ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้ 4 ความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ ระบุต้องมีเครื่องมือ – ระบบนิเวศที่เหมาะสมรองรับ

ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้ 4 ความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ ระบุต้องมีเครื่องมือ – ระบบนิเวศที่เหมาะสมรองรับ

4 ตุลาคม 2018


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานสัมมนาประจำปี 2561 ของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ในหัวข้อ “Global Risks and Thailand’s Economic Outlook” ว่า”เมื่อได้รับเชิญให้กล่าวเปิดงานสัมมนาในวันนี้ ผมก็คิดว่าจะมีข้อมูลสำคัญอะไรที่จะแบ่งปันกับทุกท่านในฐานะที่เป็นธนาคารกลาง และผมก็เห็นว่า ในหลายด้านๆ งานของธนาคารกลางและสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือนั้นมีความใกล้เคียงกัน ทั้งสององค์กรต้องมองไปข้างหน้า คำนึงถึงอนาคต และทั้งสององค์กรต้องยึดความระมัดระวัง (conservative) และเราทั้งสององค์กรต้องประเมินความเสี่ยงที่มีต่อเศรษฐกิจ เมื่อได้เห็นแบบนี้แล้ว ผมก็ขอแบ่งปันความคิดที่เกี่ยวกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญ ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะจัดการกับความเสี่ยงแค่ไหน และเราจะทำอย่างไรให้พื้นฐานที่แข็งแกร่งนี้เดินหน้าต่อไปได้”

จากที่เราได้เห็นความผันผวนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายและการเคลื่อนไหวที่ขึ้นลงแรงของค่าเงิน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดการเงินโลกกำลังมีความแปรปรวนเพิ่มขึ้น เครือข่ายทางการเงินที่ซับซ้อนที่มีส่วนเอื้อต่อการไหลของเงินอย่างคล่องตัวอาจทำให้ในภาวะแห่งความปั่นป่วนนี้เกิดการลุกลามที่ต่อเนื่องซึ่งอาจจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ประเทศไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางการเงินที่เชื่อมโยงกันไปมาก็หนีไม่พ้น

ชี้ 4 ความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ

วันนี้ผมขอยกความเสี่ยง 4 ด้านที่อาจสร้างความปั่นป่วนมากขึ้นในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง ได้แก่ ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น, ความขัดแย้งทางการค้าที่เพิ่มขึ้น, ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงของเสถียรภาพทางการเงินในประเทศจากการใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำมากมาเป็นระยะเวลานาน

หลังจากที่เกิดวิกฤติการเงินโลก เศรษฐกิจไทยก็เหมือนกับอีกหลายประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หรือ Emerging Economies อื่นๆ ได้รับผลกระทบจากการนำนโยบายการเงินที่มิได้ใช้ในช่วงเวลาปกติมาใช้ (unconventional) ของประเทศพัฒนาแล้วเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระแสเงินทุนไหลเข้าจำนวนมหาศาลที่แสวงหาผลตอบแทน ได้สร้างแรงกดดันให้ราคาสินทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมทั้งค่าเงินของประเทศ Emerging Economies และหนี้ภาคเอกชน ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ การกลับทิศของมาตรการสุดขั้ว เช่น การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกลับสู่ภาวะปกติ (normalization) จะมีผลในระดับเดียวกันต่อประเทศ Emerging Economies ด้วย และนี่ถือว่าเป็นสาเหตุของความเสี่ยงข้อแรก

นอกเหนือจากธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด แล้ว ธนาคารกลางของประเทศอื่นเองก็คาดว่าจะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกลับสู่ภาวะปกติในปีต่อๆ ไป ขณะที่สภาพคล่องซึ่งอยู่ในระดับสูงกำลังลดลง ผลตอบแทนที่สูงขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจและรัฐบาลสูงขึ้น ส่วนประเทศ Emerging Economies ที่อ่อนไหวต่อภาวะภายนอกและค่าเงินอ่อนค่าก็จะประสบกับภาระหนี้ต่างประเทศที่สูงขึ้นเมื่อคำนวณเป็นสกุลเงินท้องถิ่น

มากไปกว่านี้ สถาบันการเงินระหว่างประเทศคาดว่าพันธบัตรและเงินกู้ร่วม (syndicated loans) ของประเทศ Emerging Economies ที่มีมูลค่ารวม 2.7 ล้านล้านดอลลาร์จะครบกำหนดไถ่ถอนและชำระคืนภายในสิ้นปี 2019 ซึ่งสัดส่วน 1 ใน 3 ของภาระหนี้นี้อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศ ค่าเงินที่อ่อนค่า รวมทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของประเทศ Emerging Economies กับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันอาจมีผลทางลบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ เราได้เห็นประเทศ Emerging Economies ที่มีปัจจัยแปลกๆ บางประเทศ เช่น ตุรกี อาร์เจนตินา เผชิญกับแรงกดดัน

ความเสี่ยงข้อที่สอง ที่พบเห็นจากพาดหัวข่าวของสื่อทั่วไป นั่นคือการปกป้องทางการค้าที่เพิ่มขึ้นและโดยเฉพาะความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การตอบโต้กันไปมาของทั้งสองประเทศ และการที่ไม่สามารถคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ได้ทำให้เกิดความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาคและการเงินใน 2-3 เดือนที่ผ่านมา และจนถึงบัดนี้ ผลกระทบจากมาตรการทางภาษีของระหว่างสองประเทศต่อการค้าโลกยังอยู่ไม่มาก เนื่องจากต้องใช้เวลากว่าผลจะส่งผ่านเต็มที่

กระนั้น คาดว่าผลกระทบเต็มของสงครามการค้าที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องนั้นจะเกิดขึ้นในปีหน้า และข้อขัดแย้งทางการค้าที่เกิดเป็นระลอกหลายชุดคงไม่จบลงง่ายๆ หากว่ายังมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติ่มอีก ห่วงโซ่การผลิตหรือ supply chain และเครือข่ายการผลิตทั่วทั้งภูมิภาคก็จะชะงัก ขณะที่ปริมาณการค้าจะได้รับกระทบโดยตรงอย่างแน่นอน และภาคที่จะได้รับกระทบอย่างรุนแรงคือการลงทุนโดยตรง ซึ่งจากที่เราได้เห็นตัวอย่างมาแล้วในอดีต ก็จะลดลงจากความไม่แน่นอน และอาจจะขยายวงไปในแง่ที่ว่าความไม่แน่นอนนั้นจะทำให้การลงทุนลดลง สงครามการค้าที่ยืดเยื้อจะดึงกำลังการผลิตที่จะสร้างการเติบโตในอนาคตลง รวมทั้งชะลอการยกระดับเทคโนโลยีของธุรกิจ

นอกเหนือจากความขัดแย้งทางการค้าแล้ว ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องก็นับเป็นสาเหตุของความเสี่ยงข้อที่สามที่เรากำลังเผชิญ และนับเป็นหนึ่งในแนวโน้มที่ปรากฏชัดใน 2-3 ปีที่แล้ว นอกเหนือจากประเด็นที่ค้างคาที่รอการแก้ไข เช่น ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี และการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษหรือ Brexit แล้ว ก็มีประเด็นใหม่ที่เปราะบางก็เกิดขึ้นและหลั่งไหลเข้ามาเพิ่ม ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านจากข้อตกลงนิวเคลียร์ การประจำการทางทหารในทะเลจีนใต้ และการเพิ่มขึ้นของภัยไซเบอร์ทั้งกลุ่มที่เปิดเผยและกลุ่มที่ไม่เปิดเผยตัว เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นใน 2-3 ปีที่ผ่านมา

แม้ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้นยังไม่นำไปสู่การปรับตัวลดลงของตลาดอย่างรุนแรง หรือทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกชะลอตัว แต่ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ทำให้ต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เพิ่มความผันผวนให้กับตลาดการเงินและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันดิบ

ความเสี่ยงข้อสุดท้าย ที่ผมอยากจะชี้ให้เห็น เป็นความเสี่ยงในประเทศ แม้เสถียรภาพการเงินโดยรวมยังคงแข็งแกร่ง แต่ก็มีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจจะสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพการเงินในระยะต่อไป อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำมากนำไปสู่พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน หรือ search-for-yield และการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าความเป็นจริง (underpricing of risks) ซึ่งเป็นความท้าทายในสภาวะที่มีหน่วยงานด้านการกำกับดูแลจำนวนมาก เพราะการออกกฎเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้นจากหน่วยงานหนึ่ง มีความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้กิจกรรมทางการเงินที่อาจจะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นนั้น ออกนอกขอบเขตการกำกับดูแลของหน่วยงานไป ซึ่งเราได้เห็นแล้วจากพื้นที่ความเสี่ยงที่กระจายไปทุกส่วนของความรับผิดชอบของหน่วยงานด้านกำกับดูแล ทั้งความล่าช้าของการลดภาระหนี้ครัวเรือน การขยายตัวอย่างมากของกองทุนเพื่อการลงทุนต่างประเทศแต่กระจุกตัวในประเทศ Emerging Economies บางประเทศ เงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การใช้เงินไม่สอดคล้องกับระยะเวลาการกู้ของลูกหนี้ธุรกิจ และการเติบโตอย่างรวดเร็วของตราสารหนี้เอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับ

เมื่อเร็วๆ นี้ เราสังเกตเห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยให้ผู้ซื้อบ้านที่ต้องการผลตอบแทนจากการให้เช่าและทำกำไรจากการขายต่อ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการปล่อยกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่เพิ่มอัตราส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value) สูงขึ้น เป็นผลจากการแข่งขันที่รุนแรงในภาคการเงิน รวมไปถึง หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL เงินกู้ที่อยู่อาศัย ของกลุ่มผู้ซื้อบ้านหลังที่สองและหลังที่สามยังคงเพิ่มขึ้น

“ผมได้กล่าวถึงความเสี่ยงทั้ง 4 ข้อที่เรากำลังเผชิญอยู่ และแม้ผมจะแยกแยะออกเป็นข้อๆ แต่โดยที่ปัจจัยความเสี่ยงเหล่านี้มีอิทธิพลซึ่งกันและกัน ดังนั้น แม้ว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยแต่ก็มีผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจ ความปั่นป่วนของตลาดในตุรกีที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้แสดงให้เห็นถึงผลที่เกิดจากการตอบสนองของตลาด ที่นำไปสูการเทขายเพื่อลดความเสี่ยง และเมื่อหันมามองรอบบ้านเรา เราได้เห็นประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศ ตลาดเงินตกอยู่ในภาวะลำบาก แม้เศรษฐกิจขยายตัวดี”

สุดท้าย นอกเหนือจากความเสี่ยง 4 ข้อที่ได้กล่าวถึงแล้ว ยังมีการพัฒนาการในบางด้านที่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักได้ เช่น ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ที่อาจจะมีผลให้รูปแบบธุรกิจดั้งเดิมเปลี่ยนโฉมไป หรือผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่คาดว่าจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้า

สร้างภูมิคุ้มกันเสริมความสามารถ

เมื่อเรารับรู้แล้วว่ามีความเสี่ยงเหล่านี้ ก็มาถึงช่วงที่ต้องตอบคำถามว่า ประเทศไทยอยู่ตรงไหนของความเสี่ยงนี้ และมีความพร้อมที่จะรับมือกับความเสี่ยงนี้หรือไม่

ถ้าหากเรามองย้อนกลับไปใน 2-3 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเต็มไปด้วยความไม่สมดุล การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวในระดับดี ความต้องการในประเทศยังต่ำกว่าระดับเฉลี่ยต่ำสุดที่เคยมี ทำให้เศรษฐกิจเป็นแบบเศรษฐกิจ 2 ความเร็ว (two-speed economy) อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ลดลงแล้วใน 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมา เพราะเศรษฐกิจมีสัญญานเติบโตแบบสมดุลมากขึ้น เราเริ่มเห็นการเติบโตที่การส่งออกเริ่มส่งผลกระจายไปสู่ภาคอื่นของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน

ธปท.ประมาณการณ์ว่า การบริโภคภาคเอกชนจะยังขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง เพราะปัจจัยหลัก เช่น การจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยังคงส่งสัญญานการปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวด้วยแรงหนุนจากโครงการการลงทุนภาครัฐ ควบคู่กับความเชื่อมั่นโดยรวมที่เพิ่มขึ้น ในประมาณการณ์ครั้งหลังสุด เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวในอัตรา 4.4% ในปีนี้และเติบโต 4.2% ในปี 2019 ซึ่งเป็นการเติบโตที่แข็งแกร่งสองปีติดต่อกันนับจากปี 2008

ถึงกระนั้น การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเงินที่มีหลากหลายมิติ ผูกติดกับความเชื่อมโยงทางการเงินระหว่างประเทศ ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในประเทศเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะป้องกันตัวเองจากปัจจัยภายนอกที่มากระทบ (external shock) ดั้งนั้น สิ่งที่ประเทศจะทำได้ดีที่สุดในการป้องกันตัวเอง คือ สร้างภูมิคุ้มกันและความยืดหยุ่น ความสามารถที่จะฟื้นตัวให้กับเศรษฐกิจ

ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความยืดหยุ่นนับเป็นแนวปราการอย่างแรก พร้อมกับการแทรกแซงค่าเงินเพื่อทำให้ตลาดกลับสู่ภาวะปกติ ที่จะต้านทานความผันผวนจากภายนอกและความผันผวนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของเราสูงถึงราว 3.2 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (เมื่อเทียบกับ 0.7 เท่าในช่วงวิกฤติการเงินอาเซียนปี 1997) ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลติดต่อกันเป็นปีที่ 4 และคาดว่าจะเกินดุลจำนวน 35.4 พันล้านดอลลาร์หรือ 7% ของจีดีพีในปีนี้

นอกจากนี้ บริษัทและธนาคารของไทยส่วนใหญ่พึ่งพาเงินทุนในประเทศ ซึ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านสกุลเงิน (currency mismatch) ต่ำ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เรามีเครื่องกันกระแทก และทำให้เราสามารถที่จะดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างเอกเทศ เมื่อรวมกับกันชนทั้งหลายนี้แล้ว เครื่องมือทางด้านนโยบายก็มีหลากหลายเตรียมไว้ให้ใช้เมื่อจำเป็น รวมไปถึงมาตรการดูแลเสถียรภาพโดยรวมของระบบเศรษฐกิจ (macroprudential measures)

นอกไปจากการสร้างภูมิคุ้มกันจากความผันผวนจากภายนอกแล้ว ธปท. ยังมุ่งรักษาเสถียรภาพการเงินในประเทศ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ดังที่กล่าวมาแล้ว พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำเป็นเวลานานอาจมีส่วนต่อความเปราะบางให้กับเสถียรภาพการเงิน เพื่อดูแลพฤติกรรมแบบนี้ ธปท. ได้พยายามที่จะจำกัดผลกระทบจากพฤติกรรมการประเมินความเสี่ยงที่ต่ำจากความเป็นจริง ธปท. ยังติดตามสถานการณ์และสัญญานเตือนภัยจากความเสี่ยงที่กล่าวมาแล้วข้างต้นต่อเนื่องและจะจัดการให้สอดคล้องกัน

ในปีที่แล้ว เราได้ปรับหลักเกณฑ์บัตรเครดิตให้เข้มงวดขึ้น รวมทั้งปรับปรุงจำกัดวงเงินสินเชื่อบุคคลซึ่งเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เพื่อจำกัดปัญหาหนี้ครัวเรือน และในเร็วๆ นี้เราจะจะให้มีการทำประชาพิจารณ์มาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อลดพฤติกรรมประเมินความเสี่ยงที่ต่ำจากความเป็นจริงในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย

เสถียรภาพการเงินฝังแน่นการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. เพราะมองว่า macroprudential measures อย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะป้องกันความเสี่ยงในระบบการเงิน นโยบายการเงินจะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบเพื่อไม่ให้เพิ่มความเปราะบางให้กับเสถียรภาพการเงิน นอกจากนี้ภายใต้ภาวะการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่องและพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน ธปท. มองว่าต้องมีความร่วมมือในการกำกับดูแลที่มากขึ้น เพื่อให้ติดตามความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าหลักเกณฑ์การกำกับดูแลจากหลายหน่วยงานนั้นมีทิศทางเดียวกันในภาพรวม และเพื่อให้กิจกรรมทางการเงินไม่สามารถหลุดจากการกำกับดูแลไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ต้องกำกับดูแล ซึ่ง ธปท. ได้มีความร่วมมือใกล้ชิดกับหน่วยงานอื่น เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

แม้เราจะมีกันชนรองรับความผันผวนจากภายนอกที่จะต้านความผันผวนระยะสั้นในตลาดโลก แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพเศรษฐกิจและความสามารถของการฟื้นในระยะยาว คือ โครงสร้างพื้นฐานที่จะเสริมประสิทธิภาพการผลิตรวมทั้งระบบนิเวศที่เหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอีกหลายปีข้างหน้า

“ผมมีความยินดีที่จะบอกว่า เรากำลังอยู่บนเส้นทางการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต แต่โดยที่เวลามีจำกัด จึงค่อนข้างยากที่จะตัดสินโครงการทั้งหมดที่ได้ริเริ่มไป แต่ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและดิจิทัลที่ค้างไว้นานมาก”

ในส่วนของ ธปท. นั้น ธปท. กำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศที่จำเป็นสำหรับการเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านไปเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้แผนแม่บทชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ธปท. และกระทรวงการคลัง สมาคมธนาคารไทยได้เปิดตัวพร้อมเพย์ บริการโอนเงินแบบทันทีซึ่งใช้ได้ทั้งบุคคลทั่วไปและธุรกิจ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมลงได้มาก และยังมีส่วนช่วยให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตมาก รวมทั้งช่วยให้รัฐสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อย

ปัจจุบันยอดลงทะเบียนใช้พร้อมเพย์มีจำนวน 44 ล้านบัญชี และมีปริมาณธุรกรรมมากกว่า 100 ล้านรายการต่อเดือน และเราคาดว่าปริมาณจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะประชาชนและธุรกิจมาใช้มากขึ้น อีกทั้งจากตัวเลขข้อมูลการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่บันทึกในระบบ ธนาคารสามารถประเมินศักยภาพลูกค้าสินเชื่อ SME ได้และทำให้ SME ที่ไม่มีประวัติสินเชื่อหรือมีหลักประกันไม่มากพอมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับการพิจารณาสินเชื่อ การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยให้มีการเปลี่ยนระบบนิเวศทางการเงินของ SME จากการให้กู้โดยใช้หลักประกันเป็นการให้สินเชื่อที่ใช้ข้อมูลด้านอื่นมาประกอบมากขึ้น (information-based lending)

นอกจากการพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ธปท. ยังเริ่มศึกษาการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในภาคอุตสาหกรรมการเงิน โดยมีการสร้าง Thailand Blockchain Community Initiative ด้วยความร่วมมือระหว่างธนาคารไทย 14 แห่งและ 7 ธุรกิจชั้นนำ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจเริ่มมีโครงการทดลองนำร่อง คือ บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนเทคโนโลยีบล็อกเชน ธปท. เองริเริ่ม 2 โครงการ คือ การออกพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาลแบบไร้ใบตราสาร (scriptless) ด้วยเทคโนโลยีประมวลผลแบบกระจายศูนย์ ที่ช่วยลดเวลาในการจัดสรรพันธบัตรให้รายย่อยจาก 15 วันเป็น 2 วัน รวมทั้งการให้ผู้ออกตราสารมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ส่วนโครงการที่สองคือ โครงการอินทนนท์ เพื่อทดลองและพัฒนาระบบต้นแบบการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน โดยใช้สกุลเงินดิจิทัลจำลองที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งระบบใหม่นี้จะช่วยให้การทำธุรกรรมและการยืนยันธุรกรรมเร็วขึ้น มีต้นทุนถูกลง และระบบโดยรวมก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับด้านกฎหมายของโครงสร้างพื้นฐานการเงินนั้น การกำกับดูแลต้องเท่าทันกับนวัตกรรมทางการเงินที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว และเพื่อสร้างภาวะแวดล้อมจูงใจให้เกิดนวัตกรรมทางการเงิน ธปท. ได้ตั้งศูนย์ทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการการเงิน หรือ Regulatory Sandbox เพื่อเปิดให้ทดสอบบริการทางการเงินที่ใช้เทคโนโลยีหรือ FinTech ตามมาตรฐานสากล เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการดำเนินในภายหลังหากนำไปใช้บริการจริง รวมทั้งต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ก่อนที่จะนำมาให้บริการประชาชน

ธปท. ยังได้เริ่มโครงการปฏิรูปกฎเกณฑ์ที่ดูแลอยู่ ทั้งการทบทวนหรืออาจยกเลิกกฎหมายและหลักเกณฑ์บางด้านเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบันและลดต้นทุนด้านกฎหมายให้ประชาชน

ในเดือนเมษายนปีนี้ พ.ร.บ.ระบบชำระเงิน พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแล้ว ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้รวมกฎหมายชำระเงิน และหลักเกณฑ์เดิมที่กระจัดกระจายกันอยู่ไว้ด้วยกัน เพื่อให้ ธปท. สามารถดูแลการพัฒนาระบบการชำระเงินของไทยในแนวทางที่ส่งเสริมนวัตกรรมการชำระเงินใหม่ๆ

ในด้านต่างประเทศ ธปท. ได้ปฏิรูปกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เพื่อให้การทำธุรกรรมการเงินข้ามประเทศมีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งได้มีการทำข้อตกลงกับธนาคารกลางในภูมิภาค ส่งเสริมการใช้เงินสกุลตราของแต่ละประเทศและสกุลเงินภูมิภาคในการค้าและการลงทุน ความริเริ่มนี้จะช่วยให้ต้นทุนการทำธุรกรรมลดลงและลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ตลาดเงินโลกปัจจุบันมีความผันผวนมากขึ้น

“ภายใต้ภูมิทัศน์โลกที่มีความท้าทายนี้ ความใจเย็นนั้นมีราคาแพงและอาจจะเป็นอันตรายได้ เรา ทั้งธนาคารกลาง สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และทุกคนในห้องนี้ จะต้องมีความระมัดระวัง เราต้องรักษากันชนและสร้างภูมิคุ้มกัน แม้จะมีความท้าทายอยู่เบื้องหน้า เราต้องมองไปที่เป้าหมายระยะยาวของเรา”

ผมขอจบการปาฐกถาด้วยการขอเล่าถึงสิ่งที่ผมชอบทำเมื่อมีเวลา นั่นคือ การออกเดินด้วยเท้าในระยะทางไกลหรือ hiking ซึ่งคนที่ออกเดินทางด้วยเท้าหรือ hiker มี 2 แบบ แบบแรกจะชื่นชมกับวิวข้างทาง ชมนก ชมต้นไม้ และทิวทัศน์ภูเขา ส่วนแบบที่สอง จะให้มองเฉพาะเส้นทางข้างหน้า ซึ่ง hiker แบบแรกนี้เลี่ยงไม่ได้ที่จะสะดุดก้อนหินบ้าง กิ่งไม้ตกใส่บ้าง ขณะที่ hiker แบบหลังเมื่อเงยหน้าขึ้นก็จะพบว่าตัวเองหลงทางเสียแล้ว

“ดังนั้น เราไม่สามารถเดินทางไปยังเป้าหมายด้วยการพียงมองขึ้นข้างบนหรือมองลงล่าง เราต้องใส่ใจกับความเสี่ยงระยะสั้น ขณะที่เราเดินหน้ามุ่งสู่เป้าหมายระยะยาว”