เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560 เวลา 10.30 น. นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานที่ประชุมมอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2561 ให้แก่ผู้บริหารกรมศุลกากร หัวหน้าส่วนราชการระดับสำนัก กลุ่มงาน ด่านศุลกากรและผู้เชี่ยวชาญ ณ ห้องภาสกรวงศ์ กรมศุลกากร
ภายหลังการประชุม นายกุลิศกล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2560 กระทรวงการคลังกำหนดเป้าหมายให้กรมศุลกากรจัดเก็บภาษี 120,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากรัฐบาลมีการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการหลายรายการ ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีของกรมศุลกากร กระทรวงการคลังจึงปรับลดเป้าหมายการจัดเก็บภาษีเหลือ 104,000 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2561 กรมศุลกากรสามารถจัดเก็บรายได้ทั้งสิ้น 104,785 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 785 ล้านบาท ส่วนในปีงบประมาณ 2561 กำหนดเป้าหมายการจัดเก็บภาษีไว้ที่ 111,000 ล้านบาท
นายกุลิศกล่าวต่อว่า ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีของกรมศุลกากรในปีงบประมาณ 2561 ที่สำคัญมีดังนี้ 1. การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 เป็นต้นไป โดยนำราคาขายปลีกแนะนำมาใช้ในการจัดเก็บภาษี ระยะแรกอาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีของกรมศุลกากรบ้าง โดยเฉพาะในช่วงนี้กรมสรรพสามิตเปิดให้ผู้ประกอบการต้องมาแจ้งราคาขายปลีกแนะนำ ปรากฏว่ามีผู้นำเข้าบางรายยังไม่มาแจ้ง กรมสรรพสามิตจึงไม่สามารถออกประกาศกำหนดราคาขายปลีกแนะนำส่งมาให้กรมศุลกากรใช้เป็นฐานคำนวณภาษีสรรพสามิตและตรวจปล่อยรถยนต์นำเข้าบางรายได้ หากมีการจัดส่งข้อมูลราคาขายปลีกมาให้เมื่อไหร่ กรมศุลกากรก็พร้อมที่จะตรวจปล่อยรถยนต์ออกจากด่านศุลกากรทันที แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทั้งกรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตกำลังเร่งดำเนินการเชื่อมต่อข้อมูลราคาขายปลีกแนะนำผ่านระบบออนไลน์
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบพิธีการศุลกากร และวิธีการจัดเก็บภาษีหลายรายการ วันที่ 9 ตุลาคม 2560 ตนจะเชิญสมาชิกหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยประมาณ 600 คน มาประชุมที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อซักซ้อมความเข้าใจกับผู้ประกอบการ เกี่ยวกับกระบวนการนำเข้า-ส่งออก เขตปลอดอากร การนำสินค้าผ่านแดน เปิดรับฟังความคิดเห็น ปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงก่อนกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้
ส่วนการนำเข้ารถหรู หรือ “ซูเปอร์คาร์” ภายในสัปดาห์หน้าจะเชิญผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ ตัวแทนจำหน่ายจากโรงงานผู้ผลิตอย่างเป็นทางการ ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศ มาหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ และโครงสร้างภาษีรถยนต์ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยมอบหมายให้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการศึกษา
2. ประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ การปรับลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือ 0% ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-จีน เพิ่มเติมอีก 703 รายการ ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป มีรายการสำคัญๆ ได้แก่ กลุ่มของสินค้าเกษตร กลุ่มรถยนต์นั่งไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) แบตเตอรี่ เครื่องอัดประจุไฟฟ้า ไม่นับรถเมล์ไฟฟ้ายังคงเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 30% ของราคา CIF ตามเดิม การปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของ BOI
นายกุลิศกล่าวต่อว่า หากภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปจากจีนลดเหลือ 0% คงไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ตนและ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ศึกษาหามาตรการเพื่อรองรับผลกระทบจากการปรับลดภาษีตามข้อตกลง FTA ไทย-จีน โดยกรมศุลกากรคงต้องเชิญกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และกระทรวงอุตสาหกรรม มาประชุมเพื่อหามาตรการรองรับ ก่อนที่ข้อตกลง FTA ไทย-จีนจะมีผลบังคับใช้ เช่น จะสามารถเจรจาปรับเปลี่ยนเงื่อนไขได้หรือไม่ เป็นต้น
ดังนั้น กรมศุลกากรจึงได้มีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ในหลายมิติ ได้แก่ 1) พัฒนารูปแบบการจัดเก็บภาษีสินค้า e-commerce (เข้มงวดในการจัดเก็บภาษีสินค้า e-commerce จัดทำฐานข้อมูลสินค้ากลุ่มเสี่ยง และเชื่อมโยงข้อมูลกับต่างประเทศเพื่อการตรวจสอบ)
2) พัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบสินค้า ได้แก่ ด้านราคา (ทำฐานข้อมูลสินค้านำเข้า ฐานข้อมูลสถิติราคาเฉลี่ย และพัฒนาระบบตรวจสอบและมีการแจ้งเตือน) ด้านสิทธิประโยชน์ (จัดทำ KM การตรวจสอบการใช้สิทธิประโยชน์และพัฒนาฐานข้อมูลถิ่นกำเนิดในรูปแบบ Mobile Application) ด้านพิกัดอัตราศุลกากร (พัฒนาฐานข้อมูลพิกัดสินค้า คำวินิจฉัยพิกัดในรูปแบบ Mobile Application) ด้านป้องกันและปราบปรามสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญา (พัฒนาฐานข้อมูล IPR ในรูปแบบ Mobile Application)
3) การเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ (เข้มงวดในการตรวจสอบการสำแดงราคา พิกัด ปริมาณ ค่าระวาง สิทธิประโยชน์ต่างๆ การตรวจสินค้าแบบทีม และการตรวจสอบหลังการตรวจปล่อยสำหรับใบขนสินค้า Green Line)
4) จัดตั้งศูนย์ข้อมูลการข่าวศุลกากร Customs Intelligence Center (CIC) จัดทำข้อมูลความเสี่ยงจากการประมวลผลข้อมูลจากระบบ Big Data ทำข้อมูลการข่าวเพื่อบริหารความเสี่ยง และบูรณาการการตรวจสอบข้อมูลราคา 3 กรมภาษี (กรมสรรพกร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร)
5) เชื่อมโยงข้อมูลการจัดเก็บรายได้ 3 กรมภาษี (การตรวจสอบค่าสิทธิ์ การตรวจสอบราคาขายปลีก และการตรวจสอบบริษัทที่มีความเสี่ยง)
6) การใช้ระบบเทคโนโลยีในการควบคุมทางศุลกากร (X-Ray, CCTV, e-Lock)
นอกจากนี้ กรมศุลกากรมีเจตจำนงแน่วแน่และนโยบายที่ชัดเจนในการบริหารและดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรม โปร่งใส พร้อมรับผิด และส่งเสริมให้มีการเสริมสร้างมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร มีการดำเนินการเพื่อพัฒนาความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน รวมถึงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม โดยออกระเบียบให้ผู้บริหารกรมศุลกากรระดับชำนาญการขึ้นไป หากมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งใหม่ทุกครั้งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อกระทรวงการคลัง ควบคู่ไปกับการลดการใช้ดุลยพินิจ
ตลอดจนเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและตรวจสอบติดตามการดำเนินงานของกรมศุลกากร อีกทั้งได้สร้างภาคีเครือข่ายการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนเพื่อเฝ้าระวังป้องกันมิให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบในทางราชการ ตามนโยบายของนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นกระทรวงแห่งคุณธรรม โดยมีเป้าหมายให้กระทรวงการคลังเป็นกระทรวงที่ปลอดจากการทุจริต และได้ดำเนินการโครงการ “กระทรวงการคลัง: คุณธรรม โปร่งใส ไร้ทุจริต” เพื่อให้บุคลากรในสังกัดมีคุณธรรม จริยธรรม และปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน และได้มอบหมายให้กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานนำร่อง “ศุลกากรคุณธรรม”
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นต้นแบบของการสร้างหน่วยงานที่มีความโปร่งใสและไร้ทุจริตในการปฏิบัติงาน ในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้เริ่มดำเนินการโครงการ “ศุลกากรคุณธรรม” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศุลกากรทุกคนในทุกระดับ เสริมสร้างทัศนคติให้ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส รักษาวินัยและความถูกต้อง ยกระดับการยอมรับของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและภาคประชาสังคม และเพื่อปฏิรูปกรมศุลกากรให้เป็นหน่วยงานที่มีธรรมาภิบาล ตามแนวทางการสร้างองค์กรคุณธรรมของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนในทุกส่วนราชการได้รับทราบนโยบายและร่วมกันดำเนินการโครงการมาครบ 1 ปีแล้ว และจากความร่วมมือร่วมใจของทุกคนในองค์กร จึงได้ร่วมกันกำหนดคุณธรรมอัตลักษณ์ของกรมศุลกากร คือ “รับผิดชอบ สุจริต จิตบริการ” กล่าวคือ
1) รับผิดชอบ (Accountability) คือ การตรงต่อเวลาและไม่เบียดบังเวลาราชการ ร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายให้ประสบความสำเร็จเป็นไปตามมาตรฐาน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้
2) สุจริต (Integrity) คือ การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ และปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และ
3) จิตบริการ (Service mind) คือ การบริการรวดเร็วด้วยความเต็มใจไม่เลือกปฏิบัติ ใช้วาจาสุภาพ ยิ้มแย้มแจ่มใส และเป็นมิตรต่อผู้รับบริการ เพื่อเป็นแนวทางในการเสริมสร้างจริยปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ศุลกากรอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้จัดทำโครงการ “พันธมิตรศุลกากร (Customs Alliances)” ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางในการสื่อสารระหว่างภาคเอกชนกับกรมศุลกากร ในการให้คำแนะนำติดต่อประสานงาน แก้ไขปัญหาและสร้างความชัดเจน ลดข้อโต้แย้งที่จะเกิดขึ้นในด้านต่างๆ ทั้งปัญหาเชิงนโยบายและปัญหาหน้างานปกติ เช่น พิธีการศุลกากร พิกัดอัตราศุลกากร ราคา ถิ่นกำเนิด กฎหมายศุลกากร สิทธิประโยชน์ และปัญหาอื่นๆ โดยมอบหมายเจ้าหน้าที่ศุลกากรจากส่วนกลาง (Account Officer Center: AOC) ทำหน้าที่ติดต่อประสานกับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านของแต่ละพื้นที่ (Account Officer Expert) เพื่อแก้ปัญหาและให้คำปรึกษาอย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินพิธีการทางศุลกากร ตลอดจนได้นำ 12 มาตรการสำคัญมาเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินงาน อันเป็นการสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งกรมศุลกากรได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากภาคเอกชน
ปัจจุบันมีภาคเอกชนร่วมลงทะเบียนเป็นสมาชิกโครงการพันธมิตรศุลกากรแล้วทั้งสิ้น 325 ราย สำหรับปีงบประมาณ 2561 นี้ กรมศุลกากรจะยังคงดำเนินการโครงการพันธมิตรอย่างต่อเนื่องและจะนำผลการประเมินมาปรับปรุง แก้ไข พัฒนาต่อไป และจะเปิดรับสมาชิกใหม่ในระยะที่ 2 เร็วๆ นี้ การดำเนินการทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น กรมศุลกากรให้ความสำคัญมุ่งเน้นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงานภาครัฐ อำนวยความสะดวกทางการค้า ปกป้องสังคม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังวิสัยทัศน์กรมศุลกากรที่ว่า “องค์กรที่มุ่งมั่นให้บริการศุลกากรเป็นเลิศ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยและเชื่อมโยงการค้าโลก” อันเป็นการสอดรับกับคุณธรรมอัตลักษณ์กรมศุลกากร ที่ว่า “รับผิดชอบ สุจริต จิตบริการ” อันเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่กรมศุลกากรต่อไป