ThaiPublica > เกาะกระแส > อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (ตอนที่ 2) : การเปลี่ยนโฉมหน้าของอุตสาหกรรมรถยนต์

อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (ตอนที่ 2) : การเปลี่ยนโฉมหน้าของอุตสาหกรรมรถยนต์

26 พฤศจิกายน 2018


วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ออกรายงาน “อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต” “ไทยพับลิก้า” ขอนำเสนอเป็น 3 ตอนได้แก่ ตอนที่ 1: สี่เทรนด์สำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ ตอนที่ 2: การเปลี่ยนโฉมหน้าของอุตสาหกรรมรถยนต์ ตอนที่ 3: ประเทศไทยกับการเป็นฐานการผลิตรถยนต์แห่งอนาคตและการปรับตัวของผู้ประกอบการ

ตัวอย่างการทดลองเชิงสังคม social experiment ของมาเลเซีย ในลักษณะการให้เช่าใช้รถไฟฟ้ากับสาธารณะ ที่มาภาพ : http://paultan.org/2014/05/07/comos-ev-rental-programme/

จากตอนที่แล้วที่ได้พูดถึง 4 เทรนด์ (พลังงานสะอาด การขับเคลื่อนอัตโนมัติ อุปกรณ์เสริม และการแบ่งปัน) ที่จะเข้ามามีบทบาทต่อรถยนต์ในอนาคตกันไปแล้ว ตอนนี้จะแสดงให้เห็นว่า เทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะทำให้โฉมหน้าของอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคตเปลี่ยนไปจากปัจจุบันได้อย่างไร

เทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมรถยนต์นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ ผู้ประกอบการ ขบวนการผลิต และสายการผลิต

ประการแรก รถยนต์แห่งอนาคตมีแนวโน้มเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติและมีอุปกรณ์เสริมหลากหลาย ดังนั้น ชิ้นส่วนประเภท/ลักษณะใหม่ที่ใช้ในรถยนต์อนาคต เช่น ระบบส่งกำลัง ระบบไฟฟ้า แบตเตอรี่ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรม เนื่องจากชิ้นส่วนต่างๆ ของรถยนต์ล้วนมีความสัมพันธ์กัน (ภาพที่ 1) การติดตั้งแบตเตอรี่แบบใหม่จึงส่งผลให้ต้องมีการออกแบบระบบย่อยในรถยนต์ใหม่ตามไปด้วย ซึ่งรวมไปถึงตัวถังและโครง (body and frame) ที่ชาร์จ (charger) อุปกรณ์แปลงสัญญาณ (converter) มอเตอร์ (motor) และระบบควบคุมอุณหภูมิ (temperature controller) ดังนั้น หากรถยนต์หันมาใช้ระบบไฟฟ้ามากขึ้น IEEE คาดว่า 23% ของชิ้นส่วนรถยนต์เครื่องสันดาปในปัจจุบันจะเลิกใช้หรืออาจจะต้องมีการออกแบบใหม่ เช่น ระบบเบรกและระบบเกียร์ หรือระบบท่อไอเสียจะค่อยๆ ลดความสำคัญลง เมื่อเครื่องยนต์ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ชิ้นส่วนต่างๆ ของรถยุคใหม่จะทำงานโดยมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น จึงต้องมีการติดตั้งระบบควบคุมและซอฟต์แวร์ในรถยนต์เพิ่มขึ้น

ผลการศึกษาห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ โดยวิจัยกรุงศรีชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมรถยนต์จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยด้านการบริการ (service input) (ภาพที่ 2) เช่น ระบบบริหารจัดการ การให้ความบันเทิงและการค้าปลีก เป็นต้น เพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรม นอกจากนี้ การวิจัยและพัฒนา ออกแบบ และการบริหารจัดการล้วนมีความสำคัญต่อธุรกิจ เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะถูกนำมาใช้ในรถยนต์มากขึ้น อุปกรณ์หรือชิ้นส่วนรถยนต์แบบเดิม เช่น เส้นใย เนื้อผ้า เหล็ก อุปกรณ์เอนกประสงค์ จะมีความสำคัญลดลง อาจกล่าวได้ว่า การมาถึงของรถยนต์ยุคหน้า นอกจากจะทำให้มีชิ้นส่วนใหม่ๆ เกิดขึ้นแล้ว ชิ้นส่วนบางอย่างจะลดความสำคัญลงเช่นกัน

ประการที่สอง รถยนต์แห่งอนาคตจะเปิดโอกาสให้มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในธุรกิจโดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยี การพัฒนาระบบไฟฟ้าของอุตสาหกรรมรถยนต์ ทำให้รถยนต์จำเป็นต้องเพิ่มอุปกรณ์ใหม่ๆ เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาในอุตสาหกรรม นอกจากนี้ รถยนต์รุ่นใหม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น เนื่องจากระบบต่างๆ ของรถจะทำงานใกล้ชิดกันกว่าเดิม ทำให้ระบบควบคุมรถมีความสำคัญมากขึ้น ขณะเดียวกัน ระบบสื่อสารไร้สายและระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติในรถยนต์ยุคใหม่ ทำให้มีความต้องการเซ็นเซอร์อัจฉริยะและอุปกรณ์เชื่อมต่อสัญญาณ ส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาในอุตสาหกรรมรถยนต์มากขึ้น

จากที่กล่าวมา ผู้ผลิตรถยนต์ ผู้จัดหาวัตถุดิบ และผู้เล่นจากบริษัทเทคโนโลยี จึงต่างต้องการมีส่วนแบ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ ทำให้มีการแข่งขันสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นใหม่จำเป็นต้องหาพันธมิตรทางธุรกิจและขยายความร่วมมือ ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมมีโอกาสเติบโตสูง

ประการที่สาม ขบวนการผลิตในอนาคตจำเป็นต้องพึ่งพาหุ่นยนต์และระบบการทำงานอัตโนมัติมากขึ้น เนื่องจากชิ้นส่วนหลายประเภท เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จำเป็นต้องใช้ความแม่นยำในการผลิต ซึ่งหุ่นยนต์จะเหมาะกับงานประเภทนี้มากกว่า และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายอีกด้วย ดังนั้นอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคตจะต้องการแรงงานที่ไร้ฝีมือ (unskilled labor) และแรงงานกึ่งฝีมือ (semi-skilled labor) ลดลง แต่ยังต้องการแรงงานฝีมือ (skilled labor) เช่นเดิม

เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบการทำงานอัตโนมัติสามารถเคลื่อนย้ายได้และสามารถแทนที่แรงงานมนุษย์ในสายการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประกอบชิ้นส่วน ผลที่ตามมาคือ ความได้เปรียบของประเทศกำลังพัฒนาเรื่องต้นทุนแรงงานจะค่อยๆ หายไป เนื่องจากประเด็นด้านต้นทุนแรงงานไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอีกต่อไป

ประการสุดท้าย ห่วงโซ่อุปทานรถยนต์จะเปลี่ยนแปลงจากแบบเส้นตรง (linear supply chain) ไปเป็นแบบเครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน (circular supply chain) โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้และเน้นความต้องการของลูกค้า ห่วงโซ่อุปทานแบบเครือข่ายจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานในภาพรวม เนื่องจากทุกขั้นของการผลิตสามารถดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ เครือข่ายห่วงโซ่อุปทานจะทำให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าและมีความหลากหลายมากขึ้น แทนแบบเดิมที่เน้นผลิตสินค้าที่เหมือนกันหมด (one-size-fits-all)

การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมรถยนต์จะทำให้บางส่วนของโลกรถยนต์กลายเป็นอดีต ขณะที่ก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ในหลายมิติ แล้วประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตรถยนต์หลักในภูมิภาคจำเป็นต้องมีการปรับตัวอย่างไร เพื่อรักษาความได้เปรียบในห่วงโซ่การผลิตรถยนต์โลกในอนาคต ติดตามได้ในตอนที่ 3: ประเทศไทยกับการเป็นฐานการผลิตรถยนต์แห่งอนาคตและการปรับตัวของผู้ประกอบการ