ThaiPublica > เกาะกระแส > “นพ.อุดม คชินทร” รมช.ศึกษา มอง “มหาวิทยาลัย” ศตวรรษที่ 21 ต้องปรับตัวเป็น demand side

“นพ.อุดม คชินทร” รมช.ศึกษา มอง “มหาวิทยาลัย” ศตวรรษที่ 21 ต้องปรับตัวเป็น demand side

6 กันยายน 2018


ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ทุกวันนี้ การศึกษาไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนอีกต่อไป  เพราะในโลกยุคใหม่นักเรียนนักศึกษาสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างง่ายดายผ่านอินเทอร์เน็ตออฟทิงส์ ผ่านสมาร์ทโฟน ผ่านการเรียนรูปแบบใหม่ๆ ไม่ใช่เรียนแค่ 4 ปีจบ แต่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก ผู้ใหญ่ หรือแม้แต่วัยสูงอายุ

แนวโน้มเช่นนี้ ส่งผลให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลก หรือคณะบางคณะต้องปิดตัวลง เพราะไม่มีเด็กสมัครเข้าเรียน ถึงมีก็น้อยมาก เพราะในอนาคตเด็กจะรู้สึกว่าทำไมต้องเข้ามหาวิทยาลัย เนื่องจากสามารถเรียนรู้จากนอกห้องเรียนได้ตลอดเวลา

แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยแห่งไหนยังอยากจะอยู่รอด ก็จำเป็นต้องปรับตัวอย่างยิ่งยวด เราจึงเห็นสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศไทย เริ่มปรับปรุงหรือสร้างหลักสูตรใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ให้ผู้เรียนยุคใหม่ที่มีความต้องการหลากหลาย สร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะ รองรับเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนแปลง

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงทิศทางการศึกษาในอนาคตผ่านปาฐกถาเรื่อง “Higher Education and It’s Role In Education Landscape” ในงาน “ธรรมศาสตร์ เจน เน็กซ์ เอ็ดดูเคชั่น 2018” (Thammasat Gen Next Education 2018)  เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมาว่า การนำความรู้มาสร้างนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์กับชุมชน สังคม ประเทศ และโลก คือปรัชญาของการศึกษา 4.0 ซึ่งต้องยกระดับใหม่จากการเรียนแบบไซโลเป็นการเรียนแบบข้ามศาสตร์สร้างอาชีพให้ตนเองได้ สร้างนวัตกรรมให้เกิดได้

“การเรียนรู้ในยุค 4.0 คือการเรียนข้ามศาสตร์ เพราะศาสตร์เดียวมันไปไม่ได้ ในสมัยก่อนเราเรียนเป็น social science อีกส่วนนึงเป็น natural science แต่มันก็พิสูจน์ว่าโตด้วยตัวเองไม่ได้  ไม่ใช่ว่าเรียนแต่นิติศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ แล้วจะไปทำมาหากินด้วยวิชาชีพด้วยความรู้ อยู่ไม่ได้หรอกครับ แต่จำเป็นต้องมีความรู้ทางด้านศิลปศาสตร์ อักษรศาสตร์ด้วย เพราะความหลากหลายทำให้เกิด innovation”

นายแพทย์อุดมระบุว่า แนวโน้มของโลกในศตวรรษที่ 21 จะปรับตัวเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ยุคโลกาภิวัตน์ การปรับนโยบายและเส้นทางการผลิตไปสู่ภาคส่วนที่เป็นการเพิ่มมูลค่าของทรัพยากร และการขับเคลื่อนที่มุ่งเน้นด้านผลิตภัณฑ์และการบริการที่อาศัยองค์ความรู้และนวัตกรรม ดังนั้น ในเชิงการศึกษามหาวิทยาลัยต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ เพราะการมี knowledge base หรือ innovation driven จะทำให้อยู่ได้ในโลกนี้

ทั้งนี้เป็นเพราะในอนาคตจะเกิดการแข่งขันอย่างสูง ส่งผลให้เกิดการ disruption กันอย่างรวดเร็ว โลกจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่เด็กจะลดลงอย่างมหาศาล ยกตัวอย่างเมื่อ 20 ปีก่อนอัตราการเกิดของเด็กไทยอยู่ที่ประมาณ 1.1 ล้านคนต่อปี แต่ล่าสุดลดลงเหลือ 6.7 แสนคนต่อปี เข้ามหาวิทยาลัยแค่ 3 แสนคน ฉะนั้น ลูกค้าหลักของมหาวิทยาลัยจะไม่ใช่เด็กมัธยมอีกแล้ว ขณะที่ความต้องการตลาดแรงงานเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน จากแรงงานคนกลายเป็นเทคโนโลยี

“หากท่านยังสอนกันอยู่เหมือนเดิม หลักสูตรไม่เคยเปลี่ยนเลย แล้วท่านจะสร้างคนตอบโจทย์อนาคตได้ยังไง นี่คือประเด็นสำคัญที่อยากให้สถาบันการศึกษากลับไปทบทวนและเตรียมการ เพราะผมเชื่อว่าอีก 4-5 ปีมันจะ disrupt มากกว่านี้  มหาวิทยาลัยอาจจะปิดจำนวนหนึ่ง เพราะไม่มีเด็กเข้าเรียน”

“ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา มาตรฐานสูงกว่าเรา แต่ 10 ปีที่ผ่านมา ทยอยปิดไปกว่า 500 มหาวิทยาลัย เพราะเด็กลดลง เด็กไม่เข้ามหาวิทยาลัย ขณะที่การเรียน online education เพิ่มขึ้นสูงมาก ประสิทธิภาพสูงมากขึ้น ฉะนั้นเด็กมัธยมสมัยนี้จะเก่งกว่าเด็กมัธยมสมัยยุคผม ก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัยเขาเรียนจากออนไลน์  แล้วท่านจะมาสอนเขาแบบเดิม เขารับไม่ได้หรอกครับ ปัจจุบันหลายหลักสูตรในอเมริกาเป็นหลักสูตรปริญญาสองปี ออสเตรเลีย สิงคโปร์ก็ทำ เพราะโลกมันเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยนตามโลกให้ทัน” นายแพทย์อุดมกล่าว

นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยยังต้องปรับตัวเป็น demand side เน้นการพัฒนาอาชีพ ยึดตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ เติมเต็มความรู้และทักษะที่จำเป็นหรือสิ่งที่ขาด  สร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงจากนอกโรงเรียน นอกห้องเรียน นอกระบบ กระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์ได้ ขณะเดียวกันต้องเน้นให้เรียนรู้ได้ทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะการ reskill, upskill, multiskill แรงงานปัจจุบัน หรือการรีไซเคิลคนเกษียณอายุ รวมถึงเน้นหลักสูตรที่ไม่มีประกาศนียบัตรหรือปริญญา

“สิ่งที่ผมอยากจะย้ำคือเราต้องเปลี่ยนเป็น demand side ต้องตอบโจทย์ตลาดแรงงานให้ได้ ตอบโจทย์นักศึกษาให้ได้ ตอบการเปลี่ยนแปลงของโลกให้ได้ เลิกเป็น supply side อย่างสมัยก่อน เพราะจะไม่มีใครมาเรียน นักศึกษายุคนี้อยากจะมาเรียนในสิ่งที่ขาด ต้องเติมเต็มให้ได้ เขาไม่ได้แคร์ตัวมหาวิทยาลัย แต่แคร์ว่าอะไรที่ตอบโจทย์เขาได้ เขาจะเรียน ผมบอกได้เลยว่าชื่อเสียงมหาวิทยาลัยในอดีตกำลังจะหมดความสำคัญไปเรื่อยๆ คุณต้องคิดไปข้างหน้าว่าจะตอบโจทย์เหล่านี้ได้อย่างไร”

มากไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวสร้างกลไกบูรณาการการศึกษา (ความรู้) การฝึกอบรม (ทักษะ) และการพัฒนาวิชาชีพ (สมรรถนะ) เข้าด้วยกัน เพื่อให้เด็กสามารถทำงานได้จริง ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม พร้อมปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบโจทย์อนาคต รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ซึ่งนั่นจะทำให้บทบาทอาจารย์ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย อาจารย์จะต้องไม่สอน แต่ต้องออกแบบการเรียนรู้ และอำนวยความสะดวก (design & facilitate) การเรียนรู้ของนักศึกษาคือเรียนรู้จากการทำงานหรือปฏิบัติ โดยอาจารย์ทำหน้าที่ coaching & mentoring  ต้อง motivate & inspire ให้เกิดจินตนาการ นำไปสู่การเรียนรู้ที่เกิดจากภายในใจของนักศึกษาเอง ให้เปลี่ยนชีวิตให้ได้

เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยไม่ใช่เพียงโรงเรียนสอนหนังสือ แต่ต้องเป็นแหล่งรวมความรู้ เป็นที่เรียนรู้, เป็นแหล่งรวมจินตนาการความคิดสร้างสรรค์, พัฒนาสมรรถนะ, ทั้งยังเป็นแหล่งสร้างคนดี สร้างผู้นำสู่สังคมโลก รองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสภาพแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี

“ท่านจะต้องปรับ mindset ของเด็กรุ่นใหม่ ให้ skillset เขาใหม่ บทบาทอาจารย์ต้องเปลี่ยน อาจารย์จะต้องไม่สอนแบบเดิม ต้องออกแบบให้เด็กเรียนรู้แบบง่ายขึ้นสะดวกขึ้น ที่สำคัญคือเน้นว่าการเรียนต้องเรียนจากประสบการณ์จริง จากการทำงานจริงๆ เราต้อง coaching สำคัญที่สุดคือต้องดึงศักยภาพในตัวเด็กออกมาได้มากที่สุด ให้เขาพัฒนาศักยภาพตัวเองได้ในแบบที่เขาต้องการ”

“ดังนั้น หลายๆ อย่างในการเพิ่มทักษะและสมรรถนะต้องเริ่มจากครู เพราะผมเชื่อว่าอีกไม่นานเอไอจะมาสอนทักษะและสมรรถนะให้เด็กได้ แล้วท่านจะไม่มีความหมายเลย องค์ความรู้ท่านก็สู้คอมพิวเตอร์ไม่ได้ หลายมหาวิทยาลัยในต่างประเทศจ้างโรบอทสอนแล้ว มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับตัวเองเป็นที่เรียนรู้ เป็นที่สร้างให้เด็กมีจินตนาการ ให้วิเคราะห์ได้ สร้างสรรค์ได้ นี่คือการตอบโจทย์สังคม ตอบโจทย์โลก มหาวิทยาลัยต้องปฏิรูป เพื่อความอยู่รอด” นายแพทย์อุดมสรุปทิ้งท้าย