ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Circular Economy: the Future We Create (1) “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ย้ำทางรอดที่ยั่งยืนต้องให้ Circular Economy ระเบิดในใจคนไทยทุกคน

Circular Economy: the Future We Create (1) “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ย้ำทางรอดที่ยั่งยืนต้องให้ Circular Economy ระเบิดในใจคนไทยทุกคน

10 กรกฎาคม 2018


ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 เอสซีจีจัดสัมมนา “SD Symposium 2018” ภายใต้แนวคิด “Circular Economy: the Future We Create” โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานว่า circular economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ใช่แนวความคิดใหม่ แต่มีมาสักพักหนึ่งแล้ว โดยเริ่มใช้ในประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย สหภาพยุโรป (อียู) หรือญี่ปุ่น และในระยะหลังเริ่มเห็นประเทศใหญ่อย่างจีนเข้ามาเกี่ยวข้องและมีบทบาทสูงขึ้น เพราะตระหนักดีว่า ถ้าไม่เริ่มทำสิ่งเหล่านี้ วันหนึ่งจะมีปัญหา

“แต่ต้องยอมรับว่า circular economy ยังมีข้อจำกัดคือยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ซึ่งผมคิดว่าเหตุผลที่ทำให้เรามีข้อจำกัด”

ประการแรก ก็คือเรื่องของการสร้างความตระหนักรู้ หรือ awareness นั้นสำคัญที่สุด แต่ยังมีคนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษยชาติจะสามารถดำรงต่อไปได้ในระยะยาว การสร้างความตระหนักรู้ขึ้นมาในโลกไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะเรื่องนี้ คนทั่วไปยังมองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว เราไม่ทำ คนอื่นก็ทำ ดังนั้น สำหรับประเทศไทยถ้าไม่สามารถสร้าง awareness ให้กับประชาชนได้ สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นได้ยาก

ประการที่สอง คือ ตลอด 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา เราเห็นชัดในเรื่องของ economic growth (ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ) และเรื่องจีดีพีเป็นเรื่องใหญ่ แต่ละประเทศส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับกำลังพัฒนา ดิ้นรนที่จะทำให้พลเมืองของเขามีอันจะกิน แก้ปัญหาการจ้างงาน และให้คนในประเทศของเขาอยู่รอดได้

ฉะนั้นเมื่อ economic growth เป็นจุดโฟกัสสำคัญ เรื่องอื่นๆ ก็กลายเป็นเรื่องรองลงไป ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่มีระดับการพัฒนาถึงจุดหนึ่งแล้ว เขาสามารถมีเวลา มีความคิดอ่านที่ก้าวไกลไปกว่าประเทศอื่นๆ  สิ่งเหล่านี้เป็นข้อจำกัดของเรา

ข้อจำกัดประการที่สาม คือ ภาคเอกชนซึ่งเป็นหลักที่สำคัญอย่างยิ่งยวด จำได้ว่าตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศเมื่อผ่านมา 30 ปี ผมเชื่อว่ามีอยู่ 2 paradigm ที่สำคัญมาก

paradigm ที่หนึ่ง คือการแนะนำว่าบริษัทจะสามารถมี positioning อย่างไรในแลนด์สเคปของการแข่งขัน หา positioning หาตำแหน่งจุดยืนให้มีความสามารถ มีความได้เปรียบเชิงแข่งขัน สคูลนี้เป็นของไมเคิล พอร์เตอร์ (Michael Porter) เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว

พลังการชี้แนวคิดของสคูลนี้ ทำให้เอกชนของประเทศต่างๆ ในโลกล้วนคิดถึงอย่างเดียวว่าในแวลูเชนของเขานั้น จะมีตำแหน่งตรงไหนที่สามารถแข่งขันได้ แล้วโฟกัสไปสู่จุดเหล่านั้นทั้งหมด ฉะนั้น ความคิดอ่านมันจึงไปสู่การหาทรัพยากรมาผลิตในตำแหน่งซึ่งได้เปรียบสูงสุด แล้วก็ขายออกไปเพื่อสร้างรายได้ สร้างผลกำไร

paradigm ที่สอง คืออีกสคูลหนึ่งในระยะหลังซึ่งเน้นว่า ทำอย่างไรที่จะออกจากตลาดที่มีการแข่งขันสูงไปหาดินแดนใหม่ซึ่งยังไม่มีการแข่งขันเท่าไหร่นัก สคูลนี้เรียกว่า blue ocean ไปหาทะเลสีน้ำเงิน ซึ่งปลายังมีมากอยู่ นั่นคือความคิดอ่านในการไปหาดินแดนใหม่ๆ ซึ่งคนอื่นคิดไม่ถึง แล้วสร้างมันขึ้นมา

ฉะนั้นสองสคูลนี้ dominate ความคิดอ่านของการทำธุรกิจเกือบทั้งโลก แต่ลืมไปว่าเมื่อไปเรื่อยๆ ปลามันก็หมด ทรัพยากรก็หมด สิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น มันถึงเวลาที่ต้องมายั้งคิดว่า school of thought เหล่านี้ยังมีความบกพร่อง ยังมีช่องว่างอีกมาก ที่เราจะต้องเติมเต็มมันลงไป

สร้างความตระหนักรู้-ระดมพลังทำให้สำเร็จ

ดร.สมคิดกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่เรื่องของรัฐบาลหรือเอกชน แต่ต้องรู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของประชาชน หากประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนใจ ก็ยากยิ่งที่เอกชนจะมาสนใจ

ผมใช้คำว่า paradigm shift เลยทีเดียว เพราะมันไม่ง่ายที่จะทำให้บริษัททั่วโลกเปลี่ยนวิธีการคิด และรีดีไซน์กระบวนการผลิต หาสิ่งที่ยากกว่ามาทดแทนสิ่งที่เคยทำมาตลอด เพราะเป็นเรื่องของความคุ้นเคยเชิงพฤติกรรมของธุรกิจ ถ้าประชาชนไม่มีระเบียบวินัย ไม่คิดถึงคนรุ่นหลัง ก็ยากที่จะเกิดพลังในสังคมขึ้นมาได้

ฉะนั้น ถ้าให้ผมเปรียบในวิชาเชิงการตลาด สิ่งนี้เหมือนเป็นการ management of innovation ความคิด circular economy แม้ว่าจะไม่ใช่ความคิดใหม่ แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว มันเป็น innovation มันเป็นนวัตกรรม

“คนเราจะยึดเอานวัตกรรมเหล่านี้ และจะปฏิบัติตามทำให้มันสำเร็จได้ ต้องมีการสร้างความตระหนักรู้ให้ชัดเจน ต้องชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ของสิ่งนี้ ไม่กับตัวคุณก็กับสังคม กับลูกหลานของคุณ แล้วคุณก็ต้องมีความสามารถในการระดมพลังมากเพียงพอ ที่จะเคลื่อนไหวให้การเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงในสังคมข้างหน้า ฉะนั้น มันไม่ใช่สิ่งง่ายๆ จึงต้องชื่นชมเอสซีจี ที่กล้ายืนขึ้นมาเป็นผู้นำในเรื่องเหล่านี้”

แต่เราต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ค่อนข้างช้าในเรื่องเหล่านี้ ช้าจนกระทั่งเราเห็นปลาวาฬตายเกยตื้น ในพุงปลาวาฬมีถุงพลาสติก มีขยะที่ไม่ย่อยสลายเต็มไปหมด สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่เห็นกับตาก็จะไม่เชื่อ แต่เห็นแล้วจะมีอะไรเกิดขึ้น ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญมากๆ

Circular Economy เกื้อกูลความยั่งยืน

ดร.สมคิดยังกล่าวว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยดิ้นรนมาตลอด ตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์เศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ประเทศเจ๊งเป็นแถว รัฐบาล เอกชนไม่มีปัญญาคิดถึงเรื่อง circular economy แน่นอน ดิ้นรนจนกระทั่งเวลาผ่านมาก็เกิดอีก และรอดพ้นมาได้ แต่วันนี้เราดีขึ้นแล้ว และเมื่อดีขึ้น ก็น่าจะเป็นจังหวะดีที่จะต้องคิดอะไรใหม่ๆ เพื่ออนาคตข้างหน้า ซึ่งรัฐบาลได้ตอกย้ำว่าเราต้องการปฏิรูปประเทศ ต้องการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้สามารถก้าวไปสู่สิ่งที่ยั่งยืนต่อไป

คำว่าความยั่งยืนนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ว่าเราจะต้องมีความทันสมัย จะต้องแข่งขันชนะคนอื่น แต่สิ่งที่เราย้ำตลอดเวลาคือ เราต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของเรา ไปเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ ซึ่งมูลค่าเพิ่มนี้ มีทั้งสิ่งที่วัดได้ในเชิงมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างผลิตภาพ การสร้างมูลค่าของสินค้าที่ผลิตออกมา

“แต่เรื่องของ circular economy จริงๆ แล้วมันเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกื้อกูลต่อความยั่งยืนและการสร้างมูลค่าของระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง เพียงแต่ว่ามันอยู่ไกล และเป็นสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็น”

ฉะนั้นภาครัฐบาลจึงบรรจุเอาไว้ใน 1 ใน 6 ของยุทธศาสตร์ชาติ โดยบอกว่าการที่จะพัฒนาประเทศ จะต้องไปเน้นเรื่องความยั่งยืนและการดูแลสิ่งแวดล้อมเอาไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสในชีวิต ไม่ใช่พัฒนาประเทศขณะนี้ แต่ไปทำลายอนาคตของลูกหลาน

สิ่งเหล่านี้เมื่อมันอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ แปลว่ามันมีกรอบในอนาคตข้างหน้าที่รัฐบาลจะต้องมีนโยบายที่ตอบสนองสิ่งเหล่านี้ คุณจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ หมายความว่านี่คือการปักหมดเป็นจุดเริ่มต้น การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อคราวที่แล้ว ได้มีการพูดถึงเรื่องขยะว่ามันไม่เป็นองค์รวมในการแก้ไขปัญหา มันกระจัดกระจาย ไม่ทำทั้งระบบ สิ่งเหล่านี้ มันเริ่มมีขึ้นแล้ว

ขณะที่การประชุมสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ครั้งที่ผ่านมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็มีการหารือว่าจากการที่เรามีนโยบายจูงใจทางภาษีในลักษณะโปรเจกต์บายโปรเจกต์ ต่อจากนี้ไปเราต้องการเน้นเรื่องของ agenda approach หมายความว่า แม้โครงการซึ่งไม่ใช่ผลิตออกมาแล้วเป็นสินค้าขายได้ แต่ถ้ามันมีโครงการซึ่งทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ เรายินดีที่จะจูงใจให้มีการลงทุน และ circular economy เป็นสิ่งหนึ่งที่เราคุยกันในที่ประชุมบีโอไอ

ฉะนั้น ขณะนี้ประเทศของเราเริ่มอยู่ในฐานะที่พร้อมจะเป็นส่วนเกื้อกูลและร่วมมือกับโลกในการดูแลเรื่องนี้ แต่รัฐบาลจะต้องเป็น facilitator ที่ดี สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพอเพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดการรวมพลังของภาคเอกชน ภาคประชาชน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการทำสิ่งเหล่านี้

มาตรการทางภาษี มาตรการจูงใจ สิ่งเหล่านี้เป็นองค์รวมที่ต้องมานั่งคุยร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย และส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผมคิดว่าในไม่ช้าท่านจะได้เห็นแน่นอน

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

ต้องสื่อความให้ประชาชนเข้าใจ

ในส่วนของภาคเอกชน ดร.สมคิดชี้ว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้น แต่อยากเรียนว่าไม่ง่าย เพราะการพูดคุยกับภาคเอกชนให้มีจิตสำนึกเป็นเรื่องสำคัญมาก ก่อนหน้านี้มีหลายคนพยายามทำเรื่อง circular economy แต่ว่าถอดใจ เพราะเขาบอกว่าถ้าคิดออกมาเป็นเงินไม่ได้ มันยากยิ่งที่จะชักชวนให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมได้ แต่ผมคิดว่ายุคสมัยใหม่นี้ เอกชนมีจิตสำนึกที่ดีพอ

กระนั้นก็ตาม ต้องมีการลุกขึ้นมารวมพลังเคลื่อนไหวทางสังคม ฉะนั้นต้องเอาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และทุกส่วนทางด้านเอกชนเข้ามาร่วม เพราะมันจะเกิดเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่

การสร้างความตระหนักรู้นั้นสำคัญมาก แต่ทุกคนเวลาจะรับเอาสิ่งใหม่ๆ สิ่งแรกที่รู้สึกก็คือเขา perceived uncertainty เขามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการเพิ่มต้นทุน มันยากลำบาก มันต้องรีดีไซน์ ต้องลงทุนใหม่หรือเปล่า

แต่การจัดงานในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าทำได้ดีเพราะอะไร ช่วงแรกอาจจะลำบาก มีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ว่าในระยะยาวแล้วมันเกิดประโยชน์กับตัวท่านเอง กับสังคม และโลก

“ฉะนั้นการ set example หรือการสื่อความ ผมคิดว่าท่านต้องทำงานหนักมากๆ ในการช่วยกันขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ และที่สำคัญที่สุดก็คือท่านจะต้องทำให้ประชาชนเข้าใจ และเคลื่อนตัว เคลื่อนไหว ไปพร้อมๆ กับท่าน”

Pressure Group ที่ดีที่สุดคือ “ประชาชน”

ดร.สมคิดยังชี้ว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีการศึกษาที่เพียงพอ ยังมีความยากจน ปากกัดตีนถีบ ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดหลายครั้งในการทำการเมืองให้ดี หรือการปฏิรูปการเกษตร แต่ก็มีความยากเฉพาะหน้า ที่เป็นอุปสรรคสำคัญ

ฉะนั้น หากถือโอกาสนี้รวมพลัง สื่อความ จัดสัมมนาไปทั่วประเทศ เอาหอการค้าทุกแห่งมาช่วยให้เกิดความตื่นตัวขึ้นมา และที่สำคัญก็คือภาคประชาชนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้อง กระตุ้น ลองดูตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นชัดเจน เช่น กระเป๋าหนังจระเข้ วันนี้ใครกล้าไปซื้อบ้าง อายเขามั้ย  แม้กระทั่งผมจะไปทานหูฉลาม ลูกชายยังบอกว่าเขาจะไม่ไปกินด้วย

“pressure group ที่ดีที่สุดก็คือประชาชนนั่นเอง ถ้าท่านจะไม่ใช้ถุงที่ย่อยสลายไม่ได้ ท่านก็ต้องใช้ประชาชนนี่แหละเป็น pressure group ไม่มีการบังคับ แต่เขาจะไม่ใช้ เขาจะไม่เข้าร้านที่ใช้ แค่นี้เอกชนก็จะเปลี่ยนใจ”

ฉะนั้นทำทีละสเต็ป จับมาทีละชิ้น อย่าไปหวังผลเลิศว่าทำทีเดียวแล้วจะครบหมด  ค่อยๆ ไป แล้วดูว่า circular economy ตอนใด ขั้นใด ยังไม่ครบ เติมซะให้ครบ

ความร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสำคัญมากๆ เพราะมันไม่ใช่เป็นการร่วมมือเพียงภายในอุตสาหกรรม แต่ยังร่วมมือภายนอกอุตสาหกรรมด้วย ระหว่างอุตสาหกรรมด้วย ว่าของเสียจากอุตสาหกรรมมันจะสามารถใช้เป็น raw material สำหรับอุตสาหกรรมอื่นหรือไม่

สิ่งเหล่านี้ปลูกฝังลงไปในบรรดาผู้ประกอบการ ปลูกฝังลงไปในการศึกษา ปลูกฝังลงไปในสมองเด็กและเยาวชนอนาคตข้างหน้า

แล้วท่านคอยดูว่าถ้าเราสามารถสร้างสตาร์ทอัปใหม่ๆ ได้ สตาร์ทอัปเหล่านี้จะมีความคิดใหม่ๆ มีบิสซิเนสโมเดลใหม่ๆ ที่จะสามารถจะกระโดดก้าวข้าม mental block ของคนรุ่นเก่า ซึ่งคุ้นเคยกับสิ่งที่เป็นมาในอดีต

“ผมไปฮ่องกง ไปเห็นสตาร์ทอัปของเขา มีคนคิดสร้างให้คนเอาขยะมาทิ้ง แล้วแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งจูงใจบางอย่าง แล้วเอาสิ่งเหล่านี้ไปผลิตเป็นกระเป๋า เป็นถุง ซึ่งมันกำลังเกิดขึ้นในโลกขณะนี้”

เปลี่ยนความคิด สร้างจิตสำนึก สนับสนุน Circular Economy ในทางบวก

ฉะนั้น คนรุ่นใหม่มีความสำคัญมากไม่แพ้คนรุ่นเก่า แต่ไม่ได้พูดเพื่อทำให้คนจัดงานวันนี้เสียกำลังใจ แต่ผมอยากบอกว่าเรื่องเหล่านี้มันเหมือนกับเป็น battle เป็นสงครามที่คุณกำลังจะเปลี่ยนความคิดอ่าน สร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องขึ้นมา

ทำไมนักกีฬาญี่ปุ่น กองเชียร์ฟุตบอลญี่ปุ่น ไปดูกีฬาแล้วเก็บขยะทั้งหมด ทำไมสิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นในสังคมอื่น ซึ่ง circular economy จะเกิดขึ้นได้ต้องมีวินัยแบบนี้  ฉะนั้น ถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้ได้ เรื่องอื่นๆ เราก็จะทำได้หมด ไม่ว่าจะเป็นวินัยเรื่องเศรษฐกิจ วินัยเรื่องการเมือง

ดร.สมคิดทิ้งท้ายว่า…

“สำหรับการเมือง ผมเล่าตลกๆ ว่าเป็นตัวอย่างของ circular economy ที่ไม่ดี มันหมุนเวียนอยู่อย่างนี้ 80 ปี ไม่มีซากด้วย ไม่ยอมหายไปสักที อันนี้อย่าให้มันเกิดขึ้น เราควรสนับสนุน circular economy ในทางที่เป็นบวก”

“วันนี้จึงอยากให้กำลังใจทุกคนที่จัดทำเรื่องนี้ขึ้นมา ที่น่ายินดีคือทราบว่าจะมีซีอีโอมาร่วมงานด้วยหลายคน ถ้าได้ซีอีโอ ท็อปซีอีโอของบริษัทส่วนใหญ่มาร่วมด้วย แล้วสร้างพลังให้เกิด ผมเชื่อว่าพลังเหล่านี้จะสามารถโยกภูเขาได้” ดร.สมคิดกล่าว