ThaiPublica > เกาะกระแส > โครงการ “ความฝันในฟุตบอล” ของกาตาร์ ปฏิบัติการค้นหา “ลีโอเนล เมสซี่” คนใหม่

โครงการ “ความฝันในฟุตบอล” ของกาตาร์ ปฏิบัติการค้นหา “ลีโอเนล เมสซี่” คนใหม่

26 มิถุนายน 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ลีโอเนล เมสซี่ นักฟุตบอลที่ได้รับการยอมรับว่ามีอัจฉริยะด้านสติปัญญาการเล่น ที่มาภาพ : independent.co.uk

นายโจเซป โคโลเมอร์ (Josep Colomer) ถือเป็นคนที่รู้เรื่องเกี่ยวกับฟุตบอลมากที่สุดคนหนึ่ง เขาเป็นผู้อำนวยการ ฝ่ายนักฟุตบอลเยาวชน ที่โด่งดังของสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลน่า เอฟซี และเป็นคนที่สร้างลีโอเนล เมสซี่ ให้กลายเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลที่ดีที่สุด ในประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลโลก

ในปี 2007 โคโลเมอร์เดินทางไปไนจีเรีย เขาไม่ได้ไปทำธุรกิจขุดเหมืองเพชรหรือทองคำ ที่ฝังอยู่ใต้ดินของประเทศนี้ แต่ต้องหาค้นหาอะไรบางอย่างที่อยู่บนดิน วิทยาศาสตร์สามารถช่วยบอกได้ว่า จะขุดพบเพชรหรือทองคำหรือไม่ แต่สิ่งที่โคโลเมอร์พยายามค้นหา ต้องอาศัยสัญชาตญาณ ที่มาจากการสะสมประสบการณ์มาหลายปี สิ่งที่เขาค้นหานั้น หาได้ยากกว่าเพชรหรือทองคำ เพราะเขากำลังค้นหานักฟุตบอลที่จะกลายเป็น “ลีโอเนล เมสซี่” คนใหม่

“ความฝันในฟุตบอล”

ในหนังสือ The Away Game ผู้เขียนคือ Sebastian Abbot กล่าวว่า ในปี 2007 โคโลเมอร์และทีมงานของเขา เริ่มดำเนินการที่อาจเรียกได้ว่า เป็นปฏิบัติการครั้งใหญ่สุดในวงการกีฬาโลก คือการทดสอบบรรดาพวกเด็กๆในแอฟริกา 7 ประเทศ จำนวน 4 แสนคน เพื่อค้นหาซุเปอร์สตาร์คนใหม่ของวงการกีฬาฟุตบอล

การดำเนินการครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ความฝันในฟุตบอล” (Football Dreams) ที่ครอบคลุมหลายสิบประเทศในแอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทำการทดสอบเด็กมากกว่า 5 ล้านคน ในแต่ละปี ทีมงานจะคัดเลือกนักฟุตบอลเด็กดีที่สุด จำนวนเพียงหยิบมือเดียว แล้วก็นำมาฝึกที่สถานบันพิเศษด้านกีฬา เพื่อที่จะสร้างให้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ Sebastian Abbot กล่าวว่า จะเรียกเด็กพวกนี้ว่าเป็นกลุ่มคนชั้นนำ ก็ดูจะน้อยเกินไป เพราะกระบวนการคัดเลือกนักฟุตบอลรุ่นเยาว์นี้ ยากกว่าการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดถึงหนึ่งพันเท่า

พวกแมวมองที่ค้นหาซุเปอร์สตาร์ จะเล็งไปที่เด็กอายุ 13 ปี เพื่อที่ผู้ฝึกสอนของสถาบันฟุตบอลจะมีเวลาพอที่จะสร้างเด็กขึ้นมาเป็นนักฟุตบอลอาชีพ หลังจากที่เด็กจบจากสถาบันไปแล้วเมื่ออายุ 18 ปี จำนวนเด็กที่พวกแมวมองค้นหาปีหนึ่งราว 5 แสนคน จะเปรียบเทียบก็คือ เราทำการทดสอบและค้นหาเด็กอายุ 13 ปี ในอาร์เจนตินา บราซิล เยอรมนี และฝรั่งเศส เพื่อมองหาเมสซี่ เปเล่ แบกเคนเบาร์ หรือซีดาน

แต่ทีมพวกแมวมองค้นนักฟุตบอล ให้ความสำคัญกับแอฟริกามากที่สุด นักเขียนชาวสเปนชื่อ Manuel Vazquez Montalban เขียนไว้ว่า “ฟุตบอลคือศาสนาที่แสวงหาเทพเจ้า” ข้อความนี้เป็นความจริงมากที่สุดในแอฟริกา ฟุตบอลได้รับความนิยมและการคลั่งไคล้บูชาในทุกประเทศของแอฟริกา โดยเฉพาะบรรดาพวกเด็กๆ ที่ผ่านมา ฟุตบอลของยุโรปได้สร้างซุเปอร์สตาร์จากแอฟริกามาแล้วหลายคน เช่น Samuel Eto จากคาเมอรูน Didier Drogba และ Yaya Toure มาจากไอวอรี โคสต์ ปัจจุบันนี้ 10% ของนักฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ เป็นนักเตะจากแอฟริกา

สถาบันสร้าง “เมสซี่” คนใหม่

Aspire Sport Complex ของ กาตาร์ ที่มาภาพ : aspire.qa

“ความฝันในฟุตบอล” เป็นโครงการของกาตาร์ ประเทศที่มั่งคั่งจากก๊าซธรรมชาติ กาตาร์มีรายได้จากก๊าซธรรมชาติและน้ำมันปีหนึ่งราว 100 พันล้านดอลลาร์ มีประชากรอาศัยอยู่ 2 ล้านคน แต่มีเพียง 300,000 คนที่เป็นพลเมืองกาตาร์ รายได้ต่อคนจึงสูงถึง 700,000 ดอลลาร์ เมืองหลวงโดฮาเหมือนร้านค้าปลอดภาษีของสนามบิน โทรสารของสถานทูตสหรัฐฯในปี 2008 เรียกประเทศนี้ว่า “ธุรกิจครอบครัว ที่มีที่นั่งในสหประชาชาติ ในอีกไม่นาน กาตาร์จะมีเงินมากกว่าที่จะรู้ว่า จะเอาเงินไปใช้ทำอะไร”

ความมั่งคั่งดังกล่าวได้เปลี่ยนกาตาร์จากหมู่บ้านประมง ให้กลายเป็นมหานครแบบเกาะแมนฮัตตัน และมีฐานะโดดเด่นในวงการระหว่างประเทศ จนคนกาตาร์เองพูดตลกๆว่า คนเคยรู้จักกาตาร์ดีที่สุด ในช่วงที่ไม่ใครเคยรู้จักประเทศนี้เลย แต่ความมั่งคั่งทำให้ผู้ปกครองประเทศ ต้องการจะสร้างความสนใจของนานาชาติต่อกาตาร์ นอกจากเอาเงินไปลงทุนตั้งสำนักข่าวอัลจาซีร่า ซื้อร้านสรรพสินค้า Harrods และภาพศิลปะต่างๆแล้ว กาตาร์ยังต้องการที่จะประสบความสำเร็จในฟุตบอล กีฬาที่ได้รับความนิยมจากคนทั่วโลกมากสุด

แต่กาตาร์ไม่ได้มีประวัติโดดเด่นเลยในเรื่องฟุตบอล คนกาตาร์เองนิยมดูกีฬาฟุตบอลมากสุด แต่เป็นการดูฟุตบอลของยุโรปทางโทรทัศน์ เวลามีการแข่งขันระหว่างสโมสรฟุตบอลในประเทศ มีคนกาตาร์ไม่กี่ร้อยคนเข้าดู ทั้งๆที่กาตาร์มีสนามฟุตบอลทันสมัยชื่อ Aspire Sport Complex ลงทุนสร้างเป็นเงิน 1.3 พันล้านดอลลาร์ ประกอบด้วยสนามฟุตบอลความจุ 40,000 ที่นั่ง ทั้งสนามติดเครื่องปรับอากาศ โรงแรม 5 ดาว 2 แห่ง โรงพยาบาลวิทยาศาสตร์กีฬา และศูนย์การค้า

คนที่เป็นมันสมองในการจะสร้างให้กาตาร์ เป็นมหาอำนาจฟุตบอลคือ ชีคจัซซิม บิน ฮามัด อัล ธานิ (Jassim bin Hamad Al Thani) โอรสของเจ้าผู้ครองกาตาร์ ชีคจัซซิมเป็นคนที่คลั่งไคล้ในฟุตบอล และต้องการสร้างทีมฟุตบอลกาตาร์ ที่จะสามารถแข่งขันในเกมนานาชาติ ที่ผ่านมากาตาร์ซื้อตัวนักฟุตบอลจากบราซิลและเยอรมัน เพื่อมาเล่นในทีมชาติของกาตาร์ ปี 2006 ทีมฟุตบอลกาตาร์ชนะเลิศฟุตบอลในเอเชียนเกม แต่ศูนย์หน้าของทีมกาตาร์มาจากอูรุกวัย และประตูจากเซเนกัล แต่วิธีการนี้ของกาตาร์ ทำให้ FIFA ต้องออกกฎเข้มงวดมากขึ้น เรื่องนักฟุตบอลเปลี่ยนสัญชาติ

นอกจากจะสร้างทีมฟุตบอลของกาตาร์ ชีคจัซซิมมีแนวคิดที่จะให้กาตาร์เป็นศูนย์การฝึกนักฟุตบอลของกาตาร์ ให้มีฝีเท้าระดับโลก โดยการสร้างสถาบันฝึกอบรมที่ทันสมัย การจ้างครูผู้ฝึกสอน และนักวิทยาศาสตร์กีฬาที่ดีที่สุด แต่ก็มีอุปสรรคมากมาย กาตาร์นอกจากจะมีพลเมืองน้อยสุดในโลก คนกาตาร์ยังเป็นคนอ้วน น้ำหนักเกิน ไม่ออกกำลังกาย เพราะจะทำอะไร ก็มีคนรับใช้ จะไปไหนก็ขับรถยนต์โตโยต้า แลนด์ครูเซอร์ เด็กอาร์เจนติน่าทุกคน เมื่อโตขึ้นก็ฝันที่จะกลายเป็นเมสซี่ แต่การนักฟุตบอลอาชีพ ไม่ได้มีเกียรติยศศักดิ์ศรีอะไรในกาตาร์

แต่ชีคจัซซิมก็ไม่ย่อท้อ เพราะกาตาร์มีเงินมหาศาล ที่จะนำมาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ปี 2005 เมื่อกาตาร์เปิดตัวสถาบัน Aspire Academy ได้มีการเชิญเปเล่และดิโก้ มาราโดน่ามาร่วมงาน แต่งานที่ยากของ Aspire Academy คือการสร้างทีมฟุตบอลระดับโลก ทางสถาบันจึงจ้างนาย Andreas Bleicher ผู้อำนวยการ มหาวิทยาลัยการกีฬาของเยอรมัน เมืองโคโลญ ให้มาเป็นผู้อำนวยการกีฬาของ Aspire Academy

หลังจากทดสอบบรรดาเยาวชนในกาตาร์ Andreas Bleicher ได้ข้อสรุปว่า เยาชนกาตาร์ที่มีศักยภาพด้านฟุตบอลมีจำนวนน้อย โครงการมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ของชีคจัซซิม จะเกิดผลได้ ต้องนำเอานักฟุตบอลจากที่อื่น ที่มีคุณภาพ และมีกำลังใจสูง มาร่วมงานกับทีมฟุตบอลของกาตาร์ โดยการให้ทุนมาฝึกฝนที่ Aspire Academy และแอฟริกาก็คือคำตอบ เยาวชนในแอฟริกามีความมุ่งมั่นสูง ใช้เวลาส่วนใหญ่เล่นฟุตบอลบนถนน แต่ขาดการฝึกฝนแบบเป็นทางการ

ในปี 2006 ชีคจัซซิมเห็นชอบกับการดำเนินการเพื่อค้นหาอัฉริยะทางกีฬาที่ใหญ่สุดของโลก นอกจากจะช่วยสร้างทีมฟุตบอลกาตาร์ โดยการสร้างนักฟุตบอลที่จะมีฝีมือระดับโลก ยังเป็นโครงการด้านมนุษยธรรม ที่ช่วยนักฟุตบอลจากแอฟริกา หากสามารถค้นพบและพัฒนาให้เป็นนักฟุตบอลซุเปอร์สตาร์ ก็จะสร้างชื่อเสียงให้กาตาร์เป็นประเทศแนวหน้าด้านฟุตบอล ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของโครงการ “ความฝันในฟุตบอล” ที่เปิดตัวในปี 2007

การลงทุนมหาศาลจะทำให้กาตาร์มีทีมฟุตบอลระดับแนวหน้าของโลกขึ้นมาได้หรือไม่ หลายประเทศก็มีเป้าหมายดังกล่าว The New York Times รายงานว่า จีนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ต้องการสร้างตัวเองขึ้นมาเป็นมหาอำนาจฟุตบอล จีนมีเป้าหมายที่จะลงทุนสร้างศูนย์ฟุตบอล 20,000 แห่ง สร้ามฟุตบอลใหม่ 60,000 สนาม และส่งเสริมให้คนจีนเล่นฟุตบอล 20 ล้านคน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็ต้องการให้ฟุตบอลมาสร้างเศรษฐกิจเชิงกีฬา

แต่จีนก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ไม่มีวัฒนธรรมฟุตบอล ประวัติด้านฟุตบอลล้มเหลวมาตลอด จนมีเรื่องตลกฟุตบอลในจีนว่า เมื่อแฟนฟุตบอลคนหนึ่งตายไป และขึ้นสวรรค์ พระเจ้าอนุญาตให้อธิฐานได้อย่างหนึ่ง เมื่อชายคนนั้นขอในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ พระเจ้าอนุญาตให้อธิฐานเป็นครั้งที่สอง แฟนฟุตบอลคนนั้นกล่าวว่า “ผมขอให้จีนชนะฟุตบอลโลก” พระเจ้าตอบกลับไปว่า “ให้อธิฐานใหม่อีกครั้ง”

ที่มาภาพ : aspire.qa

ทักษะ “สติปัญญาการเล่น”

ในบทความชื่อ How Not to Scout for Soccer Talent ในนิตยสาร The Atlantic ผู้เขียนคือ Laurent Dubois กล่าวว่า นับจากทศวรรษ 1980 สโมสรฟุตบอลในยุโรปเริ่มมีการตั้งสถาบันฟุตบอลเยาวชนขึ้นมา เพื่อมองหาและพัฒนานักฟุตบอลรุ่นเยาว์ การแข่งขันระหว่างเด็กเยาวชนสูงมาก จากการศึกษาของนักวิชาการในอังกฤษ เยาวชนในโครงการนี้ 10,000 คน มีเพียง 100 คนเท่านั้น ที่จะกลายเป็นนักฟุตบอลอาชีพ

การที่ต้องใช้วิธีการเหวี่ยงแห่มองหาเยาวชนที่จะมีศักยภาพด้านฟุตบอล เพราะเป็นเรื่องยากที่จะระบุว่าเยาวชนคนไหนมีทักษะ ความสามารถ และความมุ่งมั่น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยจะทำให้ประสบความสำเร็จ ฟุตบอลไม่ได้ต้องการเฉพาะเจาะจงว่า ต้องมีร่างกายแบบไหน ในช่วงวัยเด็ก ลีโอเนล เมสซี่มีปัญหาความบกพร่องด้านฮอร์โมน ทำให้สูงแค่ 170 ซม. แต่เมื่อเติบโตขึ้นมา เมสซี่มีทักษะที่พวกครูฝึกสอนฟุตบอลเรียกว่า “สติปัญญาการเล่น” (game intelligence) หรือไหวพริบในการเล่นนั้นเอง

ในการค้นหา “ลีโอเนล เมสซี่” คนใหม่ให้กับ Aspire Academy โจเซป โคโลเมอร์ จะมองหาความสามารถด้าน “สติปัญญาการเล่น” ของนักฟุตบอล ที่สำคัญกว่าทักษะทางเทคนิค โดยเขาอธิบาย “เป็นทักษะที่นักฟุตบอลรู้ทันทีว่า เกมแข่งขันกำลังต้องการให้ทำอะไร” เช่น เกมต้องการให้เลี้ยงลูกบอล ส่งผ่าน หรือว่ายิงประตู ส่วนหนังสือ The Away Game อธิบาย “สติปัญญาการเล่น” ว่า “ความสามารถในการประเมินสถานการณ์ที่ผันแปรหรือมีพลวัต และต้องตัดสินใจอย่างถูกต้องทันทีทันใด”

ความสามารถด้านสติปัญญาการเล่น เป็นสิ่งที่ยากที่จะฝึกสอน เพราะเป็นความสามารถที่เกิดขึ้นและพัฒนาขึ้นมาจากการเล่น การเล่นฟุตบอลบ่อยครั้ง ทำให้เกิดทักษะนี้ การฝึกฝนแบบเป็นทางการ อาจเป็นอุปสรรคต่อการสร้างทักษะนี้ การเล่นฟุตบอลแบบไม่เป็นแบบแผน เช่น ตามสนามกีฬาหมู่บ้าน หรือตามถนนหนทาง กลับเป็นกุญแจสำคัญในการสร้าง “สติปัญญาการเล่น” สร้างทักษะด้านเทคนิคการเล่น และการเล่นเกมแบบสร้างสรรค์

บทความ How Not to Scout for Soccer Talent ตั้งคำถามว่า จะเกิดผลลัพธ์อย่างไร หากว่าโครงการคัดเลือกและฝึกฝนนักฟุตบอลเยาวชน จะมีรูปแบบที่แตกต่างออกไป แทนที่จะไปเน้นนักฟุตบอลชั้นนำไม่กี่คน ที่จะประสบความสำเร็จ ก็หันมาเน้นนักฟุตบอลเยาวชนจำนวนมาก ที่ล้มเหลว ไม่ผ่านการคัดเลือก วิธีการนี้น่าจะมีจริยธรรมมากกว่า เอารัดเอาเปรียบน้อยกว่า และอาจสร้างนักฟุตบอลที่โดดเด่น ได้จำนวนมากกว่า

เอกสารประกอบ
The Away Game: The Epic Search for Soccer’s Net Superstars, Sebastian Abbot, W.W. Norton & Company, 2018.
How Not to Scout for Soccer Talent, Laurent Dubois, The Atlantic, July/August 2018.
China Won’t Play in This World Cup. It Still Hopes to Profit, Brook Larmer, The New York Times, May 30, 2018.