ThaiPublica > คอลัมน์ > บทบาทของสถาบันการศึกษาในการสร้างคนรุ่นใหม่

บทบาทของสถาบันการศึกษาในการสร้างคนรุ่นใหม่

29 สิงหาคม 2023


ศาสตราจารย์ ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน

“บทบาทของสถาบันการศึกษาในการสร้างคนรุ่นใหม่” การถอดบทเรียนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน จากปาฐกถาในงาน The 2nd NIC-NIDA Conference, 2023 โดย Prof. Muhammad Yunus

ในสัปดาห์นี้ ผมจะขอใช้พื้นที่นี้ในการถอดบทเรียนพร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนจากการรับฟังปาฐกถาพิเศษจากคนดังระดับตำนานอย่าง Prof. Muhammad Yunus นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี ค.ศ.2006 ที่ได้ก่อตั้ง Grameen Bank ในประเทศบังกลาเทศที่เป็นต้นแบบของวิสาหกิจชุมชนในประเทศกำลังพัฒนา เป็นธนาคารเพื่อคนจน โดยท่านได้ให้เกียรติเป็นองค์ปาฐกในงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ The 2nd NIC-NIDA Conference, 2023 จัดขึ้นที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ซึ่งปีนี้เสวนาภายใต้ theme “New Frontiers of Sustainable Development through Designing and Implementing Re-globalization” ในภาพรวม ท่านจะปาฐกถาในประเด็นต่างๆ ที่ท่านอาจเคยได้ไปกล่าวในงานอื่นๆ ไว้บ้างแล้ว แต่ในปาฐกถานี้จะเน้นที่บทบาทของสถาบันการศึกษาในการสร้างอารยธรรมใหม่ในอุดมคติของท่าน โดยแบ่งเป็นมุมมองด้านต่างๆ ดังนี้ครับ

  • การเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ต่อการจ้างงานมนุษย์
  • Prof. Yunus ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการพัฒนายกระดับปัญญาประดิษฐ์ ให้มีความฉลาดและมีประสิทธิภาพโดยปราศจากการแทรกแซงของมนุษย์ ท่านเชื่อว่าบทบาทของ AI ที่จะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อมันเป็นเครื่องมือให้มนุษย์ใช้เพื่อลดการทำงานที่ไม่จำเป็นลง ทำให้มนุษย์มีเวลามากขึ้นเพื่อใช้ความคิดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับโลกมากขึ้น แต่หากสร้างให้ AI ฉลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีการแทรกแซงจากมนุษย์ AI จะเริ่มส่งผลต่อการจ้างงาน ทำให้อัตราการว่างงานอาจเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต ผมมีความเห็นว่า ท่านกำลังสื่อว่า AI จะทำให้ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนที่เข้าถึงและสามารถใช้ประโยชน์จาก AI ไปทดแทนชนชั้นแรงงาน ทำให้แรงงานที่เข้าไม่ถึง AI หรือพัฒนาทักษะไม่ทัน AI ก็จะยากจนขึ้น และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หาก AI เรียนรู้และพัฒนาไปอย่างไร้การควบคุมที่ถูกต้องโดยมนุษย์

  • “ความหายนะจากสภาวะโลกร้อนที่จะนำพาเรากลับไปสู่ความเสื่อมของอารยธรรม”
  • ผมชอบและเห็นด้วยกับวลีหนึ่งจากงานสัมมนานี้คือ “We have no sense of urgency that our house is on fire” ที่ท่านได้กล่าวว่า หายนะที่กำลังเกิดขึ้นกับอารยธรรมหรือโลกที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ เป็นผลมาจากการกระทำของเรา ทั้งปัญหาอุณหภูมิที่สูงขึ้นและปัญหาขยะล้นโลก ที่ดูเหมือนมนุษย์เราจะยินดีกับความมั่งคั่งที่กอบโกยใส่ตัวโดยไม่รู้ว่าการกระทำนี้จะนำมาสู่หายนะในอนาคตเนื่องจากสภาวะโลกร้อนและมลพิษ

    และที่น่าสงสารคือมนุษย์ไม่รู้ถึงหายนะว่ามาใกล้ตัวเพียงใด เพราะมัวแต่เห็นแก่ผลประโยชน์ระยะสั้น จนตามืดมัว มองไม่เห็นภัยใกล้ตัวที่กำลังจะมาเยือนมนุษย์ในไม่ช้า ก็เพราะ “ความโลภ” นั่นเอง

  • “สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 กับปัญหาการกระจุกตัวของความมั่งคั่ง”
  • ปัญหาหนึ่งที่ Prof. Yunus หยิบยกขึ้นมาพูดถึง ก็คือปัญหาการกระจุกตัวของความมั่งคั่ง (Wealth Concentration) ซึ่งความมั่งคั่งเกือบทั้งหมดในโลกนี้อยู่ในมือของคนกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่กลุ่ม สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ผ่านมาถือเป็นโอกาสดีที่มนุษย์จะมาร่วมกันออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือจากการแพร่ระบาดนี้กลับทำให้ปัญหาการกระจุกตัวของความมั่งคั่งเพิ่มมากขึ้น วัคซีน COVID-19 ถูกจดสิทธิบัตรคุ้มครอง และมีเพียงไม่กี่บริษัทในไม่กี่ประเทศที่มีสิทธิบัตร จะเห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่สามารถสร้างกำไรได้มหาศาลจากวัคซีนนี้ และถ้าหากพวกเรายังคงปล่อยให้ชีวิตถูกกำหนดด้วยระบบเศรษฐกิจแบบเดิมๆ เช่นนี้ต่อไปอีก ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ในมือของผู้ถือหุ้นของบริษัทยาเพียงไม่กี่บริษัท ในขณะที่ประชากรที่เหลือของโลกต้องแบกรับผลของความเหลื่อมล้ำในระยะยาวแล้ว ความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำในด้านรายได้ในอดีตที่ผ่านมากว่า 30 ปี ก็คงเปล่าประโยชน์ เห็นทีพวกเราคงต้องกลับไปเริ่มต้นลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้กันใหม่อีกครั้งกันแล้ว

  • “หน้าที่สำคัญของสถาบันการศึกษาก็คือการสอนคนให้มีความคิด”
  • จากประเด็นตัวอย่างทั้งที่ได้กล่าวไปแล้ว พบว่า “ความยากจน” เกิดจากรากฐานความคิดของระบบเศรษฐกิจที่ผิดพลาด โลกที่มุ่งเน้นแต่กำไร โลกที่เต็มไปด้วยขยะและสภาวะโลกร้อนรวมถึงโลกที่มนุษย์ตกงานเพราะปัญญาประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมกันออกแบบโลกใบใหม่ โดยสถาบันการศึกษาจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยกันสร้าง “มนุษย์พันธุ์ใหม่” ที่มีแนวคิดในการสร้างระบบเศรษฐกิจและอารยธรรมใหม่ ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความโลภและการทิ้งปัญหาให้กับคนรุ่นต่อไปมารับผิดชอบ สถาบันการศึกษาควรจะสอนให้คนลดความโลภ ลดการแสวงหาผลประโยชน์และกำไรที่มากเกินไป เพื่อสร้างโลกแห่งการแบ่งปัน เพื่อให้อารยธรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น

    คนรุ่นใหม่จึงมีหน้าที่ในการสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ ระบบทุนนิยมที่เราใช้ชีวิตกันอยู่นี้นำพาเราไปสู่เป้าหมายเหล่านั้นไม่ได้ สถาบันการศึกษาจึงต้องเป็นแกนนำในการออกแบบวิธีคิดเพื่อไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่นี้

    Prof. Yunus ได้กล่าวถึงทางออกในประเด็นดังกล่าวโดยการสร้างธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) ขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาการว่างงานโดยสร้างกลไกส่งเสริมผู้ประกอบการตามแนวคิด 3ZERO Initiative ที่เป็นข้อเสนอต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน โดยเจาะลึกแนวทางการแก้ปัญหาในประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งสามประเด็นของโลก ได้แก่ ความยากจน การว่างงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไม่ได้มุ่งเน้นการแสวงหากำไรสูงสุด ไม่ทิ้งปัญหาให้กับคนรุ่นต่อไป

    ผมเห็นด้วยกับท่านว่า คงถึงเวลาแล้วที่สถาบันการศึกษาทั้งหลายต้องทบทวนบทบาทในการพัฒนาคนใหม่ ให้มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าของมนุษย์ สร้างวิถีใหม่แห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี ไม่มุ่งเน้นการแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดโดยละเลยสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ ในการออกแบบกระบวนการศึกษาจะต้องมีเวทีให้คนรุ่นใหม่ได้ลงมือทำผ่านการเรียนรู้ทั้งในและนอกชั้นเรียนให้มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม เราจึงจะสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความโลภและไม่ทิ้งปัญหาให้กับคนรุ่นต่อไปมารับผิดชอบ การพัฒนาที่ยั่งยืนที่แท้จริง จึงจะเกิดขึ้นได้

    ผมคิดว่า แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมตามแนวทางของ Prof. Yunus ที่ท่านนำต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคม Grameen Bank ในประเทศบังกลาเทศ มาขยายผลผ่าน Yunus Center ในสถาบันการศึกษาชั้นนำตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่จะให้คนรุ่นใหม่ได้มีกิจกรรมร่วมกับสังคมในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ทดลองคิด ทดลองทำ และฝึกการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมได้ดีโดยใช้ Project-based learning approach ผู้เรียนจะเรียนรู้โดยตรงจากปัญหาและการแก้ปัญหาจริงร่วมกับคนในชุมชนโดยนำภูมิปัญญาจากชุมชน มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษา

    อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนให้รูปแบบการเรียนรู้ในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ คงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยกลไกที่ออกแบบร่วมกัน (collaborative model) ระหว่างชุมชน สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาคเอกชนและจากภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนจึงจะประสบความสำเร็จ ทำให้รูปแบบการเรียนรู้โดยตรงจากปัญหาและการแก้ปัญหาจริงสัมฤทธิ์ผลขึ้นมาได้ ลำพังสถานศึกษาแต่เพียงฝ่ายเดียวอาจไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ ผู้เรียนเองก็คงต้องมีมุมมองในการเรียนแบบใหม่ พร้อมเปิดใจรับฟังชุมชนและมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาให้กับสังคมด้วย จึงจะทำให้แนวคิดการสร้างผู้ประกอบการเพื่อสังคมตามแนวคิดของ Prof. Yunus สำเร็จได้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง