
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน
เดินหน้าพูดคุย “สันติสุข” แม้การเมืองมาเลเซียเปลี่ยนแปลง
ภายหลังการประชุม พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศมาเลเซียจะมีผลต่อการพูดคุยสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ว่า เป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้วที่จะต้องประสานความร่วมมือต่อไป เพื่อให้เกิดการสร้างความรับรู้กับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับองค์กรมุสลิมโลก ว่าประเทศไทยมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก
ส่วนที่มีกระแสความคิดปลุกให้นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งหลังมีปรากฏการณ์นายมหาธีร์ โมฮัมหมัด ชนะการเลือกตั้งมาเลเซีย ในวัย 92 ปี นายกฯ กล่าวว่า คงนำประเทศอื่นมาเป็นบรรทัดฐานไม่ได้ ต้องรอดูว่าประชาชนจะเลือกอย่างไร
“ก็เป็นเรื่องของท่าน ท่านจะปลุกอะไรก็แล้วแต่ แต่เราเป็นประเทศไทย ก็ควรมีสถาปัตยกรรมของไทยเองทางด้านการเมือง ด้านการพัฒนา หรือการขจัดปัญหาความขัดแย้ง เรียกว่าการสร้างสถาปัตยกรรมทางการเมืองของไทยใหม่ เพราะฉะนั้นคงเอาประเทศอื่นมาเป็นบรรทัดฐานไม่ได้ เพราะคนไทยไม่เหมือนคนอื่น มีความเป็นไทยของเราเอง เราอย่าดูถูกประชาชนของเราที่วันนี้ได้มีการเรียนรู้มากขึ้น มีความเข้าใจในประชาธิปไตยมากขึ้น ก็รอฟังว่าประชาชนจะเลือกอะไร เลือกอย่างไร” นายกรัฐมนตรีกล่าว
โต้ ดร.บวรศักดิ์ งาน “ปฏิรูป” มีความคืบหน้า
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายให้สัมภาษณ์ว่า การปฏิรูปทำสำเร็จได้ยาก หากให้ส่วนราชการเป็นผู้ปฏิบัติ ว่าอาจจะเป็นคำพูดที่ทำให้สังคมเข้าใจผิด เพราะถึงอย่างไรข้าราชการก็ยังคงมีบทบาทนำในงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จึงอยากให้สังคมกลับไปทบทวนใหม่ว่าคำพูดดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่
นอกจากนี้ยังชี้แจงว่า รัฐบาลได้ทำงานปฏิรูปคืบหน้าไปแล้วหลายด้าน ทั้งแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ปัญหากฎหมาย หรือพัฒนางานสาธารณูปโภคจำนวนมาก เช่น ได้ทำเรื่องประปาหมู่บ้านเสร็จไปแล้วเกือบ 8 พันหมู่บ้าน จากเป้าหมาย 9 พันหมู่บ้าน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้
“ที่ผ่านมานั้นหลายท่านอาจจะไม่เข้าใจว่ารัฐบาลทำปฏิรูปหรือยัง ปฏิรูปนะครับ เพราะว่าที่ผ่านมามีปัญหาต่างๆ มากมายหลายประการที่เป็นปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาความทับซ้อน ปัญหาของกฎหมายที่ไม่ทันสมัย นั่นแหละปฏิรูปไปแล้ว แก้ไขปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะกฎหมายอำนวยความสะดวก กฎหมายเรื่องการลงทุน กฎหมายเรื่องสิทธิประโยชน์ กฎหมายเรื่องการเงินการคลัง และข้าราชการก็นำไปสู่การปฏิบัติ แต่มันก็ต้องอาศัยเวลาเช่นกัน”
“ทุกวันนี้คณะทำงานทุกคณะทำงานตามนโยบายของรัฐบาลทั้งสิ้นหรือจะปฏิรูปอะไรก็แล้วแต่ คือเอาปัญหาจากการหารือหลายฝ่ายไปขับเคลื่อนว่าจะทำอย่างไร วิธีการปฏิบัติจะทำอย่างไร จะลดผลกระทบความขัดแย้งได้อย่างไรในทุกเรื่อง เช่น การจัดที่ดิน การบุกรุกป่า การบริหารจัดการน้ำ นี่ไม่ได้ทำเลยเหรอ เพราะฉะนั้น การพูดจาบางทีมันก็อาจจะทำให้สังคมเข้าใจผิด” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้าน พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน ได้มีการประกาศทางราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว และได้เกิดข่าวลือและมีการส่งต่อข้อมูลไปมากมาย โดยทางรัฐบาลได้เคยอธิบายมาเป็นระยะแล้วว่า แผนการปฏิรูปไม่ใช่สิ่งที่ประกาศมาทั้งหมดจะต้องปฏิบัติทุกเรื่อง แต่หน่วยงานราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม จะต้องตรวจสอบข้อมูลของตนเองว่า ตามบทบาท หน้าที่ภารกิจ ของแต่ละกระทรวง ว่าแผนปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน จะต้องทำเรื่องอะไรบ้าง และพิจารณาว่าเรื่องใดสามารถทำได้ทันที หรือทำได้ในอนาคต ต้องกำหนดให้ชัดเจน หลังจากนั้นก็เริ่มดำเนินการรายงานให้กับรัฐบาลให้ทราบ จากนั้นจะทำการปรับแก้ไขกฎหมายต่างๆ เพื่อให้การปฏิบัติในเรื่องนั้นๆ มีกฎหมายรองรับ ซึ่งหากเรื่องใดที่ทำไม่ได้ ก็จะต้องปรึกษากับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอเรื่องดังกล่าวนี้ประสานงานกับคณะกรรมมการปฏิรูป ฉะนั้น ไม่ต้องตกใจกับแผนการปฏิรูปประเทศฯ
ย้ำ “อยากให้มีเลือกตั้ง”
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีผลสำรวจจากนิด้าโพลสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อว่า เป็นเรื่องของผลโพลซึ่งต้องขอบคุณประชาชนที่ตอบแบบสอบถาม แต่สำหรับตนเองนั้นคาดหวังแต่เพียงว่าจะได้รัฐบาลใหม่ที่มีธรรมาภิบาลอย่างไร หรือได้สมาชิกสภาผู้แทนราฎร (ส.ส.) ได้ ครม. ที่มีคุณภาพอย่างไร
ส่วนผลสำรวจที่ต้องการให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และความเป็นไปได้ที่ คสช. จะสนับสนุนพรรคเพื่อไทยร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล นายกฯ กล่าวว่า “ผมจะไปจับมือกับใคร ผมไม่ใช่ศัตรูของใคร แต่ทุกพรรคการเมืองต้องทำเพื่อประชาชน ไม่ใช่ทำเพื่อผม หรือผมไปทำเพื่อเขา ใครจะไปใครจะมาต้องทำเพื่อประเทศชาติ ไม่ใช่โจมตีกันไปมาว่าไม่มีใครดี แล้วจะเลือกตั้งกันไปทำไม
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า อยากให้มีการเลือกตั้ง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจว่าประชาธิปไตยที่ดีหรือที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร ได้รัฐบาลที่ดีมาอย่างไร ได้ ส.ส. ที่มีคุณภาพได้อย่างไร ลดความขัดแย้งได้อย่างไร
“ผมอยากให้มีการเลือกตั้ง ไม่ใช่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง หรือหาเหตุไม่เลือกตั้ง ผมพูดมาร้อยครั้งพันครั้ง ต้องเลือกตั้ง ประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ ใครจะไปฝืนได้ เพราะฉะนั้นใครจะจับกับใครก็เป็นเรื่องของท่าน แต่สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้คือทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจว่าประชาธิปไตยที่ดี ที่ถูกต้อง มันควรจะเป็นยังไง ได้รัฐบาลที่ดีมาอย่างไร ได้ ส.ส. ที่มีคุณภาพได้อย่างไร แล้วลดความขัดแย้ง”
“ส่วนสูตรการเมืองให้ทุกพรรคยอมรับเลือกตั้ง จะเลือกตั้งไปทำไมถ้าไม่ยอมรับ เลือกตั้งก็ต้องยอมรับ แล้วต้องยอมรับด้วยว่าหลังเลือกตั้งแล้วต้องไม่มีการประท้วง ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีการใช้อาวุธสงคราม ให้เขาสัญญากับประชาชนอย่างนี้ ไม่ใช่ให้ผมเป็นคนสัญญา เพราะเขาจะเข้ามาการเมืองในวันหน้าไม่ใช่หรือ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ยืนยัน ปลด บ.ก. บางกอกโพสต์ ไม่เกี่ยวรัฐบาลควบคุมสื่อ
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวระบุการปลดบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์มาจากการไม่ลดทอนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่า ไม่ได้ไปเกี่ยวอะไรด้วย และไม่รู้จักบรรณาธิการว่าเป็นใคร แต่เป็นเรื่องการบริหารจัดการภายในของสื่อกันเอง ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องรัฐบาลเข้าไปควบคุมสื่อ
“ผมไปเกี่ยวอะไรกับเขา ผมยังไม่รู้จักคุณอุเมส ปานเดย์ คือใคร ก็เป็นเรื่องการบริหารจัดการของสื่อเอง สื่อก็รู้ดีอยู่ว่ากฎหมายออกอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ก็คิดว่ารัฐบาลนี้จะควบคุมสื่ออย่างเดียว ผมคุมอะไรตรงไหน กฎหมายออกไม่ได้ก็หารือกันต่อไป ออกได้หรือไม่ได้ ผมก็ไม่รู้”
“นี่เป็นเรื่องจรรยาบรรณของสื่อที่ทุกคนก็พูดว่าสื่อดูแลกันเอง ผมให้โอกาสสื่อดูแลกันเอง เขาก็ไปพิจารณาเองว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพราะฉะนั้นสื่อต้องไม่สร้างความขัดแย้งแบบนี้ จะอยู่ตรงกลางได้อย่างไร ไม่ใช่รัฐบาลทำอะไรก็ผิดไปหมด ก็หวังในหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นด้วย สื่อสารสองทาง ติเพื่อก่อ ผมไม่ว่า แต่ถ้าติเพื่อทำลายอย่างเดียว ผมว่าต้องพิจารณากันเอาเอง ไม่ใช่เรื่องของผม” นายกรัฐมนตรี กล่าว
แจงคดี “เปรมชัย” คนละเรื่องกับยุติร่วมงานอิตาเลียนไทยฯ
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีกลุ่มพิทักษ์เสือดำ-เฉพาะกิจ ยื่นหนังสือให้ทบทวนยกเลิกสัญญาทำธุรกิจกับบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (มหาชน)ทุกโครงการ ว่าเป็นคนละเรื่องกันกับการดำเนินคดีทางกฎหมาย ซึ่งเป็นการสร้างการรับรู้ที่ไม่ถูกต้อง
“มันคนละเรื่องกันหรือเปล่า เพราะกฎหมายอาญา กฎหมายบุคคล กฎหมายประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะเปรมชัยหรือใครก็ล่าสัตว์ไม่ได้ มันก็เป็นเรื่องคดี แต่การจะไปยกเลิกการประกอบธุรกิจมันคนละเรื่องหรือเปล่า นี่คือการสร้างการรับรู้ที่ไม่ถูกต้อง โยงไปทั้งหมด อีกหน่อยใครมีปัญหาไม่ว่าจะนักการเมือง หรือใครที่มีคดีความ ก็เลิกไปให้หมด เอามั้ย ใครเกี่ยวข้องติดคุก ยุบไปทั้งพรรคเลย เอามั้ย” นายกรัฐมนตรี กล่าว
มติ ครม. มีดังนี้

รับไม่ได้ ปมไมโครโฟน-นาฬิกาแพง ตีกลับงบสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ฯ 8,000 ล้าน
พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ สัปปายะสภาสถาน ใน 2 ประเด็น โดยประเด็นที่ 1) เห็นชอบอนุมัติเพิ่มวงเงินงบประมาณ และขยายระยะเวลาการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรวม 3 รายการ จำนวน 512.50 ล้านบาท ประกอบด้วยค่ากอ่สร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ พร้อมอาคารประกอบ 273.51 ล้านบาท ค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ 150.45 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ 88.54 ล้านบาท และขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณจากเดิมปี 2554-2556 เป็น ปี 2561-2563
“ทางสภาฯ ให้เหตุผลว่าเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อเร่งรัดให้การก่อสร้างเสร็จเร็วขึ้นกว่าเดิม โดยทางสภาฯ ได้กำหนดกรอบการดำเนินงานโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ ไว้แล้ว ซึ่งในส่วนของห้องประชุม ส.ว. ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ และห้องทำงานบุคคลากร กำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2561 นี้ ส่วนห้องประชุม ส.ส. และพื้นที่เชื่อมต่อบางส่วนกำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2562 เพื่อให้ทันรองรับการเลือกตั้ง ส่วนการเก็บรายละเอียดทั้งโครงการ จะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2562″ พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
สำหรับประเด็นที่ 2) ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมในการขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมค่าก่อสร้างในส่วนของงานสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และงานประกอบอาคารและภายนอกอาคาร และค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จากกรอบวงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการไว้แล้ว เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2445 และขอเพิ่มเติมวงเงินและขยายเวลาก่อหนี้ผูกพันปีงบประมาณ จากวงเงิน 3,586.90 ล้านบาท เป็น 8,135.55 ล้านบาท
โดยที่ประชุม ครม. มีความเห็นให้กลับไปจัดทำรายละเอียดใหม่ให้ชัดเจนในส่วนของงานสาธารณูปโภคฯ เช่น งานระบบควบคุมแสงสว่างภายนอกอาคาร และห้องประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และงานระบบปรับอากาศทางเดินภายใน (วงเงินเดิมซึ่งยังไม่ได้รับการจัดสรร 586.90 ล้านบาท วงเงินที่เสนอขอใหม่ 1,413.06 ล้านบาท) และให้พิจารณาความเหมาะสม ราคา และประสิทธิภาพการใช้งานใหม่อีกครั้ง ในส่วนของค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศฯ (วงเงินเดิม 3,000 ล้านบาท วงเงินที่เสนอขอใหม่ 6,493.49 ล้านบาท) และค่าจ้างที่ปรึกษาและควบคุมงานก่อสร้างสำหรับงานสาธารูปโภคฯ (เป็นงบที่เสนอขอใหม่ 229 ล้านบาท)
“ในที่ประชุม นายกฯ ฟังความเห็นของสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วจึงยังไม่อนุมัติงบ และให้กลับไปทบทวนใหม่ ซึ่งนายกฯ ระบุว่า ยอมไม่ได้กับเรื่องไมโครโฟน 1.2 แสนบาท และนาฬิกา 7 หมื่นบาท ซึ่งในที่ประชุมไม่ได้กำหนดว่าจะต้องนำกลับมาเสนอใหม่เมื่อไร เนื่องจากสภาฯ จะต้องดำเนินการตามกรอบเวลาที่วางไว้อยู่แล้ว” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
อนึ่ง ครม. เคยมีมติเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 และเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นกรอบวงเงินสำหรับโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ พร้อมอาคารประกอบ รวมไปถึงค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการฯ จำนวน 12,746.80 ล้านบาท ต่อมา ครม. มีมติเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 อนุมัติค่าก่อสร้างในส่วนงานสาธารณูปโภคฯ และค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ในกรอบวงเงิน 3,586.90 ล้านบาท ซึ่งในส่วนหลังนี้ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ทั้งนี้รวมกรอบวงเงินที่ ครม. อนุมัติสำหรับโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ เป็นวงเงินทั้งสิ้น 16,333.70 ล้านบาท
ไฟเขียว รัฐ-เอกชน-วิสาหกิจฯ ร่วมทุนตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 จว.ชายแดนใต้
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการจัดตั้ง/ร่วมทุนบริษัทในเครือบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนแผนงานผลิตไฟฟ้าชุมชนจากชีวมวล โดยมีปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าไม่เกิน 12 เมกะวัตต์
ทั้งนี้จะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนจำนวน 3 บริษัท ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560 ได้แก่
- บริษัท ประชารัฐชีวมวล นราธิวาส จำกัด ลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวล อ.เมือง จ.นราธิวาส จะเป็นการร่วมทุนกับ บริษัท เจนเนอร์จี จำกัด และวิสาหกิจชุมชน มีกำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ขายให้ กฟภ. 6.3 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการทั้งสิ้น 755 ล้านบาท
- บริษัท ประชารัฐชีวมวล แม่ลาน จำกัด ลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวล อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี จะเป็นการร่วมทุนกับ บริษัท อีโต เอ็นเนอร์ยี กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น และวิสาหกิจชุมชน กำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ ขายให้ กฟภ. 2.85 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 410 ล้านบาท
- บริษัท ประชารัฐชีวมวล บันนังสตา จำกัด ลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวล อ.บันนังสตา จ.ยะลา จะเป็นการร่วมทุนกับ บริษัท อีโต เอ็นเนอร์ยี กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น และวิสาหกิจชุมชน มีกำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ ขายให้ กฟภ. 2.85 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 390 ล้านบาท
รวมเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,555 ล้านบาท อายุโครงการ 20 ปี โดยที่บริษัท พีอีเอฯ จะลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 40 ส่วนภาคเอกชน และวิสาหกิจชุมชนจะลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 60 ของทุน ทั้งนี้วิสาหกิจชุมชนสามารถเข้ามาถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 10
“โดยบริษัท พีอีเอฯ เป็นบริษัทในเครือของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งเพื่อดำเนินการลงทุนธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้าทั้งใน และต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ หมายถึงเป็นการร่วมทุนกับเอกชน และวิสาหกิจชุมชน ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้ง 3 โรงไฟฟ้า จะใช้เศษไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิงหลัก สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลนราธิวาส จะเป็นการใช้เทคโนโลยีเผาไหม้โดยตรง ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลแม่ลาน และโรงไฟฟ้าชีวมวลบันนังสตาจะใช้เทคโนโลยี Gasification” นายณัฐพร กล่าว
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ระบุว่า ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีพื้นที่ปลูกยางพาราจำนวน 1,754,127 ไร่ มีความพร้อมในด้านเชื้อเพลิงและมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งยังช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานในพื้นที่ด้วย ซึ่งมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน ในกิจกรรมโค่นต้นยางเก่า (เฉพาะเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ์) แต่ละปีงบประมาณมีเป้าหมายในการโค่นต้นยางเก่า ปีละ 44,200 ไร่ แบ่งเป็น จังหวัดนราธิวาส 17,600 ตัน จังหวัดปัตตานี 4,300 ตัน และจังหวัดยะลา 22,300 ตัน ซึ่งคิดเป็นผลผลิตไม้ยางพาราประมาณ 1,326,000 ตัน เมื่อนำมาเทียบกับความต้องการเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าทั้ง 3 โรง พบว่ามีปริมาณไม้ยางพาราเพียงพอต่อการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล
อนึ่ง พื้นที่ภาคใต้มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวิมวลสูงถึงประมาณ 500 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันมีโรงฟ้าชีวมวล 15 โรง มีกำลังผลิตรวมเพียง 95 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ภาคใต้ประสบปัญหาผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ได้ไม่เพียงพอจะต้องใช้ไฟฟ้าจากภาคกลางหรือมาเลเซีย การดำเนินโครงการดังกล่าวจะสนับสนุนให้ภาคใต้มีความมั่นคงด้านพลังงานมากขึ้น และเป็นการแก้ไขปัญหาตามโครงการพาคนกลับบ้าน และโครงการรองรับมวลชนหมู่บ้านสันติสุข เพราะทำให้เกิดการสร้างงานให้พื้นที่ขึ้น และทำให้ประชาชนมีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อโรงไฟฟ้า เพราะการผลิตไฟฟ้าชีวมวลนั้นเป็นพลังงานสะอาด
สั่งฝ่ายมั่นคงลงพื้นที่ เคลียร์หนี้นอกระบบ
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุม ครม. ให้ฝ่ายความมั่นคง และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของเกษตรกร หลังพบว่า การดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาของหน่วยงานทั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบส่วนกลางและส่วนจังหวัดยังทำงานในเชิงรับเพียงอย่างเดียว คือ รอให้ผู้ที่เดือดร้อนเข้ามาร้องเรียน แต่ไม่ได้ลงไปสำรวจข้อมูลในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันยังคงมีปัญหากระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคง และ คสช. ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่ทุกพื้นที่ลงไปเร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
“ในการลงพื้นที่แก้ปัญหาครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ลงไปดูแลและช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้ไปกู้เงินนอกระบบกับทางโรงสี โรงมัน หรือโรงสกัดน้ำมันปาล์ม เพราะที่ผ่านมาพบปัญหาว่า มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ไปกู้เงินนอกระบบกับกลุ่มดังกล่าวแล้วเกิดหนี้สะสมไม่หมดสิ้น เพราะเมื่อเกษตรกรกู้เงินไปแล้วเมื่อถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตรกรก็ส่งผลผลิตมาให้โรงงานต่างๆ เงินที่ได้จากการขายผลผลิตทั้งหมดก็ถูกนำไปชดใช้หนี้ จนในที่สุดก็ต้องกู้เงินวนเวียนอยู่แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน การทำสัญญากู้เงิน เกษตรกรบางรายถูกเอาเปรียบจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม มีการเรียกดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด”
“เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีสั่งให้ดำเนินการในทันที เพราะเห็นพฤติกรรมของโรงงานต่างๆ บางแห่งที่รับซื้อผลผลิตของเกษตรกรทำสัญญาไม่เป็นธรรม โดยให้ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่มีหน่วยกำลังหรือมีเจ้าหน้าที่ของมณฑลทหารบกเข้าไปร่วมแก้ปัญหา ด้วยการประสานงานกับทางคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบทั้งจากส่วนกลางและในจังหวัดต่างๆ ลงไปเจรจา หรือขอประนอมหนี้กับทางโรงงาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นหนี้สะสม ส่วนถ้าตรวจพบว่าการปล่อยกู้นอกระบบแห่งใดที่ทำผิดกฎหมาย อาจต้องดำเนินคดีคามกฎหมายที่มีด้วย” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในการตรวจสอบข้อมูลของหนี้นอกระบบนั้น โดยรวบรวมรายละเอียดต่างๆ เช่น จำนวนหนี้นอกระบบทั้งหมดว่ามีเท่าไร มีจำนวนเกษตรกรที่มีนอกระบบมีจำนวนเท่าไร ก่อนนำมาเสนอให้รับทราบอีกครั้ง
เร่งหน่วยงานรวมข้อมูลทำ “Big Data” – ใช้ฟอร์มกลางจาก ดีอี
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุม ครม. ถึงเรื่องการดำเนินการและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้เคยสั่งการให้แต่ละกระทรวงดำเนินการให้เกิดความคืบหน้าภายในเดือนกรกฎาคม 2561 โดยวันนี้นายกรัฐมนตรีได้อธิบายเพิ่มเติมว่า แต่ละกระทรวงต้องคัดเลือกข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อหน่วยงานอื่นในการนำไปใช้งาน และการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อใช้ข้อมูลดังกล่าว เป็นแนวทางกำหนดนโยบายในภาคปฏิบัติ แต่ต้องไม่เป็นข้อมูลที่เป็นความลับของราชการหรือข้อมูลส่วนบุคคล
และเมื่อแต่ละหน่วยงานได้คัดเลือกข้อมูลแล้ว ต้องบรรจุข้อมูลลงไปในแบบฟอร์มในชั้นต้น โดยแต่ละหน่วยงานอาจมีแบบฟอร์มของตน หลังจากนั้นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จะเป็นผู้ประสานงานว่าแบบฟอร์มโดยรวมควรเป็นอย่างไร เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ได้
อ่านเพิ่มเติม มติ ครม. วันที่ 15 พฤศภาคม 2561