ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Research Reports > Krungsri Research > วิจัยกรุงศรีประเมินเศรษฐกิจไทยกลับสู่ระดับก่อนโควิดครึ่งหลังปี 2565

วิจัยกรุงศรีประเมินเศรษฐกิจไทยกลับสู่ระดับก่อนโควิดครึ่งหลังปี 2565

24 พฤศจิกายน 2021


ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา แถลงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่า วิจัยกรุงศรีคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2564 ไว้ที่ 1.2% จากเดิมคาด 0.6% เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายที่คาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ราว 1.5% จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว -1.1% หรือเพิ่มขึ้น 0.8% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อเนื่องที่ 3.7% จาก 3.0% ที่คาดไว้

ดร.สมประวิณกล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทย ได้รับผลบวกจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว เพราะไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดที่มีการขับเคลื่อนส่วนหนึ่งจากการส่งออก ที่ยังเติบโตดีต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และการผ่อนคลายลงของภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค ส่งผลให้การส่งออกในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวสูงที่ 16.5% จากที่คาดไว้ 15.0%

นอกจากนี้ยังมีแรงส่งจากมาตรการภาครัฐเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายและท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (ล่าสุดวันที่ 1-20 พฤศจิกายน จำนวนรวม 80,017คน) ทำให้ทั้งปีคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 350,000คน จากเดิมคาดไว้ 150,000คน และในปีหน้าคาดว่าจะนักท่องเที่ยวจำนวน 7.5 ล้านคน จากที่คาดไว้ 2.5 ล้านคน

“กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาเร็วกว่าที่เราเคยคาด ก่อนหน้าคาดไว้ว่าจะกลับมาที่ระดับก่อนโควิดในปี 2023 แต่ตอนนี้เห็นได้ชัดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับได้ภายในปลายปี 2022 เร็วกว่าที่คาดไว้ 2 ไตรมาส เพราะ upside ที่เราเห็นตั้งแต่ปลายปีนี้ไปจนถึงปีหน้า จะมาจากการบริโภค” ดร.สมประวิณกล่าว

โดยเห็นได้จากผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคของธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุดดีขึ้น โดยคนออกมาใช้จ่ายมากขึ้นและคลายวิตกต่อการระบาดของโควิด-19 มากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น และมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่อเนื่อง

“วันนี้อัตราการฉีดวัคซีนของเราน่าพอใจ และในต้นปีหน้าคาดว่าจะฉีดได้วันละสองแสน ลดลงเพราะจำนวนคนที่ได้รับวัคซีนมีมากแล้ว และวิจัยกรุงศรียังพบว่า 90% ของคนไทยอย่างน้อยได้รับวัคซีนแล้ว 1 โดสภายในเดือนมีนาคมปี 2022 ซึ่งจะทำให้คนออกมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง แม้ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ และเราคงอยู่กับโควิดต่อไป แต่ผู้เสียชีวิตลดลงต่อเนื่อง มองไปข้างหน้าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมจะทำได้มากขึ้น” ดร.สมประวิณกล่าว

วิจัยกรุงศรีประเมินว่าการใช้จ่ายของคนไทยจะกลับมาที่ระดับก่อนโควิดได้ภายในปลายปีหน้า

ดร.สมประวิณกล่าวอีกว่า วิจัยกรุงศรียังได้ประเมินการฟื้นตัวของรายกลุ่มอุตสาหกรรมอีกด้วย โดยพบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของโควิดทั้งการขนส่งที่ดีขึ้น 50% และปลายปีนี้การเดินทางทางอากาศ โรงแรม สันทนาการ ร้านอาหารก็ฟื้นตัวขึ้นมากแม้ยังห่างจากก่อนการระบาดประมาณ 30% ซึ่งถือว่าโตช้ากว่ากลุ่มอื่นๆ เพราะยังต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว

“ในปลายปีนี้มีบางกลุ่มอุตสาหกรรมมีรายรับไปที่ระดับก่อนโควิด เช่น โรงพยาบาล ค้าส่ง ค้าปลีก สะท้อนว่าคนมีการใช้จ่ายมากขึ้น และที่น่าสนใจคือทั้งกลุ่มค้าส่งและค้าปลีกเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากหรือ labour-intensive การจ้างงานในกลุ่มก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย”ดร.สมประวิณกล่าวและว่า กลุ่มที่เติบโตตามมาและผ่านระดับก่อนโควิดได้คือ กลุ่มผลิตอาหาร รวมไปถึงกลุ่มที่โยงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น อิเล็กทรอนิคส์ เคมีภัณฑ์

เติบโตยังไม่กระจายรายได้แรงงานยังเปราะบาง

อย่างไรก็ตามการบริโภคที่ฟื้นตัวดี ก็ยังไม่กระจายตัวมากทั่วทั้งประเทศ การเติบโตของรายได้ของผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิด แต่วิจัยกรุงศรีคาดว่าค่าจ้างโดยเฉลี่ยของประเทศจะเพิ่มขึ้นได้ 5% ซึ่งยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดประมาณ 3% เพราะฉะนั้นแรงงานยังมีความเปราะบาง

แต่เมื่อแยกผู้ใช้แรงงานออกเป็น 5 กลุ่มตามระดับรายได้ พบว่ามี 3 กลุ่มรายได้ที่ฟื้นตัวได้ดีและกลับไปที่ระดับก่อนโควิด กลุ่มแรกที่มีรายได้เกิน 35,000 บาทต่อเเดือน จะฟื้นตัวเร็วที่สุด กลุ่มที่สองมีระดับรายได้ 20,000-35,000 บาทต่อเดือน จะฟื้นตัวเร็วรองลงมา และกลุ่มที่สาม รายได้ 14,000-21,000 บาทต่อเดือน ฟื้นตัวเร็วตามมา แต่อีก 2 กลุ่มทีมีระดับรายได้รองลงมา ก็ยังมีรายได้น้อยกว่าก่อนโควิด

ดร.สมประวิณกล่าวว่า….

“ดังนั้นการฟื้นตัวจึงไม่กระจายและฟื้นไม่เท่ากัน มีทั้งผู้ที่ฟื้นได้เร็วและผู้ที่ฟื้นตัวได้ช้า โดยรวมการฟื้นตัวในประเทศค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตามถือว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีเสถียรภาพ แต่ไม่ทั่วถึง”

ด้านต่างประเทศ การส่งออกในปีนี้ขยายตัว 16.5% และปีหน้ายังคงขยายตัว 5% แม้อัตราเติบโตน้อยลงจากปี 2564 แต่ในแง่มูลค่านับว่าขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์

“การที่ปีหน้ายังขยายตัวได้อีก 5% จากที่เติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้แล้วก็นับว่าดี แล้วในปีหน้า องค์กรการค้าโลก(WTO)ประเมินปริมาณการค้าโลกจะเพิ่มขึ้น 4.7% ไทยโตได้ 5% ก็ถือว่าโต”ดร.สมประวิณกล่าว

นอกจากนี้ในปีหน้า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership — RCEP) ก็มีจะมีผลบังคับใช้ เพราะหลายประเทศได้ให้สัตยาบันแล้ว ก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจอีกมาก

“RCEP ไม่ใช่แค่ข้อตกลงเขตการค้าเสรี แต่เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หมายถึงว่า นอกจากการค้าแล้วยังมีการลงทุน มีผลการศึกษาของเอดีบีพบว่าไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับประโยชน์จาก RCEP ค่อนข้างมาก GDP จะเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกประมาณ 5% ซึ่งไม่ใช่แค่ปีเดียวแต่ยาวนานเป็นสิบปี” ดร.สมประวิณกล่าว

อีกทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยจะได้รับประโยชน์ก็เป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีความถนัดมีความเชี่ยวชาญ เช่น อิล็กทรอนิคส์ มอเตอร์รถยนต์ พลาสติก เคมีภัณฑ์

ดร.สมประวิณกล่าวว่า นอกจากการส่งออกจะดีขึ้นแล้วยังมีสัญญานการกระจายตัวมากขึ้นด้วย โดยผลบวกของการส่งออกได้กระจายไปสู่ธุรกิจส่งออกที่คนไทยเป็นเจ้าของกิจการมากขึ้น และเป็นกิจการที่มีขนาดเล็กลงหรือ SME มากขึ้น จากที่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ทีมีต่างชาติเป็นเจ้าของ และกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่มีคนไทยเป็นเจ้าของในช่วงแรกๆ

FDI กำลังกลับมาบวกการลงทุนภาครัฐ

ขณะเดียวกันการลงทุนเริ่มขยับซึ่งการพิจารณาขยายการลงทุนในช่วงนี้ถือว่าเหมาะสม เพราะเศรษฐกิจกำลังฟื้นและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ โดยการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนระดับโลกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิคส์ ไอที และกลุ่มเครื่องใช้ในบ้าน อีกทั้งการลงทุนโดยตรงของต่างชาติก็เริ่มเพิ่มขึ้น ซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางเป้าหมาย

สำหรับประเทศไทยกำลังเข้าสู่วัฎจักรการลงทุนรอบใหม่ เพราะไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก ดังจะเห็นได้จากการใช้กำลังการผลิตที่สูงขึ้นกลับไปที่ 60% เมื่อแยกเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่ามี 3-4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่การใช้กำลังการผลิตกลับที่ระดับสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดโควิดแล้ว ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ ยา เครื่องจักร เฟอร์นิเจอร์ และมีอีก 4 กลุ่มที่กำลังจะแตะระดับก่อนโควิด คือ เคมีภัณฑ์ HDD เวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ยาง ที่เหลือก็ทะยอยฟื้นตัวกลับมา

“ข้อมูลก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า กำลังการผลิตใช้มากขึ้นต่อเนื่อง โลกกำลังลงทุนและอาจจะมีความเป็นไปได้ว่า ไทยจะลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย”

นอกเหนือจากวัฏจักรแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่หนุนการลงทุนให้เพิ่มขึ้นยังมาจากการแตกห่วงโซ่อุปทานโลกออกเป็นหลายวง จากเดิมที่มีเพียงวงเดียว เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอีกในอนาคต และเพื่อความมั่นคงจากสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศและความมั่นคงของการผลิต ประกอบกับนโยบายของประเทศหลัก

“ทั้งหมดจึงส่งผลให้ FDI เพิ่มขึ้น ทั่วทั้งภูมิภาค และในไทยเอง FDI ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ สูงกว่าทั้งปีของปี 2019 โดยลงทุนในภาคบริการ ภาค new economy”

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐก็จะช่วยดึงการลงทุนภาคเอกชนให้เพิ่มขึ้นด้วย โดยเม็ดเงินการลงทุนของภาครัฐยังคงมีอยู่และจะผลักดันการลงทุนมากขึนในปีหน้า เช่น รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง จึงคาดว่าการลงทุนของภาครัฐจะขยายตัว 45%

การเร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะมีรูปแบบเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) เป็นส่วนมาก (มีสัดส่วนกว่า 80% ของมูลค่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในช่วงปี 2565-2569)

ด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากสุด ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ แม้ไทยจะมีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 60 ประเทศแบบไม่ต้องกักตัวมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2564

วิจัยกรุงศรีคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาที่ระดับ 40 ล้านคนในปี 2025 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า เพราะประเทศต้นทางหลายประเทศที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่สำคัญของไทยคงไม่อนุญาตให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศง่ายๆ โดยเฉพาะจีน ส่วนกลุ่มประเทศอื่น อย่างยุโรปอาจจะท่องเที่ยวในประเทศของตัวเองก่อน

“นักท่องเที่ยวกลุ่มที่จะกลับมาก่อนคือ นักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยความจำเป็นทางธุรกิจ หรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์หรือการรรักษาพยาบาล(health tourism)”

การท่องเที่ยวของไทยจะมาจากนักท่องเที่ยวในประเทศก่อน คาดว่าจะสามารถกลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดได้เร็วกว่าคือในปี 2567 ที่ 160 ล้านทริป จากปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 90 ล้านทริป

ดอกเบี้ยทรงตัว 0.5% อีกปี

ดร.สมประวิณกล่าวว่า การขาดดุลงบประมาณที่ยังขาดดุลถึง 3.4%ของ GDP แม้ลดลงจากช่วงก่อนหน้า สะท้อนว่ารัฐบาลยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการใช้จ่ายมากขึ้น และมีขีดความสามารถทางนโยบาย(Policy Space) ที่ใช้จ่ายเพิ่ม เพราะได้ขยายเพดานเงินกู้จาก 60% เป็น 70% และในระยะต่อเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวดีรัฐบาลก็จะมีเงินรายได้มากขึ้น

วิจัยกรุงศรีประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ตลอดทั้งปีในปี 2022 แม้เงินเฟ้อจะยัง เพิ่มขึ้นได้อีกที่ระดับ 2.8-3% ในไตรมาสหนึ่งปีหน้า แม้ส่วนหนึ่งมาจากเงินเฟ้อปีนี้มีฐานต่ำ กับจากราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้น แต่เป็นภาวะชั่วคราว และยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงไม่น่าวิตกมาก ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่แม้โตได้ แต่กว่าจะกลับไปที่ระดับก่อนโควิดก็เป็นช่วงปลายปีหน้า อีกทั้งต้องให้เศรษฐกิจโตมากกว่าที่เคยโตได้ก่อนอัตราดอกเบี้ยจึงจะปรับขึ้นได้

ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ ได้แก่ 1)การระบาดของไวรัสโควิด 2) การถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศหลักๆ เช่น ธนาคารสหรัฐฯที่ประกาศลดการซื้อสินทรัพย์ทางการเงินและไม่ทำให้ตลาดตื่นตระหนกเหมือนปี 2013 และอาจจะมีผลกระทบต่อไทยบ้าง หากไทยพื้นตัวช้ากว่า แต่ก็ไม่ทำให้เศรษฐกิจโลกที่กำลังเติบโตชะลอตัวลง 3) ปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน แต่จะคลี่คลายในปีหน้า 4) สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ 5) ปัจจัยการเมืองในประเทศ