ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > ภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม เสนอนายกฯ 4 แนวทาง ร่วม เร่ง เปลี่ยน ประเทศไทยสู่ “สังคมคาร์บอนต่ำ”

ภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม เสนอนายกฯ 4 แนวทาง ร่วม เร่ง เปลี่ยน ประเทศไทยสู่ “สังคมคาร์บอนต่ำ”

5 ตุลาคม 2023


ภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมได้ร่วมกันนำเสนอแนวทาง“เปลี่ยนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ที่มาจากการระดมสมองของตัวแทนทั้งสามภาคส่วนกว่า 500 คน ตลอดเดือนกันยายนที่ผ่านมา ต่อนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน เพื่อขับเคลื่อนแผน Net Zero 2065 สู่การปฏิบัติจริง

วันนี้ (5 ต.ค. 66) นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เป็นตัวแทนภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม ได้นำเสนอ 4 แนวทาง ในการ “ร่วม เร่ง เปลี่ยนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ควบคู่เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ต่อนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ภายในงาน ESG Symposium 2023 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 11 ในหัวข้อ “ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ด้วยความร่วมมือจากหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเอสซีจี ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีผู้ร่วมงานจากทุกภาคส่วนกว่า 2,000 คน

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

นายธรรมศักดิ์กล่าวว่า ตัวแทนจากทุกภาคส่วนกว่า 500 คนใช้เวลามากกว่า 1 เดือนในการระดมสมอง ใน 4 หัวข้อ เพื่อที่จะผลักดันหาทางให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ที่ผ่านมาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศใีการเติบโทั้งด้านการผลิตและการบริการ ที่มาควบคู่กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น ระบบเศรษฐกิจแบบนี้ไม่สามารถจะนำประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้

“สิ่งที่พวกเราอยากเห็น คือเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง พร้อมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฟังดูเหมือนกับว่าเป็นไปไม่ได้ แต่จากการที่มองประเทศต่างๆรอบโลก ก็พบว่า ประเทศต่างๆ เช่น สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ กลุ่มประเทศเหล่านี้สามารถเพิ่มอัตราเติบโตของจีดีพี ในขณะที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปล่อยก๊าซจะสวนทางกัน หรือแม้แต่ประเทศจีนซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ก็สามารถที่จะเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก กลุ่มเศรษฐกิจเหล่านี้กำลังเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำแล้ว”

นายธรรมศักดิ์กล่าวว่า การเปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จำเป็นที่จะต้องปรับให้เข้ากับสภาพของประเทศไทย ตามจุดแข็งและจุดอ่อนของประเทศ ต้องยึดความสมดุล ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งตกผลึกออกมาเป็น 4 กลุ่ม

ข้อเสนอ “ร่วม เร่ง เปลี่ยนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำ”ประกอบด้วย 4 แนวทางได้แก่

1) ร่วมสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว เกษตรยั่งยืน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เนื่องจากสระบุรีเป็นจังหวัดที่มีความซับซ้อนและท้าทายมาก เพราะมีระบบเศรษฐกิจผสมผสานทั้งภาคอุตสาหกรรมหนัก การเกษตร การท่องเที่ยว และความเป็นเมืองที่ผสมกัน จึงสามารถเป็นตัวแทนเสมือนของประเทศไทยได้ เพื่อศึกษาเรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จและข้อจำกัดต่าง ๆ ในการเปลี่ยนสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ซึ่งร่วมบูรณาการโดยผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมจริง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรง และภาคประชาสังคมที่ได้รับผลกระทบ หากประสบความสำเร็จจะเป็นแรงจูงใจให้จังหวัดอื่น ๆ ได้ ปัจจุบันมีความร่วมมือเกิดขึ้นแล้ว อาทิ การกำหนดใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำในทุกงานก่อสร้างในจังหวัดสระบุรีตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

“จังหวัดสระบุรีเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทยมีกำลังการผลิตมากกว่า 70%ของประเทศ ภาคอุตสาหกรรมของสระบุรีจะต้องปรับตัว ในกลุ่มผู้ผลิตปูฯซีเมนต์ ซึ่งกลุ่มซีเมนต์ได้ปรับการผลิตให้เป็นคาร์บอนต่ำ และกำหนดว่า ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ทุกงานก่อสร้างในจังหวัดสระบุนร ต้องใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคเอกขน ภาคราชการช่วยกัน เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ”

ส่วนภาคการเกษตร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย จะเน้น การเกษตรตามโมเดล BCG ส่งเสริมการทำนาเปียกสลับแห้ง เป็นการปลูกข้าวที่ช่วยลดการใช้น้ำ และนอกจากจะลดต้นทุนแล้วยังลดคาร์บอนได้ด้วย เป็นข้าวคาร์บอนต่ำ รวมไปถึงการปลูกพืชพลังงาน หญ้าเนเปียร์ และการนำของเหลือจากการเกษตรไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งประชาชนระดับรากหญ้าจะได้ประโยชน์ เป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชน ตลอดจนร่วมปลูกป่าชุมชน 38 แห่งทั่วจังหวัด เพิ่มพื้นที่สีเขียวช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก และยังทำให้เมืองสระบุรีเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นเมืองน่าอยู่และสร้างรายได้ใหักับชุมชน

“เมืองสระบุรีน่าจะเป็นแบบและมุ่งหวังขยายไปยังเมืองอื่นๆต่อไป”

2)เร่งผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะเป็นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ ในประเทศไทยมี 3 อุตสาหกรรมที่ลงมือทำแล้ว คืออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และก่อสร้าง แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเติบโตแข็งแกร่งเป็นเศรษฐกิจหลักได้ จำเป็นต้องผลักดันให้มีการกำหนดนโยบาย กฎหมาย มาตรฐาน การคัดแยกและจัดเก็บขยะเป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ กำหนดตัวชี้วัดในการติดตามผล ตลอดจนสร้าง Eco-system สนับสนุนนวัตกรรมต่างๆ ออกมาตรการสิทธิประโยชน์ในการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งรณรงค์ใช้สินค้ากรีนที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุชีวภาพ ออกกฎหมายระบุปริมาณขั้นต่ำอย่างชัดเจน โดยหน่วยงานภาครัฐนำร่องจัดซื้อจัดหาสินค้ากรีน เพื่อให้เกิดการยอมรับอย่างแพร่หลาย

ข้อเสนอ ร่วมเร่งเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

3)เปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน เป็นเรื่องสำคัญเพราะ 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศมาจากพลังงาน ต้องมีการปลดล็อกข้อจำกัด ประเทศไทยยังมีพื้นที่อีกมากที่จะพัฒนาพลังงานโซลาร์ โดยเปิดเสรีซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) เพื่อให้ภาครัฐและเอกชนใช้เครือข่ายไฟฟ้าร่วมกัน ให้ทุกคนเข้าถึงพลังงานสะอาดสะดวกยิ่งขึ้นที่จะสร้างพื้นฐานของสังคมคาร์บอนต่ำ สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสะอาดและใช้พื้นที่ว่างเปล่า กักเก็บพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น พลังงานน้ำ พลังงานความร้อน พลังงานกล พลังงานเคมี รวมทั้งพัฒนาพลังงานทดแทนใหม่ ๆ และผลักดันให้อยู่ในแผนพลังงานแห่งชาติ เช่น พลังงานไฮโดรเจน พืชพลังงาน ขยะจากชุมชน ของเสียจากโรงงาน ตลอดจนปรับปรุงนโยบายและให้สิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อการใช้พลังงานสะอาด และส่งเสริมการใช้ข้อมูล Big Data เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง

4) ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้ประเทศเปลี่ยนไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่สามารถปรับตัวได้ เช่น SMEs แรงงาน เกษตรกร และชุมชน โดยแบ่งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบและจัดสรรความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เพื่อให้ตระหนักรู้ เข้าถึงเทคโนโลยีลดคาร์บอนและแหล่งเงินทุนสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ซึ่งมีอยู่มากถึง 52 ล้านล้านบาท และขอเสนอให้ไทยควรร่วมเร่งเข้าถึงกองทุนดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กองทุนนวัตกรรมจัดการน้ำให้กลุ่มเกษตรกรรับมือสภาพภูมิอากาศแปรปรวน กองทุนฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าพร้อมสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้ ยังควรพัฒนาทักษะแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านให้มีความพร้อมปรับตัวทันท่วงทีและพึ่งพาตัวเองได้

นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน แสดงวิสัยทัศน์ ESG เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ในงานESG Symposium 2023

“ทั้ง 4 ข้อเป็นข้อสรุปจากการระดมสมองจากผู้ปฏิบัติงานจริง เห็นปัญหาจริง และหวังว่า ข้อเสนอเหล่านี้จะมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโต พร้อมกับมีคาร์บอนต่ำ” นายธรรมศักดิ์กล่าว

ด้านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน กล่าวชื่นชมข้อเสนอดังกล่าว โดยกล่าวว่า “ผมรู้สึกประทับใจมาก ที่ได้เห็นคนไทยทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ร่วมกันหาแนวทางทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เพราะภาวะโลกเดือด Boiling World ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของทุกชีวิตบนโลก”

สภาพอากาศสุดขั้วส่งผลต่อสุขภาพ ภัยแล้งรุนแรงมากขึ้น อาหารขาดแคลน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงระดับมหภาค อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือกันตามกลยุทธ์ ESG ที่เน้นสร้างเศรษฐกิจ ควบคู่กับสมดุลทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใส มุ่งสู่เป้าหมาย Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ เราช่วยกันจะกู้โลกให้กลับมาดีขึ้นได้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้ร่วมประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ. 2023 (Sustainable Development Goals (SDG) Summit 2023) โดยสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action) ซึ่งประเทศไทยสนับสนุนกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะความร่วมมือในการจัดสรรแหล่งทรัพยากรและเงินทุน ซึ่งจะช่วยให้ทุกประเทศรับมือกับความท้าทาย และร่วมกันขับเคลื่อน SDGs เป็นรูปธรรม

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงินกว่า 450,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และ Thailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจไทย โดย Global Compact Network Thailand กว่า 100 บริษัททั่วประเทศ พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และตั้งเป้าลงทุน 1.6 ล้านล้านบาท ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ภายในปี พ.ศ.2573

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ต้องมีแนวทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประเทศไทยได้มีแนวทาง ได้แก่

    1) มุ่งมั่นการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านหลักการไปให้ถึงและช่วยเหลือกลุ่มที่รากหญ้า
    2) ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ สำหรับประชากรทุกคนในประเทศ และให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ และ
    3) ผลักดันความร่วมมือทุกระดับ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสะอาด ในราคาที่เหมาะสมและมีความน่าเชื่อถือภายในปี ค.ศ 2030

“ขอให้ทุกคนมั่นใจว่า วันนี้ประเทศไทยพร้อมเดินหน้าแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลบรรจุอยู่ในนโยบาย และมีแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contribution : NDC) เพื่อให้ทุกภาคส่วนดำเนินงานอย่างบูรณาการร่วมกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สำหรับข้อเสนอร่วมเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ผมชื่นชมความตั้งใจที่จะทำ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ซึ่งเป็นการเลือกโจทย์ที่ยากพอสมควร เพราะสระบุรีเป็นจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมใหญ่อยู่มาก เช่น โรงงานปูน เป็นต้น ทั้งนี้การดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากเอกชนรายใหญ่และประชาชน ดำเนินมาตรการต่างๆ มากมาย และต้องใช้เงินทุน ต้องขอชื่นชม SCG ที่ Step up มาผลักดันเรื่องนี้ และขอเชิญชวนบริษัทใหญ่อื่น ๆ มาร่วมกันเป็นพลังเสริมด้วย ทั้งนี้ ขอให้ทำให้สำเร็จ จะได้เป็นตัวอย่างให้เมืองอื่น ๆ และภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในประเทศได้”

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยชื่นชมทั้ง 3 อุตสาหกรรมนำร่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อขยายผลความสำเร็จนี้ รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายจัดการขยะและเปิดให้จัดหาสินค้ากรีน เพื่อสร้าง eco-system ที่เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต และช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ อีกทั้งรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดให้เต็มประสิทธิภาพ และศึกษาการเปิดให้สามารถซื้อ-ขายไฟฟ้าจาก Renewable Source ได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นจุดแข็งของประเทศไทยในการดึงดูดนักลงทุน และบริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาในอนาคต

“ที่สำคัญมากคือการเปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave no one behind) ต้องยอมรับว่ายังมีประชาชนอีกมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก เกษตรกร และชุมชน ที่ยังไม่ตระหนักถึงวิกฤตนี้ หรือยังไม่พบทางออกเพื่อรับมือ ดังนั้นควรสนับสนุนการเข้าถึงความรู้ เทคโนโลยี และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ให้สามารถปรับตัวอยู่รอดได้”

“ผมขอฝากให้ธุรกิจขนาดใหญ่เป็นพี่เลี้ยงผู้ประกอบการขนาดเล็กและชุมชน รวมทั้งผนึกกำลังกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างในวันนี้ โดยข้อเสนอต่าง ๆ ดังกล่าว ผมจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกรัฐมนตรีขอบคุณทีมผู้จัดงาน และทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้น ซึ่งได้ช่วยสร้างความตระหนักรู้ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ที่จะผลักดันให้เกิดความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

“เราทุกคนมุ่งหวังการเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ลดผลกระทบจากสภาวะอากาศแปรปรวนขั้นวิกฤต รวมทั้งสร้างเศรษฐกิจที่เจริญเติบโต คุณภาพชีวิตดี การท่องเที่ยวคึกคัก เกษตรกรรายได้ดี ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องคนไทย ผมมั่นใจว่าเป็นจริงได้แน่นอน หากทุกภาคส่วนมาร่วมบูรณาการ โดยเห็นประโยชน์ของประเทศและของโลกเป็นสำคัญ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกรัฐมนตรียังได้เยี่ยมชมนิทรรศการเกี่ยวกับการจัดงาน ณ บริเวณ ESG Landmark หน้าห้อง Plenary Hall ได้แก่ 1) “สระบุรีแซนบ็อกซ์” ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำครบวงจรของไทย 2) แบตเตอร์รี่กักเก็บพลังงานสะอาด และ 3) โครงการพัฒนาคลองเปรมประชากร