ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > IOD รับรองฯ 7 บริษัท แนวร่วมภาคเอกชนต่อต้านคอร์รัปชันทุกรูปแบบ

IOD รับรองฯ 7 บริษัท แนวร่วมภาคเอกชนต่อต้านคอร์รัปชันทุกรูปแบบ

8 สิงหาคม 2013


วันที่ 7 สิงหาคม 2556 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) จัดอภิปรายเรื่อง “อนาคตความร่วมมือภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต”  ณ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ
วันที่ 7 สิงหาคม 2556 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) จัดอภิปรายเรื่อง “อนาคตความร่วมมือภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต” ณ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ

ไอโอดีเผยมี 7 บริษัท จาก 224 บริษัท ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ไม่จ่ายใต้โต๊ะ ต่อต้านคอร์รัปชันทุกรุปแบบ ขณะที่ ก.ล.ต. ออกกฎกดดันบริษัทจดทะเบียนทำแผนต่อต้านคอร์รัปชัน และเล็งดึงบริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทจัดการกองทุนรวมเข้าโครงการแนวร่วมฯ ต่อต้านทุจริต

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2556 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ในฐานะเลขานุการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต จัดสัมมนาหัวข้อ “200 บริษัทกับอนาคตความร่วมมือภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต” โดยมีการอภิปรายเรื่อง “อนาคตความร่วมมือภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต”

ผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ นายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, นายสุภิรัช โพธิ์ถาวร รองประธานฝ่ายกำกับดูแลธุรกิจ บริษัท เอไอเอ จำกัด, นายธนกฤต เพิ่มพูนขันติสุข ผู้จัดการทั่วไปและเลขานุการ บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) และดำเนินการอภิปราย โดย นายรพี สุจริตกุล ที่ปรึกษาโครงการแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต (ภาพข้างบน จากขวาไปซ้าย)

ในงานนี้ ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ IOD ได้ประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้ “การรับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต” จำนวน 7 แห่ง ได้แก่

1. บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส์ ประเทศไทย จำกัด
2. บริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด
3. บริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด (ประกันวินาศภัย) สาขาประเทศไทย
4. บริษัท ซีเมนส์ (ประเทศไทย) จำกัด
5. บริษัท สมบูรณ์ แอ็ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)
6. บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)
7. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ บริษัทที่จะได้การรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต จะต้องเป็นบริษัทที่ได้ร่วมลงนามแสดงเจตนารมณ์เข้าแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งขณะนี้มี 224 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 81 แห่ง และบริษัทจำกัด 143 แห่ง

บริษัทที่ลงนามแสดงเจตนารมณ์ฯ จะต้องกรอก “แบบประเมินตนเอง” เกี่ยวกับมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันโดยความสมัครใจ ซึ่งแบบประเมินตนเองฯ จะมีตัวชี้วัดทั้งหมด 71 ข้อ เพื่อแสดงหลักเกณฑ์ที่เป็นพื้นฐานของหลักการปฏิบัติที่ดีและเป็นที่ยอมรับในการต่อตานคอร์รัปชัน

แบบประเมินตนเองฯ เพิ่งจัดทำเป็น “ครั้งแรก” ซึ่งพัฒนามาจากต้นฉบับกรอบการทำงานของหลักธุรกิจขององค์กรเพื่อความโปร่งสากล และปรับให้เหมาะสมต่อบริษัทการพัฒนาของบริษัททุกขนาดในภาคเอกชนไทย โดยคำถามหลักๆ คือ บริษัทมีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันในทางปฏิบัติหรือไม่ บริษัทมีขั้นตอนเพื่อนำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันไปปฏิบัติหรือไม่ บริษัทได้นำขั้นตอนเหล่านั้นไปปฏิบัติหรือไม่ และบริษัทได้มีการรายงานต่อสาธารณชนเกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันหรือไม่

หลักเกณฑ์ในแบบประเมินตนเอง มีหลักการที่สำคัญคือ “บริษัทควรห้ามการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม” หมายความว่า การดำเนินงานทุกอย่างของบริษัทจะต้องเป็นไปตามนโยบายห้ามคอร์รัปชัน ซึ่งควรได้รับการระบุเป็นรายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนว่า บริษัทห้ามคอร์รัปชันทุกรูปแบบโดยกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ตลอดจนบุคคลที่สามที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท ไม่ว่าจะโดยการนำเสนอ การให้คำมั่นสัญญา การขอ การเรียกร้อง การให้หรือรับสินบน หรือการกระทำพฤติกรรมที่ส่อไปในทางคอร์รัปชัน เป็นต้น

นายชาลีตั้งข้อสังเกตว่า มีบริษัทเอกชน 224 แห่ง ร่วมประกาศเจตนารมณ์เข้าแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต โดยมี 7 บริษัท ที่ผ่านการประเมินและได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมฯ ซึ่งไม่มีธนาคารพาณิชย์ ไม่มีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เลย และบริษัทจดทะเบียนยังเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์น้อยกว่าบริษัทจำกัด

“ดังนั้น ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล บล. และ บลจ. โดยตรงคงจะต้องจับเข่าคุยว่าติดขัดในส่วนใด จะได้ช่วยแก้ไขปัญหา และหากทำสำเร็จสามารถให้ บล. และ บลจ. ผ่านการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วม ก็จะไปบอกแบงก์ชาติให้ไปคุยกับธนาคารพาณิชย์ดูบ้าง” นายชาลีกล่าว

นายชาลี จันทนยิ่งยง
นายชาลี จันทนยิ่งยง

นายชาลีกล่าวว่า พยายามแยกการทุจริตคอร์รัปชันของเอกชนที่มีการให้สินบนพบว่ามี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่ง ให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐในสิ่งที่ไม่ควรจะได้ เช่น ใบอนุญาต การประมูล การจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น กลุ่มที่สอง จำใจให้ ไม่อยากจ่ายแต่ต้องจ่าย คือ ไม่เห็นด้วยกับการคอร์รัปชัน แต่กระบวนทำงานยอมรับว่ามีการจ่ายใต้โต๊ะอยู่ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐมากลั่นแกล้ง

นายชาลีกล่าวว่า บริษัทเอกชนส่วนใหญ่ รวมถึงบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะอยู่ในกลุ่มที่ 2 ทำให้การออกกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต จึงไม่รุนแรงมากเกินไป เพราะอาจกระทบกลุ่มที่ไม่อยากจ่ายแต่จำใจต้องทำ ดังนั้นแนวทางที่ ก.ล.ต. ดำเนินการลงดาบสนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชันในฝั่งผู้ให้ใต้โต๊ะ คือ

ดาบแรก กำหนดให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ทำแผนการต่อต้านคอร์รัปชัน เป็นหัวข้อหนึ่งรวมอยู่ในรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม (ซีเอสอาร์) ที่จะต้องแจ้งในแบบแสดงรายงานข้อมูลประจำปี 56-1 โดยเริ่มในปี 2556 นี้ และจะเปิดเผยข้อมูลในปี 2557 เพื่อกระตุ้นให้ บจ. ตื่นตัวในการต่อต้านคอร์รัปชัน

ดาบสอง ก.ล.ต. จะประสานกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) ในฐานนะนักลงทุนสถาบัน และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ในฐานะนักลงทุนรายย่อยซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในทุกบริษัท ให้ไปกระตุ้นสมาชิกเมื่อไปร่วมประชุมผู้ถือหุ้นที่จัดเป็นประจำทุกปี ต้องตั้งคำถามกับผู้บริหารบริษัทว่า แผนต่อต้านคอร์รัปชันหรือไม่ มีการนำมาปฏิบัติจริงจังแค่ไหน ทำตามขั้นตอนของ IOD หรือไม่

ดาบสาม ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในแบบแสดงรายงานข้อมูลประจำปี 56-1 ทุกปีว่ามีความก้าวหน้าหรือไม่อย่างไร และจะจัดกกลุ่มเปรียบเทียบบริษัทที่มีความก้าวหน้า กับบริษัทไม่คืบหน้า เพื่อจัดอันดับให้เห็นว่า บริษัทใดมีความคืบหน้า บริษัทใดอยู่เฉยๆ ไม่ทำ แล้วเผยแพร่ให้สื่อมวลชนนำไปเปิดเผยต่อให้สาธารณะชนทราบ

ขณะที่ฝ่ายผู้รับ หรือหน่วยงานราชการ นายชาลีกล่าวว่า มี 3 เรื่อง ที่ส่วนราชการกำลังดำเนินการเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน

เรื่องแรก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มีแนวคิดให้ภาคเอกชนที่ไปติดต่องานกับหน่วยราชการช่วย หากพบขั้นตอนใด หรือกระบวนการใด ที่มีช่องให้ทุจริตได้ให้ส่งเรื่องให้ ก.พ.ร. เพื่อดำเนินการปรับปรุงหรือปิดช่องโหว่นั้น แต่ปรากฏว่าไม่มีการตอบสนองจากภาคเอกชน หรือมีการตอบสนองน้อยมาก

เพราะฉะนั้น แนวทางนี้ไม่ค่อยได้ประสิทธิผล อาจเป็นเพราะเรามีนิสัยที่ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” หรือ “หมูจะหาม อย่าเอาคานเข้ามาสอด” อย่างไรก็ตาม เสนอว่า หากบริษัทใดพบเจอช่องทางการทุจริต แทนที่บริษัทจะเรื่องเสนอเข้าไป ก็ให้ทำผ่านสมาคมที่ตัวเองอยูเพื่อเป็นเกราะป้องกันการถูกคุกคาม

เรื่องที่สอง ต้องมีการทำวิจัยอย่างจริงจัง โดยภาคธุรกิจอาจต้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานที่สนใจศึกษาเรื่องคอร์รัปชัน โดยต้องให้เกิดการพูดคุยกันในเชิงลึก แล้วทำให้เห็นปัญหาในที่แจ้งหรือเผยแพร่ออกมาสู่สาธารณชน เช่น มีการวิจัยพบว่าหน่วยงาน 5 อันดับแรก ที่มีการทุจริตมากที่สุด ก็ประกาศและเผยแพร่ให้สาธารณะชนรับทราบ แล้วทำเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ข้าราชการ หรือหน่วยงานที่ติดอันดับทุจริตมากที่สุด 5 อันดับแรก มีความตื่นตัวที่จะแก้ปัญหา เพื่อที่ปีต่อไปเมื่อมีการจัดอันดับจะได้อยู่อันดับท้ายๆ หรือมีภาพลักษณ์ดีขึ้น

“แนวทางนี้จะเป็นแรงกดดันอีกช่องทางหนึ่งทำให้หน่วยราชการปรับตัว แต่เรื่องนี้ยังไม่มีการทำให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงๆ จังๆ”

เรื่องที่สาม รัฐบาลกำลังพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับอำนวยความสะดวกการพิจารณาการอนุญาตของหน่วยราชการ ซึ่งมี 38 มาตรการ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ บังคับให้หน่วยราชการที่ทำหน้าที่ออกใบอนุญาต ต้องทำคู่มือประชาชน และกำหนดว่าจะใช้ระยะเวลาเท่าไรในการพิจารณาอนุมัติใบอนุญาต และถ้าไม่สามารถดำเนินการได้ตามระยะเวลาที่กำหนดจะต้องทำหนังสือชี้แจงไปที่ผู้ขอว่า ทำไมดำเนินการไม่ได้ และส่งให้ ก.พ.ร. ด้วย และต้องทำหนังสือทุกๆ 7 วัน จนกว่าจะออกใบอนุญาตได้

นายชาลีตั้งข้อสังเกตว่า สาระสำคัญอีกข้อหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้คือ ถ้าเจ้าหน้าที่หน่วยราชการขอข้อมูลไปแล้ว ไม่สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ ดังนั้นอาจมีคนนำกฎหมายนี้ไปใช้ในทางที่ไม่ชอบ เช่น ไปขออนุญาตก่อสร้างอาคารที่รุกที่สาธารณะ ก็อาจให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ ดังนั้น หน่วยงานรัฐที่เจตนาดีอาจออกมาต้านกฎหมายที่มีเจตนาดีด้วย

“ดังนั้น ในการพิจารณากฎหมายต้องเปิดใจกว้างดูทั้ง 2 ด้าน แต่ก็เป็นห่วงว่า กฎหมายนี้จะออกมาบังคับใช้ได้เมื่อไร อาจใช้เวลาชั่วลูกชั่วหลานก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันผลักดันกฎหมายนี้” นายชาลีกล่าว

นายธนกฤต เพิ่มพูนขันติสุข (ซ้าย) นายสุภิรัช โพธิ์ถาวร (ขาว)
นายธนกฤต เพิ่มพูนขันติสุข (ซ้าย) นายสุภิรัช โพธิ์ถาวร (ขวา)

ขณะที่ นายธนฤกต เพิ่มพูนขันติสุข ผู้จัดการทั่วไปและเลขานุการบริษัท บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คณะกรรมการบริษัท และผู้บริหารระดับสูงของบริษัท เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นโยบายต่อต้านคอร์รัปชันในบริษัทประสบผลสำเร็จ โดยสามารถนำนโยบายที่เขียนไว้ไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมได้จริง ซึ่งยอมรับว่าช่วงแรกๆ มีการต่อต้าน เพราะมีความไม่เข้าใจ แต่จากการสื่อสาร และทำความเข้าใจกับพนักงานทุกระดับเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน ช่วยให้การดำเนินนโยบายที่เขียนเป็นกระดาษสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

“บริษัทจะมีการจัดอบรมเรื่องคอร์รัปชัน มีการปลูกจิตสำนึกให้พนักงานทุกคน และทำให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันจะทำให้องค์กรยั่งยืน และประโยชน์ของการได้รับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติฯ คือทำให้ผู้บริหารฮึกเหิมมุ่งมั่นผลักดันนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันและพยายามรักษามาตรฐานให้ดียิ่งขึ้น” นายธนฤกตกล่าว

ด้านนายสุภิรัช โพธิ์ถาวร รองประธานฝ่ายกำกับดูแลธุรกิจ บริษัท เอไอเอ จำกัด กล่าวว่า เราเป็นเพียงสาขาของบริษัทแม่ในฮ่องกง และไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียน แต่เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันเป็น 1 ในกระบวนการประเมินความเสี่ยงที่มีอยู่ 4-5 เรื่องของบริษัท เอไอเอ ดังนั้น แรงต้านเรื่องคอร์รัปชันมีไม่มาก และเอไอเอไม่เน้นเรื่องกฎเกณฑ์ แต่เน้นเรื่องความเข้าใจ และความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งการอบรมพนักงานใหม่จะมีเรื่องผลิตภัณฑ์ เรื่องคอร์รัปชัน อยู่ในการอบรมด้วย

“การได้รับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติฯ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ทำแบบนี้ แนวคิดนี้บริษัทแม่ของเอไอเอได้โยนกลับไปให้ประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ทุกคนประหลาดใจ เชื่อว่าที่ได้รับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติฯ จะเป็นประโยชน์ทำให้ภาพรวมบริษัทดีขึ้นมาก” นายสุภิรัชกล่าว

ทั้งนี้ บริษัทที่ได้ร่วมลงนามแสดงเจตนารมณ์เข้าแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งขณะนี้มี 224 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 81 แห่ง และบริษัทจำกัด 143 แห่ง นั้น นายชาลีกล่าวว่า IOD มีเป้าหมายจะเพิ่่มบริษัทจดทะเบียนให้มาร่วมลงนามแสดงเจตนารมณ์เข้าแนวร่วมปฏิบัติฯ เป็น 200 บริษัทภายใน 3 ปี