ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ย้อนถามพระเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลสมควรหรือ – มติ ครม. คมนาคมเตรียมงบ 2.6 หมื่นล้านหนุนโลจิสติกส์ภาคเหนือตอนล่าง 2

“บิ๊กตู่” ย้อนถามพระเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลสมควรหรือ – มติ ครม. คมนาคมเตรียมงบ 2.6 หมื่นล้านหนุนโลจิสติกส์ภาคเหนือตอนล่าง 2

13 มิถุนายน 2018


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 มีการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี) ในช่วงเช้า ต่อด้วยการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 4 (ครม.สัญจร) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดยกล่าวก่อนการตอบคำถามสื่อมวลชนว่า “วันนี้เป็นการประชุม ครม. นอกสถานที่อีกครั้งหนึ่งเหมือนกับเช่นที่ทำในหลายพื้นที่ที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาก็ทำในลักษณะนี้อย่าคิดว่ารัฐบาลทำไปด้วยความมุ่งหมายอื่น”

ก่อนการประชุม ครม. ในช่วงเช้านายกรัฐมนตรีได้เข้ากราบหลวงปู่ลี เพื่อความเป็นสิริมงคล ณ วัดหัวตลุกวนาราม อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ และภายหลังการตอบคำถามสื่อมวลชนนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์พิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาและชุมชนบ้านแก่ง จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมแนะนำให้สร้างเครื่องปั้นดินเผา โดยมีจุดขายและการเล่าเรื่อง ซึ่งมีรูปลักษณ์และสร้างแบรนด์ให้มีคุณค่าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดสอดคล้องยุค Thailand 4.0

ยินดี สหรัฐฯ-โสมแดง เจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์ได้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการหารือระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กับ นายคิม จองอึน ประธานาธิบดีเกาหลีเหนือ ที่ประเทศสิงคโปร์ ว่า ส่วนตัวได้รับทราบว่าบรรยากาศเป็นไปได้ด้วยดี แต่รายละเอียดโดยรวมไม่ทราบ เพราะติดประชุม ครม. อยู่ แต่เห็นมีการพูดคุยอยู่สองคน ผ่านล่าม ส่วนข่าวการลงนามเรื่องปลดอาวุธนิวเคลียร์นั้นตนเห็นว่าเป็นเรื่องดี เป็นแนวโน้มที่ดีกับโลก และขอให้กำลังใจผู้นำทั้งสองประเทศ

ชี้อย่ากังวล คุยอังกฤษ-ฝรั่งเศส กฎหมายล็อกการใช้งบฯ ไว้แล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการเดินทางเยือนประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศส ที่มีกำหนดการเดินทางระหว่างวันที่ 20-25 มิถุนายน 2561 นี้ว่า เป็นการประสานงานผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศ ตามมติข้อผ่อนปรนของสหภาพยุโรป ซึ่งส่วนตัวคิดว่า การเดินทางไปครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล และขอให้สังคมอย่าคิดว่าเรื่องการเดินทางไปครั้งนี้มุ่งหวังผลประโยชน์หรือไปซื้อขายกับต่างประเทศ

“ที่ผ่านมาเขาไม่ให้ไปก็ไม่ได้ไป เมื่อเขาเชิญมาให้ไปผมก็ไป ส่วนข้อห้ามทางการเมืองเขาก็มีอยู่ เราก็เคารพกฎหมายของเขา อย่างน้อยได้มีการพูดคุยกัน ผมก็ไม่เห็นว่าจะเป็นเรื่องที่เราต้องมานั่งกังวล ถ้าเขาไม่ให้ไปเลยค่อยมาคิดกันว่าจะยังไง ตอนนี้เขาให้ไป เพราะฉะนั้นเราก็อย่ามาจำกัดถ้าไปแล้วจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็ไปคุยกับเขา อะไรที่ทำได้เราก็ทำ”

“อย่ากังวล ว่าจะไปซื้ออะไรนั่นนี่ นอกกรอบนอกวิธีการมันทำไม่ได้หรอก เพราะการซื้อคือการใช้จ่ายงบประมาณ มันต้องมีแผนงานโครงการ จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 178 วรรค 2 จะต้องนำเข้าที่ประชุม ครม. จากนั้นจะต้องนำเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาอีกครั้ง มันถึงจะทำได้ ไม่ใช่บอกว่าไปซื้อนั่นซื้อนี่ ที่ซื้อมาก็ไม่ใช่มองเป็นทุจริต หากมันมีคงไปไม่ถึงขั้นตอนการซื้อ ต้องดูตรงนี้ด้วยไม่เช่นนั้นประเทศชาติก็ไปไม่ได้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ให้ดีเอสไอตรวจสอบ “พิสิฐชัย” เอง – ย้อนถามพระเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลสมควรหรือ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงคำสั่งให้ นายพิสิฐชัย สว่างวัฒนากร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ กองคดีภาษีอากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ไปช่วยการที่สำนักงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ จากการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่าจะมีการจับกุมดำเนินคดีกับเจ้าอาวาสวัดต่างๆ เกี่ยวกับคดีเงินทอนวัด ว่า ทุกหน่วยมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ทั้งนี้ ก็ให้ไปสอบสวนกันมา ถ้าพบว่าใครมีความผิดก็ต้องลงโทษตามคดีอาญา ส่วนการที่นายพิสิฐชัยโพสต์เรื่องดังกล่าวจะมีเจตนาใดแอบแฝงหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เป็นเรื่องของดีเอสไอที่ต้องสอบสวนให้มีความชัดเจน

ต่อกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อโซเชียล ที่ตอบโต้เกี่ยวกับการที่หน่วยงานรัฐตรวจสอบดำเนินการกับคดีที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า คดีที่เกี่ยวกับพระถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ตนอยากขอให้ทุกคนไม่วิพากษ์วิจารณ์ต่อเรื่องนี้ เพราะพระภิกษุสงฆ์ถือเป็นผู้ที่คนไทยส่วนใหญ่ให้ความนับถือ ดังนั้น เรื่องใดที่เป็นการกระทำความผิด โดยมีหลักฐานยืนยันได้ ก็ต้องมีการดำเนินคดี อย่าไปปลุกกระแส

“ขอถามว่าการที่มีพระบางรูปออกมาเคลื่อนไหวผ่านสื่อโซเชียลมีเดียนั้น มันสมควรหรือไม่ พระบางรูปออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งเรื่องการเลือกตั้ง ก็ให้เป็นไปตามกฎหมาย พระสงฆ์มีหน้าที่ในการบ่มเพาะ สร้างความสุขสงบและความปรองดองในสังคม สอนหลักธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา แต่การที่พระมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากๆ มันใช่กิจของสงฆ์หรือไม่ ผมขอฝากให้สังคมช่วยกันไปดูแล ไม่อาจไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรได้ แต่ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม หลายคนมาถามผมว่าเรื่องจะบานปลายหรือไม่ ผมคิดว่ามันอยู่ที่ท่านทั้งหลาย ทั้งประชาชน และสื่อโซเชียลมีเดียทั้งหลาย ถ้าอยากให้เกิดความวุ่นวายบานปลาย ก็ให้ทำทุกอย่างตามแบบของตัวเองต่อไป ผมก็มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ถ้าเกิดความวุ่นวายเมื่อใดก็ตาม หน่วยงานด้านความมั่นคงก็ต้องเข้าไปดูแล” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

ยันตรวจสอบตลอด ปมลักลอบนำเข้าขยะฯ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีปัญหาโรงงานคัดแยกขยะรีไซเคิลอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกกฎหมายเกิดขึ้นในจังหวัดฉะเชิงเทราจำนวนมาก ภายหลังจากมีการออกคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 ว่า โรงงานคัดแยกขยะเกิดขึ้นในจังหวัดเต็มไปหมด ต้องไปดูกฎหมาย ที่ผ่านมามี 2 โรงงานที่ตั้งถูกฎหมายทุกประการ มี 7 โรงงานตั้งไม่ถูกกฎหมายตั้งมาได้อย่างไร ต้องไปสอบสวนมูลความมา ส่วนที่นำเข้ามาไม่ถูกต้องนำไปให้บริษัทเถื่อนเอาไปทำลายทิ้ง ฝัง ทิ้งทะเล ซึ่งเกิดขึ้นมายาวนานแล้วไม่ใช่รัฐบาลนี้มาวัวหายแล้วล้อมคอก ทั้งหมดเป็นเรื่องที่มีการสืบสวนดำเนินการมาตลอด

“เรื่องขยะ เช่น ปัญหาถุงพลาสติก ทุกคนก็ต่อว่ารัฐบาลไม่สนใจ แต่ทุกคนเป็นคนใช้ถุงพลาสติกต้องลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้ อยากให้ตั้งเป้าว่าสัปดาห์นี้เคยใช้ถุงพลาสติกเท่าไหร่ จดของตัวเองซื้อของมากี่ชิ้น อาหารกล่องโฟมมากี่ชิ้นแล้วเราจะลดให้ได้ภายในกี่ชิ้น ถ้าทุกคนมีจิตสำนึกตรงนี้จะแบ่งเบาภาระรัฐบาลไปได้ว่าจะใช้เจ้าหน้าที่และรถเก็บขยะอย่างไร ถ้าทุกคนรวมกันแยกขยะไว้รัฐบาลจะสามารถไปจัดส่วนคนและรถเก็บขยะที่มันแยกกันได้ แต่วันนี้มันเขละกันไปหมด แล้วมาบอกว่ารัฐบาลไม่สามารถที่จะจัดที่เก็บขยะได้พอเพียง ดังนั้น ทุกอย่างเป็นเรื่องของความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งรัฐประชาชนประชารัฐไปด้วยกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สั่งทวนระบบคัดเด็กเข้าอนุบาล-แอดมิชชั่น

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงแนวทางการปฏิรูปการศึกษาว่า ตนได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาไปทบทวนการสอบคัดเลือกในระดับอนุบาล และระดับประถมศึกษา หรือการสอบภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาปีที่ 3 ว่าเกิดประโยชน์หรือไม่ หากพบว่าไม่คุ้มค่าหรือกลายเป็นภาระต่อผู้ปกครอง ก็ขอให้ยกเลิกและให้หาวิธีการคัดเลือกใหม่

“การสมัครสอบเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาผ่านระบบทีแคสเป็นหลักการที่ต่างประเทศใช้กันอยู่ วันนี้ประเทศไทยมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน อย่างไร มันแก้ไขได้ทั้งหมด หลายคนเรียกร้องจะให้กลับไปเป็นแบบเดิมคือการสอบแอดมิชชั่น และไปสู่การสอบเอ็นทรานซ์ ก็ต้องไปเปรียบเทียบระหว่างของเก่าและของใหม่ มีผลดีอย่างไร ถ้าหากเราคิดระบบใหม่ออกมา แต่ของเก่ายังไม่พร้อมก็คือปัญหาอีก” นายกรัฐมนตรี กล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องการบ้าน อาจจะต้องลดการบ้านที่ต้องเขียน เป็นมอบการบ้านผ่านการเรียนรู้ในระบบดิจิทัล ให้หัวข้อและโจทย์ ครู นักเรียนก็ไปเปิดด้วย พอถึงชั่วโมงการเรียน ก็มาถกกันในสาระรายละเอียดเพิ่มเติม ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ส่วนเรื่องข้อสอบที่ใช้เลือกข้อเป็นหลักทำให้เด็กปัจจุบันเขียนหนังสือไม่ค่อยเก่ง เรียบเรียงสาระไม่ค่อยได้ อยากให้มีการสอบทั้งสองอย่าง คือ สอบเลือกข้อและเขียนอธิบาย ถ้าเวลาในการสอบไม่พอ ก็ไปเพิ่มในการสอบประจำสัปดาห์ ประจำวัน ประจำเดือน สอบทบทวนตั้งคำถามแล้วให้เขียนตอบมา ก็สามารถให้คะแนนเพิ่มได้ เพื่อไปบวกคะแนนปลายปี

ขออย่ากดดันปลดล็อกการเมือง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการหารือกับพรรคการเมืองในเดือนมิถุนายน 2561 นี้นั้นจะมีการนำทีมเพื่อไปหาหรือด้วยตัวเองหรือไม่นั้น ว่า เดี๋ยวก็หารือกัน ใครทำก็ได้ ตนหรือรองนายกรัฐมนตรีทำก็ได้ ถือเป็นเรื่องของขั้นตอน ก็ขอรับฟังก่อนได้หรือไม่ แล้วค่อยนำเรื่องมาให้ผม และ คสช. ได้ตัดสินใจพิจารณาในเรื่องของการปลดล็อกและวิธีการต่างๆ ก็จะทำให้ทุกอย่าง ขอร้องอย่ากดดันกันมากๆ เลย ขอตอบแค่นี้พอ

มติ ครม. มีดังนี้

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

พอใจ ครม. ลงพื้นที่ ทำผลงานตามเป้ากว่า 90%

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปผลการปฏิบัติราชการของคณะรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดพิจิตร และจังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายน 2561 ว่า การตรวจพื้นที่ในครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ นั้นบรรลุเป้าหมายกว่าร้อยละ 90 ใน 4 ด้าน ได้แก่ การผลิตพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว การแปรรูปอาหาร การกระจายสินค้าและการขนส่ง และการสร้างแรงจูงใจ และดึงดูดนักท่องเที่ยว

โดยภารกิจในส่วนของนายกรัฐมนตรีนั้นเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2561 เวลา 08.50 น.นายกรัฐมนตรีและคณะได้เข้ากราบนมัสการหลวงพ่อเพชร ณ วัดท่าหลวง พระอารามหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร เพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนเดินทางลงพื้นที่พบปะประชาชน จ.พิจิตร พร้อมเยี่ยมชมกิจกรรม “การพัฒนาพิจิตรจังหวัดคุณธรรม และการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว”

ต่อมาเวลาเวลา 11.30 น. นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมโครงการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตรเพื่อการระบายน้ำและกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ณ ประตูระบายน้ำดงเศรษฐี หมู่ที่ 4 ตำบลย่านยาว อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมระหว่างคลองส่งน้ำของกรมชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำพิจิตร อยู่นอกเขตโครงการชลประทาน ความยาวของแม่น้ำประมาณ 127 กิโลเมตร รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 56,900 ไร่ และมีพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 43,700 ไร่

เวลา 14.50 น. นายกรัฐมนตรีและคณะ ออกเดินทางโดยรถไฟขบวนพิเศษจากสถานีรถไฟชุมแสง ตำบลชุมแสง อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ไปยังสถานีรถไฟนครสวรรค์ ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อตรวจโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ (ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ) โดยมี นายวรวุฒิ มาลา ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้กล่าวรายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ (ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ) ว่าเป็นโครงการรถไฟทางคู่ในเส้นทางสายเหนือ มีระยะทาง 145 กิโลเมตร จำนวน 20 สถานี วงเงินลงทุน 21,688 ล้านบาท เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบรางภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ที่รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการเพื่อเพิมประสิทธิภาพการเดินทางและขนส่ง

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบปะประชาชน จังหวัดนครสวรรค์
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

โดยโครงการรถไฟทางคู่ดังกล่าวจะสามารถรองรับขบวนรถเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว การขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้ถึง 30% เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถ ทำให้ตรงต่อเวลา ช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น และช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ เพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งทางรถไฟ ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่งของประเทศ และลดปัญหามลพิษที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายการบริหารจัดการขนส่งมวลชน สินค้า บริการ ทั้งในพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศเข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้รถไฟทางคู่เส้นทางช่วงลพบุรี-ปากนํ้าโพ เป็นโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ใหม่ รูปแบบการพัฒนาทางรถไฟใหม่เพิ่ม 1 ทางขนานไปกับทางรถไฟเดิม เพื่อเร่งยกระดับให้บริการโลจิสติกส์สู่พื้นที่ภาคเหนือ ในส่วนของการออกแบบก่อสร้างสถานียังคงเอกลักษณ์ท้องถิ่นเป็นหลัก มีการนำสถาปัตยกรรมท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ เน้นความปลอดภัย ง่ายต่อการขนส่ง และมีการอนุรักษ์อาคารสถานีรถไฟเดิมทุกสถานี โดยคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการในปี 2565

จากนั้นเป็นการรับฟังการบรรยายสรุปการปรับปรุงและพัฒนาบึงบอระเพ็ด จากนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เนื่องจากพื้นที่บึงบอระเพ็ดกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งเพื่อการเกษตร การอุปโภค บริโภค และการประมง นอกจากนี้ยังมีปัญหาการบุกรุกพื้นที่ และตะกอนสะสม กรมชลประทานจึงกำหนดแผนพัฒนาและปรับปรุงบึงบอระเพ็ดขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาการบุกรุก การใช้ประโยชน์เป็นที่ดินทำกิน และการเพิ่มพื้นที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ พร้อมแสดงความห่วงใยในความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

จากนั้นเวลา 17.00 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะได้เข้าพบปะประชาชนจังหวัดนครสวรรค์ และผู้นำท้องถิ่นกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำส่วนท้องถิ่น ประชาชนจังหวัดนครสวรรค์ให้การต้อนรับ

สำหรับข้อเสนอการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (กรอ.) ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่ กรอ. เสนอ ใน 4 ด้าน ดังนี้

ปั้นนครสวรรค์ “ไบโอฮับ” มอบเอกชนลงทุน  40,000 ล้าน

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ทางจังหวัดนครสวรรค์ขอรับการสนับสนุนโครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ (ไบโอฮับ) เพื่อให้จังหวัดนครสวรรค์เป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีคณะกรรมการ กรอ. ส่วนกลางและคณะกรรมการ กรอ. กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 เมื่อปี 2559 โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไปพิจารณารายละเอียด

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบตามคำขอให้กรมชลประทานศึกษาแนวคิดการวางระบบท่อส่งน้ำไปพื้นที่ทำการเกษตร ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อสนับสนุนการปลูกพืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ และปรับปรุงถนนสายแยกจากถนนสาย 3212 จาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร ตั้งแต่บริเวณแยกหางน้ำสาคร-วัดหนองโพ ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร

และปรับปรุงถนนสายรองแยกจากถนนสาย 3212 ผ่านวัดหนองดาราม-คลองชลประทานเขาแก้วเพิ่มเติม ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร รถนนเลียบคลองชลประทานเขาแก้วจากสะพานหนองดาราม-สะพานหนองโพระยะทาง 2 กิโลเมตร เป็น 2 ช่องจราจร

“นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุม โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอไปพิจารณา พร้อมกำชับเรื่องของการวิจัย ให้วิจัยให้ตรงตามความต้องการ สามารถต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ได้ ส่วนการวางระบบท่อขอให้คำนึงถึงความคุ้มค่า ถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ และให้คำนึงถึงหลักเหตุและผล เหมาะสมกับงบประมาณในการดำเนินการ” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ทั้งนี้ นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ครม. เห็นชอบในหลักการโครงการไบโอฮับในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ วงเงินลงทุนประมาณ 40,000 ล้านบาท โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน โดยจะมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและคณะกรรมการสานพลังประชารัฐคณะที่ 5 หรือดี 5 ไปจัดทำรายละเอียดร่วมกันทั้งในเรื่องของแผนงานการลงทุนในไบโอคอมเพล็กซ์ การดูแลช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง การปรับปรุงเส้นทางคมนาคมเพื่อรองรับการขนส่ง และให้เสนอรายละเอียดให้ ครม.รับทราบอีกครั้งโดยเร็วที่สุด

ขณะที่นายวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ เปิดเผยถึงมูลค่าของโครงการไบโอฮับว่า โครงการทั้งหมดมีมูลค่า 130,000 ล้านบาท

พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร – เตรียมฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตร

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดฯ ขอรับการสนับสนุนให้มีระบบชลประทานที่ดี เพราะกลุ่มจังหวัดฯ เป็นพื้นที่การเกษตรที่สำคัญ แต่ยังประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นประจำทุกปี จึงขอทบทวนผลการศึกษาโครงการชลประทานพิษณุโลกฝั่งซ้าย จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดพิจิตรที่เคยศึกษาไว้เมื่อปี 2544 และศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมพร้อมสำรวจออกแบบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี

ขอดำเนินการก่อสร้างท่อระบายน้ำบ้านวังทับยาพร้อมระบบส่งน้ำบริเวณ ตำบลโรงช้าง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร ดำเนินการโครงการขุดลอกตะกอนดินพร้อมเสริมคันแนวเขตอ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี โครงการพัฒนาบึงกุ่มซับ อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี และขอให้สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและเก็บกักน้ำ ระยะทางประมาณ 127 กิโลเมตร

ด้านนายเจนศิลป์ เจริญบวรศักดิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดพิจิตร ระบุว่า จังหวัดพิจิตรได้เสนอโครงการพัฒนาแม่น้ำพิจิตร เนืาองจากปัจจุบันแม่น้ำพิจิตรมีสภาพตื้นเขินถูกทิ้งร้างมาหลายสิบปี หากมีการพัฒนาปรับปรุงจะสามารถเก็บกักน้ำได้ถึง 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทำให้พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ถึง 5 หมื่นไร่ใน 4 อำเภอของจังหวัดพิจิตร

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีขอให้แยกกิจกรรมให้เกิดความชัดเจนว่ากิจกรรมไหนควรทำก่อนหรือทำหลัง กิจกรรมไหนเป็นกิจกรรมเร่งด่วน และกิจกรรมไหนอยู่ในแผนการใช้งบประมาณประจำปีแล้ว เพื่อลดความซ้ำซ้อนการพิจารณางบประมาณ พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาต่อไป

ศึกษาความเป็นไปได้สร้างเขื่อนกันตลิ่งพัง

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดฯ มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่านทั้งปิง ยม น่าน เจ้าพระยา และสะแกกรัง ประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำ ที่ผ่านมาหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุอุทกภัยและการพังทลายของตลิ่ง จึงขอให้เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ได้แก่ เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำยมและน่าน ในพื้นที่ 6 อำเภอ ของจังหวัดพิจิตร, เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำสะแกกรัง หมู่ที่ 5-หมู่ที่ 7 ตำบลสะแกกรัง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี, เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา หมู่ที่ 3 ตำบลหาดทนง อำเภอเมืองอุทัยธานี ต่อเนื่องเขื่อนเดิม หลักหมู่ที่ 2 ตำบลบางมะฝ่อ อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ และก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปิง หมู่ที่ 3 ตำบลท่างิ้ว หมู่ที่ 3 ตำบลหูกวาง และหมู่ที่ 7 ตำบลตาหงาย อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวของรับข้อเสนอไปพิจารณา พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการ

คมนาคมเตรียมงบ 2.6 หมื่นล้านหนุนโลจิสติกส์

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า เนื่องจากกลุ่มจังหวัดฯ เป็นศูนย์กลางโครงข่ายคมนาคมที่สำคัญของประเทศ เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างภาคกลาง ไปสู่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคอาเซียน ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (NSRC) และแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก (EWEC)

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงขอรับการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมทางบก และทางน้ำ ประกอบด้วย โครงข่ายคมนาคมทางถนน ขอให้เร่งรัดดำเนินการโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ที่อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และขยายพื้นที่สำหรับดำเนินโครงการพัฒนาสถานีรับมอบและส่งตู้บรรทุกสินค้า, เร่งรัด และขยายการใช้พื้นที่การดำเนินการโครงการพัฒนาสถานนีรับมอบและส่งตู้สินค้า (Container Yard) ที่สถานีรถไฟเขาทอง ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และเร่งรัดการดำเนินโครงการสร้างศูนย์บริการจุดพักรถบรรทุก (Truck Rest Area) ขาขึ้นจากทิศใต้ที่ ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์

แผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางถนน กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ที่มาภาพ: สไลด์ประกอบการประชุม กรอ.

นอกจากนี้ยังได้ขอความเห็นชอบในหลักการโครงการก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ด้านตะวันออกช่วงแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลขหนึ่ง-บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3004 และช่วงแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 225-บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3004 และโครงการขยายช่องทางจราจรจาก 2 ช่องทางเป็น 4 ช่องทางการจราจรถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 225 ตลอดเส้นทางสิ้นสุดที่จังหวัดชัยภูมิซึ่งเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางเชื่อมโยงกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำเป็นเร่งด่วนตอนเกรียงไกลกลาง-เกยไชย-ศรีมงคล รวมระยะทาง 83.19 กิโลเมตร, ก่อสร้างขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 และเร่งรัดดำเนินการใน ที่มีความสำคัญเร่งด่วน รวม 153 กิโลเมตร, ก่อสร้างขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 115 และเร่งรัดดำเนินการในส่วนที่มีความสำคัญเร่งด่วนรวม 48 กิโลเมตร และขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลขสาม 13 ตอนการุ้งอุทัยธานีรวมระยะทาง 17.69 กิโลเมตรเป็น 4 ช่องจราจร

“สำหรับโครงข่ายคมนาคมทางราง กลุ่มจังหวัดฯ เร่งรัดให้ดำเนินโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางนครสวรรค์กำแพงเพชรตากแม่สอดและเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งในการทำเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่นั้นมีระยะทางรวม 902 กิโลเมตร โดยเริ่มจาก อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผ่านมา จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดนครสวรรค์ ระยะทาง 250 กิโลเมตร จากนั้นจะตัดข้ามจาก จังหวัดนครสวรรค์ไปยัง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ระยะทาง 291 กิโลเมตร และต่อไปยัง จังหวัดนครพนมอีก 355 กิโลเมตร โดยให้ใช้งบประมาณในปี 2562 ส่วนวงเงินเท่าใดยังไม่ชัดเจนเพราะยังไม่ได้ศึกษาความเหมาะสม นอกจากนี้ยังเห็นชอบโครงข่ายคมนาคมทางน้ำ กลุ่มจังหวัดฯ เสนอขอให้เร่งรัดการดำเนินการตามผลการศึกษาโครงการก่อสร้างเขื่อนยกระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน่านเพื่อการเดินเรือ รวมถึงลดต้นทุนการขนส่ง” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ทั้งนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระคมนาคม กล่าวว่า โครงการทั้งหมดที่ได้นำเสนอมา อยู่ในแผนการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมทั้งหมดแล้ว ชึ่งจะใช้งบประมาณในปี 2561-2565 ตามลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของโครงการต่อไป ด้านโครงข่ายคมนาคมทางราง ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างดำเนินการรถไฟทางคู่ เมื่อเสร็จแล้วจะสามารถสนับสนุนการขนส่งทางรางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนเส้นทางรถไฟเดิมจะใช้เป็นเส้นทางเส้นรอง พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอไปพิจารณา และศึกษาผลกระทบของโครงการต่อไป

“โครงการด้านคมนาคมที่กระทรวงมีแผนงานอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างนี้มีงบประมาณรวม 26,820 ล้านบาท โดยจะจัดงบประมาณให้ระหว่างปี 2562-2565 สำหรับข้อเสนอขอของ กรอ. ที่สามารถเร่งดำเนินการได้เร็วที่สุดคือ โครงการขยายทางหลวง ตอนการุ้ง-อุทัยธานี เป็น 4 ช่องจราจร เพื่อลดปริมาณการจราจรที่เริ่มหนาแน่นในปัจจุบัน งบประมาณ 700 ล้านบาท และการขยายช่องจารจรตั้งแต่บริเวณแยกหางน้ำสาคร-วัดหนองโพ สำหรับการดำเนินโครงการไบโอฮับ งบประมาณ 400-450 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 โครงการจะได้รับการจัดสรรงบประมาณอย่างเร็วที่สุดในปี 2563” นายอาคม กล่าว

ตีตกโครงการขยายไหล่ทางผ่าน “ห้วยขาแข้ง”

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า เนื่องจากกลุ่มจังหวัดฯ มีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกถึง 2 แห่ง คือ แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และมรดกโลกทางวัฒนธรรม ที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จึงขอรับสนับสนุนการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวโดยขอขยาย ปรับปรุงถนนเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกห้วยขาแข้ง-อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ในโครงการก่อสร้างขยายไหล่ทางและปรับปรุงคุณภาพทางหลวงหมายเลข 1072 ตอนเขาชนกัน-หมอตะแบก และบูรณะปรับปรุงคุณภาพทางหลวงหมายเลข 1117 ตอนคลองแม่ลาย-อุ้มผาง และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ “อุทยานเมืองเก่าพิจิตร” จังหวัดพิจิตร

ที่มาภาพ : สไลท์ประกอบการประชุม กรอ.

“ที่ประชุม ครม. มีมติไม่เห็นชอบ ในโครงการขยายไหล่ทางทางหลวงหมายเลข 1072 เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นว่า การขยายถนนบริเวณแหล่งท่องเที่ยว ขอให้คำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก อย่าทำลายป่าไม้จนกระทบสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่า และเส้นทางน้ำ ขอให้หาแนวทางใหม่แทนการขยายถนน เช่น มีการบริหารจัดการช่วงเวลาการท่องเที่ยว จัดระบบการขนส่งคอยรับส่งนักท่องเที่ยว แทนการนำรถเข้าไปในแหล่งท่องเที่ยว ขอให้คำนึงถึงคุณภาพมากกว่าปริมาณ อย่างไรก็ตามยังคงเห็นชอบให้ทำการปรับปรุงคุณภาพพื้นผิวถนนได้” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒน์ฯ ให้อำนาจเปิดจ้างนักวิจัยไทย-เทศ

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2521

โดยกำหนดให้มี “สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ทำหน้าที่ให้ความเห็น ให้คำปรึกษา และข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี จัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งของประเทศและโลก

รวมทั้งกำหนดให้มีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อดำเนินงานในฐานะฝ่ายเลขานุการของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย โดยให้ยกเลิกสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และจะส่งร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาตามขั้นตอนการออกกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากในพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติปี 2560 และพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศปี 2560 กำหนดให้ สศช. ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูป ซึ่งโครงสร้างในปัจจุบันยังไม่มีความยืดหยนเพียงพอที่จะขับเคลื่อนพลวัตของการพัฒนาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมียุทธศาสตร์ชาติเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาประเทศระยะยาว ทำให้ สศช. มีภารกิจที่ได้รับมอบหมายเพิ่มเติม แต่ยังไม่มีโครงสร้างรองรับการขับเคลื่อนภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเมื่อวันที่16 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ครม. มีมติอนุมัติหลักการให้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างฉบับแก้ไขแล้ว มีความเห็นว่า ให้ดำเนินการปรับปรุงพระราชบัญญัติทั้งฉบับ

พร้อมทั้งเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี โดยให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนดกรอบเนื้อหาของแผนพัฒนาฯและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างแผนพัฒนาฯ ในแต่ละด้าน พร้อมทั้งกำหนดให้มีการติดตามและประเมินผลเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนพัฒนาฯ อย่างเป็นระบบ โดยหน่วยงานของรัฐต้องจัดทำแผนปฏิบัติการและงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่แผนพัฒนาฯ กำหนด และจัดทำรายงานเสนอสภาพัฒน์ทุกปี

“ไม่ใช่มีแผนพัฒนาฯ ไว้ขึ้นหิ้ง ต้องนำไปปฏิบัติและมีการประเมินผลด้วยทุกปีว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่ อย่างไรก็ตามแผนพัฒนาฯ ระยะ 5 ปีที่ประกาศใช้แล้ว สามารถดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมได้ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป” นายณัฐพร กล่าว

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การออก พ.ร.บ.สภาพัฒน์ฯ ฉบับใหม่จะทำให้เกิดการปฏิรูปการทำงานของ สศช. มีหน่วยงานวิจัยได้และเปิดทางให้จัดซื้อจัดจ้างคนภายนอก ทั้งที่เป็นคนไทยและชาวต่างประเทศมาทำงานวิจัยได้ ปัจจุบัน สศช. ได้งบประมาณปีละ 500 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณที่ได้ทั้งปีน้อยกว่าทำโครงการบางโครงการด้วยซ้ำ

วิษณุยัน ยังไม่มีอนุมัติขึ้นบำเน็จ คสช.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (สลธ. คสช.) เสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติบำเหน็จประจำปี 2 ขั้น นอกเหนือโควตาปกติให้เจ้าหน้าที่ใน คสช. จำนวน 600 นาย ว่า ครม. ยังไม่อนุมัติในเรื่องดังกล่าว แต่ได้ให้ สลธ. คสช. ไปดูเรื่องของความจำเป็นของการทำงาน และเรื่องของจำนวนคนที่เสนอมา 600 นาย ที่ถือว่าลดลงมาจากปีแรกที่มี 1,000 นาย ซึ่งนายกฯ บอกว่าควรลดได้มากกว่านี้ โดยให้ดูเท่าที่มีความจำเป็น ส่วนจะเสนอ ครม. กลับมาเมื่อใดนั้น ยังไม่มีกำหนดตายตัว และไม่ต้องรีบเร่งเพราะครอบคลุมตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม 2560 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2561

“บิ๊กป้อม” ชี้ไม่มีแกล้งพระ- โบ้ยถามคนปล่อยข่าว “พระธัมมชโย” ยังอยู่ในวัด

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการนำตัวอดีตพระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร หนึ่งในผู้ต้องหาคดีเงินทอนวัด เดินทางกลับมาจากประเทศเยอรมนี ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานความคืบหน้าจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่กำลังดำเนินการประสานกับทางการเยอรมนีอยู่ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ต่อคำถามกรณีกระแสข่าวว่า พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ยังหลบซ่อนตัวอยู่ภายในวัดนั้น พล.อ. ประวิตร ระบุว่า ไม่รู้ ซึ่งคงต้องไปถามบุคคลที่ปล่อยข่าว

เมื่อถามว่าขณะนี้ในโซเชียลมีเดียมีการปลุกระดมม็อบพระขึ้นมาอีกโดยอ้างว่ารัฐบาลกลั่นแกล้ง รองนายกฯ กล่าวว่า “จะไปกลั่นแกล้งพระเรื่องอะไร สื่อก็รู้ว่ามีการปลุกระดมแล้วจะมาถามทำไม ไม่มี ไม่มีการปลุกระดม เราไม่ได้ทำอะไรเลย พระทำเอง”

อ่านเพิ่มเติม มติ ครม. ประจำวันที่ 12 มิถุนายน 2561