ThaiPublica > เกาะกระแส > อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (ตอนที่ 3) : ไทยกับการเป็นฐานการผลิตรถยนต์แห่งอนาคตและการปรับตัวของผู้ประกอบการ

อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (ตอนที่ 3) : ไทยกับการเป็นฐานการผลิตรถยนต์แห่งอนาคตและการปรับตัวของผู้ประกอบการ

26 พฤศจิกายน 2018


วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ออกรายงาน “อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต” “ไทยพับลิก้า” ขอนำเสนอเป็น 3 ตอนได้แก่ ตอนที่ 1: สี่เทรนด์สำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ ตอนที่ 2: การเปลี่ยนโฉมหน้าของอุตสาหกรรมรถยนต์ ตอนที่ 3: ประเทศไทยกับการเป็นฐานการผลิตรถยนต์แห่งอนาคตและการปรับตัวของผู้ประกอบการ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมการจัดแสดงยานยนต์ไฟฟ้า ณ บริเวณด้านหน้าตึกสันติไมตรี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559 ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/

ต่อจากตอนที่2

อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยจะมีบทบาทอย่างไรในห่วงโซ่การผลิตรถยนต์อนาคตของโลก ย่อมขึ้นกับศักยภาพของประเทศในการดึงดูดการลงทุน เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ไทยทั้งหมดเป็นบริษัทในเครือของผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติ นโยบายของบริษัทแม่จึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกที่ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่า 4 ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์คือ 1. ที่ตั้งของห่วงโซ่อุปทาน 2. ความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนใหม่ๆ 3. ความใกล้ชิดตลาด และ 4. นโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุน

1. ที่ตั้งของห่วงโซ่อุปทาน เป็นตัวแสดงถึงความพร้อมด้านวัตถุดิบของอุตสาหกรรม

ในอนาคต เมื่อห่วงโซ่อุปทานเปลี่ยนไปเป็นแบบเครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน (circular supply chain) ซึ่งทุกขั้นตอนการผลิตไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหรือผู้จัดหาชิ้นส่วนจะมีการพัฒนาไปพร้อมกัน การวิเคราะห์ที่ตั้งของห่วงโซ่อุปทานจึงแบ่งเป็นสองส่วน คือ ชิ้นส่วนที่มีใช้อยู่แล้วและชิ้นส่วนใหม่ในรถยนต์อนาคต ในส่วนของชิ้นส่วนที่มีใช้อยู่แล้ว จำนวนการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศทั้งชิ้นส่วนรถยนต์และชิ้นส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับรถยนต์จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดที่ตั้ง เนื่องจากการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศสูงจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งและเพิ่มความมั่นคงด้านวัตถุดิบ สำหรับชิ้นส่วนใหม่ในรถยนต์อนาคต ปัจจัยที่สำคัญคือระดับความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนใหม่ ซึ่งจะถูกนำมาวิเคราะห์ในลำดับต่อไป

วิจัยกรุงศรีพบว่า ประเทศผู้ผลิตรถยนต์ในภูมิภาคที่ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศสูงสุด (ภาพที่ 1 และ 2) คือ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ตามลำดับ ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับภูมิภาค การเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศจึงเป็นความท้าทายหนึ่งในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์อนาคตของภูมิภาค

2. ความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนใหม่ หมายถึง ความสามารถของประเทศในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบใหม่สำหรับรถยนต์อนาคต เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

มอเตอร์ไฟฟ้า: มอเตอร์ไฟฟ้าต้องใช้แร่โลหะหายาก (rare earth) เช่น นีโอดิเมียม (Neodymium) ดิสโพรเซียม (Dysprosium) และเทอร์เบียม (Terbium) โดยแร่โลหะเหล่านี้จะเหนี่ยวนำให้เกิดความเข้มข้นของสนามแม่เหล็ก ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของมอเตอร์ไฟฟ้า ทั้งนี้ รถยนต์ไฮบริด (hybrid vehicle) หนึ่งคันใช้แร่โลหะหายากประมาณ 1-1.5 กิโลกรัม แม้ว่ามอเตอร์ไฟฟ้ารุ่นใหม่จะถูกออกแบบให้ใช้แร่โลหะลดลง แต่ต้นทุนทั้งหมดของแร่เหล่านี้ยังสูงถึง 30% ของต้นทุนการผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าทั้งหมด โดย 80% ของโลหะหายากขุดมาจากจีน การผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจึงมีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงวัตถุดิบ การที่อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยจะก้าวไปสู่ต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิต (upstream value chain) รถยนต์จากการผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งจะมีโอกาสเก็บเกี่ยวผลตอบแทนสูง จึงยังคงจำเป็นต้องพึ่งพิงวัตถุดิบจากต่างประเทศ

แบตเตอรี่: แบตเตอรี่เป็นชิ้นส่วนสำคัญในรถยนต์ไฟฟ้า ต้นทุนแบตเตอรี่คิดเป็นประมาณ 40-50% ของต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า วัตถุดิบหลักของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนคือ แร่โละพวกลิเทียม (Lithium) แมงกานีส (Manganese) และโคบอลต์ (Cobalt) ซึ่งไม่สามารถสกัดได้ในไทย นอกจากนี้ เซลล์แบตเตอรี่ผลิตโดยไม่กี่บริษัทที่กระจายอยู่ในประเทศญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ [98% ของอิเล็กโทรไลต์ (electrolyte) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของแบตเตอรี่ผลิตโดยเจ็ดบริษัท] อย่างไรก็ตาม แบตเตอรี่ไม่เหมาะที่จะขนส่งเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัย ดังนั้น ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเป็นสถานที่ประกอบแบตเตอรี่สำเร็จรูป (battery pack) โดยคาดว่าขนาดตลาดแบตเตอรี่โลกจะพุ่งไปถึง 12.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2573 แม้ว่ากำไรของการประกอบแบตเตอรี่สำเร็จรูปมีแนวโน้มลดลง (ภาพที่ 3)



ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์: อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในไทยนับว่ามีพื้นฐานที่ดี ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีโอกาสสูงที่จะเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในรถยนต์ยุคใหม่ประกอบด้วย เซ็นเซอร์อัจฉริยะ อุปกรณ์สำหรับใช้เชื่อมต่อ และหน่วยควบคุม ซึ่งทั้งหมดต้องการการวิจัยและพัฒนารวมทั้งใช้เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน ดังนั้น ผู้ผลิตไทยจึงต้องยกระดับความสามารถของตนเองในอุตสาหกรรม

ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางในการประกอบชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ เช่น แบตเตอรี่ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม การผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ต้องพึ่งพานวัตกรรมใหม่ๆ และแรงงานฝีมือเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ดังนั้น ระดับความสามารถในการแข่งขัน และจำนวนช่างเทคนิคและนักวิจัย จะเป็นกุญแจหลักไปสู่ความสำเร็จในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ใหม่ โดยคุณสมบัติหลักของบุคลากรในอุตสาหกรรมรถยนต์สมัยใหม่คือ มีความรู้หลายศาสตร์ เนื่องจากชิ้นส่วนของรถยนต์มีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยไฟฟ้า หน่วยอิเล็กทรอนิกส์ และระบบควบคุม นอกจากนี้ การผลิตแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้าจำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือ และการเกิดขึ้นของตลาดรถยนต์อัตโนมัติจะเปิดโอกาสให้แก่กลุ่มคนที่มีทักษะด้านไอที ซอฟต์แวร์ และการวิเคราะห์ข้อมูล

หากพิจารณาจากระดับความสามารถในการแข่งขันและจำนวนของแรงงานที่มีฝีมือ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับภูมิภาค ขณะที่จำนวนนักวิจัยและช่างเทคนิคของไทยเพิ่มขึ้นช้าเมื่อเทียบกับประเทศที่มีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใกล้กัน (ภาพที่ 4) ประเทศที่เป็นผู้นำในด้านนี้คือ ญี่ปุ่น ในขณะที่เวียดนามมีการเร่งพัฒนาขีดความสามารถของแรงงานฝีมือเพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคต

3. ความใกล้ชิดตลาด: ความใกล้ชิดตลาดมีผลต่อการตัดสินเลือกสถานที่ตั้งโรงงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหนัก เพราะช่วยลดค่าขนส่ง นอกจากนี้ หลายบริษัทเลือกตั้งแผนกวิจัยและพัฒนาใกล้กับตลาดเพื่อทำความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค

วิจัยกรุงศรีคำนวณตัวชี้วัดความใกล้ของตลาด (market proximity index) พบว่า ประเทศในยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลางมีความสามารถในการแข่งขันสูงในประเด็นนี้ (ภาพที่ 5) ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ในอเมริกาเหนือจะมีตลาดที่แคบกว่า สำหรับตลาดรถยนต์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จีน อินเดีย และไทยมีความใกล้ชิดตลาดรถยนต์ในระดับสูง ทำให้ประเทศเหล่านี้มีความได้เปรียบเรื่องสถานที่ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์

4. นโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุน นโยบายสนับสนุนจะทำให้ความต้องการใช้รถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น และการให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนจะช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้ที่จะมาลงทุน การให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economics Corridor Development: EEC) ซึ่งมีโรงงานผลิตรถยนต์จำนวนมากตั้งอยู่ จะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ช่วยดึงดูดการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมรถยนต์หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ความสะดวกของการเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยที่อยู่ในระดับสูง จะช่วยเอื้อให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคได้

จาก 4 ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ วิจัยกรุงศรีได้คำนวณตัวชี้วัดความน่าดึงดูดของการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์อนาคตผ่าน 6 ตัวแปร คือ

    (1) การใช้ชิ้นส่วนในประเทศของอุตสาหกรรมรถยนต์
    (2) ความสามารถในการแข่งขันและจำนวนของแรงงานที่มีฝีมือ
    (3) ความใกล้ชิดตลาด
    (4) ความยากง่ายในการทำธุรกิจ
    (5) ขนาดของอุตสาหกรรมในประเทศ
    (6) ประสิทธิภาพในการขนส่ง

พบว่า

1. ความน่าดึงดูดของการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในอนาคตจะขึ้นอยู่กับความใกล้ชิดตลาด (22%) ความสามารถในการแข่งขันและจำนวนของแรงงานมีฝีมือ (21%) และขนาดของอุตสาหกรรมในประเทศ (18%) เป็นหลัก ประเทศที่มีคะแนนสูงในประเด็นเหล่านี้จึงมีโอกาสมากที่จะเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์อนาคต

2. ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศจีนมีความได้เปรียบมากที่สุดที่จะเป็นผู้ผลิตรถยนต์อนาคต ซึ่งเกิดจากปัจจัยด้านการใช้ชิ้นส่วนในประเทศของอุตสาหกรรมรถยนต์ ความสามารถในการผลิตรถยนต์ และความใกล้ชิดตลาด ตามด้วยประเทศญี่ปุ่นที่มีข้อได้เปรียบเรื่องความสามารถในการแข่งขันและการใช้ชิ้นส่วนในประเทศของอุตสาหกรรมรถยนต์ ส่วนประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาเป็นผู้ผลิตรถยนต์อนาคตในภูมิภาค โดยมีความได้เปรียบจากความใกล้ชิดตลาดที่มีความต้องการรถยนต์สูง และสิทธิประโยชน์ในการลงทุน (ภาพที่ 6)

จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมรถยนต์อนาคตของภูมิภาค แต่ยังมีความจำเป็นต้องปรับปรุงในหลายๆ ด้าน ได้แก่ ด้านที่ตั้งของห่วงโซ่อุปทาน ด้านความสามารถในการแข่งขัน และด้านการขนส่ง (ภาพที่ 7) เพื่อช่วงชิงพื้นที่ในห่วงโซ่รถยนต์ระดับโลก

  • เพิ่มมูลค่าการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศของชิ้นส่วนรถยนต์อนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า อุปกรณ์ไอทีต่างๆ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมแผนกวิจัยและพัฒนา การออกแบบรถและการวิเคราะห์ข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะปัจจัยเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมรถยนต์
  • เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มความสามารถในการผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ นอกจากนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนแรงงานที่มีฝีมือในอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
  • เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งสินค้า

มองกลับมาที่ผู้ประกอบการไทย

การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมรถยนต์มีผลต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในและผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รายได้ของผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์อาจจะไม่ได้มากเหมือนแต่ก่อน เนื่องจากความต้องการครอบครองรถยนต์ส่วนตัวมีแนวโน้มลดลง ชิ้นส่วนรถยนต์บางประเภทที่กำลังจะหายไป เช่น ท่อไอเสียและระบบเกียร์ พร้อมกับการเกิดขึ้นของผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาในอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อกำไรของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน (ภาพที่ 8) อย่างไรก็ตาม ภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เปลี่ยนแปลงได้ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ นอกเหนือจากการปรับตัวในขอบเขตธุรกิจเดิม ไม่ว่าจะเป็นการขยายกิจการไปแบบย้อนกลับ (backward integration) หรือมุ่งไปข้างหน้า (forward integration)

ในกรณีการขยายธุรกิจแบบย้อนกลับ ผู้ผลิตรถยนต์อาจจะผันตัวเองไปเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบ (hardware providers) เนื่องจากรถยนต์อนาคตจะมาพร้อมกับชิ้นส่วนใหม่ๆ การขับเคลื่อนรถยนต์ด้วยระบบไฟฟ้าจะทำให้มีความต้องการแบตเตอรี่และระบบส่งกำลังมากขึ้น นอกจากนี้ กระแสโลกที่เน้นการเชื่อมต่อไร้สาย ระบบอัตโนมัติ และความสำคัญของข้อมูลต่างๆ จะช่วยให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องเก็บข้อมูล (data logging devices) และเซมิคอนดักเตอร์เป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์ยังสามารถทำหน้าที่จัดหารถยนต์ให้กับธุรกิจให้เช่าและแบ่งปันได้อีกด้วย โดยข้อได้เปรียบของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์คือ ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในชื่อเสียงของบริษัทอยู่แล้ว การที่ผู้ผลิตเหล่านี้ผันตัวไปทำธุรกิจใหม่ๆ ในตลาดที่ตนคุ้นเคยจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรและช่วยรักษาพื้นที่ของตนในธุรกิจได้

นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ยังสามารถก้าวไปข้างหน้าด้วยการขยายกิจการไปเป็นผู้ให้บริการ (service provider) เช่น การเข้าสู่ธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มซึ่งเป็นตลาดบริการที่มีอนาคตสดใส ในยุคที่ความต้องการรถส่วนตัวเริ่มลดน้อยลง ถ้าผู้ผลิตรถยนต์ยังหวังพึ่งพารายได้จากการขายรถยนต์อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ

อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตรถยนต์หลักของภูมิภาคในปัจจุบันจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อช่วงชิงพื้นที่ในห่วงโซ่การผลิตรถยนต์อนาคตของโลก โดยจำเป็นต้องเพิ่มมูลค่าการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศของชิ้นส่วนรถยนต์อนาคต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความสามารถในการผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง