ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > ปตท. จับมือ ขสมก. – บขส. นำร่องดีเซล บี 20 เพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มดิบ 1.7 ล้านตัน/ปี – มติกบง.ตรึงแก๊สโซฮอล์ 95 – ดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อ

ปตท. จับมือ ขสมก. – บขส. นำร่องดีเซล บี 20 เพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มดิบ 1.7 ล้านตัน/ปี – มติกบง.ตรึงแก๊สโซฮอล์ 95 – ดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อ

26 ตุลาคม 2018


ข่าวประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2561 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมเป็นประธานใน พิธีเปิด “โครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20” สำหรับรถโดยสาร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ณ อู่ ขสมก. เมกาบางนา ต. บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

วันที่ 26 ตุลาคม 2561 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมเป็นประธานใน พิธีเปิด “โครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 สำหรับรถโดยสาร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)” ณ อู่ ขสมก. เมกาบางนา ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และ นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด ร่วมทำพิธีเปิดโครงการฯ

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีความผันผวนและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กระทรวงพลังงานได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับ เพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อค่าขนส่งสินค้า และค่าครองชีพของประชาชน ในขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันด้วย จึงมีนโยบายให้จัดจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 สำหรับรถเฉพาะกลุ่มเท่านั้น คือ กลุ่มรถบรรทุก รถโดยสาร และเรือโดยสาร ซึ่งมีเป้าหมายในการจำหน่ายที่ 15 ล้านลิตรต่อวัน คาดว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบได้มากขึ้น จากเดิม 1.3 ล้านตันต่อปี เพิ่มเป็น 1.7 ล้านตันต่อปี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการให้บริการให้ผู้ใช้บริการรถขนส่งสาธารณะได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงการช่วยเหลือลดภาระของผู้มีรายได้น้อย แก้ไขปัญหาของสังคม จึงยินดีสนับสนุนนโยบายของกระทรวงพลังงานในการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 สำหรับรถโดยสารสาธารณะ โดยนำร่องจากรถโดยสารของหน่วยงานในสังกัด กระทรวงคมนาคม คือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) จำนวน 5 คัน และ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จำนวน 3 คัน ภายใต้การจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงดีเซลหมุนเร็ว บี 20 โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวว่า ขสมก. มีความยินดีในการเข้าร่วมโครงการศึกษาการใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมไบโอดีเซล ร้อยละ 20 ในเครื่องยนต์รถโดยสารของ ขสมก. เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยจะทำการทดลองในรถโดยสารธรรมดาสาย 145 อู่เมกาบางนา ถึง อู่หมอชิต 2 จำนวน 5 คัน ประมาณการใช้น้ำมันอยู่ที่ 400 ลิตรต่อวัน หรือ 12,000 ลิตรต่อเดือน และจะมีรถคู่เทียบในรุ่นเดียวกันอีก 5 คัน เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์ รวมถึงผลกระทบที่มีต่อเครื่องยนต์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และด้านอื่นๆ ด้วย โดยพร้อมขยายการใช้งานในรถของ ขสมก. ให้ครอบคลุมต่อไป

นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า บขส. มีภารกิจในการให้บริการประชาชนในเส้นทางสัญจรระหว่างเมืองทั่วประเทศ และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในการสนับสนุนโครงการทดลองใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมไบโอดีเซล ร้อยละ 20 โดยได้จัดเตรียมรถโดยสารประจำทางของ บขส. จำนวน 3 คัน ในเส้นทาง กรุงเทพฯ-กำแพงเพชร กรุงเทพฯ-บุรีรัมย์ และ กรุงเทพฯ-สระบุรี ซึ่งมีปริมาณการใช้น้ำมันรวมอยู่ที่ 19,500 ลิตรต่อเดือน โดย บขส. ได้จัดเตรียมจุดตั้งถังน้ำมันที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) ถนนกำแพงเพชร 2 และจะเข้าร่วมโครงการทดสอบอย่างเป็นทางการเป็นระยะเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้

ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ได้รับการสนับสนุนจากระทรวงการคลัง และกองทุนน้ำมัน อุดหนุนส่วนต่าง ทำให้มีส่วนลดราคาน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ B20 เป็นลิตรละ 3 บาท เพื่อลดผลกระทบต่อราคาค่าโดยสาร ค่าบริการขนส่งสินค้า และค่าครองชีพของประชาชน นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยสร้างเสถียรภาพทางราคาของปาล์มน้ำมัน ถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรปาล์มน้ำมัน และยังสามารถลดมลภาวะทางอากาศได้อีกด้วย สำหรับ ปตท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินภารกิจเพื่อสร้างความมั่นคง และความมีเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศควบคู่กับการดูแลชุมชน สังคม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

ส่วนในช่วงบ่ายของวันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบ ให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ยังคงตรึงราคาแก๊สโซฮอล์ 95 และดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และรักษาเสถียรภาพกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีเงินสะสมอยู่ประมาณ 25,000 ล้านบาท

ดร. ศิริ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมกบง.ได้รับทราบสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกตามที่สนพ.นำเสนอ พบว่า ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเริ่มปรับตัวลดลง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงจากระดับ 85 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลงเหลือ 75-76 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ในประเทศ ทยอยปรับราคาลดลงมา 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 2.10 บาทต่อลิตร ดังนั้น กบง.เห็นชอบให้ สนพ. ยังคงรักษาเสถียรภาพราคาแก๊สโซฮอล์ 95 และดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร รวมทั้งรักษาเสถียรภาพกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งขณะนี้มีเงินสะสมอยู่ 25,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อเตรียมไว้ใช้ในการดูแลผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในอนาคตด้วย จึงมีมติเห็นชอบให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปรับเพิ่ม หรือ ลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้

    1. น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ให้เพิ่มอัตราเงินนำส่งกองทุนฯไม่เกิน 1 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ชนิดอื่น ให้ปรับอัตราได้โดยการรักษาค่าการตลาดที่เหมาะสม

    2. น้ำมันดีเซล ให้ปรับลดกรอบการชดเชยราคาลงมาเหลือไม่เกิน 1 บาท/ลิตร จากเดิม กบง. เคยมีมติ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 กำหนดกรอบการชดเชยราคาไม่เกิน 1.50 บาทต่อลิตร

ปัจจุบัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เรียกเก็บเงินนำส่งกองทุนฯจากเบนซินลิตรละ 6.68 บาท,แก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์91 เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯลิตรละ 0.72 บาทต่อลิตร ส่วนแก๊สโซฮอล์ E 20 กองทุนจ่ายเงินชดเชยให้ลิตรละ 2.18 บาท, แก๊สโซฮอล์ E 85 จ่ายเงินชดเชยลิตรละ 7.78 บาท, ดีเซล จ่ายเงินชดเชยลิตรละ 0.60 บาท , ดีเซล B20 จ่ายเงินชดเชยลิตรละ 3.10 บาท และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) จ่ายเงินชดเชยกิโลกรัมละ 6.8597 บาท ณ วันที่ 25 ต.ค.2561 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีเงินสะสมสุทธิ 23,741 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น บัญชีน้ำมัน 28,359 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 4,618 ล้านบาท จากการประมาณการกองทุนฯ จะมีรายจ่ายสุทธิ 1,702 ล้านบาทต่อเดือน