ThaiPublica > คอลัมน์ > วลีเขย่าใจ

วลีเขย่าใจ

28 มิถุนายน 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

ท่านผู้อ่านเป็นเหมือนผู้เขียนไหมครับ เมื่อได้ยินบางวลีหรือประโยคแล้วมันเขย่าใจให้คิด วันนี้ขอเอามาแบ่งปันกันเพื่อเป็นอาหารสมอง และนำไปใช้ต่อ สิ่งที่ทำให้ “ตาสว่าง” หรือ “เขย่าใจ” ให้คิดนั้นแบ่งออกได้ดังนี้ (1) ความคิด (2) ประสบการณ์ (3) วลีหรือประโยค

ความคิดของคนบางคนกระทบใจ เช่น ไอเดียที่ตูน บอดี้สแลม วิ่งเป็นพันกิโลเมตรเพื่อหาเงินช่วยโรงพยาบาล หรือความคิดว่าบุคลิกลักษณะ (character) ของมนุษย์เป็นตัวกำหนดชะตากรรม (destiny) หรือการมีกิริยามารยาท มีความสุภาพให้เกียรติคนอื่น (civility) เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งของความสำเร็จในชีวิต

ประสบการณ์ที่เราพานพบก็เขย่าใจเช่นกัน เช่น รับทราบเรื่องคนขาดแขนขาดขาสู้ชีวิตแบบยิบตา หรือแม่คนเดียวกัดฟันเลี้ยงลูกจนได้ดี หรือเรื่องราวของคนที่มีวินัยสูงในการดูแลชีวิตตนเอง

เรื่องสำคัญที่จะกล่าวถึงก็คือวลีหรือประโยคที่เขย่าใจ ขอตั้งโจทย์ดังนี้ “วลีหรือประโยคใดที่ทำให้ ‘ตาสว่าง’ หรือ ‘เขย่าใจ’ ที่สุดที่คุณเคยได้ยิน” ซึ่งผู้เขียนรวบรวมมาได้ดังต่อไปนี้

  • “คุณต้องการอะไรในชีวิต” (นักจิตวิทยาชอบพูดประโยคนี้เพราะมันสามารถวิเคราะห์บุคลิกได้ สิ่งใดขับเคลื่อนชีวิตของเราในขั้นพื้นฐาน เงินทอง อำนาจ ชื่อเสียง การอยู่รอด ความสุข การต้องการความมั่นคง ฯลฯ
  • “เมื่อคุณมีชีวิตเหลืออีก…เปอร์เซ็นต์ คุณจะทำอะไรกับมัน” (หากใช้อายุขัยเฉลี่ยเป็นเกณฑ์ก็พอคำนวณได้ หากตายไปก่อนก็ยิ่งมีเปอร์เซ็นต์เหลือน้อยลงไปอีก)
  • “เมื่อตายไปแล้ว คุณอยากให้คนนึกถึงคุณว่าอย่างไร” (ไม่ว่าจะเป็นคนเดินดิน หรือคนมีชื่อเสียงที่เหาะได้ ล้วนมีครอบครัวลูกหลานและคนรู้จักด้วยกันทั้งนั้น ที่ต้องนึกถึงว่าจะให้เขานึกถึงเราอย่างไร)
  • “คนทุกคนจะถูกลืม” (ความจริงที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้)
  • “เมื่อคุณมีชีวิตเดียว คุณจะทำอย่างไรให้ชีวิตคุณมีความหมาย”
  • “คุณภูมิใจอะไรที่สุดในชีวิต” (บางคนอาจนึกถึงรูปธรรม เช่น ความมั่งคั่ง ปริญญา หรือความรู้ที่มี ตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ แต่ยังมีอีกฟากของนามธรรมที่ควรใคร่ครวญ)
  • “ถ้าต้องตายในเวลาสองเดือน คุณจะทำอะไรกับเวลาที่เหลือ”
  • “คุณจะใช้หนี้โลก (และ “แผ่นดิน”) ในห้วงเวลาที่เหลืออย่างไร”
  • “วันนี้ (อาทิตย์นี้) คุณได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง โดยเฉพาะจากชีวิตคนอื่น” (ผมชอบคำอวยพรให้พบเรื่องราวดีๆ ที่เป็นกำลังใจให้ชีวิต เพราะทุกผู้ทุกนามล้วนต้องการกำลังใจด้วยกันทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้างตามสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในชีวิตในช่วงเวลาต่างๆ กัน)
  • “ชีวิตดำเนินต่อไปเสมอ” (ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าคุณสูญเสียอะไร ทุกชีวิตก็ดำเนินต่อไปข้างหน้าด้วยกันทั้งสิ้น มนุษย์ทุกคนต้องดำรงชีวิตต่อไปตามเวลาที่ไม่มีวันหยุด
  • “คุณบริโภคทรัพยากรของโลกมาก็มากมายแล้ว คิดจะชดใช้มันอย่างไรบ้าง”
  • “วันนี้คุณได้ทำอะไรให้คนอื่นได้ชื่นใจบ้าง”
  • “หากย้อนเวลากลับไปได้ สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณจะทำมันใหม่คืออะไร”
  • “หากต้องตายวันพรุ่งนี้ อะไรเป็นคำสอนที่คุณจะทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง” (คุณมีประสบการณ์ มีปัญญา ได้เรียนรู้ชีวิตมาก็มาก ดังนั้นย่อมมีอะไรในใจที่จะทิ้งไว้ให้เป็นประโยชน์แก่คนรุ่นต่อๆ ไปอย่างแน่นอน)
  • “ชีวิตคือการถูกสุ่มเลือก (life is random)” (เรากำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น อีกส่วนหนึ่งถูก “สุ่มเลือก” โดยสิ่งใดก็อธิบายไม่ได้ เช่น “ถูกสุ่มเลือก” ให้เสียชีวิตในวัยอันไม่สมควร ให้เจ็บไข้ ให้ถูกล็อตเตอรี่ ให้ถูกภัยพิบัติ ฯลฯ)
  • “อย่าให้ความสำคัญแก่เรื่องความรัก (แบบหนุ่มสาว) จนเกินควร” (คนบางคนหมกมุ่นกับเรื่องการต้องมีความรัก ต้องมีคนรักจนเสียงานเสียการ และชีวิตไม่รุ่งอย่างที่สมควรจะรุ่ง)
  • “ทุกการเดินทางที่ยาวไกล เริ่มต้นด้วยก้าวแรกเสมอ”
  • “การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์”
  • “จงอยู่กินต่ำกว่าฐานะเสมอ” (มีรายได้พอจะอยู่กินตามฐานะของการมีเงินระดับนั้น แต่อยู่กินต่ำกว่านั้นเพื่อจะได้มีเงินออม)
  • “การลงทุนที่สำคัญที่สุดคือการลงทุนในตัวเอง”
  • ”โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” (ทุกอย่างล้วนได้มาจากการต้องเอาบางสิ่งไปแลกเปลี่ยนมาทั้งสิ้น อยากมีชีวิตที่มีความสุขก็ต้องยอมอดทนไม่ทำบางสิ่งและต้องทำบางสิ่ง)

มนุษย์ไม่ได้มีชีวิตที่มีความสุขเพราะบริโภคอาหารแต่เพียงอย่างเดียวประกอบกับน้ำไม่ได้ฉันใด เราก็ขาด “อาหารสมอง” ไม่ได้ฉันนั้น

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 26 มิ.ย. 2561