ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > 10 หน่วยงานไทยเซ็นเอ็มโอยูพัฒนาฐานข้อมูล “Oil Fingerprint” สกัดการลักลอบทิ้งน้ำมันลงทะเล

10 หน่วยงานไทยเซ็นเอ็มโอยูพัฒนาฐานข้อมูล “Oil Fingerprint” สกัดการลักลอบทิ้งน้ำมันลงทะเล

22 พฤศจิกายน 2018


นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ
ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลในพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย จนเกิดคราบน้ำมันและก้อนน้ำมันดินหรือ Tar ball พัดขึ้นสู่ชายฝั่งและชายหาดอยู่เสมอๆ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชนในพื้นที่ การท่องเที่ยว และการประมง

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลปี 2560-2561 พบก้อนน้ำมันและคราบน้ำมันบริเวณนอกฝั่งและชายหาดสำคัญไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง เช่น ที่ชายหาดเกาะสมุย เกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี, ชายหาดทุ่งซาง จ.ชุมพร, ชายหาดทุ่งประดู่ จ.ประจวบคีรีขันธ์, และชายหาดแม่รำพึง จ.ระยอง ซึ่งยังไม่สามารถสืบหาแหล่งที่มาของก้อนน้ำมันและคราบน้ำมันดังกล่าวได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องการสืบหาแหล่งที่มาของคราบน้ำมันและก้อนน้ำมัน

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเกิดความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาในการพัฒนาฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย (Development of Crude Oil and Relevant Oil Product Fingerprint Library in Thailand)  โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการจัดทำฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบ หรือ Oil Fingerprint   และวิเคราะห์คราบน้ำมันหรือก้อนน้ำมันเพื่อสนับสนุนการบ่งชี้แหล่งที่มาของก้อนน้ำมันดิบและคราบน้ำมันในประเทศไทยบนพื้นฐานวิชาการภายใต้กรอบมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(เอ็มโอยู) ร่วมกันของ 10 หน่วยงานในการพัฒนาฐานข้อมูลดังกล่าว ไปเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา  ประกอบด้วย กรมควบคุมมลพิษ, กรมเจ้าท่า, กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรมศุลกากร, กองทัพเรือ, วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน),  สมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน, และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบันไทยมีการนำเข้าน้ำมันทั้งหมด 99  แหล่งทั่วโลก โดยมีบริษัทน้ำมันที่เกี่ยวข้องในไทยในการนำเข้า 23 บริษัท ซึ่งหน่วยงานรัฐและเอกชนจะร่วมกันจัดเก็บน้ำมันตัวอย่างของทุกบริษัทมาวิเคราะห์ และทำเป็นฐานข้อมูล เพื่อใช้เทียบเคียง ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์พบคราบน้ำมันและก้อนน้ำมันดิน

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือครั้งนี้เป็นความท้าท้ายของการทำงานของ 10 หน่วยงานในการร่วมกันสืบหาแหล่งที่มาของก้อนน้ำมันดินหรือคราบน้ำมัน เนื่องจากมีกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน โดยในขั้นตอนการวิเคราะห์ ทางวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลฯ จะพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ Chemical Fingerprinting ของน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมัน และคราบน้ำมัน รวมทั้งร่วมแปรผลการวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การสร้างฐานข้อมูล

ส่วนเทคนิคการพัฒนาฐานข้อมูล จะวิเคราะห์ผ่านเครื่องมือที่ทันสมัยตามมาตรฐานสากล เพื่อหาตัวดัชนีชี้วัดทางชีวภาพ หรือสารไบโอมาร์คเกอร์( Biomarker ) ซึ่งเป็นสารเคมีหรือกลุ่มสารเคมีที่มีลักษณะเฉพาะของสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการทับถมของซากสิ่งมีชีวิตที่ก่อกำเนิดเป็นปิโตรเลียม  โดยลักษณะเฉพาะเจาะจงในแต่ละแหล่งปิโตรเลียมนี้เรียกว่าข้อมูลลายนิ้วมือของน้ำมัน  หลังจากนั้นจะนำมาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลลายนิ้วมือที่มีการขนส่งบริเวณใกล้เคียง

สำหรับความร่วมมือจัดทำฐานข้อมูลน้ำมันของประเทศครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยในเฟสแรกมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี  ในการจัดทำฐานข้อมูลน้ำมันดิบที่มีการนำเข้ามาในประเทศไทย หลังจากนั้นหากดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะขยายผลการดำเนินงานออกไปยังผลิตภัณฑ์น้ำมันอื่นๆต่อไป

“กรมควบคุมมลพิษจะทำงานบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานภายใต้เอ็มโอยูดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยมีการร่วมกันกำหนดกรอบแผนการดำเนินงาน รวมทั้งจะเสนอจัดตั้งอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อไป” นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีคพ. กล่าว

ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรม บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรม บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอลฯ หรือจีซี กล่าวว่า  แผนการจัดทำ Oil  Fingerprint   ต้องผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลตัวอย่างน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้อง ก้อนน้ำมันดิน และคราบน้ำมัน ด้วยวิธีการวิเคราะห์ตามมาตรฐานสากล ซึ่งทางจีซีได้เข้าไปสนับสนุนงบประมาณจัดหาเครื่องมือและร่วมแปลผลวิเคราะห์

“คาดหวังว่าการดำเนินงานครั้งนี้จะสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลด้านน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันต่างๆ ที่สำคัญของประเทศไทย ถ้าเรามีมาตรฐานของประเทศ ทุกคนก็รู้ว่าสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งปลายทางผมคิดว่าจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้พอสมควร เพราะผู้ประกอบการคงต้องระมัดระวังมากขึ้นและให้ความร่วมมือ”  ดร.ชญาน์ กล่าว

ขณะที่ทุกหน่วยงานที่ร่วมเซ็นเอ็มโอยูต่างคาดหวังว่า แนวทางดังกล่าวจะสามารถนำไปเป็นฐานข้อมูลสนับสนุนบ่งชี้แหล่งที่มาของคราบน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส รวมถึงสามารถนำไปสนับสนุนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันได้ ทั้งยังสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคมทุกภาคส่วน

10 หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ลงนามความร่วมมือพัฒนาฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบ เพื่อสนับสนุนการบ่งชี้แหล่งที่มาก้อนน้ำมันดิบและคราบน้ำมัน ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2561 มีนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานร่วมลงนาม