ThaiPublica > คอลัมน์ > โทษประหาร : แค่ยกเลิกทันทีไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น

โทษประหาร : แค่ยกเลิกทันทีไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น

29 มิถุนายน 2018


ณัฐเมธี สัยเวช

การบังคับโทษตามคำพิพากษาประหารชีวิต ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 ทำให้สังคมได้กลับมาถกเถียงกัน (หรือถ่มถุยใส่กัน?) เรื่องโทษประหารอีกครั้ง

ผมอยู่ฝั่งที่ไม่เอาโทษประหาร เหตุผลของผมนั้นไม่ใช่เรื่องสิทธิมนุษยชนหรืออะไร แต่คือเรื่องที่ว่าการประหารนั้นทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรมนุษย์ เพราะเมื่อมีการฆาตกรรมสะเทือนขวัญเกิดขึ้น นั่นคือเราสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ไปแล้วหนึ่งคน ซึ่งหากประหารคนร้ายในคดีนั้นไปด้วย เราก็จะสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ไปอีกหนึ่งคน

หากเราไม่ซีเรียสเรื่องสูญเสียทรัพยากรมนุษย์อย่างซ้ำซ้อน แต่มุ่งหวังเรื่องเขียนเสือให้วัวกลัว เน้นเรื่องประหารให้เป็นตัวอย่าง ถ้าอย่างนั้นลองดูนี่สิครับ นับจากวันที่ 18 จนถึงวันที่ผมเริ่มเขียนบทความนี้ เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ ผมเห็นข่าวการฆ่าอย่างโหดเหี้ยมบนโพสต์ของเหล่าหนังสือพิมพ์ในช่องทางออนไลน์ทุกวัน ซึ่งนั่นหมายความว่า วัวไม่กลัวเสือ หรือวัวอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเดินไปตรงไหนแล้วจะโดนเสือกิน ผมถามจริงๆ ระหว่างที่นั่งอยู่นี่ คุณรู้หรือว่าทำผิดแบบไหนแล้วตัวเองจะโดนประหารอย่างแน่นอน หรือต่อให้คุณรู้ คุณแน่ใจไหมว่ากระบวนการยุติธรรมจะพาคุณไปสู่การประหารจริงๆ

หรือต่อกันอีกสักต่อ คือต่อให้คุณเป็นฆาตกรเสียเอง (จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่) คุณมองเหยื่อที่ตัวเองเพิ่งแทงไปแล้วเริ่มถามตัวเอง ไหน ในข่าวที่โดนประหารคือแทง 24 แผล เราแทงไปเท่าไหร่แล้ว หนึ่ง, สอง, สาม…ยี่สิบแผล โอเค จำนวนแผลไม่เท่า เราคงไม่โดนประหาร นี่ครับ โดยทั่วไปแล้วมนุษย์เป็นอย่างนี้ เข้าข้างตัวเอง ไม่คิดว่าตัวเองจะเจอเรื่องร้ายๆ เว้นแต่จะเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายจริงๆ

เพราะฉะนั้น โทษประหารนั้นไม่มีประสิทธิภาพในการป้องปรามการกระทำผิดของคนหรอกครับ เพราะ 1. โดยทั่วไปแล้ว คนเราไม่รู้ข้อกฎหมายโดยละเอียดหรอกครับ ไม่รู้ว่าทำผิดอะไรจะโดนลงโทษแค่ไหน 2. หรือต่อให้รู้ กระบวนการทางยุติธรรมก็มีตัวแปรมากมายที่จะทำให้เราอาจไม่ได้รับการพิพากษาโทษสูงสุดในคดีนั้นๆ และ 3. คนเรามีแนวโน้มจะคิดเข้าตัวเองอยู่เสมอ

เอาล่ะ มีแบบไหนอีก คิดว่าอย่างน้อยการประหารก็กำจัด “คนไม่ใช่คน” ไปได้หนึ่งคนอย่างนั้นหรือ คือถือเป็นการลดความเสี่ยงให้สังคม ขอโทษที ผมไม่แน่ใจว่ามันคือการลดความเสี่ยงหรือประวิงเวลากันแน่ และหากถามว่าประวิงเวลาอะไร คำตอบก็คือประวิงเวลาที่ใครสักคนในสังคม หรือกระทั่งคือคุณ…ใช่ คุณเองนั่นแหละ จะได้เปลี่ยนสถานะเป็นเหยื่อในฆาตกรรมสะเทือนขวัญขึ้นมาบ้าง

คือ ผมคิดว่าการก่อคดีสะเทือนขวัญระดับที่โดยกฎหมายทุกวันนี้แล้วควรค่าแก่การประหารมันเหมือนระเบิดเวลาน่ะครับ มันเหมือนระเบิดเวลาพอกับที่หลายๆ ท่านรู้สึกกับคนร้ายที่ไม่ได้รับโทษประหารแลัวออกมาใช้ชีวิตปะปนกับคนอื่นๆ ในสังคมนั่นแหละ คือมันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ไม่รู้ และมันอยู่ที่ไหนก็ไม่เห็น

ว่ากันจริงๆ นี่เหมือนดวงดาวบนท้องฟ้าในเวลากลางวัน คุณมองไม่เห็น แต่มันก็มีตัวตนของมันอยู่จริงๆ แล้วระเบิดเวลากับดวงดาวนี่เหมือนกันตรงไหนหรือครับ มันเหมือนตรงที่ ดวงดาวจะปรากฏให้เห็น/ระเบิดเวลาจะระเบิด เมื่ออยู่ในเงื่อนไขที่เหมาะสม

ปัญหาคือ ในความร้อยพ่อพันแม่ เราไม่มีทางรู้ว่าคนปรกติที่เดินอยู่รอบๆ ตัวเราจะลุกขึ้นมาเป็นฆาตกรเมื่อไหร่ พอๆ กับไม่รู้ว่าฆาตกรที่พ้นคุกออกมาจะกลับตัวเป็นคนดีได้จริงๆ หรือไม่

ดังนั้น ไม่ว่าจะมีโทษประหารหรือไม่ ความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อในคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญทั้งด้วยฝีมือของคนที่เคยเป็นฆาตกรมาแล้ว และด้วยฝีมือของคนที่ไม่เคยเป็นฆาตกรมาก่อน ย่อมแทบไม่ต่างกัน (คุณจะบอกว่ามันต่างกันและต่างกันขนาดไหนได้ก็ต่อเมื่อเอาทุกคน ย้ำ ทุกคนในสังคม มาเข้ากระบวนการทดสอบทางจิตวิทยา แต่กระนั้น นั่นก็บอกได้แค่แนวโน้ม ไม่ใช่คำทำนายที่แม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์)

และด้วยความที่ป้องปรามก็ไม่ได้ ปราบปรามก็ไม่ได้ แถมยังทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์อย่างซ้ำซ้อน ผมจึงคิดว่าโทษประหารนั้นช่างไม่มีประโยชน์เอาเสียเลย

ที่มาภาพ : ณัฐเมธี สัยเวช

กระนั้น ผมก็ไม่คิดว่าการยกเลิกโทษประหารไปเลยจะเป็นวิธีการที่ดี แน่นอนว่าในเชิงภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การยกเลิกโทษประหารย่อมทำให้ประเทศของเราดูดีขึ้นทันควัน แต่ก็แน่นอนเช่นกันว่า กับภายในประเทศแล้ว การยกเลิกโทษประหารทันทีมิได้ทำให้สังคมดีขึ้นทันใด

ในฐานะคนที่ไม่สนับสนุนให้มีโทษประหาร สิ่งหนึ่งที่เราจะละเลยไปไม่ได้เลยก็คือความกลัวอันเป็นปัจจัยผลักดันให้ฝ่ายสนับสนุนยังยืนยันว่าควรมีโทษประหารอยู่ ซึ่งอันที่จริงความกลัวนี้ต่างมีในทั้งสองฝ่าย นั่นก็คือ ความกลัวว่าชีวิตจะไม่ปลอดภัย

ในบริบทนี้ ผมคิดว่าความกลัวดังกล่าวนั้นผูกพันอยู่กับความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในส่วนของคุก ว่าไม่สามารถทำหน้าที่ “คืนคนดีสู่สังคม” ได้อย่างแท้จริง และยังไม่ต้องนับว่า สำหรับหลายๆ คน คุกอาจไม่เคยอยู่ในฐานะสถานที่บำบัดฟื้นฟูจิตใจให้ผู้ต้องขังกลับมาเป็นมนุษย์ธรรมดา แต่มีไว้เพื่อกีดกันสิ่งที่พวกเขามองว่าชั่วร้ายทั้งปวงออกจากสังคมเพื่อไปรับโทษทัณฑ์ในดินแดนเร้นลับ

ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ ดูเหมือนสังคมของเราจะไม่สามารถจินตนาการถึงคุกไปในทางอื่นๆ ได้เลย และภาครัฐเองก็ไม่เคยทำให้สังคมเชื่อมั่นว่าคุกจะทำหน้าที่ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ได้ (ทั้งที่จริงๆ ก็มีความพยายามอยู่ตลอด) ดังนั้น การเสนอให้ยกเลิกโทษประหารทันที โดยไม่มีมาตรการอื่นใดมาทดแทน ย่อมไม่อาจทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกถึงอะไรไปมากกว่าการเปิดประตูนรก เพราะสิ่งที่น่าจะพอทดแทนกันได้อย่างจำคุกตลอดชีวิต เราๆ ท่านๆ ต่างก็น่าจะตระหนักกันดีอยู่แล้วว่าไม่มีจริง

อนึ่ง ต่อให้การจำคุกตลอดชีวิตมีอยู่จริงผมก็ไม่สนับสนุนนะครับ แบบนั้นก็สิ้นเปลืองเหมือนกัน เราจะเอาคนคนหนึ่งไปขังไว้จนกว่าจะตายเพื่ออะไร ทำไมไม่หาทางให้เขาได้ทำอะไรที่มันเป็นประโยชน์กับทั้งตัวเองและสังคม

ดังนั้น หากจะยกเลิกโทษประหาร สิ่งที่เราต้องทำไปพร้อมกันก็คือการพัฒนาเรือนจำให้กลายเป็นสถานฟื้นฟูขึ้นมาได้จริงๆ ซึ่งผมคิดว่า สิ่งแรกที่เราต้องทำก็คือการแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ

ดังที่บอกเล่าให้ฟังมาหลายทีว่า ปัจจุบันนี้ ในขณะที่เรือนจำทั่วประเทศถูกออกแบบมาให้รองรับผู้ต้องขังได้ประมาณสองแสนคน แต่จำนวนผู้ต้องขังที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำจริงๆ นั้นมีถึงกว่าสามแสนคน ซึ่งด้วยปริมาณอันเกินศักยภาพในการรองรับเช่นนี้ มาตรการฟื้นฟูต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในย่อมไม่อาจมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เรือนจำกลายเป็นโรงเรียนพัฒนาวิชาโจร มากกว่าจะฟื้นฟูผู้ต้องขังให้กลับมาเป็นมนุษย์สุจริต

ในบรรดาผู้ต้องขังกว่าสามแสนคนนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด และส่วนใหญ่ของคดียาเสพติดนั้นก็เกี่ยวกับยาบ้า ตรงนี้เป็นผลมาจากกฎหมายยาเสพติดที่รุนแรงและไม่ยืดหยุ่นในตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งถ้าจะแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ผมคิดว่าเราต้องทำในสองส่วน นั่นคือเร่งระบายผู้ต้องขังเดิมที่ตอนนี้อยู่ในเรือนจำออกมา และในขณะเดียวกันก็ไม่เพิ่มผู้ต้องขังใหม่เข้าสู่เรือนจำให้มากมายเกินไปนัก หรือก็คือ เราต้องไปลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติดนั่นเอง

เวลาพูดแบบนี้เกี่ยวกับผู้ต้องขังคดียาเสพติด ก็คงฟังดูน่ากลัวพอๆ กับบอกว่าให้ยกเลิกโทษประหารทันทีใช่ไหมครับ คือให้อารมณ์แบบเปิดประตูนรกเหมือนกัน แต่คุณครับ เรามีตัวอย่างจากหลายๆ ประเทศนะครับ ที่เขาไม่ได้ใช้โทษอาญากับคดียาเสพติด หรือบางที่ถึงกับมีที่ให้เสพโดยมีผู้เชี่ยวชาญดูแลด้วยซ้ำไป และบ้านเมืองของเขาก็ไม่ได้ล่มสลาย ทั้งยังแก้ปัญหาต่างๆ ที่เคยแก้ไม่ได้ได้อีกด้วย (ลองดูตัวอย่างได้จากบทความ “นโยบายยาเสพติดของประเทศโปรตุเกส” และ “การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด: ประสบการณ์ของ รูท ไดรฟัสส์ อดีตประธานาธิบดีหญิงสวิตเซอร์แลนด์คนแรก” ที่ผมเคยเขียนไว้นะครับ)

นอกจากนี้ การจะปล่อยจากการคุมขังให้เร็วขึ้นก็ต้องไม่ใช่สักแต่ว่าปล่อย เราก็…ก็นั่นแหละครับ อย่างที่ใครๆ ก็พูดกันและตอนนี้ก็ทำกันอยู่ ฝึกอาชีพครับ แต่เราอาจต้องฝึกให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น ล่าสุดที่ผมเจอที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสนี่น่าสนใจมากครับ มีฝึกดูดวงด้วยไพ่ทาโรต์ เหมาะมาก ลงทุนน้อย แต่ได้เงินค่อนข้างแน่นอน แล้วก็การฝึกอาชีพที่เป็นลักษณะการทำงานตามการจ้างงานของกิจการจากภายนอก ก็ควรมีการแก้ไขระเบียบราชทัณฑ์ให้ผู้ต้องขังมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างนะครับ ไม่ใช่ได้รับแค่ “ปันผล” ดังเช่นทุกวันนี้ ซึ่งปันผลที่ว่านี่ บางทีก็ได้น้อยจนแม้แต่ของกินราคาถูกที่สุดในร้านสหกรณ์ของเรือนจำก็ยังซื้อไม่ได้ สภาพแบบนี้นี่ผมคิดว่ามันไม่เอื้อให้คนเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่สักนิด ไม่ว่าจะชีวิตของตัวเองหรือผู้อื่นก็ตาม

นอกจากนี้ สิ่งที่อยากเสนอเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการเตรียมช่องทางทำมาหากินให้แก่ผู้ต้องขัง ตัวอย่างหนึ่งของกรณีนี้คือที่ประเทศญี่ปุ่นครับ ที่นั่นมี Human Harbor Corporation เป็นกิจการเพื่อสังคมที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการหางานทำยากของเหล่าผู้ต้องขัง หรือในบ้านเราก็มีร้านนวดแผนไทยที่เชียงใหม่ ซึ่งรับเอาอดีตผู้ต้องขังไปทำงานในร้าน 

เพื่อให้เกิดกิจการลักษณะนี้มากขึ้น หรืออย่างน้อยทำให้เกิดการให้โอกาสอดีตผู้ต้องขังได้เข้าไปทำงานมากขึ้น ผมคิดว่ารัฐควรให้สิทธิประโยชน์แก่กิจการหรือองค์กรที่ดำเนินการในลักษณะนี้ครับ จะเป็นการลดหย่อนภาษีหรืออะไรก็ว่ากันไป แต่ผมเห็นว่าการสนับสนุนจากรัฐเพื่อสร้างแรงจูงใจนี้ควรเป็นมาตรการระยะสั้นนะครับ เพราะในระยะยาวแล้วสิ่งที่ควรทำควบคู่กันไปคือการทำให้สังคมมั่นใจว่าคนที่ออกจากคุกแล้วก็เป็นคนปรกติธรรมดา มีงานมีการทำได้อย่างคนทั่วไป และเหนือสิ่งอื่นใด หน่วยงานรัฐควรจะเลิกกฎที่ว่าจะไม่รับบุคคลเข้าทำงานหากมีประวัติอาชญากรรมหรือเคยต้องโทษคุมขังได้แล้ว เพราะรัฐเองนั่นแหละควรจะเป็นตัวนำในการสร้างค่านิยมเรื่องนี้ให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง

ที่กล่าวไปนั่นเป็นเพียงภาพกว้างๆ ว่าควรจะมีอะไรอยู่ในเรือนจำนะครับ แต่อีกส่วนสำคัญที่ควรมีหากเราจะยกเลิกโทษประหาร และผมคิดว่าส่วนนี้นั้นเกี่ยวข้องกับคดีอุกฉกรรจ์ที่มีโทษทัณฑ์ได้ถึงขั้นประหารชีวิต นั่นก็คือเรื่องการ “คลายปม” ให้กับตัวผู้ต้องขัง

ปัญหาใหญ่ของบ้านเรานั้นผมคิดว่าอยู่ที่การโยนทุกอย่างให้เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคลไปเสียหมด คือถ้าทุกอย่างเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคลไปเสียหมดนี่มีลูกก็ไม่ต้องเลี้ยงหรอกครับ ไม่ต้องหาโรงเรียนดีๆ ให้เขา ให้ข้าวแล้วนั่งลุ้นว่าพันธุกรรมของเราดีพอจะให้เขาเป็นคนดีหรือไม่ก็พอ

แต่ความจริงมันไม่ใช่แบบนั้นไงครับ และผมคิดว่าการที่เราพยายามสรรหาสิ่งดีๆ ให้ลูกหรือให้แก่เด็กๆ ในสังคมก็เป็นเพราะเรารู้ว่าสิ่งแวดล้อมนั้นมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของมนุษย์อย่างมหาศาล คนเราจะเติบโตมากับจิตใจที่มีลวดลายสวยงามหรือเต็มไปด้วยริ้วรอยอันไม่น่ามอง ก็ล้วนขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตที่แต่ละคนเจอมานั่นแหละครับ ตัวตนของเรา ณ ปัจจุบันคือผลลัพธ์จากการขัดเกลาของสังคมที่เราได้รับมาตลอดชีวิต

การขัดเกลาทางสังคมที่ว่านี้ไม่ใช่เพียงคำอบรมสั่งสอนของผู้ใหญ่ แต่ยังหมายถึงปฏิสัมพันธ์ที่มีกับสังคมแวดล้อมรอบตัวของบุคคลหนึ่ง ไม่ใช่แค่เรื่องชีวิตในครอบครัว แต่รวมไปถึงชีวิตในการศึกษา (ถ้ามีโอกาสได้เข้าถึง) ชีวิตในการทำงาน (ถ้ามีโอกาสได้เข้าถึง) และชีวิตประจำวัน หรือคือเรียกได้ว่าในทุกมิติของชีวิต และการขัดเกลาทางสังคมนี้นี่เองที่มีผลอย่างยิ่งว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว คนเราจะกลายเป็นมนุษย์แบบไหน

ที่มาภาพ : ณัฐเมธี สัยเวช

คุณต้องไม่ลืมนะครับว่า โดยพื้นฐานแล้วมนุษย์เราเหมือนสัตว์เดรัจฉานที่สามารถฆ่าคนอื่นได้ตามสัญชาติญาณการเอาตัวรอดของตัวเอง ซึ่งการขัดเกลาทางสังคมนี่แหละที่จะเป็นตัวกำหนดว่าสุดท้ายแล้วมนุษย์เราจะ 1. สามารถรับมือกับสัญชาติญาณดิบนั้นได้อย่างเหมาะสม หรือที่เราเรียกกันว่ารู้จักยับยั้งชั่งใจ 2. เก็บกดมันไว้โดยอาจระเบิดออกมาได้ในวันใดวันหนึ่ง หรือ 3. มีสัญชาตญาณดิบนั้นอย่างเข้มข้นและพร้อมใช้มันออกมาตลอดเวลา

ผู้ต้องขังคดีอุกฉกรรจ์ที่มีอัตราโทษสูงหรือถึงขั้นประหารชีวิตนั้นก็คือมนุษย์ในแบบข้อ 2. และข้อ 3. (อาจมีข้อ 1. ได้ในกรณีที่เกิดความผิดพลาดหรือกระทั่งจงใจให้ผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม) และตรงนี้นี่เองครับ ที่ทำให้ผมคิดว่าหากไม่มีโทษประหารแล้ว เรือนจำควรจะต้องมีกระบวนการคลายปมให้คนเหล่านี้ คลายปมในใจ คลายปมในชีวิต เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการฟื้นฟูก่อนจะส่งพวกเขากลับคืนสู่สังคม

อนึ่ง ผมคิดว่าการคลายปมนี้เหมือนการวินิจฉัยโรคเพื่อจ่ายยารักษาได้ถูกต้องน่ะครับ คือเราต้องรู้ก่อนว่าเขาเป็นอะไร แล้วเราจะได้เลือกวิธีฟื้นฟูที่เหมาะสม รวมทั้งสามารถกำหนดเกณฑ์การประเมินก่อนปล่อยตัวด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ในที่สุดเราอาจได้ภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าการขัดเกลาทางสังคมแบบไหนที่จะสร้างคนแบบนี้ขึ้นมา และเราต้องป้องกันอย่างไรจึงจะไม่เกิดคนแบบนี้ขึ้นมาอีก

ครับ ทั้งหมดนี้ก็คือข้อเสนอคร่าวๆ ว่า หากจะยกเลิกโทษประหารแล้วควรจะมีอะไรมาทดแทนบ้าง แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องเชื่อก่อนครับว่า เวลาที่ยาวนานเพียงพอและเงื่อนไขที่เหมาะสมสามารถเปลี่ยนคนธรรมดาไปเป็นคนร้ายได้ฉันใด เวลาที่ยาวนานเพียงพอและเงื่อนไขที่เหมาะสมก็สามารถเปลี่ยนคนร้ายกลับมาเป็นคนธรรมดาหรือกระทั่งคนดีได้ฉันนั้น

มีอีกหลายวิธีที่เรายังไม่ได้ลองครับ