ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ปัดเล่นโซเชียล หาเสียง – มติ ครม. แก้กม.ลิขสิทธิ์ เตรียมสมัคร WPO – แจ้งสื่อ “ลบ” ไม่ต้องผ่านศาล

“บิ๊กตู่” ปัดเล่นโซเชียล หาเสียง – มติ ครม. แก้กม.ลิขสิทธิ์ เตรียมสมัคร WPO – แจ้งสื่อ “ลบ” ไม่ต้องผ่านศาล

16 ตุลาคม 2018


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดยก่อนการประชุม ครม. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและประธานกรรมการสื่อสร้างสรรค์ กรณีถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการโอลิมปิกสากล นำนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา นายเอกพล จันทะวงษ์ ผู้ช่วยโค้ช และเด็กทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมี่ รวม 13 คน เข้าเยี่ยมคารวะและมอบรางวัล Asia Game Changer Awards (รางวัลมอบแก่ผู้ทำงานสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดี-แรงบันดาลใจสู่คนทั่วโลก) ที่ได้รับจากสมาคม Asia Society Association ให้แก่นายกรัฐมนตรี

โดยนายกรัฐมนตรีระบุว่า นับเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ ที่ปฏิบัติภารกิจด้วยความกล้าหาญ ทุ่มเท และเสียสละอย่างสุดกำลังความสามารถ โดยได้รับกำลังใจจากคนทั่วโลก ทำให้ภารกิจนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี พร้อมกล่าวชื่นชมเด็กๆ ทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมี่ ที่มีวินัยและอดทน เรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับสภาพสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี และขอให้เด็กๆ ทุกคนระลึกถึงบุคคลที่ให้ความช่วยเหลืออยู่เสมอ ขอให้นำประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นพลังในการดำเนินชีวิต จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ร่วมถ่ายรูปเซลฟี่กับเด็กและโค้ชทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมี่ ทั้ง 13 คน

นายกรัฐมนตรีได้ร่วมถ่ายรูปเซลฟี่กับเด็กและโค้ชทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมี่ ทั้ง 13 คน
ที่มาภาพ : instagram prayutoffical

ปัดเล่นโซเชียลหาเสียง

ภายหลังการประชุม พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีเปิดเพจเฟซบุ๊กและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ ว่าเป็นการปรับตัวให้เข้ากับโลกดิจิทัลและนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มีการใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นเรื่อยๆ และเพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสื่อสารการทำงานกับประชาชน ไม่ใช่เป็นการหาเสียง

ทั้งนี้ ประชาชนทุกคนสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ไปกดไลก์กันได้ ตนจะเปิดใจกว้างยอมรับในทุกคำติชม และจะเป็นคนเขียนตอบความคิดเห็นส่วนใหญ่ในเพจด้วยตัวเอง แต่ขออย่าใช้คำหยาบที่ไม่สุภาพ หรือไม่เหมาะสม เพราะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับเยาวชน

“ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักหรือรองอะไร วันนี้ต้องเป็นตัวดิจิทัลบ้าง เพราะว่าเรากำลังเดินนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แล้วผมเองเป็นเบบี้บูมเมอร์ ต้องปรับตัวใช้ให้เป็น วันนี้มีการใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นเรื่อยๆ ผมก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน”

“ผมต้องการจะเปิดเวทีให้ทุกคนได้มีโอกาสได้ติชมผม อะไรที่เป็นประโยชน์ก็จะรับมาพิจารณาดำเนินการให้เหมาะสม ส่วนคนที่ไม่ชอบยังไงก็ไม่ชอบ ไม่ว่าจะพูดอะไร ทำอะไรดีๆ ก็ไม่ชอบอยู่ดี ฉะนั้นต้องไปดูว่าสิ่งที่เขาติมาเป็นข้อเท็จจริงหรือเปล่า ถ้าใช่ข้อเท็จจริงเราก็แก้ไข อันไหนไม่ใช่ข้อเท็จจริงเราก็ชี้แจงได้”

“ส่วนที่บอกว่าเป็นการหาเสียงเอาเปรียบพรรคอื่น แล้วพรรคอื่นไม่เปิดหรือไง ให้ความเป็นธรรมผมบ้างสิ ไม่ใช่การหาเสียง หาเสียงอะไรให้คนด่า แต่ผมต้องการให้สังคมได้เรียนรู้ว่าเราจะอยู่กันยังไงในสังคม โดยเฉพาะสังคมโซเชียลมีเดีย และการทำครั้งนี้ผมไม่ได้ใช้งบประมาณอะไรมากมาย หลายคนก็เปิดทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไอจี เปิดกันเยอะแยะ ไม่เห็นจะเสียสตางค์อะไรมากมาย ก็ทำได้หมด เชิญเข้าไปกดไลก์กันด้วยนะ”พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

  • ดู เฟซบุ๊ก พล.อ. ประยุทธ์ / อินสตาแกรม พล.อ. ประยุทธ์ / ทวิตเตอร์ พล.อ. ประยุทธ์
  • ย้ำตัดสินใจอนาคตการเมือง คำนึงถึงเหตุผล – ความจำเป็น – เพื่อชาติ

    ต่อคำถามว่ามีการประเมินผลตอบรับจากประชาชนหรือยัง หลังจากประกาศว่ามีความสนใจการเมือง พล.อ. ประยุทธ์ ตอบว่า ได้ติดตามมาโดยตลอด แต่ส่วนตัวจะรับหรือไม่รับทำงานการเมืองต่อนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องตัดสินใจด้วยตัวเองว่า หากจะทำการเมืองต่อไป จะทำได้อย่างไร

    “จะรับหรือไม่  เป็นเรื่องที่ผมจะต้องตัดสินใจเอง ว่าถ้าผมจะทำการเมืองต่อไป ผมจะทำได้อย่างไร และเหตุผลของความจำเป็นสำคัญของผมคืออะไร ของชาติบ้านเมืองคืออะไร นั่นคือสิ่งที่ผมตั้งเจตนารมณ์ของผมไว้  สิ่งสำคัญที่สุดคือเราจะต้องมีการปฏิรูปต่อไปได้อย่างไร การเดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติจะทำได้อย่างไร โดยที่ไม่ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมต้องระมัดระวังอย่างที่สุด” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

    แจงไม่แบ่งแยกชนชั้นคน ด้วย “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”

    พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีมีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเเบ่งเเยกชนชั้นจากการทำบัตรประชารัฐว่าเป็นความเข้าใจผิด เพราะตนไม่เคยแบ่งชนชั้น และไม่เคยเรียกว่าบัตรคนจน แต่เป็นบัตรประชารัฐที่จะดูแลประชาชนให้เกิดความพอเพียง ทำให้ประชาชนยังชีพอยู่ได้ในช่วงเวลาที่ยังไม่เข้มแข็ง

    “มีคนออกมาพูดว่ารัฐบาลแบ่งแยกชนชั้นด้วยการทำบัตรคนจน ผมไม่เคยเรียกบัตรคนจนอย่างที่เขาพูด เข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า บัตรนี้เป็นบัตรประชารัฐ ที่จะดูแลคนทุกคนให้เกิดความพอเพียง”

    “เราจะต้องมองความเท่าเทียมด้านโอกาส ไม่ว่าจะยากดีมีจน ให้เข้าถึงโอกาส รัฐบาลก็ไปสร้างความเชื่อมโยงให้เกิดขึ้น ปลดล็อกกฎหมายให้ทุกคนได้เข้าถึง และคุ้มครองในการประกอบอาชีพด้วย นั่นคือความเท่าเทียม

    “ส่วนความเป็นธรรมคือเราดูแลผู้มีรายได้น้อย  เรียกว่าบัตรประชารัฐ ในการที่จะทำให้ประชาชนยังชีพอยู่ได้ ในช่วงเวลาที่เขายังไม่เข้มแข็ง แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เงินได้ไม่มากนัก แต่สังเกตว่าทุกคนพอใจ และไม่มีผลกระทบกับระบบการเงินการคลังของประเทศ” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

    ตั้ง “พล.อ.อุดมชัย” หัวหน้าทีมพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้

    พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีมีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ว่า ที่ผ่านมา พล.อ. อักษรา เกิดผล ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพและความก้าวหน้าหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดความรุนแรงในหลายพื้นที่  อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตรงข้ามพยายามนำมาเป็นเงื่อนไขในการกดดัน ฉะนั้นจึงเปลี่ยนเป็น พล.อ. อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ เป็นอดีตแม่ทัพภาค 4

    “ครั้งนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงก็เพราะว่าท่าน (พล.อ. อักษรา) ก็ทำมาหนักพอสมควรแล้ว หลายปีมาแล้ว ฉะนั้นลองเปลี่ยนคนใหม่ดู เป็นคนในพื้นที่ เป็นแม่ทัพภาค 4 เก่า แล้วก็คงจะทำงานได้ตามนโยบายของรัฐบาล ต้องเอานโยบายของรัฐบาลเป็นหลักการ ในการที่พูดคุยสันติสุข”

    “การพูดคุยสันติสุขเป็นวิถีทางหนึ่งในการแก้ปัญหาความรุนแรง ในทุกประเทศก็ใช้วิธีการนี้ ทำยังไงให้คนในพื้นที่ร่วมมือกัน ไม่ไปร่วมกับผู้ก่อเหตุรุนแรง สร้างความเข้มแข็งในชุมชนตัวเอง ทั้งนี้ก็เพื่อการพัฒนาในพื้นที่  ต้องสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่”

    “ทำอย่างไรไม่ให้ไปร่วมมือกับผู้ก่อความไม่สงบ ทุกเชื้อชาติ ศาสนา ต้องมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ต้องร่วมมือกันคลี่คลายสถานการณ์ให้ได้เร็วที่สุด รวมถึงร่วมกันพัฒนาพื้นที่ให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

    สั่ง “บิิ๊กป้อม” ระดมทุกหน่วย – หารือแผนกวาดล้างยาเสพติด

    พล.อ. ประยุทธ์ เปิดเผยว่าหลังการประชุม ครม. ได้ประกาศเจตนารมณ์จะปราบปรามยาเสพติดให้ได้โดยเร็ว แม้อาจจะไม่ได้ทั้งหมด 100% แต่ที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงพยายามอย่างหนักในการลดซัพพลาย โดยมีการจับกุมมากขึ้นเรื่อยๆ

    ขณะเดียวกัน ได้ให้ความสำคัญกับขบวนการแพร่ระบาดยาเสพติดในพื้นที่ ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ช่วยกันทำงานบูรณาการดูแลประชาชน พร้อมทั้งสั่งการให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จัดประชุมในสัปดาห์หน้า เพื่อจะบูรณาการกวาดล้างยาเสพติด โดยใช้กระบวนการทางกฎหมาย

    “โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ระบาดในโรงเรียน สถานศึกษา โรงงาน จะมีการตรวจโรงงานทุกโรงงาน ผมทราบว่าหลายโรงงานมีการแพร่ระบาดของยาเสพติด  แต่การแก้ปัญหาซัพพลายอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมาดูผู้ค้ารายย่อยด้วย แต่รัฐบาลจะทำเต็มที่ โดยใช้มาตรการทางกฎหมายทั้งหมด” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

    สั่งกระทรวงต่างประเทศ ตรวจสอบขายรองเท้าลายธงชาติ

    พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ถึงความไม่เหมาะสมที่มีการโพสต์ภาพรองเท้าเป็นสีคล้ายธงชาติไทยว่า ได้สั่งให้กระทรวงต่างประเทศกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่าจะทำอย่างไร เพราะสำหรับประเทศไทยธงชาติคือตัวแทนของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ก็ต้องดูว่าจะทำได้แค่ไหนอย่างไร

    มติ ครม. มีดังนี้

    พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    เห็นชอบแก้ไข พ.ร.บ.หอการค้า – สมาคมการค้า

    นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หอการค้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.สมาคมการค้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.หอการค้า และ พ.ร.บ.สมาคมการค้า ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2509 ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน

    ซึ่งร่าง พ.ร.บ.หอการค้า มีประเด็นที่แก้ไขเพิ่มเติม เช่น บทนิยามของ “สมาคมการค้า” ที่ปรับปรุงให้คอบคลุมถึงสมาคมซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการค้า การบริการ อาชีพอิสระ อุตสาหกรรม การเงิน เป็นต้น ให้สามารถสมัครสมาชิกสามัญหอการค้าได้ จากเดิมที่เปิดรับเฉพาะสมาคมที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น

    “การแก้ไขครั้งนี้จะทำให้สมาคมการค้าต่างๆ เป็นมาชิกหอการค้าได้ง่ายขึ้น ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถรวมกลุ่มสมัครเป็นสมาชิก ซึ่งหอการค้าและสมาคมการค้าสามารถสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอมอีได้” นายณัฐพรกล่าว

    แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของหอการค้า ให้สามารถดำเนินการเพื่อส่งเสริมการค้า สามารถทำสัญญากับภาครัฐ มีอำนาจในการเป็นพยานรับรองลายมือชื่อของบุคคลในเอกสารที่มีผู้ขอ (Notary Public) และส่งเสริมการค้าการบริการที่มีกฎหมายระบุให้เป็นหน้าที่หอการค้า หรือร่วมมือกับองค์กรอื่นโดยมีการจัดสรรค่าตอบแทนระหว่างกัน

    แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของหอการค้าให้สามารถประกอบวิสาหกิจ ตามหน้าที่ของหอการค้า เช่น ส่งเสริมการค้า การบริการ การประกอบวิชาชีพอิสระ เพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้นเนื่องจากกฎหมายเดิมห้ามหอการค้าประกอบวิสาหกิจทุกประเภท แต่หัวใจหลักคือหอการค้ายังไม่สามารถทำเพื่อแสวงหาผลกำไรได้ยังเป็น non-profit organization เพียงแต่การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ฉบับนี้เปิดช่องทางให้หารายได้ได้ รวมถึงการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมจากเดิม 500 บาท เป็น 2,000 บาท

    สำหรับร่าง พ.ร.บ.สมาคมการค้า มีประเด็นที่แก้ไขเพิ่มเติม เช่น แก้ไขเพิ่มเติมการใช้ชื่อของสมาคมการค้า ในมาตรา 13 (1) ให้ต้องมีคำว่า “สมาคมการค้า” นำหน้าชื่อสมาคมด้วยเพื่อความชัดเจน แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของสมาคมการค้าให้สามารถประกอบวิสาหกิจเพื่อส่งเสริมการค้าได้มากขึ้น รวมถึงปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาตจากเดิมฉบับละ 500 บาท เป็น 1,500 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

    “นายกรัฐมนตรีได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบให้ดี โดยการขึ้นค่าธรรมเนียมต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน” นายณัฐพรกล่าว

    แก้กม.ลิขสิทธิ์ เตรียมสมัคร WPO – เจ้าของผลงานแจ้งสื่อ “ลบ” ไม่ต้องผ่านศาล

    นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (พ.ศ. ….) โดยมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยี ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับข้อจำกัดความรับผิดของผู้ให้บริการ และสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการและเจ้าของลิขสิทธิ์ในการส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรมบนสื่ออินเทอร์เน็ต เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางสากลและสนธิสัญญาขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WPO Copyright Treaty) เนื่องจากไทยกำลังจะสมัครเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาฯ ขององค์กรดังกล่าว

    ทั้งนี้ การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าวจะทำให้ไทยได้รับประโยชน์ ได้แก่

    • การยกระดับการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในยุทดิจิทัลที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สอดรับกับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”
    • เกิดประโยชน์แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ไทยให้ได้รับความคุ้มครองและบังคับใช้สิทธิ์ได้อย่างเต็มที่ในประเทศที่เป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าว
    • ส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ได้แก่ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพลง เกม และแอนิเมชัน รวมทั้งดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมดังกล่าว
    • ส่งเสริมความร่วมมื่อนการปกป้องคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศโดยมีการประสานความร่วมมือทั้งระดับภาครัฐและเอกชนเจ้าของลิขสิทธิ์ ในการคุ้มครองและบังคับใช้สิทธิซึ่งเกิดจากการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตข้ามพรมแดน โดยเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถส่งการแจ้งเตือนไปยังผู้ให้บริการในสื่อออนไลน์ เพื่อให้แจ้งต่อผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ทำการลบข้อมูล โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาลอีกต่อไป ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิ์ผู้ประกอบการในการดำเนินคดีต่อตัวผู้ละเมิดลิขสิทธิ์

    “บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีความสอดคล้องกับสนธิสัญญาฯ เกือบครบถ้วนแล้ว แต่มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้อง ได้แก่ เรื่องอายุการคุ้มครองงานภาพถ่าย จึงปรับปรุงให้ภาพถ่ายได้รับความคุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และต่อไปอีก 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย ตามข้อกำหนดของสนธิสัญญาฯ จากเดิม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ กำหนดให้อายุการคุ้มครองภาพถ่ายเป็นเวลา 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานขึ้น หากมีการโฆษณาในระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปีนับแต่โฆษณาเป็นครั้งแรก”

    “สำหรับงานโสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ กำหนดให้อายุการคุ้มครองภาพถ่ายเป็นเวลา 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานขึ้น หากมีการโฆษณาในระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปีนับแต่โฆษณาเป็นครั้งแรก” นายณัฐพรกล่าว

    เห็นชอบร่างแผนพัฒนาเด็กฯ ฉบับที่ 2

    พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่างแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560-2564 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ทั้ง 20 กระทรวงได้จัดทำแผนงานให้สอดรับกับร่างแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนฯ ดังกล่าว

    ซึ่งในปี 2554 ครม. เคยอนุมัติร่างแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนฯ โดยประกาศใช้ระหว่างปี 2555-2559 พบว่า มีความสำเร็จในหลายประการ เช่น เด็กปฐมวัยมีการพัฒนาที่สมวัยรวมทุกด้านเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 72.8 ขณะที่ภาวะการขาดสารไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์และในเด็กลดลง อัตราการคลอดบุตรของเด็กอายุ 15-19 ปีลดน้อยลง หมายความว่า สภาวะแวดล้อม ผู้ปกครอง และสังคม มีการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น

    อย่างไรก็ตาม มีตัวชี้วัดบางตัวที่มีผลไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งในรอบเดือนที่ผ่านมา มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารกรณีดังกล่าวกว่า 300 ครั้ง กว่า 20 ครั้งเป็นเรื่องเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านสุขภาพยังมีตัวเลขที่ไม่น่าพึงพอใจ เช่น การใช้สารเสพติด การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา เยาวชนติดเกมจนไม่ออกกำลังกายให้เหมาะแก่วัยของเด็ก

    “ร่างแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 นี้จะต่อยอดสิ่งที่ประสบผลสำเร็จ และกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 5 ข้อ ได้แก่ 1. พัฒนาศักยภาพและสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก เด็กและเยาวชนต้องได้รับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่เต็มศักยภาพเพื่อเติบโตเป็นพลเมืองที่สร้างสรรค์ 2. การสร้างความเข้มแข็งของกลไกสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ 3. การเปิดโอกาสการมีส่วมร่วมในกระบวนการคิดและทำกิจกรรมต่างๆ 4. ส่งเสริมบทบาทและระดมความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการให้เยาวชน 5. การพัฒนานวัตกรรมบริหารจัดการเด็กและเยาวชน เช่น บุคลากร เป็นต้น” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

    ยันไม่มีลักไก่ พ.ร.บ.ไซเบอร์ คาดชงครม.พ.ย.นี้

    พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. ยังไม่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …. เข้าสู่ที่ประชุม เพราะกระทรวงดิจิทัลฯ กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนในมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ

    และหลังจากรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้ว กระทรวงดีอีจะนำไปพิจารณา ซึ่งถ้าเห็นว่ามีสิ่งที่ใดที่ต้องทบทวนหรือปรับแก้ก็สามารถทำได้ จากนั้นจะส่งร่าง พ.ร.บ. นี้เสนอเข้าที่ประชุม ครม. ต่อไป ซึ่งถ้า ครม. มีมติเห็นชอบและเห็นว่าไม่มีสิ่งใดที่ต้องแก้ไขอีก ก็จะเสนอต่อไปเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตนยืนยันว่าไม่มีการลักไก่ลัดขั้นตอนตามที่มีกระแสข่าวออกมา

    “สำหรับข้อเสนอของบางฝ่ายที่ต้องการให้รัฐบาลชุดหน้าเป็นผู้พิจารณาการออก พ.ร.บ. ดังกล่าว เราต้องนึกถึงเรื่องเทคโนโลยีก่อน จะเป็นรัฐบาลไหนก็ตาม เทคโนโลยีมาถึงตัวเราแล้ว เราต้องช่วยกันดูแล” พล.อ.อ. ประจิน กล่าว

    ด้าน พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่ากฎหมายดังกล่าวจะประกาศใช้เมื่อใด แต่ขณะนี้มีกำหนดตารางเวลาที่ต้องเร่งกฎหมายสำคัญอยู่ เช่นเดียวกับตนที่เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ซึ่งสื่อทั้งหลายกำลังเฝ้ารอ โดยคิดว่าจะเสนอเข้าสู่ ครม. อย่างช้าต้นเดือนพฤศจิกายน 2561 ก่อนส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

    ต่อกรณีเสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาลเร่งออก พ.ร.บ.ไซเบอร์ให้ทันก่อนการเลือกตั้ง เพื่อจะได้ตรวจสอบและยึดคอมพิวเตอร์หรือมือถือได้ พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า คิดว่าหลักการของกฎหมายไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น คนไทยบางคนมีโทรศัพท์มือถือมากกว่าหนึ่งเครื่อง คงตรวจไม่ไหว เพียงแต่เมื่อใดพบว่ามีใครทำผิดแล้วตรวจจับได้ ก็ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย แต่ถ้าจะไปนั่งเฝ้าฟังนั้นคงเป็นไปไม่ได้ โดยปฏิเสธว่าไม่ใช่การออกกฎหมายเพื่อมาจับทาง ไม่มีรัฐบาลไหนทำแบบนั้น

    “ต่อให้เป็นทหารจ๋าก็ไม่มีใครเขาทำ ถ้าทำแบบนั้นก็บ้องตื้น แต่ถ้าจะผลักดันกฎหมายที่สำคัญๆ ออกมาเพราะเชื่อว่า ถ้าเป็นรัฐบาลปกติที่มาจากการเลือกตั้ง จะออกกฎหมายในลักษณะที่มีคุณแต่อาจส่งผลกระทบต่อคนอื่นนั้นค่อนข้างยาก เพราะเมื่อออกกฎหมายบางฉบับ ประชาชนได้ประโยชน์แต่นายทุนเสียประโยชน์ เพราะฉะนั้น กฎหมายประเภทนี้จะต้องรีบผลักดันออกให้มากที่สุด” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

    เห็นชอบร่างเอกสารประชุม ASEM – นายกฯ เยือนเบลเยี่ยม 18-20 ต.ต.นี้

    พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (ASEM Summit Meeting) ครั้งที่ 12 หรือ ASEM 12 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ โดยอนุมัติให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมฯ เป็นผู้ร่วมให้การรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ

    โดยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคม 2561 ณ ประเทศเบลเยียม ภายใต้หัวข้อหลัก “หุ้นส่วนระดับโลกเพื่อความท้าทายระดับโลก” โดยจะมีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ ซึ่งเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกในการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่สมาชิก ASEM ให้ความสำคัญใน 3 เสาหลัก ประกอบด้วย

    เสาที่ 1 การเมืองและความมั่นคง เช่น ความมั่นคงและเสรีภาพทางไซเบอร์และการต่อต้านการก่อการร้าย เสาที่ 2 เศรษฐกิจและการเงิน เช่น การสนับสนุนองค์การการค้าโลก และระบบการค้าที่มีพื้นฐานบนระเบียนกฎเกณฑ์ โดยผู้นำมุ่งมั่นที่จะขยายความร่วมมือในกรอบ ASEM ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและความเชื่อมโยงทางดิจิทัล สนับสนุนการคงไว้และเพิ่มขึ้นของระบบการค้าที่เปิดกว้างแบบพหุภาคีโดยไม่เลือกปฏิบัติ และเสาที่ 3 สังคมและวัฒนธรรม เช่น การศึกษา โดยย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาที่มีคุณภาพว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเครื่องมือในการสร้างพลเมืองที่มีความรับผิดชอบและมีภูมิคุ้มกันทางสังคม

    โยกบิ๊ก ขรก. กระทรวงเกษตร 7 ตำแหน่ง

    พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 7 ตำแหน่ง ได้แก่

    1. นายพิศาล พงศาพิชญ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    2. นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    3. นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเศรษฐกิจ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    4. นายวีรชาติ เขื่อนรัตน์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงสำนักงานปลัดกระทรวง
    5. นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    6. นายกฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล รองอธิบดีกรมการข้าว ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการข้าว
    7. นางสาวศิริพร บุญชู รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมหม่อนไหม

    ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง

    อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2561 เพิ่มเติม