ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมคนรุ่นใหม่อยากให้มีการเปลี่ยนเเปลง ส่วนคนรุ่นเก่าอยากให้ทุกอย่างอยู่คงเดิม

ทำไมคนรุ่นใหม่อยากให้มีการเปลี่ยนเเปลง ส่วนคนรุ่นเก่าอยากให้ทุกอย่างอยู่คงเดิม

19 มิถุนายน 2018


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

เคยสงสัยกันไหมครับว่าทำไมเด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ในประเทศที่กำลังมุ่งหน้าเดินไปสู่อนาคตถึงมีความต้องการที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศมาก ซึ่งแตกต่างจากคนรุ่นเก่าที่ส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงซักเท่าไหร่นัก หรือไม่ก็ไม่ค่อยจะแคร์อะไรกับมันมากเท่าๆ กันกับคนรุ่นใหม่

ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะว่าการเปลี่ยนแปลงมักจะเชื่อมโยงกันกับอนาคตที่ไม่แน่นอน และด้วยเหตุผลที่คนที่อายุน้อยกว่ามักจะมีความชอบเสี่ยงมากกว่าคนที่อายุมากกว่า คนรุ่นใหม่จึงมีความต้องการที่จะ “เสี่ยง” เพื่อเปลี่ยนแปลงให้ประเทศนั้นดีกว่าที่เป็นอยู่มากกว่าคนรุ่นเก่า

แต่ผมว่าเหตุผลที่สำคัญยิ่งกว่าอัตราความชอบความเสี่ยง (risk preference) ที่แตกต่างกันระหว่างคนรุ่นใหม่และเก่าก็คือความแตกต่างระหว่าง “ความเป็นจริง” และ “ความคาดหวัง” ที่คนเรามีในแต่ละวัย

จากผลงานวิจัยของ Hannes Schwandt ที่มหาวิทยาลัย Zurich พบว่า สาเหตุที่ความสุขของคนเรานั้นมีหน้าตาเป็นรูปตัว U (คือคนเราส่วนใหญ่มักจะเริ่มชีวิตวัยรุ่นอย่างมีความสุขก่อนที่ความสุขนั้นจะเริ่มลดลงไปเรื่อยๆ และมาต่ำที่สุดตอนกลางชีวิต – สำหรับคนไทยก็อายุประมาณ 44 ปี – ก่อนที่จะกลับไปมีความสุขใหม่ตอนแก่) นั้นเป็นเพราะว่า เราเริ่มต้นชีวิตด้วยการมีความหวังในอนาคตที่สูงมาก ซึ่งความหวังในอนาคตตัวนี้มักจะไม่ค่อย match กับความเป็นจริงในอนาคตเท่าไหร่

ยกตัวอย่างนะครับ ตอนที่คนเราอายุได้ประมาณ 21 คนเรามักจะมีความคาดหวังว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าเราจะต้องมีความสุขมากๆ แน่ๆ แต่ที่ไหนได้พอเราอายุได้ 26 ปุ๊ป ความสุขที่เรามีนั้นกลับน้อยกว่าความสุขที่เราคิดว่าเราจะมีในอีก 5 ปีข้างหน้าตอนที่เรามีอายุได้ 21 ปีมาก

แต่พอเราเริ่มมีอายุมากขึ้น ความคาดหวังเกี่ยวกับอนาคตของเราก็จะเริ่มลดน้อยลงไปเรื่อยๆ พอเราอายุได้ 50 ปี เรามักจะคิดว่าเราคงจะไม่สุขไปกว่านี้อีกแล้วในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ในความเป็นจริงเรากลับมีความสุขมากกว่าที่เราคาดการณ์เอาไว้เยอะ

สรุปก็คือคนที่มีอายุน้อยมักจะค่อนข้างมองโลกอนาคตในแง่ดีเกินไป (over optimistic) ซึ่งก็สามารถส่งผลให้เกิดการคาดคะเนอนาคตที่ผิดได้ ส่วนคนที่มีอายุมากก็มักจะมองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป (over pessimistic) เมื่อเทียบกันกับคนที่มีอายุน้อยกว่าตัวเอง

สรุปคืออะไรครับ

สรุปก็คือทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่านั้นต่างก็ต้องการพึ่งซึ่งกันและกันในการวางแผนการว่าอนาคตของเราควรจะออกมายังไง เพราะถ้าไม่มีคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าก็จะมีความต้องการที่เป็น status quo มากเสียจนเกินไป ซึ่งก็คงไม่ดีต่อโลกอนาคต และถ้าไม่มีคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ก็จะมีความต้องการที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็น absolute ไปเลย ซึ่งก็คงจะไม่ดีต่อโลกอนาคตเช่นเดียวกัน

และด้วยเหตุผลนี้นี่เอง แทนที่ต่างฝ่ายจะเถียงกันเอง ทั้งสองฝ่ายก็น่าจะหาทางคุยกัน ตกลงกัน และยอมรับซึ่งกันและกันดีกว่าเพื่อโลกอนาคตที่เหมาะสมกับทุกๆ คน