ThaiPublica > คอลัมน์ > สมการการโกง

สมการการโกง

31 มีนาคม 2019


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

สมการการโกงมีหน้าตาเป็นยังไง วันนี้ผมขอถือโอกาสเขียนในเรื่องของปัจจัยที่คนเราส่วนใหญ่ใช้ในการตัดสินใจว่าจะโกงดีไม่โกงดีนะครับ

1. การตัดสินใจที่จะโกง = ฟังชั่น(ผลประโยชน์ส่วนตัว/พรรคพวกที่จะได้ – โอกาสที่จะถูกจับและถูกทำโทษ – ความรู้สึกผิดในใจจากการทำผิด)

2. ถ้า (ผลประโยชน์ส่วนตัว – โอกาสที่จะถูกจับและถูกทำโทษ – ความรู้สึกในใจจากการทำผิด) > 0, คนก็จะตัดสินใจที่จะโกง

3. โอกาสที่จะถูกจับและถูกทำโทษมีความสัมพันธ์ด้านบวกกับการบังคับใช้กฎหมาย และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ที่มีหน้าที่ตรวจตราต่างๆนาๆ ถ้าสถาบันตัวนี้ของเราอ่อนแอ โอกาสที่จะถูกจับและถูกทำโทษก็จะมีค่าที่ค่อนข้างน้อยในสมการ

4. ส่วนความรู้สึกในใจจากการทำผิดนั้นมีความสัมพันธ์ด้านลบกับความเก่งในการหาเหตุผลมาอธิบายพฤติกรรมการโกงของตัวเอง พูดง่ายๆก็คือ ยิ่งหาเหตุผลมาอธิบายพฤติกรรมการโกงของตัวเองง่ายเท่าไหร่ ความรู้สึกผิดในใจก็จะน้อยลงเท่านั้น

5. แต่ในสังคมอาวุโส (seniority) อย่างสังคมไทยของเรานั้น ความต้องการในการหาเหตุผลดีๆที่จะมารองรับพฤติกรรมการโกงของคนเรายังมีความสัมพันธ์ทางด้านลบกับความอาวุโสของคนด้วย พูดง่ายๆก็คือยิ่งคนเรามีความอาวุโสเท่าไหร่ ความต้องการในการหาเหตุผลที่มีคุณภาพดีๆมาเพื่อรองรับพฤติกรรมการโกงของคนเราก็จะลดน้อยลงเท่านั้น (ยิ่งอาวุโส คุณภาพของเหตุผลที่เขาจำเป็นต้องหยิบยกมารองรับพฤติกรรมการโกงของเขาก็จะยิ่งต่ำลง)

6. ตัวอย่างของเหตุผลที่มีคุณภาพต่ำก็คือเหตุผลที่ฟังดูคลุมเครือ หรือเหตุผลที่ไม่เปิดให้คนอื่นสามารถเถียงอย่างมีเหตุผลได้ (เหตุผล “ประเทศไทยไม่เหมือนประเทศอื่นในโลก” เป็นตัวอย่างที่เรามักจะเห็นกันบ่อย)

สรุปคือ แทนที่เราจะสอนให้เด็กรุ่นใหม่โตไปเป็นคนดีจะได้ไม่โกง (เพราะคนดีเป็นนิยามที่มีคอนเซ็ปท์คลุมเครือ สามารถหาเหตุผลมารองรับพฤติกรรมที่โกงแต่ยังทำให้เขามองตัวเองเป็นคนดีได้) ผมว่าเราควรสอนให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจถึงหลักการของสมการการโกง และเข้าใจถึงการหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองของคนที่โกงทั่วไป เราจะได้วางกฎเกณฑ์ และระบบการทำงานให้คนเราหาเหตุผลที่จะมารองรับพฤติกรรมการโกงของตนเองได้ยากขึ้นดีกว่านะครับ