ThaiPublica > เกาะกระแส > วิจัยกรุงศรีชี้โครงสร้างส่งออกไทย กลุ่มไหน “แกร่ง -พลาด – ยังดิ้นรน” ในยุคการค้าโลกชะลอตัว

วิจัยกรุงศรีชี้โครงสร้างส่งออกไทย กลุ่มไหน “แกร่ง -พลาด – ยังดิ้นรน” ในยุคการค้าโลกชะลอตัว

12 กรกฎาคม 2016


วิจัยกรุงศรีได้ออกรายงาน Structural factors and Thai export: Favorable and undesirable effects โดยระบุถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้มูลค่าการส่งออกซบเซาอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 1. เศรษฐกิจทั่วโลกที่ฟื้นตัวช้า 2. ปัญหาเชิงโครงสร้างทางการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และ 3. ปัญหาเชิงโครงสร้างเฉพาะตัวของไทยเอง ซึ่งได้แก่ขีดความสามารถในการแข่งขัน(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

รูปที่ 1 ความยืดหยุ่นของการค้าโลกและการส่งออกไทยต่อสภาวะทางเศรษฐกิจโลก
รูปที่ 1 ความยืดหยุ่นของการค้าโลกและการส่งออกไทยต่อสภาวะทางเศรษฐกิจโลก

นอกเหนือจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าซึ่งเป็นผลจากวัฏจักรเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการสินค้าที่ลดลงแล้ว ปัญหาเชิงโครงสร้างทางการค้านับว่าเป็นอีกปัจจัยหลักที่ส่งผลถึงมูลค่าการส่งออกของไทยที่เติบโตอย่างเชื่องช้าซึ่งสะท้อนผ่านความยืดหยุ่นของการค้าต่อสภาวะทางเศรษฐกิจที่ลดลง การศึกษาพบว่า การตอบสนองของมูลค่าการค้าโลกที่มีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมีค่าลดลงจาก 2 ในช่วงปี 1990-99 เป็น 1.5 ในช่วงปี 2000-08 และเหลือเพียง 1 ในปี 2013 ชี้ให้เห็นว่ามูลค่าการค้าระหว่างประเทศตอบสนองต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลง ข้อมูลจากธนาคารโลกอธิบายถึงสาเหตุดังกล่าวเกิดจาก สัดส่วนความต้องการซื้อสินค้าขั้นสุดท้ายภายในประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงการลดลงของปริมาณนำเข้าสินค้าขั้นกลางและเครื่องจักรต่างๆ

เมื่อพิจารณาค่าความยืดหยุ่นของการส่งออกไทยต่อ GDP ของโลก ปรากฏว่ามีค่าลดลงจาก 3.5 ในช่วงปี 1990-99 เป็น2 ในช่วงปี 2000-08 เหลือต่ำกว่า 1 ในปี 2013 ชี้ให้เห็นว่า การตอบสนองของสินค้าส่งออกไทยต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกมีค่าลดลงอย่างมาก หากเปรียบเทียบกับโครงสร้างทางการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป พบว่าความยืดหยุ่นของการค้าโลกลดลงเพียง 14 % ในขณะที่ความยืดหยุ่นของการค้าไทยลดลงถึง 62% นั่นจึงสะท้อนให้เห็นว่านอกจากการส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบจากปัญหาทางโครงสร้างการค้าของโลกแล้ว ประเทศไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการส่งออกด้วยตัวเอง ซึ่งเกิดจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง และอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ ต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น และการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกไทยทุกชนิด พบว่าในสินค้าหลายชนิดยังได้รับผลบวกจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการค้าที่เกิดขึ้น วิจัยกรุงศรีได้วิเคราะห์การขยายตัวของส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยและการเติบโตของปริมาณนำเข้าสินค้าชนิดนั้นๆ ในโลก ระหว่างปี 2011-2015 และสามารถแบ่งกลุ่มสินค้าส่งออกไทยได้เป็น 3 ประเภท(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

รูปที่ 2 ผลกระทบจากโครงสร้างการค้าโลกต่อสินค้าส่งออกของประเทศไทย
รูปที่ 2 ผลกระทบจากโครงสร้างการค้าโลกต่อสินค้าส่งออกของประเทศไทย

กลุ่มที่ 1 สินค้าส่งออกที่ ‘แกร่ง’ คิดเป็น 19.9% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด แสดงใน Quadrant I (บน-ขวา) สินค้าส่งออกไทยเหล่านี้มีส่วนแบ่งที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางตลาดโลกที่โตขึ้น นั่นเป็นผลมาจากการส่งออกของไทยที่เพิ่มในอัตราสูงกว่าตลาดโลก ซึ่งสินค้าเหล่านั้นประกอบด้วย

รถยนต์และชิ้นส่วน ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากมีตลาดในประเทศขนาดใหญ่ ห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแรงและนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจน

ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไทยมีศักยภาพในส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นอันดับ 1 ของโลก เนื่องจากมีเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ของตนเอง

เครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มเครื่องทำความเย็น (Cooling) ไทยมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากมีการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตค่อนข้างแข็งแกร่ง และสามารถใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศได้เกือบทั้งหมด

กลุ่มที่ 2 สินค้าส่งออกที่ ‘พลาด’ คิดเป็น 14.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด แสดงใน Quadrant IV (บน-ซ้าย) ซึ่งได้มีส่วนแบ่งสินค้าส่งออกที่ลดลงในขณะที่ตลาดโลกยังเติบโต ประกอบด้วย

Integrated Circuits ไทยเสียศักยภาพในการแข่งขันเนื่องจากขาดการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตทั้งต้นน้ำที่ต้องอาศัยการนำเข้า และปลายน้ำที่ไม่สามารถตอบสนองต่อภาคการผลิตโทรศัพท์ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงได้

อัญมณีและเครื่องประดับ ไทยเผชิญการแข่งขันที่สูงจากคู่แข่งการค้าอย่างจีนและอินเดีย ซึ่งมีการพัฒนาการผลิตและการออกแบบเครื่องประดับใกล้เคียงกับไทย อีกทั้งยังเสียเปรียบในการแข่งขันด้านราคาเนื่องจากถูกตัดสิทธิ GSP ในส่วนของเครื่องประดับเงิน

ข้าว ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากการแทรกแซงของรัฐบาลไทยที่มีมาต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนข้าวส่งออกของไทยสูงกว่าคู่แข่งและแข่งขันได้ยาก และการพัฒนาการเพาะปลูกข้าวของคู่แข่ง รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อปริมาณการผลิตและมีความกดดันจากราคาเนื่องจากคุณภาพไม่เพียงพอ

อาหารทะเลแปรรูป ไทยเสียส่วนแบ่งการตลาดเนื่องจากการขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบในการผลิต และได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในกุ้ง อีกทั้งผู้นำเข้าหลักอย่างสหรัฐฯ และ สหภาพยุโรป นำมาตรการที่มิใช่ภาษีมาใช้ตรวจสอบสินค้าเข้มข้นขึ้น

กลุ่มที่ 3 สินค้าส่งออกที่ ‘ยังดิ้นรน’ คิดเป็น 27.6% ของมูลค่าการส่งออก แสดงใน Quadrant II (ขวาล่าง) ซึ่งมีส่วนแบ่งการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในตลาดที่หดตัวลง และ Quadrant III (ซ้ายล่าง) ซึ่งมีส่วนแบ่งการส่งออกที่ลดลงในตลาดที่หดตัวลงด้วย ดังนั้น จึงไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าไทยสูญเสียศักยภาพการแข่งขันในสินค้าดังกล่าว เนื่องจากท่ามกลางแนวโน้มของอุตสาหกรรมโลกที่หดตัวลง ส่วนแบ่งตลาดไทยเพิ่มขึ้นที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นเพราะคู่แข่งรายอื่นออกจากตลาด หรือในกรณีที่ส่วนบางไทยลดลงมากกว่าอาจเป็นเพราะผู้ผลิตไทยได้ปรับตัวและหันไปทำการกิจกรรมอื่นแทน เช่น อุสาหกรรมน้ำตาลทรายดิบที่ผู้ประกอบไทยปรับสัดส่วนการส่งออกจากน้ำตาลทราบดิบมาเป็นน้ำตาลทรายขาวที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า และมีการเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ น้ำเชื่อม ไซรัป ซึ่งมีโอกาสเติบโตได้ดี

กล่าวโดยสรุป ภายใต้โครงสร้างการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน สินค้าส่งออกของไทยโดยภาพรวมยังคงมีศักยภาพในการแข่งขันเมื่อพิจารณาจากสินค้าส่งออกที่ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้นมีจำนวนมากกว่าสินค้าที่สูญเสียส่วนแบ่งไปอย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกไทยที่มีศักยภาพในการแข่งขันไม่ชัดเจนมีสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก ซึ่งหากไทยไม่เตรียมความพร้อมรับมือกับปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาจส่งผลทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว ‘เราจะอยู่รอดได้อย่างไรภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางการค้าโลก?’ ไทยควรปรับปรุงโครงสร้างการผลิต ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ก่อให้เกิดสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของโลกที่ไม่หยุดนิ่ง การพัฒนาระบบตลาดภายในประเทศที่มีความหยืดหยุ่นและเอื้อต่อการปรับตัวของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ คงต้องยอมรับและไม่ปฏิเสธความสำคัญทางการค้าระหว่างประเทศที่มีต่อระบบเศรษฐกิจไทย ระบบเศรษฐกิจเปิด