ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กรมศุลกากร (3): คำตอบ ทำไมร่างแก้ไข พ.ร.บ.กรมศุลฯ ถูกดองยาว-การพัฒนาระบบไอทีไม่คืบหน้า

กรมศุลกากร (3): คำตอบ ทำไมร่างแก้ไข พ.ร.บ.กรมศุลฯ ถูกดองยาว-การพัฒนาระบบไอทีไม่คืบหน้า

24 กันยายน 2012


ที่มาภาพ : http://www.chonburinews.com
ที่มาภาพ : http://www.chonburinews.com

ในงานวิจัยการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้กับเจ้าหน้าที่ศุลกากร ของ ดร.ประธาน วัฒนวาณิชย์ และคณะ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงต้นตอของปัญหาทุจริตในกรมศุลกากรนั้น โดยพื้นฐานมีสาเหตุมาจากกฎหมายศุลกากรที่ล้าสมัย

นับตั้งแต่ปี 2469 ยังไม่เคยมีการปฏิรูปตัวบทกฎหมายครั้งใหญ่ ขณะเดียวกันก็มีการสร้างกฎระเบียบใหม่ๆ ที่มีลักษณะคลุมเครือ พิธีการศุลกากรยุ่งยาก ซับซ้อน พิกัดอัตราภาษีมีความหลากหลาย ตรงนี้จึงกลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่บางรายใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์

ที่ผ่านมามักจะได้ยินเรื่อง “เงินใต้โต๊ะ” จากผู้นำเข้า-ออก เพื่อแลกกับการใช้อำนาจหน้าที่ตีความกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้ผู้ประกอบการเสียภาษีน้อยลง หรือไม่ต้องเสียภาษีเลย

และด้วยกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรตรวจภาษีย้อนหลังได้นานถึง 10 ปี ด้วยแรงจูงใจที่มีเงินสินบนและรางวัลนำจับให้กับเจ้าหน้าที่ในอัตราที่สูง เจ้าหน้าที่จึงทำงานอย่างขยันเป็นพิเศษ

ประกอบกับ พ.ร.บ.ศุลกากรเป็นกฎหมายที่ล้าสมัย เมื่อเกิดกรณีข้อพิพาทกับผู้ประกอบการ กฎหมายจะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจตีความตามตัวบทกฎหมายไว้สูงมาก
หากผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับแนวทางการวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ สามารถยื่นคำร้องให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมศุลกากรได้ และถ้าผู้ประกอบการ ยังไม่พอใจกับผลการตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อีก คราวนี้ต้องส่งให้ศาลภาษีอากรเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด

กรณีผู้ประกอบการถูกตั้งข้อหาหลบเลี่ยงภาษี หากศาลตัดสินว่าผู้ประกอบการมีความผิดจริง ไม่ว่าจะเป็นความผิดเล็กน้อย เจตนาหรือไม่เจตนากระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 กำหนดว่า ต้องจ่ายค่าปรับ 4 เท่าสถานเดียว ไม่มีการลดหย่อน แถมยังมีโทษจำคุก 10 ปี

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงไม่เลือกวิธีต่อสู้คดีในชั้นศาล แต่จะยอมความในชั้นของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หรือที่ผู้ประกอบการเรียกกันว่า “ศาลเตี้ย” ยอมจ่ายค่าปรับไม่เกิน 2 เท่า ยกเว้นโทษอาญา

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คณะกรรมการชุดนี้จะมีบุคคลภายนอกกรมศุลกากรมานั่งเป็นกรรมการตัดสิน แต่ผลการวินิจฉัยในคดีต่างๆ ของคณะกรรมการชุดนี้จะถูกเก็บไว้เป็นความลับระหว่างคู่กรณี ไม่เคยนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะเหมือนกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีของกรมสรรพากร จึงไม่มีใครทราบว่าแนวปฏิบัติของกรมศุลกากรที่ถูกต้องเป็นอย่างไร

จากการที่กรมศุลกากรมีกฎระเบียบที่ไม่ชัดเจน พิธีการศุลกากรยุ่งยาก ซับซ้อน เป็นเครื่องมือที่เจ้าหน้าที่ใช้ค้นหาตัวผู้กระทำความผิด มาจ่ายค่าปรับ 2-4 เท่า โดยไม่คำนึงว่าผู้กระทำผิดจะมีเจตนาหรือไม่ ซึ่งค่าปรับ 2-4 เท่า ดังกล่าวนี้ ไปผูกโยงกับระบบการจ่ายเงินสินบนและรางวัลนำจับ

กรมศูลกากรจับน้ำมันเถื่อน ที่มาภาพ : http://www.patrolnews.net
กรมศูลกากรจับน้ำมันเถื่อนกลางทะเล ที่มาภาพ : http://www.patrolnews.net

งานวิจัยของ ดร.ประธาน วัฒนวาณิชย์ ระบุว่า กรณีที่ไม่มีผู้แจ้งความนำจับ (สายสืบ) เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมได้รับเงินรางวัล 30% ของค่าปรับรวมค่าภาษี ส่วนกรณีที่มีผู้แจ้งความนำจับ เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมได้รับเงินรางวัล 25% สายสืบได้รับเงินสินบน 30% นับจากวันที่ผู้ประกอบการนำเงินค่าปรับมาจ่าย กรมศุลกากรต้องจ่ายเงินค่าสินบนให้กับสายสืบภายใน 5 วัน ส่วนเจ้าหน้าที่จะได้รับเงินรางวัลในวันสุดท้ายของเดือน

กรณีที่มีผู้แจ้งความนำจับ กรมศุลกากรจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลนำจับสูงถึง 55% คณะผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่า “อาจจะเป็นมูลเหตุจูงใจให้เจ้าหน้าที่สร้างพยานหลักฐานเท็จ เพื่อเบิกเงินสินบนไปจ่ายให้กับสายสืบ ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็น “สายสืบจริง” หรือ “สายสืบเทียม” ที่ถูกสร้างขึ้นมารับเงินสินบน 30%

หากไปตรวจสอบเอกสารขอเบิกเงินค่าสินบนจะพบเพียงลายนิ้วมือของสายสืบ ไม่ได้ระบุตัวตนเป็นใคร แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ป.ป.ช. เคยจับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรดำเนินคดีอาญา ข้อหาสร้างหลักฐานปลอมเบิกเงินให้กับสายสืบเทียม ซึ่งคดีนี้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรถูกศาลอาญาสั่งจำคุก

หลังจากผู้กระทำความผิดยอมจ่ายค่าปรับ ก่อนที่จะนำเงินค่าปรับ หรือเงินที่ได้จากการขายของกลาง ส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน

เงินก้อนนี้จะถูกหักหัวคิว เพื่อมาจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่และสายสืบ โดยมีอธิบดีกรมศุลกากรเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงิน อย่างเช่น กรณีการจัดสรรเงินสินบนให้กับสายสืบ 30% ของค่าปรับรวมค่าภาษี ถ้ามีสายสืบหลายคนใช้วิธีหารเท่าๆ กัน

ส่วนการจัดสรรเงินรางวัล 25% ให้กับเจ้าหน้าที่นั้นมีหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ

(1) 1 ใน 3 ของเงินรางวัลจะถูกกันให้เจ้าหน้าที่ที่ตรวจพบการกระทำความผิด

(2) ส่วนที่เหลือ 2 ใน 3 ของเงินรางวัล อธิบดีกรมศุลกากรในฐานะผู้สั่งการจับกุมได้รับส่วนแบ่งมากที่สุด 12 ส่วน รองอธิบดีได้คนละ 11 ส่วน ผู้อำนวยการสำนักคนละ 10 ส่วน ลดหลั่นลงมาเรื่อยๆ

(3) แต่ที่น่าเห็นใจมากที่สุดคือเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ที่ทำงานเสี่ยงอันตรายอยู่ในภาคสนาม ได้รับส่วนแบ่งน้อยมาก อาทิ ข้าราชการซี 3 และซี 4 ได้คนละ 6 ส่วน, ข้าราชการซี 2 ได้คนละ 5 ส่วน และ ซี 1 ได้คนละ 3 ส่วน เป็นต้น

“ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงของกรมศุลกากรได้รับส่วนแบ่ง 10-12 ส่วน และในบางครั้งก็มีอธิบดีกรมศุลกากรบางคนลงมารับแจ้งความร้องทุกข์จากผู้แจ้งเบาะแสด้วยตัวเอง ทำเสมือนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่ตรวจพบ เพื่อขอรับส่วนแบ่งเงินรางวัลก้อนแรก 1 ใน 3 เมื่อคดีสิ้นสุด จากนั้นยังลงมาหารกับเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับเงินส่วนแบ่งอีก 12 ส่วน จากเงินรางวัลส่วนที่เหลือ 2 ใน 3 ในฐานะผู้สั่งการจับกุม”

งานวิจัยชิ้นนี้ ตั้งข้อสังเกตในประเด็นอธิบดีกรมศุลกากรเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดสรรเงินรางวัล ขณะเดียวกัน อธิบดีกรมศุลกากรก็ลงมานั่งรับผลประโยชน์ดังกล่าว เข้าข่ายการมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) จากการปฏิบัติหน้าที่ ประเด็นนี้คณะผู้วิจัยจึงเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่

ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ศุลกากร พร้อมกับสายสืบของแท้และของเทียม รับเงินสินบนรางวัลอย่างถูกต้องตามกฎหมายกว่า 10,343 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับรวมผลประโยชน์อื่นๆ ซึ่งยังไม่มีใครสามารถประเมินได้ว่า ในแต่ละปีมีเม็ดเงินสะพัดในกรมศุลกากรคิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ แต่ถ้าดูจากผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการ ในประเด็นการจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาให้เจ้าหน้าที่ศุลกากร จะถูกโหวตให้ติดอยู่ในอันดับที่ 1 (อ่าน “กรมศุลกากร (2): 12 ปี พ่อค้าจ่ายค่าปรับ 3.5 หมื่นล้าน–คนกรมศุลฯ รับรางวัลกว่าหมื่นล้าน”)

ผลประโยชน์จำนวนมหาศาล ทั้งจาก ”เงินบนโต๊ะ” และ ”เงินใต้โต๊ะ” กรมศุลกากรจึงเป็นที่หมายปองของคนคลังตั้งแต่ ซี 1 ถึงซี 10 ในแต่ละปีจึงมีข้าราชการในสังกัดกระทรวงการคลัง อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมสรรพากร กรมธนารักษ์ กรมสรรพสามิต โอนย้ายไปประจำการที่กรมศุลกากร เพราะร่ำลือกันว่าทำงานที่นี่รายได้ดี มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพรับราชการ โดยเฉพาะกลุ่มงานป้องกันและปราบปราม ในอดีตที่ผ่านมา คนกรมศุลฯ ที่ขึ้นมานั่งเป็นซี 10 ซี 11 กระทรวงการคลัง ต้องเคยผ่านงานป้องกันและปราบปรามจากกรมศุลกากร

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมร่างแก้ไข พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. …. จึงถูกดองยาว

นอกจากงานผลักดันให้มีการปฏิรูปกฎหมายศุลกากรแล้ว ในอดีตที่ผ่านมา กรมศุลกากรแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน โดยพยายามที่จะลดช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ศุลกากรกับผู้ประกอบการ เพื่อลดโอกาสในการจ่ายเงินใต้โต๊ะ เริ่มต้นด้วยนำระบบ EDI มาใช้ในการรับส่งข้อมูลนำเข้า-ส่งออก ระหว่างผู้ประกอบการกับกรมศุลกากรผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์

ตั้งแต่ปี 2541 โครงการนี้ล่าช้ามาก จนกระทั่งเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมากแล้ว ระบบ EDI จึงถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นระบบ E-CUSTOM ปัจจุบันถูกนำมาใช้ในการผ่านพิธีการศุลกากรนำเข้า-ส่งออกสินค้า ซึ่งช่วยแก้ลดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันได้ระดับหนึ่ง

งานวิจัยของ ดร.ประธานจึงแนะนำให้กรมศุลกากรเร่งนำระบบ Nation single window มาใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีหน้าที่ออกใบอนุญาตนำเข้าสินค้าให้กับผู้นำเข้า เพื่อลดช่องทางติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่ศุลกากรกับผู้ประกอบการ

ตามเป้าหมายที่ตกลงกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน กรมศุลกากรต้องเชื่อมโยงข้อมูลการออกใบอนุญาตนำเข้าสินค้ากับหน่วยงาน 36 แห่ง ให้แล้วเสร็จภายในปี 2552 แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมศุลกากร แถลงข่าวว่า กรมศุลกากรเพิ่งเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ไปแล้วแค่ 10 หน่วยงาน ส่วนหน่วยงานที่เหลืออีก 26 แห่ง ที่กรมศุลกากรยังไม่ได้เชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตนำเข้า เนื่องจากไม่มีงบประมาณในการจัดซื้อระบบคอมพิวเตอร์ และขาดบุคคลากรที่มีความรู้ความชำนาญทางด้านไอที