ThaiPublica > เกาะกระแส > ก.ล.ต. ขอให้พนักงานอัยการฟ้องผู้กระทำความผิด 1 ราย กรณีขายหุ้น IFEC โดยใช้ข้อมูลภายใน

ก.ล.ต. ขอให้พนักงานอัยการฟ้องผู้กระทำความผิด 1 ราย กรณีขายหุ้น IFEC โดยใช้ข้อมูลภายใน

5 กันยายน 2018


ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดราย นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ กรณีใช้ข้อมูลภายในขายหุ้นบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (IFEC) ด้วยการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราโทษสูงสุดตามกฎหมาย พร้อมรายงานการดำเนินการดังกล่าวไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อ

สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดกับนายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ ในฐานะกรรมการและผู้บริหาร และนายฐนวัฒน์ จันทร์สุวรรณ ขณะกระทำผิดเป็นกรรมการและผู้บริหารของ IFEC กรณีอาศัยข้อมูลภายในขายหุ้น IFEC โดยให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง และส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด1

อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา นายศุภนันท์ได้มีหนังสือขอเลื่อนระยะเวลาในการเข้ามารับทราบและยินยอมรับโทษออกไปอีก 30 วัน (เป็นภายในวันที่ 3 ตุลาคม 2561) โดยระบุว่ามีภารกิจมาก ซึ่ง ก.ล.ต. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ใช่กรณีมีพฤติการณ์ที่จำเป็นเพียงพอ จึงไม่ขยายระยะเวลาดังกล่าว ประกอบกับตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดกรณีวิกฤตของ IFEC นายศุภนันท์มีพฤติกรรมที่อาจเป็นการขัดขวาง และไม่ได้ใช้ความพยายามในการแก้ไขปัญหาของ IFEC รวมทั้งไม่ดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของ IFEC และผู้ถือหุ้น อีกทั้งในขณะนี้ มีผู้ร้องเรียนว่านายศุภนันท์มีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นการดำเนินการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ IFEC และบริษัทย่อย

นอกจากนี้ มีกรณีที่เจ้าหนี้ของ IFEC ยื่นคำร้องขอต่อศาลล้มละลายให้ฟื้นฟูกิจการของ IFEC โดยขอให้นายศุภนันท์เป็นผู้ทำแผนและผู้บริหารชั่วคราว ซึ่ง ก.ล.ต. มีเหตุอันควรสงสัยว่า การร้องขอต่อศาลดังกล่าว อาจเป็นการดำเนินการเพื่อประวิงเวลาให้อำนาจในการดำเนินกิจการของ IFEC ยังคงอยู่กับกรรมการและผู้บริหารชุดปัจจุบันซึ่งมีนายศุภนันท์ร่วมอยู่ด้วย แทนที่จะดำเนินการให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาดำเนินกิจการ และแก้ไขปัญหาของ IFEC อย่างเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและบริษัท

การที่นายศุภนันท์ไม่เข้ามารับทราบมาตรการลงโทษทางแพ่งตามมติ ค.ม.พ. ภายในเวลาที่กำหนด จึงพิจารณาได้ว่า นายศุภนันท์ไม่ยินยอมที่จะระงับคดีในชั้น ก.ล.ต. ดังนั้น ก.ล.ต. จึงมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีนายศุภนันท์ต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราโทษสูงสุดตามกฎหมาย

โดยให้ชำระค่าปรับทางแพ่ง และส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด รวมเป็นเงิน 31.93 ล้านบาท พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ได้รายงานการดำเนินการดังกล่าวไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อพิจารณาดำเนินการต่ออีกด้วย

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ได้มีคำสั่งให้นายศุภนันท์พ้นจากการเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของ IFEC และไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนแห่งอื่น (ถ้ามี) เป็นเวลา 2 ปีนับตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2561 เป็นต้นไป2

อนึ่ง สำหรับกรณีนายฐนวัฒน์ได้เข้ามารับทราบมาตรการลงโทษทางแพ่งแล้วตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2561

หมายเหตุ:

ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 98/2561 เผยแพร่วันที่ 23 สิงหาคม 2561 ตามข้อ 3(2) ข้อ 5(2) และ ข้อ 6(2) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 3/2560 เรื่องการกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท ลงวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560 ซึ่งออกตามความในมาตรา 89/3 และมาตรา 89/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551