ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯยันลงพื้นที่ไม่ใช่ “หาเสียง” – ชี้ระบุไปแล้ววันเลือกตั้ง ตามกฎหมายลูก -มติ ครม. ไฟเขียวตั้งสถาบันการเงิน ปชช.

นายกฯยันลงพื้นที่ไม่ใช่ “หาเสียง” – ชี้ระบุไปแล้ววันเลือกตั้ง ตามกฎหมายลูก -มติ ครม. ไฟเขียวตั้งสถาบันการเงิน ปชช.

7 กุมภาพันธ์ 2018


คณะรัฐมนตรีถ่ายภาพร่วมกัน
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ครั้งแรกของปี 2561 ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ 2561 ในพื้นที่ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ซึ่งก่อนการตอบคำถามสื่อมวลชน นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุปภาพรวมการลงพื้นที่ โดยระบุว่า ภาคตะวันออกมีศักยภาพสูง ใน 8 จังหวัดนั้น มี 3 จังหวัดเป็นพื้นที่อีอีซี เชื่อมโยงไปยัง 5 จังหวัดที่เหลือได้ คือ การเชื่อมต่อทางรถไฟ หรือทางน้ำ หรือการสร้างมอเตอร์เวย์ ต่างๆ ก็ตาม เมื่อวานได้มีการประชุมร่วมกับภาคเอกชน ท้องถิ่น และภาคเกษตร ซึ่งตนได้รับในหลักการของโครงการทั้งหมดกว่า 10 โครงการ ขณะที่บางโครงการมีการศึกษามาแล้วกว่า 20-30 ปี รัฐบาลจำเป็นต้องนำไปรื้อฟื้นให้สามารถดำเนินการได้ พร้อมทั้งยืนยันว่าการพัฒนาหรือการลงทุนของรัฐบาลจะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ในการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องน้ำเสียจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก

“เราจะทำอย่างไรให้อีอีซีนั้นเป็นพื้นที่ที่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ ซึ่งคือการเก็บภาษีสร้างรายได้เข้ารัฐ เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ รองรับการขยายตัวของประเทศในช่วง 50 ปีข้างหน้า ฉะนั้นจะต้องมีการดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน หากเกิดขึ้นเวลานี้ก็จะทันกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนอกจากจะมุ่งรายได้ของประเทศแล้วรัฐบาลมุ่งถึงการพัฒนาศักยภาพของภาคเอกชน ไปจนถึงผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยันลงพื้นที่ไม่ใช่ “หาเสียง” – ชี้ระบุไปแล้ววันเลือกตั้ง ตามกฎหมายลูก

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกระแสสังคมเรียกร้องให้ระบุวันเลือกตั้ง ว่า ตนได้ระบุวันเลือกตั้งแล้ว ซึ่งวันเลือกตั้งนั้นเป็นไปตามกฎหมาย กฎหมายลูกมีผลใช้เมื่อไร นั่นก็คือวันเลือกตั้ง ทุกสิ่งจะเป็นไปตามกระบวนการ เรื่องร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …. ยังคงเหลืออีกกระบวนการหนึ่ง เมื่อทุกอย่างพร้อมทุกฝ่ายพร้อมการเลือกตั้งก็จะเกิดขึ้น

พล.อ. ประยุทธ์ ยืนยันว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการหาเสียงแต่อย่างใด การพบปะพูดคุยกับนักการเมืองท้องถิ่นนั้นตนไม่ได้มีการบังคับให้มาพบตน โดยได้มีการพูดคุยและอธิบายเรื่องที่ไม่เข้าใจกัน อย่างไรก็ตาม เรื่องที่พูดคุยไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด แต่ล้วนเป็นประเด็นของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษฐภาคตะวันออก หรืออีอีซี

“ในการพูดคุยมีทั้งส่วนท้องถิ่นและเกษตรกรร่วมด้วย คือเอาทุกคนมาพูดคุยกันในเวลาเดียวกัน แต่บางคนบางพวกไม่ยอมคุยกับใครเลย ผมถามว่าใครที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง เรามองประเทศชาติหรือเปล่า หรือมองแค่ว่าจะทำอย่างไรจะเลิกคดีความได้ หากพูดเช่นนั้นจะปรองดองไม่ได้ คดีคือคดี เป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เมื่อเข้าสู่กระบวนการทางดคีบางคนก็สู้คดีไปได้ แล้วทำไมบางคนบางพวกรับไม่ได้ ผมไม่เข้าใจ หลายอย่างได้ประโยชน์จากกฎหมายรับได้ แต่เมื่อไม่ได้กลับโทษกระบวนการยุติธรรม ก็ไม่เป็นธรรม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ยังได้ยกตัวอย่างไปถึง การอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนริมน้ำจันทบูรว่า ทุกคนต่างมีความสุข นั่นคือสิ่งที่ตนเรียกว่าปรองดองด้วยประชาชนเอง หากมีข้อขัดแย้งเขาจะดำเนินการหาข้อตกลงร่วมกันให้ได้ จึงขอพูดโยงเพื่อเป็นตัวอย่าง เนื่องจากชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่อยู่กันหลายพวกด้วยกัน ทั้งคนเก่า คนใหม่ ทั้งพุทธ คริสต์ และมุสลิม ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในการอยู่ร่วมกันในประเทศไทย วันนี้จะต้องนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ด้วย

“how to do นั้นสำคัญที่สุด ทำอย่างไรไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ให้ทุกคนเกิดความร่วมมือ ทำอย่างไรให้อนาคตของคนรุ่นใหม่ที่ยืนอยู่ข้างล่างไปต่อ เคยคิดไหมว่าถ้าบ้านเมืองเสียหายวันนี้ ปรองดองกันไม่ได้ เลือกตั้งกันไม่ได้แล้วคนเหล่านี้จะเดือนร้อนอะไร ใครที่ทำให้เรื่องวุ่นวายเหล่านี้เกิดขึ้น ต้องตอบเด็กๆ เหล่านี้ให้ได้ว่าจะทำอย่างไรกับเขาเพราะผมพยายามทำให้เขาอยู่ ซึ่งสิ่งที่ผมทำไม่ได้หาเสียงแต่อย่างใด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ปัดตอบยกเลิกสร้างโรงไฟฟ้า – ชี้เลื่อนให้แล้ว ขอเวลาศึกษา 3 ปี

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกระแสกดดันให้รัฐบาลระบุให้ชัดเจนว่าจะยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาว่า วันนี้รัฐบาลเลื่อนการพิจารณาออกไป แต่ยังมีการกดดันรัฐบาลให้บอกว่าจะไม่ทำอีก ตนไม่สามารถตอบได้ และไม่มีรัฐบาลไหนตอบได้ เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น วันหน้าจะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่ทราบได้ วันนี้ให้เวลา 3 ปีต้องศึกษาว่าหากไม่ทำแล้วจะต้องมีอะไรทดแทน

“วันนี้มีอีกพวกหนึ่งสนับสนุน จะมายื่นรัฐบาลว่าขอเสนอโรงงานไฟฟ้าถ่านหินเทพา หากเป็นเช่นนี้ประเทศจะเกิดอะไรขึ้น ณ ตอนนี้รัฐบาลพยายามหาทางแก้ปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้มีไฟฟ้าพอใช้ จะต้องไปแก้ปัญหาเรื่องสายส่งและการทดแทนไฟฟ้าจากภาคอื่นเข้ามาในชุมชน ซึ่งจะสิ้นเปลืองเหมือนกัน แต่ก็ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการใช้พลังงานทดแทนนั้นตนเคยบอกแล้วว่า การใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนเป็นปัญหาอีกอันหนึ่งซึ่งเราต้องมองเรื่องความเสถียรของไฟฟ้าด้วย เพราะมีการเสื่อมสภาพของเซลล์เก็บพลังงาน แม้จะบอกว่าไทยมีแสงแดดแรงแต่ไม่ใช่ว่าจะมีแสงแดดแรงทุกวัน ส่วนการรับซื้อพลังงานจากต่างประเทศก็จำเป็นแต่วันหน้าจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาจะไม่ขึ้นราคาอีก ในเมื่อเขาก็ต้องใช้เช่นกัน ขอให้ช่วยพิจารณาความเป็นไปได้ความเป็นไปไม่ได้แล้วกัน

ชี้ลอบล่าสัตว์ผิดกฎหมาย – ขอทุกภาคส่วนตรงไปตรงมา อย่าแอบอ้างตน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีเจ้าหน้าที่ทุ่งใหญ่นเรศวร จับกุมนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) ถูกควบคุมตัวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร พร้อมคณะอีก 4 คน หลังพบตั้งแคมป์ล่าสัตว์ป่าสงวน พบซากสัตว์ป่าคุ้มครอง และอาวุธ ว่า ขอให้จำคำพูดตนไว้ ว่าการลักลอบล่าสัตว์เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไมว่าใครก็ตามที่ทำจะต้องถูกลงโทษ หากเป็นการพิจารณาคดีแล้ว โดยจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งตนไม่มีอำนาจไปก้าวล่วง ส่วนนี้เป็นเรื่องของกลไก ขอให้ทุกภาคส่วนดำเนินการอย่างตรงไปตรง อย่าได้แอบอ้างตน หรือใคร หรือเอื้อประโยชน์ใคร

ต่อคำถามเรื่องอาวุธหลักที่ยึดได้หลายรายการ ซึ่งเจ้าตัวยังให้การปฏิเสธ แต่น่าสงสัยว่าอาจมีเจ้าหน้าที่รัฐไฟเขียว พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวด้วยน้ำเสียงเข้มขึ้นว่า ตนเห็นว่าคำถามดังกล่าวนี้ไม่เป็นธรรม ตั้งมาได้อย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องของผู้กระทำความผิดที่ไม่รับ แล้วเกี่ยวอะไรกับเจ้าหน้าที่รัฐ คำถามแบบนี้ไม่สร้างสรรค์

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

นายกฯ เลี่ยงตอบปมนาฬิกาหรู “บิ๊กป้อม”

พล.อ. ประยุทธ์ ได้ปฏิเสธที่จะตอบคำถามกรณีมีกระแสโจมตี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรื่องนาฬิกาหรู โดยกล่าวเพียงว่า “ท่านยังไม่กลับมา ยังอยู่สิงคโปร์ คิดถึงท่านเหรอ” (พล.อ. ประวิตร อยู่ระหว่างร่วมงานประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ 2561)

เมื่อถามถึงกระแสข่าว พล.อ. ประวิตร ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง พล.อ. ประยุทธ์ ตอบว่า “มีเรื่องอื่นอีกไหม สวัสดี” ก่อนจะเดินออกจากโพเดียมไปทันที

มติ ครม. ที่สำคัญ มีดังนี้

เห็นชอบตั้งสถาบันการเงิน ปชช.

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. …. โดยกฎหมายดังกล่าวจะส่งเสริมให้องค์กรทางการเงินในชุมชนทั้งที่เป็นกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ หรือสถาบันการเงินชุมชน เข้ามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลได้ด้วยความสมัครใจ เพื่อยกระดับขึ้นเป็นสถาบันการเงินชุมชนที่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อกฎหมายผ่านการเห็นชอบและมีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อย เบื้องต้นจะมีสถาบันการเงินชุมชนเกิดขึ้นประมาณ 3,500-7,000 แห่ง ทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 1 ตำบล 1 สถาบันการเงินชุมชน มีประชาชนได้รับประโยชน์ว่า 20-30 ล้านคน ซึ่งจะสามารถสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

กฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญ เช่น กำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชน มีหน้าที่กำกับดูแล ตรวจสอบ และส่งเสริมสถาบันการเงินประชาชน กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดตั้ง การจดทะเบียน การดำเนินการ การเพิกถอน การพ้นสภาพ รวมถึงประเภทหรือลักษณะของสถาบันการเงินประชาชน ออกระเบียบกำหนดคุณสมบัติของสมาชิก พิจารณาให้ความเห็นชอบคำขอการจดทะเบียน กำหนดกรอบอัตราดอกเบี้ยค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และผลตอบแทนของสถาบันการเงินประชาชน และรายงานผลการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีและสาธารณชนทราบ อย่างน้อยปีละครั้ง เป็นต้น

โดยจะมีธนาคารผู้ประสานงาน หรือธนาคารพี่เลี้ยง ได้แก่ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  มีหน้าที่สนับสนุน ช่วยเหลือ แนะนำการจัดตั้งสถาบันการเงินประชาชน และเมื่อได้รับการอนุมัติแล้วสถาบันฯ จะมีฐานะเป็นนิติบุคคล

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2556 พบว่ามีปริมาณครัวเรือนของไทยที่ไม่ใช้บริการเงินฝากสูงถึง 19.28% ของครัวเรือนทั้งหมด โดยอัตราครัวเรือนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านเงินฝากสูงสุดเป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำและอาศัยอยู่นอกเขตเมือง ซึ่งการมีสถาบันการเงินชุมชนเกิดขึ้นจะช่วยลดต้นทุนการเดินทางไปทำธุรกรรมในเมืองที่ประชาชนต้องเสียค่าเดินทาง 200 บาท เพื่อฝากเงิน 200 บาท กฎหมายนี้จะช่วยเหลือประชาชนได้มาก โดยจะช่วยยกระดับองค์กรทางการเงินในชุมชนที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น มีกฎหมายรองรับ ที่สำคัญยังทำให้คนมีรายได้น้อยเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ไฟเขียว “บีโอไอภาคเกษตร”

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับภาคเกษตรในระดับท้องถิ่น ตามการเสนอของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตทางการเกษตร และช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตรในประเทศให้สูงขึ้น เพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นในด้านการเกษตร และสร้างการเติบโตจากภายใน เพื่อวางรากฐานทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว

มาตรการดังกล่าวจะเป็นการผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ และให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากการส่งเสริมการลงทุนในหมวดกิจการด้านการเกษตรตามเกณฑ์ปกติ โดยกำหนดผู้ประกอบการที่ลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาคเกษตร เช่น กิจการผลิตปุ๋ยชีวภาพ กิจการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ กิจการผลิตเชื้อเพลิงจากผลผลิตการเกษตร และศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตร เป็นต้น

สำหรับเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับแบ่งเป็น 2 กรณี ซึ่งจะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมตามมาตรการนี้ภายในปี 2561 ได้แก่

  1. กรณีผู้ประกอบการที่ลงทุนในกิจการด้านการเกษตร โดยมีเงื่อนไขจะผ่อนปรนเงินลงทุนขั้นต่ำของโครงการ ซึ่งลดจากเดิม 1 ล้านบาท เหลือเพียง 5 แสนบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) และผ่อนปรนให้นำเครื่องจักรที่ใช้แล้วในประเทศมาใช้ในโครงการที่ขอรับส่งเสริมได้บางส่วน โดยจะต้องมีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51% ของทุนจดทะเบียน และกิจการจะต้องมีสินทรัพย์ถาวรสุทธิหรือเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่เกิน 50 ล้านบาท สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ คือ ให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นระยะเวลา 5-8 ปี เป็นสัดส่วนไม่เกิน 200% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)
  2. กรณีผู้ประกอบการที่สนับสนุนหรือร่วมดำเนินการกับท้องถิ่นเพื่อดำเนินการในกิจการด้านการเกษตร โดยมีเงื่อนไขจะต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำของแต่ละโครงการไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) และต้องมีความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น

    สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ คือ ให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้จากกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิมเป็นระยะเวลา 3 ปี เป็นสัดส่วนไม่เกิน 100% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ที่จ่ายจริงในการสนับสนุนหรือร่วมดำเนินการกับองค์กรท้องถิ่นเพื่อตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น ค่าก่อสร้างโรงงาน และค่าเครื่องจักร เป็นต้น

เห็นชอบมาตรการภาษีสถาบันอุดมศึกษาศักยภาพสูง

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ โดยกำหนดให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสามารถนำเงินที่บริจาคให้แก่สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้ หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ หรือ 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์และเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ในการบริจาคเพื่อสนับสนุนสถาบันการศึกษาดังกล่าวมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้ ได้แก่ การจัดหาหรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือที่ดินให้แก่สถานศึกษา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา จัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำราเรียนหนังสือวิชาการสื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา วัสดุอุปกรณ์อื่นเพื่อการศึกษา ค่าใช้จ่ายในการจัดหาครู อาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา หรือทุนการศึกษา และการประดิษฐ์ การพัฒนา การค้นคว้า หรือการวิจัยสำหรับนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษาของสถานศึกษา

“กระทรวงการคลังระบุว่า รัฐจะสูญเสียรายได้เพียงเล็กน้อยจากมาตรการนี้ แต่จะสามารถชักชวนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนและพัฒนาการศึกษา การวิจัยในสาขาต่างๆ ได้ และส่งผลต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีคุณภาพและนำไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้รายงานเพิ่มเติมด้วยว่ามหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันได้ตกลงที่จะเข้ามาเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทยในหลักสูตรปริญญาโทวิศวกรรมศาสตร์ สาขาการใช้หุ่นยนต์ และยานยนต์แห่งอนาคต” นายณัฐพรกล่าว

ชูท่องเที่ยวเมืองรอง ด้วย Big Data

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้รับทราบมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชน ซึ่งเป็นการรวบรวมมาตรการ โครงการ และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเข้ามาไว้ด้วยกัน ทั้งที่เป็นงานด้านสีสันทางด้านการตลาด และงานด้านซ่อมแซมและพัฒนาด้านการท่องเที่ยวโดยมีเป้าหมายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในปี2561 ไม่น้อยกว่า 3 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะการส่งเสริมให้รายได้จากการท่องเที่ยวที่เป็นคนไทยขยายตัวไม่ต่ำกว่า 7% จากปีก่อน และช่วยกระจายรายได้ลงสู่เศรษฐกิจฐานรากเพิ่มมากขึ้น

โดยจะเริ่มต้นจากการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ตามที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลของลูกค้าทั้งไทยและต่างชาติ และรวบรวมข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าของร้านค้า คนขายของตามเมืองต่างๆ หรือบริษัทนำเที่ยว เพื่อสำรวจความเห็นของแต่ละฝ่าย สู่การสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับการวางแผนด้านการตลาด จะมีการจัดทำทำภาพยนต์สั้นและสารคดีสั้นเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยว โดยค้นหาพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อถ่ายทอดออกไปสู่สายตาสาธารณะ

ส่วนด้านการซ่อมแซมและพัฒนาการท่องเที่ยว มีงานสำคัญ คือ การขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี  จำนวน 4,500 ล้านบาท ทั้งการพัฒนาบุคลากร พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก พัฒนาผลิตภัณฑ์ อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น และการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น รวมทั้งการหาแนวทางการพัฒนาชุมชนเป้าหมายตามศักยภาพชุมชนใน8 เขตท่องเที่ยว ปัจจุบันมีชุมชนที่ทำการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนจำนวน 168 ชุมชน (ในพื้นทีอีอีซีมี 28 ชุมชน) 

“สิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือข้อมูลเรื่องความยากจน เพราะต้องการให้การท่องเที่ยวสามารถช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ การท่องเที่ยวเมืองรอง จะเริ่มตั้งแต่ 1. การกิน ค้นหาของดีประจำถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ซึ่งหากจะเสนอต่อต่างประเทศต้องสร้างเรื่องราวให้มากขึ้น 2. เที่ยวชุมชนแบบเชื่อมโยง ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเดินทางจากเมืองหลักแล้วไปเมืองรอง เรื่องนี้ต้องเชื่อมกับคมนาคมให้คนเข้าถึงชุมชนได้ง่ายขึ้น 3. ให้บริษัทห้างร้านเข้าไปเชื่อมกับชุมชน (CSR) เมื่อให้บริษัทเหล่านี้ไปเรียนรู้และทำงานกับชุมชน 4. การค้นหาเด่นในชุมชนมาบอกเล่า เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และ 5. ค้นหาภูมิปัญญาประชาชน” นายวีระศักดิ์กล่าว

ตอบรับ UNIDO จัดโครงการนสนับสนุน SMEs ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียวโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ (Greening Industry through Low Carbon Technology Application for SMEs) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization: UNIDO) ดำเนินโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

“การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ไทยบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้ทำความตกลงไว้กับนานาชาติ ทั้งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ปี 2537) พิธีสารเกียวโต (ปี 2545) และความตกลงปารีส (ปี 2559) โดย UNIDO จะเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนหลัก และมี ธพว. ช่วยทำการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะนำเทคโนลียีคาร์บอนต่ำมาใช้” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งการเชื่อมโยงภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน ผ่านโครงการระเบียงเศรษฐกิจผลไม้ โดยตั้งเป้าให้ไทยเป็น “ชาติมหาอำนาจด้านการค้าผลไม้เมืองร้อนของโลก” พร้อมทั้งได้เห็นชอบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อสินค้าเกษตรไปสู่อีอีซีและภูมิภาคอื่นๆ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในข่าวรัฐบาลดัน EEC เตรียมปั้นระเบียงเศรษฐกิจผลไม้ตะวันออก สู่ “มหาอำนาจผลไม้เมืองร้อน”