป็นน้ำมันก็เปลี่ยนไปสู่การใช้โซลาร์เซลล์ ซึ่งที่สุดก็จะช่วยประหยัดทรัพยากรโลก ช่วยทำให้โลกปลอดภัย”

นางสาวนภัสร กิตะพาณิชย์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (มหาชน) ผู้บริหารในเจเนอเรชั่น 2 คนที่ 5 ของ “สมบูรณ์ กรุ๊ป” ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ “เปลี่ยนผ่าน” จาก CSR Spirit “จิตอาสา” สู่การนำแนวคิดนวัตกรรมที่ยั่งยืนเข้ามาเป็นคำตอบให้ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ตอบรับตลาด EV และ AI ในอนาคต

นางสาวนภัสร กิตะพาณิชย์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) บอกว่า บริษัทมีปรัชญาเป็นแกนหลักการดำเนินธุรกิจคือ “3 สมบูรณ์ สร้างสมดุล” ประกอบด้วย คนสมบูรณ์ ธุรกิจสมบูรณ์ และชุมชนสมบูรณ์  ซึ่งช่วยทำให้การดำเนินของธุรกิจมีความชัดเจนมากขึ้น

พร้อมกันนี้ บริษัทได้เริ่มปรับตัวไปสู่การออกแบบนวัตกรรมผลิตชิ้นส่วนโดยใช้ระบบออโตเมชั่นให้มากขึ้น เพื่อลดน้ำหนักรถยนต์และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) เป็นการสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้ตอบโจทย์เทคโนโลยีในอนาคต นอกจากนี้ยังจะสร้างให้ธุรกิจให้ยั่งยืน โดยการไปจับมือกับบริษัทพันธมิตรจากประเทศเยอรมนี ที่ไม่ได้ทำแค่เรื่องการออกแบบชิ้นส่วนอย่างเดียว แต่เป็นการเปลี่ยนทั้งกระบวนการ ซึ่งจะช่วยทำให้ลดการใช้วัสดุและใช้พลังงานน้อยลง