ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วัดใจ กกต.ชุดใหม่ เคลียร์ปมร้อน “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” กางอำนาจ-หน้าที่ “มือปราบ” กลโกงเลือกตั้ง

วัดใจ กกต.ชุดใหม่ เคลียร์ปมร้อน “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” กางอำนาจ-หน้าที่ “มือปราบ” กลโกงเลือกตั้ง

16 สิงหาคม 2018


หนึ่งในประเด็นร้อน ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่(กกต.) ซึ่งมีนายอิทธิพร บุญประคอง เป็นประธาน จะต้องเร่งเคลียร์ปัญหาหนีไม่พ้นความชัดเจนของ “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ที่ค้างคามาตั้งแต่กกต.ชุดเดิมยังปฏิบัติหน้าที่ หลังจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้าชื่อเพื่อเสนอขอแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีผลใช้บังคับไม่ถึง 1 ปี

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าสาเหตุหลักของการที่สนช. “รื้อ” กฎหมายฉบับนี้ เพราะต้องการยกเลิก 616 รายชื่อว่าที่ผู้ตรวจการเลือกตั้งตามที่กกต.ในขณะนั้นคัดเลือกไว้ เนื่องจากเห็นว่าการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ในห้วงเวลาที่กำลังจะส่งไม้ต่อให้กับกกต.ชุดใหม่ ถือเป็นเรื่องที่ “ไม่เหมาะสม”

แต่กระนั้นด้วยตัวบทกฎหมาย ทำให้กกต.ยังคงต้องเดินหน้าตามกระบวนการทำบัญชีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดต่อ ซึ่งตามกำหนดการเดิมในวันที่ 21 ก.ย.นี้ จะเป็นวันที่กกต.ออกคำสั่งแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศ

คำตอบสุดท้ายของปัญหานี้จึงอยู่ที่กกต.ชุดใหม่ว่าจะใช้ “ดุลพินิจ” อย่างไร

ทางหนึ่ง คือ แต่งตั้งจากรายชื่อที่กกต.ชุดเดิมคัดเลือกไว้

อีกทางหนึ่ง ดำเนินการคัดเลือกใหม่ผู้ตรวจการเลือกตั้งใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมา แต่สุดท้ายแล้วด้วย “คุณสมบัติ” ที่กฎหมายกำหนดไว้ จะทำให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกไม่แตกต่างไปจากเดิม

อย่างไรก็ตามวิธีการที่กกต.ชุดใหม่เลือกเดิน ย่อมส่งผลกับการตัดสินใจของสนช.ว่าจะยอม “ถอย” หรือไม่ หลังจากมีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้มาก่อนหน้านี้

กางร่างแก้ไขฉบับสนช.

ร่างแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบุเหตุผลว่า เป็นไปเพราะ ต้องการให้การคัดเลือกบุคคลในการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงกำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกฯที่มีองค์ประกอบที่หลากหลายมีความเป็นอิสระ

เนื่องจากผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง และ การกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือ การกระทำใดที่จะเป็นเหตุทำให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

โดยขอแก้ไขเพิ่มเติมโดยมีสาระสำคัญ คือ เพิ่มเติมมาตราที่ว่าด้วย การกำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งจำนวน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ซึ่งจากเดิมเรื่องนี้ถูกบัญญัติไว้ในระเบียบของกกต.ว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ให้มาอยู่ในกฎหมายลูกแทน

แต่เมื่อดูที่บทบัญญัติกลับพบว่าสัดส่วนคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง ไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก โดยร่างแก้ไขของสนช.ให้เพิ่มองค์ประกอบกรรมการจาก ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด และ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด แทนองค์ประกอบเดิมที่อยู่ในระเบียบกกต. คือ ประธานสภาทนายความจังหวัด ผู้มีอำนาจทำการแทนองค์กรเอกชน และ ผู้แทนระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชน

ทว่าเนื้อหาที่สำคัญของร่างแก้ไขฯอยู่ที่ ข้อความที่ระบุว่า “บรรดาการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกและการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งได้ดำเนินการอยู่ก่อนวันที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันสิ้นผลไปนับแต่วันที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ”

โดยให้คัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งภายใน 60 วันนับแต่วันที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ

นั่นหมายความว่าบัญชีรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งที่กกต.เตรียมจัดทำไว้ทั้งหมดถูกยกเลิกโดยทันที พร้อมให้เดินหน้าคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งชุดใหม่ ใน 60 วันนับตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

ภารกิจแรกผู้ตรวจการเลือกตั้ง

ภารกิจแรกของผู้ตรวจการเลือกตั้ง คือการทำหน้าที่ระหว่างการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 250 คน ที่คาดการณ์กันว่ากระบวนการนับหนึ่งจะเริ่มขึ้นหลังจากที่ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาในกลางเดือนกันยายนนี้

ดังนั้นหากสนช. ยังเดินหน้าแก้ไขกฎหมาย การที่จะได้ผู้ตรวจการเลือกตั้งชุดใหม่ให้ทันต่อภารกิจนี้เท่ากับศูนย์!

เนื่องจากกระบวนการแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ มีหลายขั้นตอน โดยจะต้องเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนเสียก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสนช. ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 132 กำหนดให้การเสนอการเสนอร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้เสนอต่อรัฐสภาและให้สนช.ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลา 180 วัน โดยการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 3 ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสนช.

และหลังจากที่สนช.เห็นชอบภายใน 15 วันให้ส่งร่างกฎหมายไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเห็น หากภายในระยะเวลา 10 วันนับตั้งแต่รับร่างไม่มีข้อทักท้วงให้สนช.ดำเนินการต่อ แต่หากเห็นว่าร่างกฎหมายนี้มีข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภาประชุมเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป

ไม่มีผู้ตรวจการเลือกตั้งได้หรือไม่?

มาตรา 28 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. บัญญัติไว้ชัดว่า “การเลือกตั้งส.ส. หรือ ส.ว. แต่ละครั้งให้กกต.จัดให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นไปตามที่กรรมการกำหนด”

“ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” จึงเปรียบเสมือน “มือไม้” ของกกต.ในการจัดการเลือกตั้งด้วยวิธีการ “จับตา” ทุกความเคลื่อนไหวของผู้ปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้ง และ พฤติกรรมต่างๆที่ส่อว่าจะทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต

โดยระเบียบของกกต. กำหนดหน้าที่และการปฏิบัติงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด ไว้ดังนี้

    1. ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีอำนาจแจ้งเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ถ้าไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องให้รายงานให้กกต.รับทราบโดยเร็ว
    2. ตรวจสอบการกระทำความผิดกฎมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือ การกระทำใดที่จะเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือ เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
    3.เข้าไปในที่เลือกตั้ง หรือสถานที่นับคะแนนเลือกตั้ง
    4. ปฏิบัติงานอื่นตามระเบียบ คำสั่ง ประกาศ และมติของกกต.

และหากผู้ตรวจการเลือกตั้งพบเห็นการกระทำที่ส่อว่าจะไม่สุจริต หรือ ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้รายงานต่อกกต.เพื่อรับทราบและดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป และให้แจ้งต่อผู้อำนวยการประจำจังหวัดรับทราบ โดยให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดดำเนินการตามระเบียบกกต.ว่าด้วยการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป

การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับกกต.และเจ้าหน้าของกกต. ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 45 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. ซึ่งหากถูกดําเนินคดี และไม่ว่าจะถูกฟ้องในขณะดํารงตําแหน่งหรือเมื่อพ้นจากตําแหน่งแล้ว ถ้าการถูกดําเนินคดีดังกล่าวเป็นเพราะเหตุที่ ได้มีมติ คําสั่ง หรือปฏิบัติหน้าที่ และมิใช่พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้อง ให้คณะกรรมการกกต.มีอํานาจ ให้ความช่วยเหลือในการต่อสู้คดีได้ รวมถึงการช่วยเหลือค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความด้วย

นอกจากนี้ในมาตรา 66 ยังกำหนดบทลงโทษ สำหรับการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้งไว้ว่า ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน2หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และหากใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่า จะใช้กําลังประทุษร้าย หรือเพื่อให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วย กฎหมาย ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน5ปี หรือปรับไม่เกิน1แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

สำหรับระยะเวลาของผู้ตรวจการเลือกตั้งนั้น จะถูกขึ้นในบัญชีรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 5 ปี โดยการจัดการเลือกตั้งส.ส.หรือ ส.ว. ในแต่ละครั้ง กกต.จะจับสลากรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งที่อยู่ในบัญชี 616 รายชื่อ (จังหวัดละ 8 รายชื่อ) ตามสัดส่วนของเขตเลือกตั้ง โดยจังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งไม่เกิน 5 เขต ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 5 คน จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 6-8 เขต ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 6 คน จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 9-11 เขต ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 7 คน และจังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งตั้งแต่ 12 เขตขึ้นไป ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 8 คน โดยในจำนวนนี้จะต้องมีผู้ตรวจการเลือกตั้งที่มีภูมิลำเนานั้นๆ 2 คน

อย่างไรก็ตามมีคำยืนยันจาก “แม่งาน” ในการจัดการเลือกตั้ง ภายใต้โจทย์ที่ว่า ถ้าไม่มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้ง และ การสรรหาส.ว.ยังคงเดินต่อไปได้ เพราะผู้ตรวจการเลือกตั้งมีหน้าที่เพียงการ “จับตา” ดูสิ่งที่ผิดปกติเท่านั้น ส่วนภารกิจอื่นทั้ง การจัดเลือกตั้ง นับคะแนน และประกาศคะแนน สามารถเดินหน้าได้แม้จะไม่มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง

แต่ทว่าต้องยอมรับถึงคดีความการฟ้องร้องว่า “การเลือกตั้งไม่ชอบ” ด้วยกฎหมายที่จะตามมาในภายหลังอย่างแน่นอน สปอร์ตไลท์จึงจับไปที่กกต.ชุดใหม่ ว่าจะตัดสินใจคลายเงื่อนปมที่ว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้งนี้อย่างไร

กว่าจะมาเป็น…ผู้ตรวจการเลือกตั้ง

“ใกล้ชิดฝ่ายการเมือง” เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยกเลิกกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (กกต.จังหวัด) และสร้าง “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” มาทำหน้าที่ “สอดส่อง” การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และ การกระทำที่ผิดกฎหมายระหว่างการเลือกตั้งแทน

โดยคุณสมบัติของผู้ตรวจการเลือกตั้ง กำหนด “เงื่อนไข” ว่า “ต้องกลางทางการเมือง”

รวมไปถึงจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม อาทิ เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือมีเงินเดือนประจำ ,เป็นพนักงาน ลูกจ้าง หรือ กรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ,เป็นสมาชิกพรรคการเมืองในระยะเวลา 5 ปีก่อนการแต่งตั้ง ,เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใดๆในกิจการสื่อมลชน ,อยู่ในระหว่างการถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ,อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง ,ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล ,เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันสมัคร เว้นแต่ความผิดฐานลหุโทษ , เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ , เคยต้องคำพิพากษา หรือ คำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายป.ป.ช.

ไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าด้วยการกระทำทุจริตเลือกตั้ง, เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น, เป็นส.ว. หรือ เคยเป็นส.ว.และสมาชิกสภาพสิ้นสุดยังไม่เกิน 2 ปี, เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ, อยู่ระหว่างต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 และมาตรา 235 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ, เคยมีบุพการี คู่สมรส หรือบุตรที่ลงสมัครรับเลือกเป็นส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น

โดยการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะตรวจสอบคุณสมบัติ และคุณลักษณะต้องห้ามประวัติ และ พฤติการณ์ของผู้สมัคร จากนั้นให้คณะกรรมการคัดเลือกฯพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครให้เลือก 16 คน โดยวิธีลงคะแนนลับ ซึ่งในการลงคะแนนให้คณะกรรมการหนึ่งคนมีสิทธิลงคะแนนได้ไม่เกินจำนวน 16 คน และให้เรียงลำดับจากผู้ได้รับคะแนนสูงสุดลงมาจนครบ 16 คน ก่อนที่จะเสนอชื่อต่อคณะกรรมการกกต. โดยให้คณะกรรมการกกต.คัดเลือกเหลือ 8 คน

จากนั้นให้คณะกรรมการกกต.ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นรายจังหวัดในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ประชาชนทราบเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ซึ่งกรณีที่มีประชาชนมีข้อมูลร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามหรือพฤติการณ์ของผู้ได้รับการคัดเลือก ให้ทำเป็นหนังสือลงรายมือชื่อและมีที่อยู่ชัดเจนแจ้งผอ.สนง.กกต.จังหวัดภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันประกาศรายชื่อ แล้วให้สนง.กกต.จังหวัดตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว และแจ้งผลการตรวจสอบให้สนง.กกต.รับทราบ

แต่หากไม่ปรากฏว่าผู้ได้รับคัดเลือกขาดคุณสมบัติ ให้คณะกรรมการกกต.มีคำสั่งแต่งตั้ง โดยให้จัดทำเป็นบัญชีรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งไว้ โดยมีระยะเวลา 5 ปี ซึ่งหลังจากได้รับการแต่งตั้งแล้ว ผู้ตรวจการเลือกตั้งจะต้องรายงานตัวเพื่อรับฟังการประชุมชี้แจงเกี่ยวกับบทบาท อำนาจ หน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จากสนง.กกต.

การพ้นจากตำแหน่ง นอกจากจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ ตาย หรือ ลาออกแล้ว ผู้ตรวจการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งในกรณีที่คณะกรรมการกกต.มีมติให้พ้นจากตำแหน่ง เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ หรือ มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด ขาดความสุจริต ขาดความเที่ยงธรรม มีความประพฤติเสื่อมเสีย ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้าม หรือ ขาดประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ ละทิ้งหน้าที่ ไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ หรือ กระทำการขัดต่อระเบียบ ประกาศ คือ คำสั่งของคณะกรรมการกกต.

ทั้งนี้ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด หากผู้ตรวจการเลือกตั้งมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง กกต.อาจมีคำสั่งให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งนั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้วรายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาต่อไป

สำหรับค่าตอบแทนของผู้ตรวจการเลือกตั้ง มีอัตราค่าตอบแทนรายเดือน 50,000 บาท กรณีที่เดินทางไปปฏิบัติงานจะได้รับค่าเบี้ยเลี้ยง 400 บาท/วัน ค่าที่พัก 1,500 บาท/วัน และค่าพาหนะ 1,0000 บาท/วัน ในกรณีที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยจะได้รับค่าเสี่ยงภัยดังนี้ ในจ.สงขลา 3,750 บาท/เดือน ในจ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส 5,000 บาท/เดือน