ThaiPublica > เกาะกระแส > สมาชิกโครงการไลฟ์พริวิเลจฟ้อง รพ.กรุงเทพ ชนะคดีได้สิทธิรักษาฟรีตลอดชีวิตคืน

สมาชิกโครงการไลฟ์พริวิเลจฟ้อง รพ.กรุงเทพ ชนะคดีได้สิทธิรักษาฟรีตลอดชีวิตคืน

2 พฤศจิกายน 2018


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีโรงพยาบาลกรุงเทพ [บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน)] มีหนังสือแจ้งแก่สมาชิกโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ เพื่อขอยกเลิกโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ ซึ่งสมาชิกมีสิทธิรักษาฟรีตลอดชีวิต ระบุว่าโครงการดังกล่าวเป็นสัญญาประกันภัย บริษัทไม่มีใบอนุญาตประกันภัย จึงขอยกเลิกโครงการ โดยในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 โรงพยาบาลกรุงเทพได้แจ้งแก่ลูกค้าที่ใช้แพ็คเกจนี้ว่าจะต้องเลือกระหว่าง ทางเลือกที่ 1 ขึ้นราคาจาก 100 บาท ให้จ่าย 25% ของค่ารักษา หรือทางเลือกที่ 2 ได้เงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ย 5% และถ้าไม่ตอบกลับมาถือว่ายอมรับว่าจะรับเงินคืน

ปรากฏว่าสมาชิกบางส่วนรับเงินคืน และส่วนใหญ่ฟ้องร้องโรงพยาบาลในข้อหาผิดสัญญา ละเมิด และเรียกค่าสินไหมทดแทน กรณีจำเลยบอกเลิกสัญญาโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ หรือยกเลิกสิทธิรักษาพยาบาลฟรีตลอดชีพ ซึ่งคดีที่สมาชิกฟ้องร้องทั้งหมด ศาลแพ่งพิพากษาให้สมาชิกโครงการฯ ชนะ โดยระบุว่า “โครงการไลฟ์พริวิเลจคลับไม่ใช่ธุรกิจประกันภัย จึงมีคำสั่งให้จำเลยเปิดบริการรักษาพยาบาลฟรีแก่โจทก์ตามข้อตกลงและเงื่อนไขของสัญญาดังกล่าว รวมทั้งให้จำเลยเบิกค่ารักษาพยาบาลกับโจทก์ระหว่างที่โครงการนี้ปิดให้บริการ และให้ชำระค่าจ้างทนายความแก่โจทก์และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี”

  • สมาชิกไลฟ์พริวิเลจ รพ.กรุงเทพ ร้อง “สคบ.-ก.ล.ต.” ขอความเป็นธรรมและตรวจสอบธรรมาภิบาล หลังถูกตัดสิทธิ์รักษาตลอดชีพ ชี้การบอกเลิกสัญญาเข้าข่ายฉ้อโกง
  • คดีผู้บริโภค…กรณีตัวอย่าง “ไลฟ์พริวิเลจคลับ”
  • ด้วยเหตุนี้ สมาชิกบางส่วนที่รับเงินไปแล้วจึงได้ยื่นฟ้องศาลคดีแพ่งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 ระหว่าง นางสาวนพวรรณ กิตอำนวยพงษ์ (โจทก์) กับบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือโรงพยาบาลกรุงเทพ (จำเลย) เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิขอให้จำเลยเปิดโครงการนี้และรับโจทก์กลับเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่

    ล่าสุดมีคำพิพากษาว่า กรณีที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่าจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือไม่ ศาลวินิจฉัยความว่า ข้อตกลงตามโครงการไม่มีลักษณะเป็นการประกันภัย แต่เป็นสัญญาให้บริการอีกรูปแบบหนึ่งที่ใช้บังคับกันได้ ส่วนการที่สมาชิกบางส่วนได้รับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่น แล้วจำเลยชำระค่ารักษาพยาบาลให้สถานพยาบาลอื่นแทนสมาชิก หรือสมาชิกทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนแล้วมาเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลคืนจากจำเลยนั้น เห็นว่าเป็นการให้บริการในรูปแบบหนึ่ง มิใช่การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หากแต่เป็นความรับผิดชอบของจำเลยในการดำเนินการตามโครงการนั่นเอง เมื่อเหตุในการบอกเลิกสัญญามิใช่เหตุที่กำหนดไว้ตามสัญญา การบอกเลิกสัญญาของจำเลยและยุติโครงการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

    มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาว่า โจทก์มีสิทธิขอให้จำเลยเปิดโครงการเอกสิทธิ์ของคุณภาพชีวิตกับสโมสรไลฟ์พริวิเลจ และรับโจทก์กลับเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่ เห็นว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์และสมาชิกอื่นชี้แจงข้อเท็จจริงว่า “ปัจจุบันผู้สอบบัญชีของบริษัท คือ บริษัทสำนักงานอีวาย จำกัด ได้แจ้งให้บริษัททำการบันทึกเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินโครงการ เพื่อให้ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่มีผลบังคับใช้กับงบการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป เนื่องจากข้อตกลงเกี่ยวกับโครงการเข้าลักษณะเป็นสัญญาประกันภัยและบริษัทได้มอบหมายให้ที่ปรึกษากฎหมายทำการศึกษาแล้วมีความเห็นว่า ข้อตกลงและข้อเท็จจริงที่ปรากฏเกี่ยวกับโครงการเข้าลักษณะเป็นสัญญาประกันภัย และบริษัทไม่มีใบอนุญาตจึงถือว่าเป็นการประกอบธุรกิจประกันภัยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นผลให้ข้อตกลงระหว่างบริษัทและสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการไม่อาจดำเนินการต่อไปได้

    ตามหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงและแจ้งปิดโครงการแสดงให้เห็นว่า การที่โจทก์ยอมรับเงินค่าสมาชิกคืนพร้อมรับสิทธิประโยชน์ตามข้อเสนอของจำเลยนั้น มิได้เกิดขึ้นจากคำเสนอและคำสนองในสภาวการณ์ทั่วไปตามปกติ แต่คำเสนอของจำเลยอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าจำเลยไม่สามารถที่จะดำเนินโครงการเอกสิทธิ์ของคุณภาพชีวิตและเปิดให้บริการสโมสรไลฟ์พริวิเลจได้ต่อไปเพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเข้าลักษณะสัญญาประกันภัย โดยอ้างถึงความเห็นของสำนักงานตรวจสอบบัญชี ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายหลักทรัพทย์และตลาดหลักทรัพย์ และความเห็นของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายและแนวคำวินิจฉัยของศาลฏีกา ย่อมมีผลทำให้โจทก์สำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นสำระสำคัญ

    หากจำเลยมิได้แจ้งข้อเท็จจริงว่าโครงการเอกสิทธิ์ของคุณภาพชีวิตเข้าลักษณะสัญญาประกันภัย โจทก์ย่อมไม่ยินยอมรับเงินค่าสมาชิกคืน นิติกรรมนี้จึงตกเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 157 การที่โจทก์มีหนังสือถึงจำเลย เพื่อเพิกถอนการแสดงเจตนายกเลิกการเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ถือเป็นการบอกล้างโมฆียกรรม ภายใน 1 ปี สัญญาการรับเงินคืนพร้อมสิทธิพิเศษ และยกเลิกการเป็นสมาชิกโครงการเอกสิทธิ์ของคุณภาพชีวิตจึงเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามมาตรา 176 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โจทก์จึงต้องคืนเงินค่าสมาชิกพร้อมกับค่าชดเชย จำนวน 2,712,987 บาท ให้แก่จำเลยเป็นการต่างตอบแทนในเอกสารแนบการให้บริการสมาชิกโครงการเอกสิทธิ์ของคุณภาพชีวิต

    คำพิพากษาระบุว่า ให้โจทก์คืนเงินค่าสมาชิกพร้อมค่าชดเชย 2,712,987 บาท ให้แก่จำเลย และให้จำเลยปฏิบัติต่อโจทก์ตามข้อตกลงในโครงการเอกสิทธิ์ของคุณภาพชีวิตและเปิดสโมสรไลฟ์พริวิเลจ กับปฏิบัตตามกฎระเบียบข้อบังคับของสโมสรดังกล่าว และชำระเงิน 22,403.15 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๑) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ