ThaiPublica > คอลัมน์ > ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ

31 ตุลาคม 2017


ณัฐเมธี สัยเวช

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560 สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ขัดการประชุม เรื่อง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” กับ “หลักนิติธรรม” ครั้งที่ ๑ “โลกาภิวัตน์ ทุนนิยมสุดโต่ง การเสพติด ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ”: “ปัญหาและทางออก”

ในงานดังกล่าว ได้มีการแสดงข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำในประเทศไทย กล่าวคือ

1. ในขณะที่ความจุผู้ต้องขังเป็นทางการ หรือจำนวนผู้ต้องขังที่เรือนจำรองรับได้ ของประเทศไทยนั้นเท่ากับ 217,000 คน จำนวนผู้ต้องขังที่มีอยู่จริงคือ 300,910 คน หรือก็คือสูงกว่าจำนวนผู้ต้องขังที่เรือนจำรองรับได้ถึง 83,910 คน

2. ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 67,680,000 คน เมื่อนำจำนวนผู้ต้องขังกว่าสามแสนคนดังกล่าวมาคิดเป็นอัตราส่วนผู้ต้องขังต่อประชากร 100,000 คนแล้ว ประเทศไทยจะมีอัตราส่วนผู้ต้องต่อประชากร 100,000 คนอยู่ที่ 455 (ทุกประชากร 100,000 คนจะมีผู้ต้องขังอยู่ 455 คน) หรือคิดเป็นอันดับที่ 9 ของโลก

3. ส่วนใหญ่ของผู้ต้องขังในไทย หรือประมาณร้อยละ 90 นั้น ล้วนเป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด และกว่าร้อยละ 80 ในกลุ่มนี้ คือคนยากจน

ในมุมมองมองหนึ่ง เมื่อเห็นสถิติดังกล่าวแล้ว อาจชวนให้รู้สึกว่าประเทศไทยช่างตกต่ำทางศีลธรรมจนแม้เอาการคุมขังเป็นที่ตั้งในการจัดการผู้กระทำผิดแล้ว ก็กลับยังก่อเกิดความเกรงกลัวไม่มากพอจะก่อความยับยั้งชั่งใจ ทำให้ไม่เพียงพอต่อการรองรับจำนวนผู้กระทำผิดที่เกิดขึ้นจริงในที่สุด

ทว่าในอีกด้านหนึ่งนั้น ตามข้อมูลที่ได้จากการประชุมแล้ว นี่คือสภาวะที่เรียกว่าเรากำลัง “เสพติดการใช้เรือนจำ/ทัณฑสถาน (Addicted to Incarceration)” หรือ “กฎหมายอาญาเฟ้อ (Overcriminalization)”

สภาพดังกล่าวนั้นอาจเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นการ “ใช้กระบวนการยุติธรรมไปในทางที่ล้นเกิน”

ดังนั้น เพื่อเป็นหนึ่งในการถวายความอาลัย รวมทั้งร่วมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย จึงอยากขอน้อมนำเอาแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาลองปรับใช้เพื่อเสนอแนวความคิดในการแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำในที่นี้

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการ ทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี 
ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง จึงประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังนี้ 
๑. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ 
๒. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ 
๓. ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยมี เงื่อนไข ของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียง ๒ ประการ  ดังนี้ 
๑. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในการปฏิบัติ 
๒. เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักใน คุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
ที่มา: เว็บไซต์มูลนิธิชัยพัฒนา

3 ห่วง

    1. ความพอประมาณ: การลงโทษนั้นจะต้องเป็นไปอย่างพอเหมาะพอควร ซึ่งพอเหมาะพอควรที่ว่านี้ก็คือต้องมีความสมแก่เหตุในการกระทำผิด ไม่เบาจนราวกับไม่มีการลงโทษใดๆ หรือไม่หนักจนล้นพ้นแก่เจตนาในการกระทำผิดไปมาก หรือก็คือ ต้องเป็นการลงโทษอย่างได้สัดส่วนนี่เอง กฎหมายยาเสพติดในเวลาที่ผ่านมาก่อนจะได้รับการแก้ไขนั้นเป็นตัวอย่างที่ดีของการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน เช่น การพกยาบ้าข้ามชายแดนเข้ามาเพื่อเสพเองเป็นปริมาณ 1.5 เม็ด แต่กลับต้องรับโทษฐานนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ต้องรับโทษจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งแม้ลดหย่อนกันเพียงใดแล้วก็ยังต้องโทษจำคุกอีกถึง 25 ปี

    อนึ่ง หากดูจากตัวอย่างในประเทศอื่นๆ เช่น โปรตุเกส ดังที่กล่าวไปในตอนที่แล้ว (นโยบายยาเสพติดของโปรตุเกส) เราอาจพบว่า การจัดการกับยาเสพติดในแบบที่เหมาะสมและมีความพอประมาณนั้นอาจไม่มีความจำเป็นต้องให้เรือนจำมามีส่วนร่วมเลยด้วยซ้ำไป เราสามารถใช้การให้โอกาสและสนับสนุนการเลือกด้วยตนเองของผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ก็ไม่ได้ทำให้สังคมต้องล่มสลายแต่อย่างใด

    2. ความมีเหตุผล: การจะดำเนินไปสู่ความพอประมาณในการลงโทษได้นั้น ย่อมต้องมีเหตุผลรองรับที่ดี ว่าเหตุใดจึงลงโทษสถานนั้นสถานนี้ และหากพูดถึงการพิพากษาในศาลกันแล้ว เหตุผลที่ใช้ในการตัดสินโทษนั้นย่อมถูกกำกับด้วยตัวบทกฎหมายมากกว่าสิ่งอื่นใด เพราะอย่างกรณีของการลงโทษที่เกินสัดส่วนและไม่ตรงกับเจตนาในการกระทำผิดดังได้กล่าวไปในกรณีของการนำเข้าเพื่อเสพเองแต่กลับกลายเป็นต้องโทษฐานนำเข้าเพื่อจำหน่าย ก็เป็นผลจากข้อกฎหมายที่ไม่มีความยืดหยุ่น กล่าวคือ ในมาตรา 15 วรรคสาม ของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ก่อนที่จะมีการแก้ไขนั้น มีข้อความที่ว่า “การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย” ซึ่งคำว่าให้ถือว่านั้นเป็นผลให้ผู้พิพากษาไม่สามารถพิจารณาเป็นอย่างอื่นไปได้เลย ทำให้แม้ผู้ต้องหาจะนำเข้ามาเพื่อเสพเอง แต่หากปริมาณที่พกมานั้นเข้าเกณฑ์ความผิดตามมาตราดังกล่าว ก็จะต้องถือว่านำเข้ามาเพื่อจำหน่ายทันที

    ซึ่งตรงนี้ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ โครงการกำลังใจฯ ก็ได้ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการแก้ไขปัญหาไปแล้ว ด้วยการพยายามผลักดันจนเกิดการแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยมีการเปลี่ยนแปลงข้อความในมาตรา 15 วรรคสาม เป็น “การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย” ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงในมาตรา 65 วรรคหนึ่ง โดยมีการยกเลิกข้อความเดิมที่ว่า “ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท” แล้วให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท” ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ได้สร้างเหตุผลให้สามารถตัดสินลงโทษได้อย่างยืดหยุ่นและสมแก่เจตนาในการกระทำผิดมากขึ้น เพราะการเปลี่ยนจากให้ถือว่าเป็นให้สันนิษฐานว่านั้น ก็ทำให้ผู้ต้องหามีโอกาสในการพิสูจน์เจตนาของตนเองว่าไม่ได้เป็นการนำเข้ามาเพื่อจำหน่าย ซึ่งการทำเช่นนี้นั้นเป็นไปไม่ได้ในข้อกฎหมายเดิม รวมทั้งก็ยังมีโอกาสในการได้รับโทษที่เบาลงกว่าข้อกฎหมายเดิมมาก และนี่ก็คงจะนับได้ว่าเป็นลักษณะของการใช้เหตุผลสนับสนุนความพอประมาณนั่นเอง

    3. ภูมิคุ้มกัน: เมื่อพูดถึงเรื่องภูมิคุ้มกันในบริบทของการแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำแล้วนั้น ก็คงจะต้องกล่าวถึงใน 2 ส่วน นั่นก็คือ การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อไม่ให้เกิดผู้ต้องขังหน้าใหม่มากจนเกินไป และการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำจนต้องกลับมาเป็นผู้ต้องขังอีก ซึ่งในส่วนนี้นั้น เราอาจสร้างภูมิคุ้มมกันได้ใน 3 ช่วงเวลา คือ

      3.1 ก่อนเป็นผู้ต้องขัง: ควรมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางในกระบวนการยุติธรรมให้เกิดการเบี่ยงเบนผู้กระทำผิดออกจากการเป็นผู้ต้องขังมากที่สุด
      3.2 ระหว่างเป็นผู้ต้องขัง: ควรมุ่งเน้นไปที่การทำให้เรือนจำนั้นเป็นดินแดนแห่งการเตรียมตัวเพื่อกลับไปสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรีมากกว่าการเป็นดินแดนที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในทุกกระบวนการ โดยยึดหลักว่าเมื่ออยู่ในเรือนจำแล้วนั้น สิ่งเดียวที่ควรถูกลิดรอนไปคือสิทธิเสรีภาพในการไปไหนมาไหนได้ตามใจ แต่สิทธิอื่นๆ นั้นควรดำรงไว้เสมอเหมือนแก่บุคคลธรรมดา ผู้ต้องขังควรมีสิทธิในการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีตามปัจจัยสี่ คือไม่ต้องหรูหรา แต่ก็ต้องไม่ต่ำต้อยจนรู้สึกราวกับว่าตัวเองไม่ใช่มนุษย์

      การฝึกอาชีพในเรือนจำควรเป็นไปอย่างสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน หรือกระทั่งเหมาะสมแก่ถิ่นที่อยู่ที่ผู้ต้องขังจะไปใช้ชีวิตเมื่อพ้นโทษไปแล้ว และยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่น่าจะทำที่สุดก็คือการส่งเสริมให้ผู้ต้องขังมีรายได้จากการทำงานตั้งแต่ยังไม่พ้นโทษ เพื่อเป็นทั้งเงินจับจ่ายใช้สอยขณะอยู่ในเรือนจำ รวมทั้งเป็นทุนรอนให้ชีวิตในยามที่พ้นโทษออกมาแล้ว โดยอาจออกแบบให้เลือกได้ว่าเงินที่ได้จากการทำงานในขณะต้องโทษนั้นสามารถแบ่งออกเป็นสองบัญชี บัญชีหนึ่งสำหรับใช้จ่ายภายในเรือนจำ อีกบัญชีหนึ่งนั้นสะสมไว้เพื่อเป็นทุนติดตัวยามพ้นโทษ ซึ่งในส่วนของเงินออมนั้น กรมราชทัณฑ์อาจไม่ต้องเป็นเจ้าภาพในการจัดการด้วยตัวเอง แต่ใช้วิธีการประสานงานกับธนาคารภายนอกให้ผู้ต้องขังสามารถใช้บริการการออมได้แม้ตัวยังอยู่ในเรือนจำก็ได้

      ส่วนเรื่องที่ว่าใครจะมาจ้างนั้น อันที่จริง ทุกวันนี้มีการจ้างงานจากภายนอกเข้าไปในเรือนจำโดยใช้ผู้ต้องขังเป็นแรงงานอยู่แล้ว และเป็นการทำงานที่มีรายได้ตอบแทนด้วย หากแต่ค่าตอบแทนนั้นน้อยมากจนอาจเรียกได้ว่าทำงานฟรี ดังได้เคยกล่าวไว้ในบทความที่ชื่อว่า ออกไปในเรือนจำ (อีกครั้ง): จากการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติด ถึงแนวคิดเพื่อผู้พ้นโทษไม่กระทำผิดซ้ำ (ตอนที่ 2)

      การมีเงินทุนและความสามารถในการอาชีพที่ตลาดต้องการติดตัวออกไปในตอนที่พ้นโทษนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของผู้ต้องขัง เพราะทุนที่เป็นตัวเงินนั้นจะสามารถทำให้ดำรงชีวิตไปได้ในระยะหนึ่งหากยังหางานทำไม่ได้ ส่วนทุนที่เป็นทักษะนั้นก็จะทำให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อทำงานหาเลี้ยงตัวเองตามแนวทางอย่างปุถุชนคนธรรมดาได้ต่อไป

      3.3 เมื่อพ้นจากการเป็นผู้ต้องขังไปแล้ว: ปรกติแล้ว กระบวนการในขั้นตอนนี้มักมุ่งเน้นไปที่การเตรียมตัวผู้ต้องขังให้พร้อมกับการออกไปใช้ชีวิตข้างนอกเรือนจำ ทว่า สิ่งหนึ่งที่ยังขาดไปมากๆ ก็คือการเตรียมสังคมภายนอกให้มีความพร้อมจะยอมรับและให้โอกาสผู้ต้องขัง การเตรียมสังคมภายนอกให้พร้อมนั้นไม่ใช่แต่เพียงเรื่องนามธรรมอย่างการมีทัศนคติในเชิงให้โอกาสในการกลับสู่สังคม แต่ยังรวมถึงเรื่องเชิงรูปธรรมอย่างการที่การมีประวัติอาชญากรหรือการเคยเป็นผู้ต้องขังจะทำให้ไม่สามารถสมัครเข้าทำงานในหลายๆ ที่ได้ ซึ่งหน่วยงานราชการเองเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้ คำถามก็คือ หากพ้นโทษไปแล้วกลับเต็มไปด้วยข้อจำกัดในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยเฉพาะหากอยากประกอบอาชีพสุจริตที่มีความมั่นคงก็ยังทำไม่ได้ แล้วอดีตผู้ต้องขังจะทำอะไรได้มากไปกว่าการกลายไปอยู่ในสถานะอนาคตผู้ต้องขังอีกครั้ง

      เรื่องของการจ้างงานและได้ค่าจ้างที่เป็นธรรมดังกล่าวไปในข้อ 3.2 นั้นก็มีความเกี่ยวข้องกับขั้นตอนนี้อยู่ไม่นอน เพราะหากได้ทำงานเป็นเรื่องเป็นราวเป็นระบบตั้งแต่ยังไม่พ้นโทษ เมื่อพ้นไปแล้วก็ย่อมเห็นลู่ทางว่าตนเองจะไปหางานทำได้จากที่ไหนบ้าง อันที่จริงแล้วกรมราชทัณฑ์อาจเป็นธุระจัดการในการเตรียมการจัดหางานให้แก่ผู้ที่กำลังจะพ้นโทษเองด้วยก็ได้ หรืออาจมีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ ซึ่งจะเลือกวิธีไหนก็คงต้องว่ากันไปตามประสิทธิภาพอันพึงจะเกิดขึ้นได้

2 เงื่อนไข

    1. เงื่อนไขความรู้: ในการจะดำเนินการใดๆ ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้สำเร็จได้นั้น ความรู้ที่จำเป็นต่อการสร้างความพอเพียงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้เลย ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดสถานการณ์ผู้ต้องขังล้นเรือนจำอันเนื่องมาจากยาเสพติดนั้นเกิดขึ้นเพราะสังคมขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งยังได้รับการโหมประโคมความน่ากลัวอันเกินจริงหรือกระทั่งผิดไปจากความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา จนกลายเป็นฐานอันชอบธรรมต่อการใช้นโยบายในการจัดการกับยาเสพติดด้วยความรุนแรงและไม่มีความอดทนอดกลั้น

    ดังนั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการใช้แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำก็คงไม่พ้นการเร่งสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดให้มีความเข้มแข็ง ที่จะสามารถทั้งตอบคำถามและสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของยาเสพติดที่ถูกต้องแก่สังคมได้ และเมื่อต่อเนื่องไปถึงแนวนโยบายในการจัดการกับยาเสพติดแล้วนั้น การศึกษารวบรวมความรู้จากแนวปฏิบัติที่ดีจากทั่วโลกเพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสังคมไทยเองก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

    2. เงื่อนไขคุณธรรม: คุณธรรมที่จำเป็นต่อการนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำนั้น ก็คงไม่มีคุณธรรมใดที่สำคัญไปกว่าหลักสิทธิมนุษยชนอีกแล้ว

อนึ่ง ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของการนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ก็คือ มักถูกทำให้กลายเป็นแนวปฏิบัติส่วนบุคคล ทั้งที่แท้จริงแล้ว แนวปรัชญาอันทรงคุณค่านี้นั้นสามารถนำไปใช้ได้ในทุกระดับ และรัฐเองก็เป็นองคาพยพหนึ่งอันสามารถดำเนินการนโยบายต่างๆ โดยตั้งอยู่บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ จึงนำมาซึ่งคำถามที่น่าสนใจว่า ตลอดเวลาที่รัฐพยายามเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนดำเนินชีวิตอย่างมีความพอเพียง ตัวรัฐเองนั้นได้มีความเข้าใจที่ถ่องแท้และดำเนินนโยบายตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างดีแล้วหรือยัง