ThaiPublica > คอลัมน์ > จริงหรือไม่ที่โรงเรียนประจำมักจะผลิตผู้นำที่มีคุณภาพที่แย่

จริงหรือไม่ที่โรงเรียนประจำมักจะผลิตผู้นำที่มีคุณภาพที่แย่

10 สิงหาคม 2019


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

เมื่อสองวันที่แล้วมีรุ่นน้องจากโรงเรียนเก่าของผมส่งบทความจาก The Guardian ให้ผมอ่าน ซึ่งคนที่เขียนบทความนี้ได้ตั้งหัวข้อของบทความของเขาเอาไว้ว่า “Why boarding schools provide bad leaders?”

ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยก็คือ “ทำไมโรงเรียนประจำถึงผลิตผู้นำที่มีคุณภาพที่แย่”

ถ้าให้ผมสรุปบทความของเขาง่ายๆ ล่ะก็ สาเหตุที่โรงเรียนประจำผลิตผู้นำที่มีคุณภาพที่แย่นั้นมาจากการที่เด็กที่ยังมีอายุน้อยอยู่ถูกส่งให้ไปอยู่ในสถานที่ที่บังคับให้เขาต้องโตไวกว่าปกติ และการที่พวกเขาต้องไปอยู่โรงเรียนประจำตั้งแต่ยังเป็นเด็ก (ส่วนใหญ่โรงเรียนประจำที่อังกฤษเริ่มรับเด็กเล็กตั้งแต่อายุเจ็ดขวบขึ้นไป) ทำให้พวกเขาต้องอยู่ห่างความอบอุ่นจากครอบครัวตั้งแต่ยังเด็ก (ซึ่งเป็นช่วงที่ความอบอุ่นมีความสำคัญต่อการพัฒนาของสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารอารมณ์ของตัวเองและคนอื่นของเด็กค่อนข้างมาก)

และปัจจัยพวกนี้ก็ทำให้เด็กประจำส่วนใหญ่โตขึ้นพร้อมๆ กับทัศนคติที่ “ต้องสู้เพื่อการอยู่รอด” ซึ่งกลยุทธ์หนึ่งของการสู้เพื่อการอยู่รอดนี้รวมไปถึงการ bully หรือกลั่นแกล้งคนอื่นๆ และการเชิดชูพรรคพวกที่คิดเหมือนๆ กันและปฏิเสธคนอื่นๆ ที่คิดต่างจากตัวเอง

โดยส่วนตัวแล้ว ตัวผมซึ่งผ่านระบบโรงเรียนประจำทั้งของไทยและอังกฤษมาตั้งแต่อายุเจ็ดขวบจนถึงอายุสิบเก้าปี ไม่ได้เห็นด้วยกับบทความของ The Guardian ทุกอย่าง เพราะผมทราบดีจากประสบการณ์ตัวเองว่าชีวิตของการเป็น “เด็กโรงเรียนประจำนั้น” มีทั้งดีและไม่ดี (ซึ่งในเรื่องดีๆ นั้น บทความของ The Guardian นี้แทบจะไม่ได้กล่าวถึงเอาไว้เลย)

ในเรื่องดีๆ ของประสบการณ์ของการเป็นเด็กโรงเรียนประจำของผมก็คือมันทำให้ผมเป็นคนที่ค่อนข้างจะ independent คือผมสามารถใช้ชีวิตโดยที่ไม่ต้องพึ่งใคร (มาก) ซึ่งก็ช่วยทำให้ผมเป็นคนที่กล้าแสดงออกและไม่อายใครง่ายๆ

แต่มันก็มีหลายอย่างเกี่ยวกับผลกระทบของการเป็นเด็กนักเรียนประจำในบทความที่ผมเห็นด้วย อย่างแรกก็คือเรื่องของการ bully (หรือปัญหาของการกลั่นแกล้ง) ซึ่งผมประสบมาทั้งที่ไทยและที่อังกฤษ มาถึงตรงนี้หลายๆ คนอาจจะบอกว่า “แต่การที่เด็ก bully เพื่อนคนอื่นนั้นมันมีทั้งที่โรงเรียนไปกลับและโรงเรียนประจำ” ถูกต้องครับ แต่สำหรับผม ผมว่าสภาวะแวดล้อมของโรงเรียนประจำนั้นเป็นสภาวะแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการ bully ได้มากกว่า ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าระบบของโรงเรียนประจำนั้นเป็นระบบที่มี hierarchy (ลำดับชั้น) ระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องที่ชัดเจนมากกว่าโรงเรียนไปกลับ ทั้งยังเป็นระบบที่ส่วนใหญ่จะมี norm ที่ค่อนข้างจะแข็งแกร่งมากกว่า norm ในโรงเรียนไปกลับทั่วไป ซึ่งก็ส่งผลทำให้คนที่อยู่ในกลุ่มไม่กล้าคิดต่างออกไปจากกลุ่มเพราะความกลัว (“you are either with us or against us!” mentality) ซึ่งก็ทำให้เหตุการณ์ groupthink หรือการที่เราเออๆ ออๆ ไปกับความคิดของคนส่วนใหญ่ในกลุ่มโดยที่ไม่ยอมคิดเองสามารถเกิดขึ้นกับเด็กที่ผ่านระบบของโรงเรียนประจำได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกันกับเด็กที่ผ่านระบบอื่นๆ มา และทั้งหมดนี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นบุคลิกลักษณะของผู้นำที่แย่ๆ ทั้งนั้น

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถขจัดสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้ออกจากระบบของโรงเรียนประจำ และเก็บเอาแต่สิ่งที่ดีๆ ไม่ได้

คำถามก็คือ แล้วเราจะเริ่มเปลี่ยนระบบของโรงเรียนประจำเพื่อที่โรงเรียนจะสามารถผลิตผู้นำที่ดีๆ ได้ยังไง

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจลักษณะของผู้นำที่ดีก่อนนะครับ ลักษณะของผู้นำที่ดี (ตามผลการวิจัยต่างๆนานา) ก็คือ มี emotional intelligence สูง พูดง่ายๆ ก็คือสามารถอ่านความรู้สึกของคนที่เรานำและจัดการกับความรู้สึกนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็คือมี empathy ในการเอาใจเขามาใส่ใจเรานั่นเอง

ผู้นำที่ดีนำโดยการเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่มีพฤติกรรมที่เป็นสองมาตรฐาน เป็นคนที่กล้ายอมที่จะรับผิด ยอมฟังคำติชมไม่ว่าจะเป็นคำติชมที่ดีหรือไม่ดีเพื่อที่จะนำไปปรับปรุง และมีความเคารพการตัดสินใจของทุกๆ คน

เพราะฉะนั้น ถ้าโรงเรียนประจำต้องการที่จะผลิตผู้นำที่ดีในอนาคตล่ะก็ โรงเรียนควรจะต้องเริ่มให้การศึกษากับเด็กๆ ในเรื่องของ empathy สอนให้เด็กเข้าใจการเปิดรับฟังคำติชมของทุกๆ คน แม้กระทั่งจากคนที่มีความอาวุโสที่น้อยกว่าก็ตาม สอนให้เคารพซึ่งกันและกัน (พูดง่ายๆ ก็คือความเคารพไม่ควรที่จะไหลไปเพียงแค่ทิศทางเดียวเท่านั้น) สอนให้คนที่ความอาวุโสมากกว่าเป็นตัวอย่างของผู้นำที่ดีให้กับคนที่มีความอาวุโสน้อยกว่า และถ้าเราสามารถสอน skill set หรือทักษะพวกนี้ให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนประจำได้ล่ะก็ โรงเรียนประจำก็จะไม่ผลิตผู้นำที่แย่อย่างที่บทความ The Guardian กล่าวเอาไว้อีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติมที่นี่