ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > วิกฤติขยะอาหาร (2) ธุรกิจค้าปลีกกรณีศึกษาการลดความสูญเสียอาหารในห่วงโซ่อุปทาน

วิกฤติขยะอาหาร (2) ธุรกิจค้าปลีกกรณีศึกษาการลดความสูญเสียอาหารในห่วงโซ่อุปทาน

25 มีนาคม 2018


ในภาพยนตร์สารคดีสั้น วิกฤติขยะอาหาร: ความจริงที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนและกระบวนการในการลดการสูญเสียอาหารตั้งแต่การวางแผนเพาะปลูก กระบวนการตัดแต่ง บรรจุจนถึงการขนส่ง

ในตอนที่ 1 ของซีรีส์ข่าว “วิกฤติขยะอาหาร: สถานการณ์ขยะอาหารในไทย ความจริงที่ไม่เคยถูกพูดถึง” เราได้ฉายภาพให้เห็นถึงว่าวิกฤติอาหารกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก โดยอาหาร 1 ใน 3 ที่ผลิตได้ในโลกถูกทิ้งในขณะที่ร้อยละ 11 ของคนกำลังอดอยาก

สำหรับประเทศไทยแม้ในเวลาที่ผ่านมาจะไม่มีข้อมูลเรื่องนี้มากนัก แต่อย่างน้อยก็มีข้อมูลที่พบว่า ในค่าเฉลี่ยของการสร้างขยะของคนไทย 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวันนั้น สัดส่วนของขยะมูลฝอยร้อยละ 64 นั้นเป็นขยะอาหาร

จากสถานการณ์ดังกล่าวนำมาสู่คำถามถึงทางออกของการแก้ไขปัญหาในอนาคต เพราะปัญหาที่ดูเหมือนเป็นปัญหาที่ไม่มีใครมองเห็นนี้ เป็นเรื่องที่แก้ไขยากเกินกว่าที่คาดคิด และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่งแต่ต้องใช้ความร่วมมือตั้งแต่ระดับครัวเรือน ภาคธุรกิจไปจนถึงระดับนโยบาย

ในซีรีส์ข่าว วิกฤติขยะอาหารตอนที่ 2 นี้เราได้นำกรณีศึกษาการบริหารจัดการขยะอาหารอย่างยั่งยืนในธุรกิจค้าปลีก ที่สามารถทำได้จริง โดยในที่นี้ได้หยิบยกกรณีศึกษาการลดความสูญเสียอาหารในห่วงโซ่อุปทานของ กลุ่มเทสโก้ ธุรกิจที่ให้คำมั่นสัญญาที่จะมีส่วนผลักดันให้โลกลดขยะอาหารให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 ในระดับค้าปลีกและระดับผู้บริโภค  ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ในเป้าหมายที่ 12.3 โดยที่ผ่านมาเทสโก้สหราชอาณาจักรถือเป็นธุรกิจค้าปลีกรายแรกที่เปิดเผยข้อมูลขยะอาหารในธุรกิจของตนเองต่อสาธารณะเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ในเชิงระบบอย่างเป็นรูปธรรม และในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เทสโก้ในสหราชอาณาจักรลดการทิ้งอาหารเหลือศูนย์จากร้านค้าทุกสาขาทั่วอังกฤษ

วาระระดับโลกของธุรกิจค้าปลีก

สลิลลา สีหพันธุ์

“เป็นเรื่องที่ฟังดูง่ายแต่ในทางปฏิบัตินั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย”  เดฟ ลูอิส ซีอีโอของเทสโก้ กล่าวไว้ตอนหนึ่งบนเวทีสหประชาชาติ ที่ว่าด้วยการเดินทางสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กระนั้น เดฟก็เป็นผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญในการผลักดันวาระ “การสูญเสียอาหาร” นี้ภายใต้คณะทำงาน Champions 12.3 โดยเป็นส่วนสำคัญของภาคธุรกิจที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อผลักดันประเด็นนี้ไปสู่เป้าหมาย

ในประเทศไทย 2 ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นความพยายามในการขับเคลื่อนเรื่อง “ขยะอาหาร” และ “การลดการสูญเสียอาหาร” อย่างเป็นรูปธรรมของ “เทสโก้ โลตัส” ภายใต้กลยุทธ์ “จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร” (Farm to Fork) โดยเป็นธุรกิจค้าปลีกรายแรกที่พยายามบุกเบิกการลดปริมาณขยะอาหารในประเทศไทย

“สลิลลา สีหพันธุ์ ” รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส  กล่าวว่า “ภายใต้กลยุทธ์นี้ เทสโก้ โลตัส ลดการสูญเสียอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่แหล่งเพาะปลูก กระบวนการตัดแต่ง บรรจุ ไปจนถึงขนส่ง จำหน่าย และบริโภค”

ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN FAO) พบว่า การสูญเสียอาหารโดยเฉลี่ยทั่วโลกจะเกิดขึ้นใน 3 ช่วง ช่วงแรกคือตอนเพาะปลูก ที่มีสัดส่วนของอาหารที่ต้องถูกทิ้งไปประมาณร้อยละ 15 การสูญเสียที่หน้าร้านค้าปลีก ร้อยละ 1 และการช่วงสุดท้ายคือการสูญเสีย ในครัวเรือน

ปฏิวัติขยะอาหารจากวางแผนเพาะปลูกสู่ขนส่ง

แผนปฏิบัติในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของเทสโก้ โลตัส ที่ผ่านมามีการดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งในระดับการปรับวิธีคิดและแนวปฏิบัติ มีการรับซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกรโดยไม่ผ่านคนกลาง (Direct Sourcing) โดยร่วมกับเกษตรกรในการเข้าไปวางแผนการเพาะปลูกล่วงหน้า ทำให้ปลูกในปริมาณที่พอดีตามความต้องการตลาดเพื่อลดการเกิดผลผลิตล้นตลาด ซึ่งตามแนวทางนี้จะทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่มีการทิ้งขว้างที่แหล่งเพาะปลูก

“ในประเทศพัฒนาแล้วก็พบว่าทิ้งขยะอาหารที่บ้านกันเยอะ กินทิ้งกินขว้างเหมือนกัน อย่างอเมริกาหรือยุโรป ทิ้งขว้างที่บ้านเยอะ แต่ประเทศที่ยากจนจะไม่ค่อยทิ้งที่บ้าน แต่ไปทิ้งในช่วงเพาะปลูก นี่คือตัวเลขที่ฉายให้เห็นว่าปัญหามันเกิดตรงจุดไหน เพื่อให้แต่ละคนจัดการกับปัญหาให้ถูกจุด”

ภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าวยังมีการปรับปรุงกระบวนการในเรื่องการขนส่ง เช่น การสร้างโรงบรรจุสินค้าภายในรัศมีการเดินทางไม่เกิน 3 ชั่วโมงจากแหล่งเพาะปลูกเพื่อรักษาความสดของสินค้า การพัฒนาบรรจุภัณฑ์และปรับเวลาการเก็บเกี่ยวให้สามารถส่งสินค้าถึงศูนย์กระจายสินค้าได้ภายในเวลา 24 ชั่วโมงเพื่อรักษาความสดของสินค้า การพัฒนาระบบ Cold Chain Solution เพื่อรักษาสินค้าในรถเย็น

ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การใช้เทคโนโลยี Vacuum Cooling Machine ลดอุณหภูมิจาก 25 องศาเซลเซียส เป็น 7  องศาเซลเซียส ในเวลา 15 นาที ทำให้ยืดอายุของสินค้าให้สดใหม่นานขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงขั้นตอนการกระจายสินค้าแบบ Single Pick โดยส่งสินค้าให้แต่ละสาขาตามปริมาณที่จำหน่ายแต่ละวันของแต่ละสาขาเพื่อลดปัญหาสินค้าจำหน่ายไม่หมด ณ หน้าร้านค้า

การติดป้ายเหลืองเพื่อลดราคาสินค้า ส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยนในการลดกระบวนการเพื่อสู่เป้าหมายการลดการทิ้งอาหารที่กินได้ให้เหลือศูนย์
เทสโก้ โลตัส มีการวางแผนเพาะปลูกโดยเข้าไปสนับสนุนและเรียนรู้ร่วมกันกับเกษตรกร ในภาพการห่อเครือกล้วยและเปลี่ยนวิธีขนส่งจากแปลงถึงโรงบรรจุช่วยรักษาคุณภาพและยืดอายุสินค้า

กินได้ไม่ทิ้งกัน ลดการทิ้งอาหารกินได้ให้เหลือศูนย์

ในช่วงกลางน้ำ เมื่อสินค้าเคลื่อนมาถึงการจำหน่ายที่สาขาของเทสโก้ โลตัส มีกระบวนการหลายส่วนเช่นกันที่ถูกปรับเปลี่ยนมุมมองรวมไปถึงการริเริ่มใหม่ๆ เช่น การลดราคาสินค้าระหว่างวันโดยใช้สินค้าป้ายสีเหลืองในราคาลดลงสูงสุด 90% เพื่อให้สินค้าสามารถขายได้และไม่ถูกทิ้ง นอกจากนี้ หากสินค้ายังเหลืออยู่ ในอดีตที่ผ่านมาอาหารเมื่อขายไม่หมดจะถูกทิ้ง ปัจจุบันได้เพิ่มขั้นตอนการคัดแยกอาหารที่ยังสามารถรับประทานได้อยู่ เพื่อนำไปบริจาคให้กับองค์กรสาธารณกุศล ภายใต้โครงการ “กินได้ไม่ทิ้งกัน” ที่ปัจจุบันมีการบริจาคอาหารไปแล้วกว่า 1.2 ล้านมื้อ ขณะที่อาหารที่หมดอายุจะนำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์

และสุดท้าย ช่วงปลายน้ำ หรือการบริโภค ในฐานะคนขับเคลื่อนเรื่องนี้ ผู้บริหารเทสโก้ยอมรับว่า “นี่เป็นจุดที่ควบคุมได้ยากที่สุด เพราะเมื่ออาหารมาถึงบ้านลูกค้าแล้วเราไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือให้ความรู้ลูกค้าว่าถ้าไม่ช่วยกันแก้เรื่องนี้ มันก็จะเป็นปัญหาที่ใหญ่และทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ”

ความพยายามในการรณรงค์เรื่องขยะอาหารผ่านช่องทางต่างๆ กระทั่งการเปิดตัวภาพยนตร์สารคดี วิกฤติขยะอาหาร: ความจริงที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก (Food Waste: An Unpalatable Truth) ล่าสุดและที่จะเดินสายฉายในอีก 22 จังหวัด จึงเป็นความพยายามในการต่อจิ๊กซอว์ในการแก้ปัญหาขยะอาหารจากต้นน้ำถึงปลายน้ำซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้บริโภคและ จะต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงครัวเรือน

ติดตามตอนสุดท้าย วิกฤติขยะอาหาร (3) มาตรการ นโยบายในระดับโลกและความเป็นไปได้ในประเทศไทย