ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ยันรัฐบาลชุดนี้มีธรรมภิบาล ย้อนถามอดีตมีหรือไม่ – มติ ครม. ยกหนี้เกษตรกร 36,605 ราย วงเงิน 6,400 ล้าน

“บิ๊กตู่” ยันรัฐบาลชุดนี้มีธรรมภิบาล ย้อนถามอดีตมีหรือไม่ – มติ ครม. ยกหนี้เกษตรกร 36,605 ราย วงเงิน 6,400 ล้าน

2 ตุลาคม 2018


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

ยัน 4 รมต. ลงการเมือง เป็นเรื่องส่วนตัว ย้อนถาม รบ.ในอดีตมีธรรมมาภิบาลหรือไม่?

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีเสียงวิจารณ์การแต่งตั้งนายสนธยา คุณปลื้ม เป็นนายกเมืองพัทยาเอื้อประโยชน์ นายสมชาย คุณปลื้ม ว่า การตั้งใครขึ้นมาก็แล้วแต่ ไม่ได้เอื้อประโยชน์อะไรทั้งสิ้น เรื่องนี้ได้พูดมาหลายครั้งแล้ว อย่าถามซ้ำซาก

ต่อคำถามกรณี 4 รัฐมนตรีในรัฐบาลไปร่วมทำงานการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ต้องลาออกจากตำแหน่งหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า การที่รัฐมนตรีไปทำงานการเมืองนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคล พูดมาหลายครั้งแล้ว และย้ำเตือนในที่ประชุม ครม. ด้วย รวมถึงช่วงที่เขามาขออนุญาต ได้บอกไปว่า เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน แต่อย่าทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเสียหาย

อย่างไรก็ตาม ในการบริการราชการแผ่นดินรัฐมนตรีทั้ง 4 คน ไม่ใช่ผู้ตัดสินหลักใน ครม. เพราะการจะออกมติอะไรจะต้องเป็นมติของ ครม. ทั้งคณะ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี

“คงไม่ได้ไปเอื้อประโยชน์อะไรกับใครทั้งสิ้น ไม่ได้เอื้อประโยชน์อย่างเช่นที่ผ่านมา หรือเปล่าก็ไม่รู้นะ เพราะหลายคนออกมาพูดว่าจะเกิดอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเคยเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า แล้วใครเป็นคนทำ ถ้าไม่มีก็แล้วไป แต่ขอร้องอย่ามาอ้างว่า วันนี้จะมีการทำอย่างนั้นอย่างนี้ รัฐบาลนี้ไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดการเอื้อประโยชน์อยู่แล้ว เราจะดูแลพี่น้องประชาชนต่อไป สานต่องาน รักษาความสงบเรียบร้อย อะไรผิดกฎหมายก็ถือว่าผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า แม้การไปทำงานการเมืองจะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่มีกระแสดันให้ 4 รัฐมนตรีลาออกเพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย พล.อ. ประยุทธ์ ถามกลับว่า กฎหมายเขาว่าอย่างไร ก่อนหน้านั้นเขาทำอย่างไรกันอยู่ มีกรณีแบบนี้หรือไม่ “ดีหรือเปล่า มีไหมจ๊ะ”

เมื่อถามถึงข้อทักท้วงที่ว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลเผด็จการ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ผมเป็นรัฐบาล ผมต้องบอกว่ามีธรรมาภิบาล สมัยที่คุณเป็น คุณมีธรรมาภิบาลหรือเปล่า ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน”

ลงโทษ จนท. รับสินบน – ยอมรับนักท่องเที่ยวลด

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการแก้ไขปัญหาภาพลักษณ์การท่องเที่ยว สืบเนื่องจากมีรายงานการเรียกรับสินบนเพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ว่า เป็นเรื่องที่ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศที่จะต้องช่วยกันแก้ไขทั้ง 2 ทาง โดยเฉพาะการแพร่กระจายข่าวในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นผลกระทบสำคัญ

อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าการท่องเที่ยววันนี้ยังคงสภาพเดิมอยู่ ถึงแม้จะลดก็คงไม่มากนัก ด้วยความไม่มั่นคง ด้วยความไม่ปลอดภัยในเรื่องของภัยพิบัติ สภาพลมฟ้าอากาศต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่องกับปัญหาเศรษฐกิภายในประเทศของบรรดานักท่องเที่ยวด้วย

“สิ่งสำคัญคือต้องระวังเรื่องภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทยเอง เราต้องดำเนินการ เรื่องนี้ได้มีการสั่งการไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง ที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการไปแล้ว จะเห็นได้ว่ามีการลงโทษไล่ออก พักราชการต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งจะต้องทำให้เกิดความจริงจังมากยิ่งขึ้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนที่ต้องแยกออกจากกันคือเรื่องของวีซ่า การถ่ายรูปต่างๆ ทาง พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองคนใหม่ ได้ไปแก้ไขเหล่านี้แล้ว จะต้องไม่มีการเรียกรับเงิน จะต้องไม่มีอีกทั้งสิ้นโดยเด็ดขาด ตนสั่งการไปแล้วว่าโทษถึงขั้นออกจากราชการหรือพักงานหรือวินัยต่างๆ ปัญหามันยังคงมีอยู่เพราะคนไม่ดีก็มีอยู่ ควรต้องแก้ไขให้ได้

สั่ง กษ. เร่งสอบทุจริตนมโรงเรียน – “กฤษฎา” ตั้งทีมไต่สวนข้อเท็จจริง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบกรณีทุจริตการจัดซื้อนมโรงเรียน ว่า กรณีดังกล่าวทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการแล้ว กำลังดำเนินการตรวจสอบในทุกประการอยู่ ขณะนี้กำลังรอความคืบหน้าและการรายงานของกระทรวงเกษตรฯต่อไป

ด้าน นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ตกผลึก เรากำลังเร่งดำเนินการ และมีการหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากได้ตั้งคณะทีมงานรัฐมนตรีไปไต่สวนข้อเท็จจริงการทำงานขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) ว่าการบริหารในโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียนมีผลประโยชน์ทับซ้อนตามที่สมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ร้องเรียนหรือไม่ ซึ่งหากคณะทำงานตรวจพบร่องรอยตามข้อกล่าวหา ก็จะตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง

มอบกรมขนส่งฯ หารือ ผู้โดยสาร-ผู้ประกอบการ สางปมรถตู้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงแนวทางแก้ปัญหารถตู้สาธารณะ ที่ล่าสุดมีรถตู้อายุเกิน 10 ปี ไม่สามารถให้บริการได้ และผู้ประกอบการบางรายไม่เปลี่ยนมาใช้มินิบัสวิ่งข้ามจังหวัด ว่า เรื่องรถตู้สาธารณะให้กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก ไปพิจารณาหารือให้เรียบร้อย ทั้งมิติของประชาชน ผู้โดยสาร ผู้ประกอบการ เส้นทางการจราจร และบริการของรัฐที่มีอยู่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร

“มันเป็นกฎกติกาที่ออกไปแล้ว ก็ต้องไปหามาตรการที่เหมาะสม ให้เวลาในการแก้ไขมานานพอสมควร แต่ก็ยังมีประเด็นหลายอย่างที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สำหรับกรณีคลิปการทะเลาะกันระหว่างรถแดง ที่จังหวัดเชียงใหม่ และแกร็บคาร์ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า กรณีนี้ก็ต้องไปแก้ไขให้ได้ โดยต้องแก้ทั้งสองฝ่าย ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ผิดไม่ผิดก็ไปว่ากันอีกที กระทรวงคมนาคมต้องไปหาคำตอบมาว่ามันผิดหรือไม่ผิด แต่ในส่วนภาพลักษณ์การล้อมข่มขู่นักท่องเที่ยวมันไม่ถูกต้อง ขอให้ประชาชนช่วยกันด้วย

เผย กม. เก็บภาษีบุหรี่ซองละ 2 บาท ยังไม่เข้า ครม.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกระแสข่าวที่กระทรวงการคลังจะเสนอ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยงานบริการภาครัฐในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยให้เก็บเงินจากบุหรี่อีกซองละ 2 บาท ให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นเงินปีละ 3,000 ล้านบาท พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพราะยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับกรณีที่ทางการเกาหลีใต้จะส่งกลับแรงงานไทยที่หลบหนีทำงานอย่างผิดกฎหมายกลับประเทศไทยมาก่อนโดยไม่ดำเนินคดี พล.อ. ประยุทธ์ ระบุเพียงสั้นๆ ว่า “ก็กลับมาสิ จะยากอะไร ไม่ติดคุกก็ดีแล้ว”

ขออภัย “บัตรคนจน” มีข้อบกพร่อง ชี้ทุกอย่างต้องใช้เวลา

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม. มีการพูดคุยถึงการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในด้านต่างๆ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีความคืบหน้าสามารถไปผูกกับบัตรต่างๆ หลายอย่าง และทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และมีเงินออกมาใช้ในระบบ ซึ่งทุกอย่างต้องไปทีละขั้น โดยรัฐบาลใช้ระยะเวลาถึง 4 ปี กว่าจะดำเนินการทุกอย่างได้

“ก็ต้องขออภัยหากมีข้อบกพร่องอยู่บ้างในฐานะที่เป็นรัฐบาล แต่สิ่งที่เราริเริ่มวันนี้มันเป็นอนาคต วันนี้เราฝืนโลกยุคโลกาภิวัตน์ไม่ได้ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมมาเป็นแรงขับเคลื่อน และใช้ดิจิทัลมาเป็นแรงสนับสนุน จะเห็นได้ว่ารัฐบาลนี้ทำทุกอย่าง กว่าจะทำได้ก็ 4 ปีผ่านมาแล้ว เพราะต้องแก้ไขกฎหมาย และขั้นตอนต่างๆ ต้องดูเป็นประเด็นๆ ไป”

“อย่างเรื่องของบุคคลที่ใช้เลข 13 หลัก ซึ่งก็อาจใช้ได้ในบางกรณี ไม่ใช่ว่าทุกคนจะใช้ได้หมดทีเดียว มันไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้สร้างความเชื่อมโยงไว้มากเท่าไหร่ โดยในวันนี้รัฐบาลมีการลงทุนมากมาย ซึ่งจะมีคณะกรรมการจัดทำงบประมาณในการพัฒนาระบบดิจิทัลของทุกหน่วยงานให้ประสานสอดคล้องกันให้ได้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

อนุมัติแก้ กม.อ้อย น้ำตาล – เปิดช่องทำผลิตภัณฑ์อื่น

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล (ฉบับที่…) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ มีสาระสำคัญเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าบังคับใช้มานานแล้ว ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทนิยาม คณะกรรมการ องค์ประกอบคณะกรรมการ การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและราคาอ้อยขั้นสุดท้าย บทกำหนดโทษ และคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ ให้เป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. เช่น มีการแก้ไขบทนิยาม เพิ่มคำว่า “น้ำอ้อย” และ “น้ำตาลทราย” เพื่อให้นำน้ำอ้อยไปผลิตอย่างอื่นได้นอกเหนือจากน้ำตาลทราย เช่น แก๊สโซฮอล์ เพราะเดิมกฎหมายเก่าอ้อยจะทำได้แค่น้ำตาลทรายมากขึ้น ดังนั้นจะช่วยให้เกษตรกรจะมีรายได้มากขึ้น และมีทางเลือกมากขึ้นในกรณีที่ราคาน้ำตาลทรายและอ้อยตกต่ำ

ปรับบทบาทองค์ประกอบของคณะกรรมที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสม เช่นกำหนดคุณสมบัติผู้แทน 3 ฝ่ายให้ชัดเจน กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายระดับชาติทำหน้าที่กำหนดนโยบายหลักเท่านั้น เพื่อลดภาระเงินของคณะกรรมการไม่ให้มากเกินไป มีกำหนดหลักเกณฑ์ให้เกษตรกรไร่อ้อยสามารถเป็นสมาชิกกับกลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ได้เพียงแห่งเดียว

ในด้านราคาอ้อยขั้นต้นกำหนดอยู่ระหว่าง 80-95% ของประมาณการ จากเดิมที่ไม่ได้กำหนดเพดานของราคาเอาไว้และทำให้อาจจะกำหนดราคาเกินราคาขั้นสุดท้ายและเป็นภาระต้องชดเชยเกษตรกรของรัฐบาล นอกจากนี้ หากราคาจริงต่ำกว่าราคาขั้นต่ำด็จะกำหนดให้เราส่วนต่างไปหักออกจากราคาอ้อยขั้นต้นในปีถัดไปแทน และให้ยกเลิกเงินอุดหนุนจากรัฐไปยังกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก และสุดท้ายให้โรงงานอ้อยนำส่งเงิน 2% ของรายได้สุทธิจากเดิมที่ให้นำเข้าเท่ากับผลต่างระหว่างราคาอ้อยขั้นต้นและรายได้สุทธิ

มีการแก้ไขบทกำหนดโทษของแต่ละฝ่ายออกจากกันเพราะความเสียหายแตกต่างกัน และปรับเพดานโทษปรับให้สอดคล้องกับค่าเงินปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม หลังจาก ครม. อนุมัติหลักการแล้วจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับแก้ถ้อยคำให้เหมาะสมและส่งเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

ยกหนี้เกษตรกร 36,605 ราย วงเงิน 6,400 ล้าน

นายณัฐพร กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติมาตรการแก้ไขหนี้สินเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ภายใต้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และผิดนัดชำระหนี้ เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้มามากกว่า 3 ปี จำนวนทั้งสิ้นรวม 36,605 ราย รายละไม่เกิน 2.5 ล้านบาท วงเงินรวม 6,382.68 ล้านบาท และมีดอกเบี้ยค้างจ่าย 3,829.39 ล้านบาท

มาตรการดังกล่าวจะให้พักเงินต้น 50% ของมูลหนี้ รวมทั้งพักชำระดอกเบี้ยทั้งหมด ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้จะต้องมีการชำระหนี้ให้ ธ.ก.ส. ตามที่มาแห่งรายได้ปีละ 1 ครั้งและต้องไม่เกิน 15 ปี อัตราดอกเบี้ย MMR-3 โดยปัจจุบันดอกเบี้ย MMR ของ ธ.ก.ส. อยู่ที่ 7% และจะต้องจัดทำแผนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ในอนาคต หลังจากชำระเสร็จจะพิจารณายกเว้นให้ และเงินต้นอีก 50% ก็จะนำมาปรับโครงสร้างอีกครั้ง ทั้งนี้ หากผิดนัดชำระหนี้ทาง ธ.ก.ส. จะคิดอัตราดอกเบี้ยในส่วนของเงินต้นที่ค้างชำระในอัตราสูงสุดที่ MRR+3 พร้อมค่าปรับอีก 3% ยกเว้นประสบภัยพิบัติหรือมีปัญหาสุขภาพ

“ท่านนายกได้สอบถามว่าจะทำได้เลยหรือไม่ หน่วยงานก็บอกทำได้เลยเพราะมีข้อมูลอยู่แล้ว คาดว่า 3 ปีน่าจะเสร็จและให้ภาระของโครงการจัดเป็นโครงการ PSA ที่รัฐบาลต้องชดเชยให้ ธ.ก.ส. ด้วย ส่วนหนี้สหกรณ์หรือธนาคารจะหารือกันต่อไป” นายณัฐพรกล่าว

เห็นชอบตั้งสำนักงานเศรษกิจการค้าฮ่องกงในไทย

นายณัฐพร กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบให้ฮ่องกงจัดตั้ง “สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำประเทศไทย” (Hong Kong Economic and Trade Office) โดยกระทรวงต่างประเทศได้นำเสนอกฎหมายคุ้มครองการทำงานเป็นการเฉพาะ เพื่อรองรับการจัดตั้งและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของสำนักงาน เนื่องจากมิได้เป็นสถานทูตและไม่สามารถใช้กฎหมายเดิมได้

ทั้งนี้ สำนักงานดังกล่าวจะได้สิทธิประโยชน์ เอกสิทธิ์ ความคุ้มกันที่เกี่ยวข้อง เช่น มีใบอนุญาตเข้าเขตหวงห้ามในท่าอากาศยาน ให้ความผิดอยู่นอกเขตกฎหมายไทย ยกเว้นประเด็นทางแพ่งจากสัญญาที่ไม่ใช่ตัวแทนของสำนักงาน เป็นต้น แต่สำนักงานฯ ไม่ถือว่าเป็นสถานทูต นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้นำเสนอกฎหมายให้การค้าขายหรือให้บริการแก่สำนักงานไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งจะจัดหาที่ทำการ ที่อยู่ ยานพาหนะ เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง ให้แก่ผู้แทนด้วย และคาดว่าจะจัดตั้งแล้วเสร็จในช่วงต้นปีหน้า

ผ่านร่าง กม. ปล่อยตัวนักโทษที่ถูกสั่งจำคุกไม่ถึง 10 ปีชั่วคราว

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายากรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.เพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปล่อยตัวชั่วคราว ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ ซึ่งสืบเนื่องมาจากที่นายกรัฐมนตรีเคยให้นโยบายไว้ ต่อกรณีที่สังคมมักตัดพ้อว่าคนจนติดคุก คนรวยรอด

โดยปรับหลักเกณฑ์ใหม่ให้คดีที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปจึงต้องมีเงินประกัน ส่วนคดีที่มีโทษจำคุกต่ำกว่า 10 ปี สามารถเข้าสู่กระบวนการปล่อยตัวชั่วคราวได้ โดยจะมีการกำหนดเงื่อนไขอื่น เช่น การกำหนดระยะเวลาให้มารายงานตัวต่อศาล จากเดิมที่กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ต้องหาในคดีที่มีโทษตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปต้องมีเงินประกัน ทำให้ผู้ที่เดือดร้อนขัดสนไม่มีเงินต้องถูกคุมขังแทน เป็นปัญหาคนล้นคุกเนื่องจากพื้นที่ไม่เพียงพอ จึงได้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไข

อนึ่ง สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอเพิ่มเติมอีก 2 ข้อ คือ การกำหนดให้ศาลมีอำนาจแจ้งตำรวจไปจับกุมตัวผู้ที่หนีประกัน หากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ว่าง ให้ตำรวจศาลสามารถจับกุมตัวผู้ที่หนีประกันได้เอง ซึ่งในข้อนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาท้วงว่าจะเป็นการเพิ่มอำนาจให้เจ้าพนักงานศาลโดยไม่มีเหตุอันควร และการกำหนดให้ศาลมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องก่อนไต่สวนมูลฟ้องได้ กรณีที่เห็นว่าเป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต แต่หวังให้เกิดความวุ่นวายแก่ผู้ถูกฟ้องนั้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาท้วงว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้กำหนดกระบวนการตรวจสอบคำฟ้องและไต่สวนมูลฟ้องให้อำนาจศาลเข้ามาตรวจสอบอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการดังกล่าว

“ใน 2 กรณีนี้ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน แต่เพื่อให้กฎหมายเป็นประโยชน์ต่อผู้มีรายได้น้อย จึงเห็นชอบในหลักการเฉพาะประเด็นแรกข้อเดียว ส่วนอีก 2 เรื่องเอาไว้ทำที่หลัง” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ตั้งงบฯ 30,000 ล้าน ขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลเสร็จใน 5 ปี

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบพระราชบัญญัติรัฐบาลดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนรัฐบาลสู่รัฐบาลดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายระดับชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดแผนนโยบายและกำกับหน่วยราชการและศูนย์ข้อมูลกลาง โดยแผนนโยบายจะต้องสอดคล้องกับแผนระดับชาติอื่นๆ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แผนยุทธศาสตร์ชาติ เป็นต้น

กำหนดให้หน่วยของรัฐและในกำกับของรัฐทั้งหมดจะต้องทำข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่เชื่อมโยงและประมวลผลต่อเนื่องกันได้ และถ้าหากมีการทำข้อมูลไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังไม่ใช่รูปแบบดิจิทัลก็ให้ทำย้อนหลังไปด้วย โดยมีหลักการว่าข้อมูลจะต้องเปิดเผยทั้งหมด ถูกต้อง ทันสมัย และไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัว

กำหนดให้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลางเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆด้วยกัน และมีบทเฉพาะการให้ทำแล้วเสร็จผ่านใน 5 ปี คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งหมด 30,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะอยู่ในงบประจำปีของหน่วยงาน หากทำไม่ได้ต้องจัดทำแผนรายงายเข้ามา ครม. อีกครั้งเพื่อพิจารณาต่อไป

คสช. สั่งส่วนราชการ เชื่อมระบบข้อมูล – ลดภาระประชาชนภายใน 5 พ.ย. นี้

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม คสช. มีมติเห็นชอบมาตรการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเพิ่มเติม แบ่งเป็น 3 ระยะ

1) ระยะเร่งด่วนภายใน 5 พฤศจิกายน 2561 ให้หน่วยงานราชการทั้งหมดเชื่อมโยงข้อมูลกันโดยไม่ต้องลงนามบันทึกความเข้าใจก่อนตามแบบเดิม และเมื่อมีประชาชนมาติดต่อหน่วยงานต้องรับภาระในการพิมพ์และรับรองสำเนาถูกต้อง ส่วนการบริการที่เกี่ยวกับการชำระเงินให้พยายามทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากที่สุด นอกจากนี้ ให้จัดทำตัวชี้วัดการทำงานของหัวหน้าหน่วยงานด้วย และสุดท้ายให้ ก.พ.ร. เป็นเจ้าภาพจัดทำสื่อสังคมออนไลน์สำหรับให้ประชาชนมาร้องเรียน โดย ก.พ.ร. จะทำหน้าที่ประสานงานไปยังรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้องต่อไป

2) ภายในปี 2562 หน่วยงานต้องทำแอปพลิเคชั่นเชื่อมโยงมายังกรมการปกครอง เพื่อลดการกรอบแบบฟอร์มต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลที่รัฐมีอยู่แล้ว รวมทั้งให้ลดจำนวนเอกสารที่ต้องใช้ในกระบวนการต่างๆลง และ 3) ภายในปี 2563 ให้ ก.พ.ร. ทำระบบแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลที่สมบูรณ์ ครอบคลุมมากขึ้น และทำให้ประชาชนสามารถใช้บริการออนไลน์ได้ทั้งกระบวนการ

เตรียมจัดงานวันคล้ายวันสวรรคคต “ในหลวง ร.9” 13 ต.ค. นี้

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้เสนอ ครม. เรื่องการจัดกิจกรรม เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 13 ตุลาคม 2561

โดยเห็นสมควรที่รัฐบาลจะดำเนินการเชิญชวนทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมแสดงความจงรักภักดี และร่วมน้อมรำลึกถึงในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการจัดกิจกรรมบำเพ็ญพระราชกุศล

ทั้งนี้ ให้ยึดถือแนวทางการปฏิบัติเดิมตามที่ได้ดำเนินการมาแล้วในปี 2560 ได้แก่ การทำบุญตักบาตร และพิธีทางศาสนาของศาสนาต่างๆ หรือกิจกรรมอื่นๆ ตามที่หน่วยงานเห็นว่าเหมาะสมและสมควร ในช่วงก่อนหรืหลังวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

“สำหรับรัฐบาลจะจัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต โดยในวันที่ 12 ตุลาคม 2561 โดยในช่วงเช้านายกรัฐมนตรี จะเป็นประธาน และมี ครม. ร่วมในกิจกรรมด้วย ซึ่งรายละเอียดจะแจ้งให้ทราบต่อไป” พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าว

ครม. เห็นชอบ ร่างยุทธศาสตร์กรุงโตเกียวฯ

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2018 เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเข้าร่วมประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 10 ช่วงวันที่ 8-9 ต.ค. นี้ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นด้วย

สำหรับร่างยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2018 เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น มีสาระสำคัญดังนี้

1. ร่างยุทธศาสตร์ฯ ดำเนินการภายใต้หลักการ 3 แนวทาง คือ 1) การดำเนินการตามแผ่นแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2019-2023) ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาความเชื่อมโยงของอนุภูมิภาคที่เน้น 3 เสาหลัก ได้แก่ การเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค, การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนและมีนวัตกรรม

2. ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลประโยชน์ร่วมในการสร้างสันติสุข ความมั่นคง และการเจริญเติบโต โดยเป็นข้อริเริ่มใหม่ของญี่ปุ่น ที่ได้เสนอต่อที่ประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 9

3. เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสะท้อนทิศทางการพัฒนาระดับโลก

เด้ง 3 บิ๊ก กระทรวงศึกษาฯ เข้ากรุ

พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบอนุมัติรับโอนและแต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหารระดับสูง และประเภทวิชาการระดับผู้ทรงคุณวุฒิ ของกระทรวงศึกษาธิการ ตามที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเสนอ จำนวน 3 ราย ได้แก่

1. นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ไปดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายรัฐมนตรี
2. นายบุญส่ง จำปาโพธิ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ไปดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
3. นายมงคลชัย สมอุดร ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการทรงคุณวุฒิ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกันที่ประชุม ครม. เห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอจำนวน 4 ราย ดังนี้
1. นายสุรเดช วลีอิทธิกุล พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน และให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง
2. นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม
3. นายวิวัฒน์ ตังหงส์ พ้นจากตำแน่งรองปลัดกระทรวงแรงงาน และให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
4. พ.ต.หญิง รมยง สุรกิจบรรหาร พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง และให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง ทั้งนี้ตั้งแต่วันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. อนุมัติแต่งตั้งข้าราชการ ในส่วนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จำนวน 2 ราย ได้แก่

1. นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง
2. รับโอน นางปิยนุช วุฒิสอน ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมการโอน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ และทดแทนตำแหน่งที่จะว่างตามลำดับ

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 2 ตุลาคม 2561เพิ่มเติม