ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” เผย อาจมีหลุดโผ ครม. กลาง ก.ค. เห็นรัฐบาลใหม่ – มติ ครม.จ่อยกหนี้ ขสมก. 1.18 แสนล้าน เร่งทำแผนฟื้นฟูฯ อีกครั้ง

“บิ๊กตู่” เผย อาจมีหลุดโผ ครม. กลาง ก.ค. เห็นรัฐบาลใหม่ – มติ ครม.จ่อยกหนี้ ขสมก. 1.18 แสนล้าน เร่งทำแผนฟื้นฟูฯ อีกครั้ง

25 มิถุนายน 2019


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ : www.thailand.go.th

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

ปัดช่วย “แรมโบ้อีสาน” พ้นคดี – ไม่ห่วงปมหุ้นสื่อ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการตัดสินใจรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยถามกลับว่า เรื่องที่ตนจะเป็นหัวหน้าพรรค พปชร.นั้นมีผลกระทบกับใครหรือ ตนจะเป็นหรือไม่เป็นใครได้รับผลกระทบบ้างหรือเปล่าตนไม่รู้ แต่ไม่ว่าอย่างไรตนก็ทำงานได้ เรื่องการเมืองก็ว่ากันไป

ต่อคำถามกรณีการยื่นตรวจสอบการถือครองหุ้นสื่อ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวตนเห็นว่าโดนทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะต้องนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภา หากจำเป็นก็ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ตัดสินออกมาอย่างไรก็ตามนั้น ตนไม่ได้กังวลใดๆ ทั้งสิ้น

“ทุกอย่างมีพัฒนาการออกมาเรื่อยๆ ผมก็แก้ไปตามกฎหมาย ตามขั้นตอนกระบวนความก็จบแล้ว แล้วก็ขอให้เชื่อมั่นในคำวินิจฉัย เพราะเป็นการวินิจฉัยเฉพาะตัว เฉพาะเรื่อง ไม่ได้มีบรรทัดฐานอะไรที่มากมาย เพราะมันคนละกฎหมาย คนละตัว ผลจะออกมาอย่างไรผมตอบไม่ได้ แต่ทั้งหมดต้องร่วมกันทำงานตอนนี้อย่าไปกังวลเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องของศาล ผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก”

ต่อคำถามกรณีสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลุดพ้นจากการดำเนินคดีล้มการประชุมอาเซียน เมื่อปี 2552 ที่พัทยาเนื่องจากคดีหมดอายุความ จนถูกวิจารณ์ เพราะย้ายมาอยู่พรรค พปชร. พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็เขาบอกแล้วอัยการส่งฟ้องไม่ทัน ส่งฟ้องเมื่อไรจนคดีขาดอายุความ เรื่องนี้เกิดมานานแล้ว แต่มีคนไปพาดหัวข่าวว่าเป็นการตอบแทนกัน ตนยืนยันว่าเรื่องการตอบแทนด้วยข้อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ลดคดีให้ตนทำไม่ได้หรอก ถ้าตนไปตอบแทนแล้วตนจะทำอย่างไร ตนอยู่ไม่ได้หรอก ไม่ว่าจะพรรคไหนตนก็ตอบแทนไม่ได้

“ผมลดคดีให้ได้หรือ ผมไม่ใช่ศาล แล้วคดีพวกนี้ก็ไม่ใช่การใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ของผมด้วย ผมไม่ได้ใช้เลย อัยการเขาสามารถชี้แจงได้อยู่แล้ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เผย อาจมีหลุดโผ ครม. กลาง ก.ค. เห็นรัฐบาลใหม่แน่นอน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้า โผ ครม.ว่า จะมีการเรียก ส.ส.ที่มีรายชื่อนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ มากรอกประวัติอย่างเป็นทางการ ที่ผ่านมามีการสอบประวัติจากข้อมูลหน่วยงานต่างๆ ก็เป็นการตอบได้แบบกว้างๆ หากไม่มีประเด็นอะไรกับหน่วยงานใดเขาก็ตอบว่าไม่ขัดข้อง ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนที่มีเป็นคดีเขาก็ชี้แจงว่าขณะนี้อยู่ขั้นตอนใด กฎหมายว่าอย่างไร ซึ่งมีข้อชี้แจงทั้งหมด ท้ายสุดก็ต้องเรียกเขามาเซ็นต์รับรองตัวเอง

ทั้งนี้ตนขอให้ใจเย็นๆ ยืนยันว่าจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทันตามขั้นตอนอย่างแน่นอน ส่วนรายชื่อ ครม.จะเป็นไปตามที่แต่ละพรรคเสนอมาหรือไม่นั้นตนยังไม่ขอบอกและยังบอกไม่ได้ เพราะหากบอกไปว่าได้หรือไม่ได้ก็ไม่จบสักที

เมื่อถามว่า จะมีบางคนหลุดไปจากโผที่พรรคเสนอมาหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ตอบว่า มันก็คงมีบ้าง ก็มีอยู่ 36 ตำแหน่งนั่นแหละ ถ้าจะได้เพิ่มก็อยู่ในจำนวนนี้ ยอดมี 36 ตำแหน่ง หากมีการควบก็เป็นรัฐมนตรีช่วย หรืออาจมีมากกว่านั้นเพราะมีการนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยหลายคนก็ต้องไปดู

“หากไม่ได้เป็นรัฐมนตรีก็เป็น ส.ส. ก็ทำงานในสภานั่นแหละ ผมก็หวังอย่างเดียวว่า ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลจะต้องทำงานด้วยกัน อะไรที่เป็นยุทธศาสตร์ชาติ อะไรที่ทำให้ประเทศเดินหน้า ไม่ใช่จ้องจะล้มกันอยู่ตลอดเวลา มันไม่ใช่เวลาตอนนี้ แต่ผมก็ไปห้ามเขาไม่ได้ ประชาชนจะตัดสินเอาเอง พฤติกรรมของแต่ละคนจะเหมาะไม่เหมาะ สมควรไม่สมควรผมไม่รู้”

เมื่อถามว่าจะเรียกว่าที่รัฐมนตรีว่าเซ็นรับรองที่ทำเนียบรัฐบาลได้หรือไม่ ว่า เป็นเรื่องของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการ และเป็นไปตามระเบียบที่อยู่แล้ว มีเจ้าหน้าที่อยู่ นายกฯ คนเดียวจะทำหมดทุกอย่างไร เขามีระเบียบเขาอยู่ มีรัฐบาลมากี่ครั้งแล้ว เมื่อก่อนทำแบบนี้หรือไม่ แล้วเขาตอบไหม รัฐบาลนี้ยังไม่ตอบ ตอบอย่างเดียวว่าทันเวลาแน่นอน กลางเดือนหน้านี้ได้รัฐบาลแน่นอนน

เมื่อถามย้ำว่าจะก่อนหรือหลังการเดินทางไปร่วมประชุม จี 20 ที่ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 28-29 มิถุนายนนี้หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า “ก็ประมาณนั้น ผมก็ต้องทำให้ทันตามเวลาที่กำหนด รอถวายสัตย์ก็แล้วกัน ผมบอกกลางเดือนหน้าก็เรียบร้อย วันนี้ยังไม่ทันตั้งรัฐบาลก็เตรียมจ้องล้มรัฐบาลกันแล้ว ผมว่าไม่ค่อยดี ผมบอกต่างประเทศว่าอย่ากังวลเลยเดี๋ยวเราก็ไปกันได้ นี่แหละไทยทอล์ก ก็เป็นอัตลักษณ์ของพวกเรานี่แหละ ก็เป็นแบบนี้มีความเห็นที่แตกต่าง แล้วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงด้วย โซเชียลมีเดียเข้ามาด้วย ทุกวันนี้โดนกันหมด ไม่มีใครดี แต่เราก็ต้องยืนหยัดด้วยความอดทนอดกลั้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่าการตั้งรัฐบาลเสร็จแล้วพรรคร่วมรัฐบาลจะเข้าใจและไม่งอแง นายกฯ กล่าวว่า ตนอยู่มา 5 ปี ไม่เข้าใจก็แย่แล้ว ดังนั้นต้องเข้าใจว่าตนทำงานด้วยหลักการและกฎหมาย เพราะต้องระวังตัวเองเช่นกัน แรงกดดันต่างๆ ที่เข้ามาหาตนก็ต้องมีคณะทำงานเพื่อกลั่นกรองแผนงานนโยบายและการใช้จ่ายงบประมาณ ดังนั้นควรกดดันว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศเดินหน้าไปได้

เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่าจะไม่ยอมให้พรรคไหนงอแงเมื่อมาร่วมรัฐบาลกันแล้วใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า คงไม่ต้องพูด ต้องคิดว่าคุยกันได้รู้เรื่อง ถ้าทุกคนมองประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก

สยบข่าวคืนตำแหน่ง “บิ๊กโจ๊ก” -จ่อ “ดิสทัต” นั่งเลขานายกฯ

ต่อคำถาม นากยกฯ ได้มีการมอบหมายให้นายดิสทัต โหตระกิตย์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มาทำหน้าที่เลขาธิการนายกฯ แล้วใช่หรือไม่ เนื่องจากมีรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าตลอดทั้งวันนี้นายดิสทัตได้ปฏิบัติหน้าที่เคียงคู่ข้างนายกฯ ตลอดทั้งวันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ให้ดูแลไปก่อน โดยมาเป็นที่ปรึกษา และทำหน้าที่แทน พล.อ. วิลาศ อรุณศรี ไปพลางๆ ก่อน แต่ยังไม่มีการลงนามอะไรทั้งสิ้น ทั้งนี้นายกฯ ยังกล่าวแซวพร้อมหันไปที่นายดิสทัตว่า อาจต้องดูความประพฤติก่อน

เมื่อถามถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่าคำสั่งการย้าย พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล มาเป็นที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ เนื่องจากไปพัวพันกับผลประโยชน์ในนโยบายของรัฐบาล คสช.หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า “ถามอยู่นั่นแหละ เอามาจากไหน ใครปล่อยข่าว ยืนยันไม่มี ทุกอย่างดำเนินการตามความเหมาะสมในการปฎิบัติหน้าที่ และไม่ต้องหาเหตุโน้นเหตุนี้แล้ว”

แจง “สลากรูปแบบใหม่” ถูกกฎหมาย ไม่ซ้ำรอย “ทักษิณ”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงแนวคิดของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลถึงแนวทางการออกสลากรูปแบบใหม่ใช้รูปภาพหรือตัวหนังสือแทนตัวเลข ว่า กรณีดังกล่าวเป็นเพียงแนวความคิด กองสลากยังอยู่ระหว่าการศึกษา และจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อหาข้อดีข้อเสียกันอีกครั้ง ซึ่งสิ่งที่เป็นกังวลคือ หากทำไปแล้วคนจะเล่นหวยกันมากกว่าเดิมหรือไม่ จะว่าตนมอมเมาได้อย่างไร ตนไม่เคยพูดให้เลขทะเบียนรถใครเลย มีแต่นักข่าวเอาไปบอก

“เอาไปบอกเขาหมด จนคนชอบเล่นเขาก็บ่น แหม่เสียดายเจ้ามืออั้นหมดเลย ผมจะไปรู้ไหม ผมไม่เคยซื้อหวย แต่ถ้ามีอันนี้ออกมาอีกจะเป็นการมอมเมาหรือเปล่าผมไม่รู้ จะทำให้การเล่นหวยมากขึ้นหรือเปล่า เพราะวันนี้หลายครอบครัวก็เสียหายจากการเล่นหวย พอผมแตะมากๆ ก็ว่าผมอีก ความสุขคนจน ฉะนั้นกฎหมายว่าอย่างไรก็ตามนั้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงกรณีโครงการหวยบนดินในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ว่า ในอดีตเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งไม่ได้ทำแบบอดีต เดิมมีการฝ่าฝืนกฎหมาย วันนี้หากเขาจะทำก็ต้องมีการออกกฎหมายมาให้ครอบคลุม เดิมที่ทำผิดการคือการนำเงินไปใช้โดยขาดการตรวจสอบ แล้วไม่มีการส่งรายได้คืนให้กับแผ่นดินนับแสนล้านบาท เขาผิดกันตรงโน้น ตนไม่ได้มีรายได้จากตรงนี้สักบาท พร้อมกล่าวย้ำว่า ไม่ว่าอย่างไรถ้าจะทำก็ต้องมีการทำประชาพิจารณ์

ยันสัมปทานทางด่วนไม่เอื้อใคร

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการคัดค้านการเจรจาต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ให้กับ บริษัท ทางด่วน จำกัด (มหาชน) และรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 30 ปี และข้อพิพาท 5.9 หมื่นล้านบาท ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่อยู่ในกระบวนการพิจารณากันอยู่ในส่วนของกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (บอร์ดการทางฯ) ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดก็ได้ให้นโยบายไปแล้ว เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมายาวนานแล้วย่อมมีถูกมีผิดกัน ซึ่งตนก็ต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ได้

ทั้งนี้สิ่งที่เขาตั้งไว้หลักๆ คือ 1) กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะต้องจ่ายเงินสด หากแพ้ขึ้นมาใครจะต้องรับผิดชอบ 2) กทม. จะต้องได้รับสิทธิประโยชน์ไม่ตำกว่าเดิมที่เคยได้ 3) ประชาชนได้ประโยชน์ หรือเอกชนต้องทำการปรับปรุงสภาพทางด่วนศรีรัช ทำทางขึ้นทางลง 2 ชั้น และจะต้องไม่มีกรณีพิพาทเช่นนี้เกิดขึ้นอีก นี่คือหลักในการเจรจา เพื่อประโยชน์ประชาชน ยืนยันไม่ได้เอื้อประโยชน์ใคร เพราะพวกเขาก็ไม่ใช่ญาติพี่น้องของตน

“หากไม่ได้ก็ให้รัฐบาลหน้าไปแก้ก็แล้วกัน ผมก็รับมาหลายเรื่องเหมือนกัน เผอิญรัฐบาลหน้าเป็นผมอีก ผมก็โดนสองดอก สองครั้ง เป็นคนไทยด้วยก็ต้องหาทางออกให้ได้ว่าจะทำอย่างไร สู้กันด้วยกฎหมายก็สู้กันไปพอใครแพ้ใครชนะก็ต้องมีคนรับผิดชอบอยู่ดี จะให้ผมเป็นชำระแทนหรือ หักเงินเดือนผมไปจ่ายหรือ คงตายไปไม่รู้กี่ชาติถึงจะจ่ายหมด เพราะมีหลายเรื่องเป็นเรื่องที่เกิดมานานพอสมควรแล้ว ไม่โทษใคร” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยันถ่ายรูปลงทะเบียนซิม 3 จว.ชายแดนใต้ไม่ละเมิดสิทธิ์

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการลงเทียนซิมการ์ดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นการเลือกปฏิบัติต่อประชาชน และหากมีการนำซิมการ์ดของประชาชนไปก่อเหตุแล้วจะป้องกันอย่างไร ว่า เรื่องการลงทะเบียนซิมภาคใต้ตนขอเถอะ เรื่องเป็นการขอความร่วมมือ ทุกท่านก็รู้อยู่แล้ว ซึ่งคำถามเรื่องการนำซิมการ์ดไปก่อเหตุนั้นเป็นคำอธิบายที่ต่อเนื่องจากคำถามแรก เป็นคำตอบเดียวกัน การถ่ายรูปนั้นเป็นไปเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันตัวเจ้าของเท่านั้น

“ที่ผ่านมา ที่เกิดขึ้นแทบไม่มีอะไรต่างจากเดิม เพียงแค่ถ่ายรูปเป็นการละเมิดตรงไหน ทุกคนก็ถ่ายกันเต็มไปหมด มีโทรศัพท์ก็ถ่ายรูปมันจะได้มีหลักฐานว่าเป็นของใครจะได้ไม่เอาของคนนั้นไปใช้ประโยชน์ เป็นเจ้าของตัวจริง ไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ตนขอเชิญชวนประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ เพราะเกิดเหตุการความไม่ปลอดภัย หากไม่ดำเนินการควบคุมทุกอย่างจะป้องกันได้อย่างไร กฎหมายก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ แล้วนี่ก็ทำอะไรไม่ได้อีก หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นแล้วจะทำอย่างไร ซึ่งประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้เขาก็ไม่ได้โวยวายอะไร เขาเข้าใจ หลายอย่างที่ถูกเข้มงวดมาเขาก็เข้าใจ ซึ่งเขาก็บอกว่า ทำให้สถานการณ์ลดลงจริงๆ เพียงแต่เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติด้วยความละมุนละม่อม ชัดเจน

ยืนยันว่าตนไม่ได้มุ่งใช้กฎหมายไปบังคับใคร สิ่งที่บังคับใช้อยู่เป็นกฎหมายกลาง กฎหมายปกติอยู่แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกโขมยตัวตนไปอีก ตนก็เข้าใจว่าเส้นแบ่งระหว่างเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับการปฏิบัติตามกฎหมายนั้นคาบเกี่ยวกันนิดเดียว

ชี้ “บอร์ดอีอีซี” ตั้ง อนุกรรมการอุทธรณ์ฯ กรณี “ซีพี” ทำตามกฎหมาย

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีการรับเรื่องอุทธรณ์ของบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์เข้ามาพิจารณาบ้างหรือไม่ ว่า กรณีดังกล่าวเป็นกฎหมายอยู่แล้ว ที่จะต้องมีคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เพราะฉะนั้นเรื่องอะไรก็ตามที่มีความเห็นขัดแย้ง ไม่ตรงกัน ก็ต้องนำเสนอคณะอนุกรรรมการฯ พิจารณา แล้วต่อไปจึงเป็นกระบวนการในชั้นศาลปกครองสูงสุดซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดอีกทีหนึ่ง คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

“อันนี้เป็นขั้นตอนที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกต้องดำเนินการตามกฎหมาย ที่ต้องมีคณะอนุกรรมการฯ ให้ความเป็นธรรม ใครคิดว่าไม่เป็นธรรมก็ร้องขึ้นมา ก็คณะอนุกรรมการฯ ตัดสินอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น ยืนยันอย่างไรก็ตามนั้น ถ้าจบได้ก็จบ หากจบไม่ได้ก็ต้องฟ้องศาลปกครอง ท้ายที่สุดก็ต้องรอศาลปกครองสูงสุดตัดสินชี้ขาดอีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นคนละอย่างกับศาลอาญา หรือศาลอื่นๆ ไม่ใช่ว่าศาลนั้นศาลนี้ตัดสินไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติ มันไม่ใช่ นี่เป็นหน้าที่ของแต่ละศาลเขา ผมไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว” นายกรัฐมนตรีกล่าว

คมนาคมชง “ป้ายรถเมล์อัจริยะ” เข้า ครม.- ชื่นชมกระเป๋ารถเมล์มารยาทงาม

พล.อ. ประยุทธ์  กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีการเสนอเรื่องป้ายรถเมล์อัจฉริยะที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการมาในขั้นต้นแล้ว ซึ่งทราบว่าประชาชนมีความพึงพอใจ หลายคนก็รอเวลารถเมล์แอร์มา ซึ่งก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไรจึงมีงบประมาณไปซื้อรถเมล์ใหม่ให้ได้ทั้งหมด รวมไปถึงรถเมล์ของผู้ประกอบการร่วมด้วย ถ้าจะรอว่าต้องทำให้ดีก่อน ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คงต้องเปลี่ยนรถเมล์ และการบริการต่างๆ ให้มันดียิ่งขึ้น

“ต้องขอชื่นชมกระเป๋ารถเมล์บางสายที่ยกมือไหว้ผู้โดยสาร เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ซึ่งเห็นมีการรายงานผ่านโซเชียลฯ มา แต่สำหรับผมคงไม่ถึงขั้นติดโซเชียลฯ ลูกน้องผมดูแทนอยู่แล้ว ถ้ามีอะไรดีเขาก็ส่งต่อมา ถ้าผมดูทุกอันก็ลำบากเหมือนกัน เครียด เพราะรู้ว่าปัญหามีเยอะแยะ”

รับจัดการน้ำยังไม่ 100% – ผุดไอเดียแก้ปัญหาจราจรเอารถจอดทิ้งข้างถนนทำปะการัง

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงระบบป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า ต้องรู้ปัญหาก่อนว่าจะแก้ไขอะไร ซึ่งกรุงเทพมหานครสามารถรองรับปริมาณน้ำไหลผ่านในปริมาณ 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ถ้ามีปริมาณน้ำมากกว่านี้จะระบายไม่ทัน และถ้ามีปริมาณฝนจำนวนมากจะเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่างๆ ต้องพัฒนาระบบท่อระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ รวมถึงคู คลอง เพื่อผันน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาพื้นที่ทำแก้มลิงเก็บกักน้ำไว้ใต้ดิน ตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 โดยขอให้บูรณาการการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และขอให้ประชาชนช่วยกันแก้ไขปัญหา อาจจะทำได้ไม่ทั้งหมด แต่ขอให้ร่วมมือกันสร้างการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาให้ลดน้อยลง

อีกกรณีที่เป็นปัญหาคือ ปัญหาการจราจรใน กทม. โดยเฉพาะเมื่อมีน้ำท่วมขัง พบว่ามีการจอดรถบริเวณข้างถนนในถนนที่ไม่ควรจอด หรือบางทีก็จอดตายทิ้งไว้ไม่มีคนดูแล ซึ่งได้สั่งการไปแล้วให้ลากทิ้งให้หมด รถเก่าๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไม่มีคดี ที่จอดทิ้งไว้ใต้ทางด่วน ทำให้บ้านเมืองไม่เรียบร้อยต้องลากไปทิ้ง ถ้าไปทิ้งที่ไหนไม่ได้ก็เอาไปทำปะการัง ส่วนรถของประชาชนก็ต้องไปเสียค่าปรับ ไม่อย่างนั้นการจราจรก็ติดอยู่อย่างนี้ ทุกคนต้องการความสะดวกทั้งหมดแล้วจะทำอย่างไร ถ้าไม่ใช้กฎหมาย ก็ไม่มีทางอื่น

“ปัญหาคือไม่มีเงินทำ และประชาชนไม่ยอม ก็ฝากประชาชนด้วยให้ช่วยกันแก้ ซึ่งการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลนี้อาจไม่ตรงใจประชาชนทั้งหมด แต่สิ่งที่พูดมานี้ก็ถือเป็นการสร้างความรับรู้ให้กับประชาชน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ประชุมผู้นำอาเซียนลุล่วงด้วยดี – คุยนอกรอบ “โจโก-มหาธีร์” ช่วยยาง ปาล์ม

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวขอบคุณประชาชนทุกคนที่ร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดีในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมประสบความสำเร็จ ได้รับคำชมเชยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พักอาศัย อาหาร และการรับรอง รวมถึงวาระต่างๆ ที่ได้บรรจุไว้ในที่ประชุม ทั้ง 10 ประเทศเห็นพ้องต้องกัน

“เรื่องที่พูดกันในระดับผู้นำคงเป็นเพียงเรื่องของเจตนารมณ์ทางการเมืองของแต่ละประเทศ ว่าจะรับเรื่องที่เป็นสารัตถะในการประชุมนี้ไปขับเคลื่อนประเทศตนเองได้อย่างไร เรื่องใดก็ตามที่เป็นเรื่องในประเทศเขา เรื่องการบริหารราชการแผ่นดินของเขาเอง ของเราเองก็เช่นกัน จะไปก้าวล่วงกันไม่ได้ ซึ่งต้องรักษากติกาให้ดีเพราะไม่ใช่การประชุมโดยทั่วไป ก่อนการประชุมคณะย่อยต่างๆ ผู้แทนต้องได้รับนโยบายมาจากนายกฯ หรือรัฐบาลในทุกเรื่อง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้หารือกับนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และตุน ดร. มหาธีร์ บิน โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เกี่ยวกับความร่วมมือด้านมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาเรื่องราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีพอใจที่ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลเห็นความสำคัญ และให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งนำยางพารามาเป็นส่วนประกอบด้านการผลิตต่างๆ มากยิ่งขึ้น

ขายไอเดียร้านอาหารใช้ “หญ้าหวาน” แทนน้ำตาล – พร้อมหนุนอุตสาหกรรมหนัง

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงอุตสาหกรรมภาพยนต์ไทย ว่า รัฐบาลมีจะผลักดันขับเคลื่อนเรื่องภาพยนต์ไทย ซึ่งวันนี้ก็สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมากพอสมควร แต่อย่างไรก็ตามต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมของไทย ไม่ว่าจะเป็นป่าภูเขา ทะเล ชุมชนต่างๆ ซึ่งก็ได้มีระเบียบการที่ชัดเจนในการลงทุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ มีการจองคิดถ่ายทำจากต่างประเทศจำนวนมาก

สำหรับอาหารไทยมีร้านอาหารหลายร้านที่มีชื่อเสียง ทางกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬา ได้ดำเนินการขึ้นบัญชีร้านอาหารเก่าแก่ไว้แล้ว ส่วนอาหารสำเร็จรูปของไทยมีการทำบรรจุภัณฑ์สวยงามส่งขายต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก นี่คือความก้าวหน้าของอาหารไทยของเรา

“และวันนี้ขอเตือนเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทยที่ใช้สำหรับรับรองแขกต่างประเทศ หรืออาหารที่คนไทยบริโภคกันเอง ฝากไปถึงร้านค้าให้ลดความหวานลงสักหน่อย คนไทยจะติดหวานเกินไปแล้ว ซึ่งจะทำลายสุขภาพ และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวอีกจำนวนมาก เรื่องใดก็ตามที่พอจะป้องกันได้ก็ขอให้ป้องกันเสีย ขอความร่วมมือกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าในทุกระดับด้วย หรืออาจนำผลิตภัณฑ์หญ้าหวานเพื่อใช้แทนน้ำตาล ซึ่งประเทศไทยมีหญ้าหวานเป็นจำนวนมาก จะได้สร้างอุตสหกรรมด้านนี้ขึ้นมาอีก” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป มีการจับจ่ายผ่านร้านค้าออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ร้านค้าปลีกที่มีหน้าร้านมีจำนวนลดลง ตนยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวย่อมมีผลกระทบแน่นอน ซี่งรัฐบาลกำลังหามาตรการว่าจะสามารถให้การช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง พร้อมกันนี้ได้แจกแจงถึงที่มารายได้ของรัฐบาล ที่มีทั้งจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีสรรพสามิต ศุลกากร รัฐวิสาหกิจ และอื่นๆ โดยระบุว่า หลังจากปี 2560 เมื่อปัญหาของประเทศบรรเทาลง “งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น” ก็มีอัตราลดลงเรื่อยๆ ส่วนนี้นำไปเพิ่มให้กับงบของแต่ละกระทรวงแทน พร้อมปฏิเสธกรณีรัฐบาลถังแตกจากเงินคงคลังที่ลดลง โดยระบุว่าเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามกระบวนการบริหารจัดการงบประมาณ ซึ่งการเพิ่มขึ้นลดลงของเงินคงคลังนั้นเป็นเรื่องธรรมดา ตราบใดที่ยังไม่ต่ำกว่าเกณฑ์

มติ ครม.มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และพล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัฒน์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนัก ที่มาภาพ : www.thaipublica.go.th

เตรียมยกหนี้ ขสมก. 1.18 แสนล้าน เร่งทำแผนฟื้นฟูฯ อีกครั้ง

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีติเห็นชอบในหลักการแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ สำหรับรายละเอียดแนวทางตามแผนฯ ให้กระทรวงคมนาคมและ ขสมก. ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป และให้รับความเห็นของหน่วยงานไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ แผนเบื้องต้นประกอบด้วย

1) การปรับปรุงระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้รถใหม่และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผ่าน 3 กลยุทธ์

  • กลยุทธ์ที่ 1 จัดหารถโดยสารใหม่/ปรับปรุงสภาพรถเดิม เช่น ซื้อรถ NGV 489 คัน ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้ว ปรับปรุงรถ NGV เดิม 323 คัน ซื้อรถไฮบริด 1453 คัน ซื้อรถ EV 35 คัน เช่ารถโดยสารใหม่ 700 คัน
  • กลยุทธ์ที่ 2 การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เช่น ติดตั้งระบบ E-ticket ชำระค่าโดยสารด้วย QR-code ติดตั้งระบบ GPS ให้บริการ wi-fi บนรถ
  • กลยุทธ์ที่ 3 การปรับปรุงเส้นทางเดินรถ เช่น เชื่อมต่อเส้นทางกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ให้บริการเส้นทางที่ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญ

2) การลดค่าใช้จ่ายละเพิ่มรายเพื่อให้ ขสมก.สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ลดภาระกับภาครัฐ

  • กลยุทธ์ที่ 1 ลดค่าใช้จ่ายพนักงาน เช่น โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด ปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับลง ลดพนักงานเป็น 2.75 คนต่อรถ 1 คัน ในปี 2565 หรือคิดเป็น 5,000 คน โดยจะใช้งบประมาณประมาณ 6,000 ล้านบาท
  • กลยุทธ์ที่ 2 ลดค่าซ่อมบำรุงและค่าเชื้อเพลิง เช่น จัดหารถใหม่ให้ได้ตามแผน เพื่อลดค่าซ่อมบำรุง และจัดหารถที่ใช้เชื้อเพลิงอื่นแทนน้ำมันดีเซล
  • กลยุทธ์ที่ 3 เพิ่มรายได้ เช่น พัฒนาพื้นที่อู่บางเขนเป็นศูนย์การค้า โรงแรมระดับบน และพื้นที่อู่มีนบุรีเป็นตลาด
  • กลยุทธ์ที่ 4 การบริหารหนี้สิน โดยให้รัฐบาลรับภาระหนี้ไป

“ทั้งนี้ ปัจจุบัน ขสมก.มีหนี้สินสะสม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 ถึง 118,000 ล้านบาท มีรถเมล์อยู่ 2,600 คัน ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 20 ปี ทำให้ต้องเสียค่าบำรุงรักษาค่อนข้างมาก มีพนักงานอีก 13,599 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนพนักงานต่อรถเท่ากับ 5.14 คน ต่อรถ 1 คัน ซึ่งค่อนข้างมาก และพนักงานยังมีเงินเดือนเพิ่มขึ้นปีละ 6.5% รวมไปถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ ขสมก.ยังมีต้นทุนค่อนข้างสูง ประกอบกับมีรายได้ไม่เพียงพอ ทำให้ต้องดำเนินการฟื้นฟู ส่วนรายละเอียดจะต้องทำส่งเข้ามาใหม่อีกครั้งหนึ่งในวันนี้ ครม.อนุมัติเพียงหลักการเท่านั้น แต่เบื้องต้นหากรัฐบาลรับภาระหนี้แทน ขสมก. ทางกระทรวงการคลังก็คาดว่า ขสมก.จะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ยค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเป็นบวกในปี 2566” นายณัฐพรกล่าว

รัฐลงทุนเปิดโครงข่ายเน็ตประชารัฐ ดันชนบทเข้าถึง

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเปิดโครงข่ายเน็ตประชารัฐที่ครอบคลุมหมู่บ้านเป้าหมาย จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ตามหลักเกณฑ์การให้บริการโครงข่ายเน็ตประชารัฐแบบเปิด (open access network) ตามแนวทางที่คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คณะกรรมการฯ) เห็นชอบ เพื่อให้ผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองสามารถเชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐและเข้าไปให้บริการหรือลงทุนเฉพาะปลายทาง (last mile access) เท่านั้น แตกต่างจากเดิมที่เอกชนผู้ให้บริการจะต้องเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมดทั้งโครงข่าย ซึ่งเป็นการใช้โครงข่ายเน็ตประชารัฐให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและลดต้นทุนในการคิดอัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ตและทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยราคาที่เหมาะสมอีกทั้งยังเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม

“สาเหตุที่เรื่องนี้ต้องเข้ามาให้ ครม.ยืนยัน เพราะว่ามีเอกชนบางส่วนเข้าใจว่าการเชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐจะต้องทำให้ลักษณะของพีพีพี หรือร่วมลงทุนกับรัฐ แต่ ครม.ยืนยันในหลักการว่ารัฐจะเป็นผู้ลงทุนในโครงข่ายดังกล่าว พร้อมการซ่อมบำรุง ผ่านโครงการเน็ตประชารัฐที่ได้ลงทุนไปแล้ว ทำให้เอกชนไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการลงทุนและบำรุงรักษาโครงข่าย แต่การเข้าใช้จะต้องแลกกับการลดราคาการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่ประชาชน เนื่องจากเอกชนไม่มีต้นทุนที่ต้องลงทุน ซึ่งจะทำให้ส่งเสริมการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชาชน” นายณัฐพรกล่าว

ขณะที่ผู้ให้บริการที่มีโครงข่ายของตัวเอง ต้องทำข้อตกลงกับกระทรวงฯ ในการเปิดโครงข่ายโทรคมนาคมที่มีอยู่ให้ผู้ประกอบกิจการรายอื่นเชื่อมต่อโครงข่ายเพื่อให้บริการโทรคมนาคมแก่ครัวเรือน (ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายระหว่างกันตามที่กำหนดไว้ในข้อเสนอ) แต่ถ้าผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่ประสงค์จะให้ผู้อื่นเข้าใช้โครงข่ายในส่วนของ access ของตนจะมีค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายเน็ตประชารัฐ โดยอ้างอิงตามราคาที่รัฐบาลลงทุนแบบต้นทุนส่วนเพิ่มระยะยาว (long-run incremental cost)

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงฯได้ดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐ โดยขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสื่อสัญญาณสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Fiber-To-The-x: FTTx) ให้ครอบคลุมหมู่บ้านเป้าหมาย จำนวน 24,700 หมู่บ้าน และจัดให้มีจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย (wi-fi) โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายกับผู้ใช้บริการ อย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 จุดให้บริการ ที่ระดับความเร็วไม่ต่ำกว่า 30 Mbps/10 Mbps (download/upload) เสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2560 โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเข้าใช้งาน wi-fi เน็ตประชารัฐ จำนวน 5.21 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562)

เพิ่มวงเงินโครงการบ้านมั่นคงอีก 9,800 บาทต่อครัวเรือน

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติการขยายกรอบวงเงินสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงจาก 55,200 ล้านบาท เป็น 61,793 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาโครงการ 20 ปี เนื่องจากปัญหาการปรับขึ้นของค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นในตลอดระยะเวลาหลายปี จึงจำเป็นต้องขออนุมัติการปรับเพิ่มกรอบวงเงินสนับสนุนจาก 80,000 บาทต่อครัวเรือนมาสู่ 89,800 บาทต่อครัวเรือน

โดยจะเป็นงบประมาณพัฒนาสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัย ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาปรับปรุงชุมชน (เช่น การถมดินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย สร้างถนนในชุมชน ท่อระบายน้ำ เป็นต้น) การพัฒนาปรับปรุงที่อยู่อาศัย การบริหารจัดการในชุมชนและสนับสนุนการพัฒนาและดำเนินโครงการ ขณะที่งบในส่วนสินเชื่อในการพัฒนาที่อยู่อาศัยของชุมชนยังคงเดิม

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการพัฒนาและจัดหาที่อยู่อาศัยและสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยและการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมภายใต้การดำเนินการของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยได้ดำเนินโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2547 และมีกลุ่มเป้าหมายกว่า 690,000 ครัวเรือน โดยปัจจุบันจะดำเนินการต่อเนื่องภายใต้แผนแม่บทพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี (2560-2579) ทั้งนี้ เดิมได้ ครม.ได้เคยเพิ่มงบประมาณในการสนับสนุนก่อนหน้านี้ จาก 68,000 บาทต่อครัวเรือนมาสู่ 80,000 บาทต่อครัวเรือน

ผ่านร่างแถลงการณ์เตรียมประชุม G-20

พล.ต. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ตอบรับคำเชิญจากนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมประชุมกลุ่ม G-20 ในวันที่ 28-29 มิถุนายน 2562 ณ นครโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ในฐานะประธานอาเซียน วันนี้ ครม.ได้อนุมัติรับรองแถลงการณ์ผู้นำ G-20 ณ นครโอซาก้าและการร่วมรับรองด้านแถลงการณ์โอซาก้าว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งมีสาระสำคัญของเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างแถลงการณ์ผู้นำ G-20 ประจำปี 2562 และแถลงการณ์โอซาก้าว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล

โดยร่างแถลงการณ์ผู้นำ G-20 ประจำปี 2562 เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำประเทศ G20 ในการแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกและประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ ในการสร้างโลกที่ยั่งยืนและการมีส่วนร่วม โดยเน้นความร่วมมือในการปรับปรุงกฎระเบียบระหว่างประเทศให้ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน โดยมีเนื้อหาที่เน้นย้ำความสำคัญของการประสานนโยบายประเทศสมาชิกเพื่อรับมือความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลก

โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้สูงวัย เยาวชน สตรี และคนพิการ และการส่งเสริมในประเด็นทางด้านเพศเพื่อเป็นกระแสหลักในทุกแง่มุมของนโยบาย การลดช่องว่างระหว่างประเทศ ตลาดแรงงาน ส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการให้แก่สตรีและเยาวชนซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐไทย นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารโดยการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนทรัพยากรและพลังงาน ขยะพลาสติกทางทะเล การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดเตรียมแผนภัยพิบัติ และการเน้นความจำเป็นในการร่วมกันแก้ปัญหาการอพยพและการถูกบังคับให้พลัดถิ่น

ขณะที่เอกสารฉบับที่ 2 เป็นแถลงการณ์โอซาก้าว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งมีสาระสำคัญในการในให้การเห็นพ้องบนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเศรษฐกิจดิจิทัลจะส่งผลต่อทุกมิติทางเศรษฐกิจและแนวทางการดำเนินชีวิตของประชาชนในแต่ละประเทศ โดยยืนยันถึงการปรับและสร้างกฎระเบียบใหม่ๆ เพื่อให้เท่าทันต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการส่งเสริมการหารือเชิงนโยบายระหว่างประเทศด้านดิจิทัลร่วมกันสืบต่อไป

อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 25 มิถุนายน 2562 เพิ่มเติม