ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่าการ ธปท. ชี้แก้หนี้ครัวเรือนให้ยั่งยืน ต้องปรับโครงสร้าง เพิ่มภูมิคุ้มกันทางการเงิน

ผู้ว่าการ ธปท. ชี้แก้หนี้ครัวเรือนให้ยั่งยืน ต้องปรับโครงสร้าง เพิ่มภูมิคุ้มกันทางการเงิน

22 ตุลาคม 2020


ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

วันที่ 22 ตุลาคม 2563 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาเนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 20 ของงานมหกรรมการเงิน หรือ Money Expo

“ผมขอแสดงความยินดีอย่างยิ่ง เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 20 ของงานมหกรรมการเงิน หรือ Money Expo และขอขอบคุณ วารสารการเงินธนาคาร ที่ได้ให้เกียรติเชิญผมมาเป็นประธานเปิดงานในวันนี้ ภายใต้แนวคิด Wealth Being “อยู่ดีมีสุข สร้างความมั่นคงทางการเงินระยะยาว” ซึ่งนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในภาวะปัจจุบัน”

การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงต้นปีนี้ ได้ซ้ำเติมความเปราะบางทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และมีผลกระทบโดยเฉพาะต่อรายย่อย ทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดรายได้ ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง

ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์โควิด 19 ยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะจบลงอย่างไร และเมื่อใด โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด ความไม่แน่นอนนี้จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในหลายปีที่ผ่านมา

1 ใน 3 ของคนไทยในปัจจุบันมีภาระหนี้สูง จนกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการอุปโภคบริโภค โดยการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ล่าสุด พบว่า

  • คนไทยเป็นหนี้เร็ว เริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยกว่าครึ่งหนึ่งของคนอายุ 30-40 ปี เป็นหนี้ โดยมากเกิดจากหนี้ส่วนบุคคล หรือหนี้บัตรเครดิต
  • คนไทยเป็นหนี้นาน โดยร้อยละ 80 ของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นในระยะเวลา 9 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ถึง 2561) มาจากผู้กู้รายเดิม และ 1 ใน 5 ของคนหลังเกษียณยังเป็นหนี้ โดยคนช่วงอายุ 61-65 ปี มีหนี้เฉลี่ยสูงกว่าแสนบาท
  • สถานการณ์โควิด 19 ทำให้สุขภาพการเงินของคนไทยอ่อนแอมากขึ้น จากการถูกลดชั่วโมงการทำงานจนถึงการถูกเลิกจ้าง ทำให้ขาดสภาพคล่องของรายได้

    หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากประมาณร้อยละ 80 ต่อ GDP เมื่อสิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ร้อยละ 83.8 ต่อ GDP ในไตรมาส 2 ของปีนี้

    และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบ เพื่อให้ภาคครัวเรือนสามารถผ่านพ้นวิกฤตโควิด 19 ไปได้ ซึ่งพิจารณาตามสถานะของลูกหนี้ที่แตกต่างกัน โดย

  • สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหาระยะสั้นที่ต้องการสภาพคล่องเป็นการชั่วคราว มาตรการที่เหมาะสมกับลูกหนี้กลุ่มนี้ เช่น พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด และการลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน และ
  • สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบระยะยาว ธปท. ส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ เปลี่ยนสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเป็นสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) รวมถึงโครงการคลินิกแก้หนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ช่วยบรรเทาภาระหนี้ ให้แก่กลุ่มครัวเรือนที่รายได้ลดลงเมื่อกลับมาทำงานภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง
  • การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่แข็งแกร่ง ผ่านการเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออมและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน เพื่อเป็นรากฐานทางการเงินที่มั่นคง สอดคล้องกับแนวคิด Wealth Being ของ Money Expo ในปีนี้

    “ผมจึงหวังว่า ทุกท่านจะได้ใช้โอกาสที่มาเข้าร่วมงาน Money Expo ครั้งนี้ในการสร้างความมั่นคงทางการเงิน ผ่านการออม และการลงทุน และขอขอบคุณ ภาคการเงินที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือธุรกิจและภาคครัวเรือนให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤต ตลอดจนสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออมของภาคครัวเรือน โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละบุคคล”