ThaiPublica > คอลัมน์ > ห้ามรัฐแข่งกับเอกชน?

ห้ามรัฐแข่งกับเอกชน?

17 กันยายน 2018


บรรยง พงษ์พานิช

เกิดาวิวาทะเกี่ยวกับการประกอบการของรัฐวิสาหกิจ คือ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม โดยมีผู้ยกเอาบทบัญญัติในมาตรา 75 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ระบุว่า “รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมการจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือการจัดทำบริการสาธารณะ” พร้อมทั้งมีการกล่าวอ้างว่า ข้อความนี้มีอยู่ในรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับ ตั้งแต่ฉบับ 2540 เป็นต้นมา

ในฐานะคนที่เชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจแบบ “เสรีนิยมใหม่” (neoliberalism) อย่างผม ย่อมเห็นด้วยกับหลักการในรัฐธรรมนูญมาตรานี้ …แต่ผมก็ได้เคยทักท้วงตลอดมาว่า เป็นมาตราที่ถึงแม้จะมีเจตนาเป้าหมายที่ดี ที่ถูกต้อง แต่ถ้าคำนึงถึงสภาพที่เป็นจริง มันยังเป็นเรื่องที่ขัดกับสิ่งที่เป็นอยู่ สิ่งที่ทำมา ถ้าบังคับใช้ในทันทีย่อมเกิดความวุ่นวายฉิบหายกันไปทั่ว เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว ถ้าจะระบุหลักการไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ควรจะระบุไว้แค่ “รัฐต้องมีเป้าหมายที่จะไม่ประกอบกิจการ…”

เป็นธรรมดาในการพัฒนาประเทศ ที่ในตอนที่ยังเป็นประเทศด้อยพัฒนา ตลาดและเอกชนยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะรับภาระสร้างสินค้าและบริการได้เพียงพอ โดยเฉพาะกิจการสาธารณูปโภคที่ต้องลงทุนขนาดใหญ่ในขณะที่ระยะเริ่มต้นอาจยังไม่คุ้มทุนแต่ก็เป็นของจำเป็น ดังนั้น รัฐจึงจำต้องเป็นผู้ดำเนินการเริ่มต้นทั้งทำในหน่วยงานของรัฐเอง หรือจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจขึ้นมาดำเนินการ

ขึ้นชื่อว่าเป็นวิสาหกิจ (enterprise) นั้นก็ย่อมประกอบการค้าเป็นธรรมดา การให้บริการการขายสินค้าย่อมต้องมีค่าตอบแทน ซึ่งถ้ารัฐทำ จะกำไรขาดทุนอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญต้องมีประสิทธิภาพ หรือถ้าขาดทุนก็ต้องมีเหตุผล ว่าทำไมรัฐจึงควรอุดหนุนผู้บริโภคกลุ่มนั้นๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พิสูจน์กันแล้วทั่วโลกว่าถ้ารัฐทำ หรือถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจที่ควบคุมโดยรัฐ ดำเนินการแบบรัฐ ก็ยากที่จะมีประสิทธิภาพได้ และมักจะมีโกงกินคอร์รัปชันกันมาก เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของเฝ้าระวัง

ดังนั้น ถ้ากิจการใดเอกชนทำได้ รัฐก็ไม่ควรจะเข้าไปทำ หรือแม้กิจการที่รัฐเคยทำ เมื่อเอกชนพร้อมก็ควรเปิดให้เข้ามาแข่งขัน รวมทั้งกิจการที่รัฐเคยทำ ถ้าแปรรูปได้ก็ควรจะ “แปรรูป” ไปเสีย ให้เป็นเอกชน ขายหุ้นไปเสีย แล้วรัฐเอาทรัพยากรไปทำอย่างอื่นที่เอกชนไม่ทำ เช่น ความมั่นคง การศึกษา การอนามัย สิ่งแวดล้อม รวมทั้งรัฐสวัสดิการต่างๆ

…ซึ่งหลักการนี้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ตั้งแต่ยุค 1980’s เป็นต้นมา นำโดย Thatcherism กับ Reaganomics แม้ประเทศที่เคยสมาทานสังคมนิยม Marxist ยังเปลี่ยนมาเป็นระบบตลาด ตั้งหน้าตั้งตาแปรรูปรัฐวิสาหกิจกันแทบทุกประเทศ (ประเทศที่ทำสวนทางอย่างเวเนซุเอลาเราก็เห็นผลกันอยู่)

ทีนี้ การจะปฏิรูปรัฐวิสาหกิจนั้น ชื่อก็บอกว่าต้องค่อยปรับค่อยเป็น ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ในทันที มันต้องเริ่มจากสิ่งที่เป็นจริง จากสภาพที่เป็นอยู่ ประเทศไทยนั้นมีนโยบายแปรรูป ลดบทบาทรัฐใน “วิสาหกิจ” มาตั้งแต่แผนพัฒนาฉบับที่ 5 ยุคป๋าเปรมเมื่อกว่าสามสิบปีมาแล้ว แต่ก็ทำได้ค่อนข้างกระท่อนกระแท่นไม่ส่งผลจริงจัง เพราะผู้เกี่ยวข้องล้วนไม่จริงใจ ไม่จริงจัง เนื่องจากในสภาพแบบที่เป็นอยู่ปัจจุบันนั้น นักการเมืองชอบ-ผู้บริหาร(รัฐวิสาหกิจ)ง่าย-พนักงานสบาย-คู่ค้าอ้วนพี แถมพวก NGO’s ก็ดันเกิด “รักชาติ” อย่างหลับหูหลับตา เข้าทางพวกดูดเลือดไปได้อย่างน่าอัศจรรย์

…ที่ผ่านมาถึงจะมีการนำเข้าตลาดหลักทรัพย์บ้างห้าหกแห่ง ถึงจะเกิดประโยชน์มหาศาล แต่ก็ยังเป็นแค่ครึ่งๆ กลางๆ ไม่เกิดประโยชน์ เกิดประสิทธิภาพ เกิดความโปร่งใสเต็มที่อย่างที่ควร

อย่าง ปตท. ที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2544 ก็ได้ใช้เงินที่ระดมได้ ขยายกิจการ แผ่สยายปีกจนเป็นบริษัทระดับโลก ซึ่งตลอดทางก็ระดมทุนจากตลาด จากนักลงทุนไปกว่าสามแสนล้านบาท โดยที่ยังเป็นของรัฐถือหุ้นอยู่สองในสาม ที่กำไรปีละแสนล้านนั้นไม่นับว่ามากมายอะไรเลย และก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ที่เอาเงินทุนไปก็ต้องพยายามสร้างกำไรให้เต็มที่ ทำอะไรได้ก็ต้องพยายามทำให้เต็มศักยภาพ มีช่องทางให้สร้างคุณค่าก็ต้องทำทุกทาง จะควบรวมอะไร ซื้อกิจการอะไร เพื่อให้เกิด synergy ลดต้นทุน เพิ่มกำไรก็ควรทำทั้งนั้น เพราะนอกจากตัวเองจะได้กำไรเพิ่มแล้ว ยังเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์เต็มที่ เพิ่มผลิตภาพ เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมอีก

กรณีขายกาแฟ ลองนึกภาพปั๊มน้ำมันที่ล้านโล่ง ไม่มีร้านค้า ไม่มีร้านกาแฟ ไม่มีร้านสะดวกซื้อ ไม่มีข้าวแกงถั่วต้มให้ซื้อ มันก็คงจะต้นทุนสูง ค่าการตลาดต้องขึ้นนำ้มันต้องแพงขึ้น แถมถ้าคู่แข่งเขาทำ Shell, Caltex, Esso ก็คงจะครองตลาดน้ำมันอยู่เหมือนเดิม นี่เราก็เห็นกันมาจะจะ ว่า ปตท. สามารถพัฒนาปั๊มได้ดีแค่ไหน จากปั๊มสามทหารสุดเห่ย ไม่มีใครอยากแวะ มาเป็นปั๊มสุดทันสมัยอัดคู่แข่งกระจาย สู้แบรนด์ระดับโลกได้สบาย เผ่นกลับบ้านไปก็หลายราย จนมีมาร์เก็ตแชร์เกือบครึ่ง

ทีนี้ พอขายกาแฟในปั๊มได้ดี มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง มีระบบแบ็คอัพที่ดี ก็เป็นธรรมดาที่ต้องใช้ประโยชน์ขยายไปข้างนอก ขยายไปต่างแดน ไม่เห็นแปลกตรงไหน อย่างโรงแรมตามทางถนนในเขตปั๊มก็เหมือนกัน ถ้ามีโอกาสก็ต้องทำ [ผมเป็นกรรมการบริษัท ดิ เอราวัณกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีกิจการโรงแรมระดับสามดาว Hop Inn อยู่หลายสิบแห่ง ต้องเป็นคู่แข่งโดยตรงกับโรงแรมของ ปตท. ก็ไม่คิดจะโวยวายใช้ข้อกฎหมายไปค้านอะไร เตรียมสู้ด้วยคุณภาพ ด้วยประสิทธิภาพเต็มที่]

อย่างที่มีการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าก็เหมือนกัน ถ้าเขาคิดว่าการควบรวมทำให้เกิดประโยชน์ มี synergy ช่วยลดต้นทุน สร้างขนาด economies of scale และสุดท้ายสร้างมูลค่าเพิ่ม เขาก็ควรเดินหน้าได้ ภาครัฐก็เพียงแต่คอยดูแลควบคุมตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ไม่ให้ผูกขาด ไม่ให้ครอบงำตลาด และดูว่าขัดต่อกฎหมายพลังงานหรือไม่

หรือเรื่องว่า เงินตั้งเยอะ ควรไปลงทุนนวัตกรรมให้พิศดาร แข่งขันสร้างชื่อให้เอิกเกริกแข่ง Samsung อะไรไปโน่นเลยนั่นยิ่งไปใหญ่นะครับ เงินแสนกว่าล้านที่จะใช้นี้ ไม่ได้มีไว้แล้วนะครับ เขาต้องระดมจากตลาดทั้งกู้ทั้งจากตลาดทุน โครงการต้องมีเหตุผล ต้องมีความคุ้มค่า มีความเสี่ยงที่ยอมรับได้นะครับ คนเขาถึงจะให้เงิน ขืนประกาศจะเอาไปทำนวัตกรรมแข่ง Samsung ก็คงหาเงินไม่ได้ แถมหุ้นที่มีอยู่คงถูกถล่มขายราคาติดดิน

เรื่องทั้งหมดนี่ เขามีคณะกรรมการ เขามีบรรษัทภิบาลที่ต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ ต้องรับผิดชอบกันอยู่แล้ว เราต้องไว้ใจเชื่อในระบบเขานะครับ …และที่นักลงทุนต่างประเทศเขาอยากถอนตัวก็เป็นเรื่องธรรมดา เข้ามาได้ก็ต้องออกได้อย่างเสรี การไปขัดขวางโดยไม่มีเหตุผลแบบนี้ ถึงจะกักเงินไว้ได้แต่ต่อไปใครเขาจะอยากมาลงทุน ผลกระทบด้านลบมีมากกว่าตัวเงินที่กักไว้ได้เยอะเลยครับ

เรื่องของ ปตท. นั้น ถ้าเห็นว่าได้ประโยชน์จากรัฐโดยมิชอบตรงไหน ก็ควรไปแก้ตรงจุดนั้น เช่น สัญญาซื้อขายก๊าซ หรือกรณีท่อก๊าซ ถ้ามีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติ ก็ควบคุมราคาได้ แต่อย่าไปบิดเบือนหลักการ เราต้องอยู่บน rule-based ต้องอยู่บน market-based ที่เป็นสากล ไม่ใช่คิดจะทำอะไรแบบ deal-based อย่างที่ลุกขึ้นมาหาเหตุผลค้านนะครับ

ขอกลับมาที่รัฐธรรมนูญมาตรา 75 นั่นอีกที ผมไม่เถียงหรอกครับว่ามันเขียนอย่างนั้นจริงๆ แต่ก็อย่างที่บอกแหละครับ มันเป็นการเขียนที่บกพร่อง ไม่สามารถปฏิบัติได้ โดยเฉพาะกับรัฐวิสาหกิจ ไม่อย่างนั้น …การบินไทยก็ต้องเลิกบิน เลิกขายขนม เลิกขายกล่องงานศพ …กรุงไทย ออมสิน ต้องเลิกให้กู้ เลิกบัตรเครดิต …ทศท. CAT ต้องเลิกธุรกิจโทรคมนาคม (อันนี้น่าจะดีแฮะ) …EGAT เลิกเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า ฯลฯ

ถึงแม้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเรื่องนี้เป็นเรื่องดี แต่การปฏิรูปต้องใช้เวลา ต้องมีขั้นตอนครับ อย่างที่ คนร. เคยวางแผนไว้ ก็คือ กันการบริหารให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส ให้แข่งขันกับเอกชนเต็มที่ ในระยะยาวก็ควรที่จะค่อยๆ แปรรูปไปเสียให้หมด อย่างที่ประเทศพัฒนาเขาทำ

สำหรับผมนั้นชัดเจนครับ ว่าการคัดค้านเรื่องนี้นั้นไม่มีหลักการที่หนักแน่น เป็นการเอาวิจารณญาณหลายเรื่องมาปนๆ กัน ผมคิดว่าเป็นการหลงทาง เป็นการเป๋ในหลักการอย่างแน่นอน ไม่ได้เป็นการมองต่างมุมแต่อย่างใดเลยครับ

…และนี่เป็นเรื่องสำคัญนะครับ เพราะมันไม่ใช่แค่มาเถียงกันเอามัน มันจะมีรายการเป็นแสนล้านบาทที่เป็นไปตามหลักตลาดที่ควรจะเป็น ถ้าภาครัฐดันบ้าจี้ไประงับตามที่เรียกร้องผิดๆ มันจะเกิดผลกระทบตามมามากมาย

…ผมชักสนใจแนวคิดของพรรคการเมืองบางพรรคที่จะขอแก้รัฐธรรมนูญทันทีแล้วครับ ขอฝากแก้มาตรานี้ด้วยก็แล้วกันนะครับ

ป.ล. ตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้วนะครับ ขออย่ามีอะไรให้ต้องเปลี่ยนใจเลยนะครับ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich16 กันยายน 2561